ไม้ เหล็ก อะลูมิเนียม สร้างบรรยากาศให้ร้านเขียวไข่กานุ่มนวลเสมือนกับรสชาติอาหารฝีมือแม่

ถ้าให้พูดถึง ไม้ เหล็ก อะลูมิเนียม วัสดุเหล่านี้คงจะเป็นวัสดุธรรมดาทั่วไปที่อาคารประเภทไหนๆ ก็ใช้กัน รวมไปถึงตัววัสดุที่กล่าวมานี้ก็ยังมีความรู้สึกแข็งแกร่งจนไม่น่าจะทำให้เรารู้สึกถึงความนุ่มนวลได้แม้แต่น้อย แต่แล้ว เขียวไข่การ้านอาหารไทย สาขาลาซาล ที่ออกแบบโดยสตูดิโอครับค่า กลับใช้วัสดุทั้งสามชิ้นนี้ นำมาสร้างบรรยากาศให้กับภายในร้านดูนุ่มนวล หรูหราสไตล์เรโทร และเป็นธรรมชาติ ได้อย่างไม่น่าเชื่อ 

ภาพลักษณ์ใหม่ของร้านเขียวไข่กา

หลังจากที่เขียวไข่กา ร้านอาหารไทยที่โดดเด่นในเรื่องรสชาติฝีมือแม่ ประสบความสำเร็จถึงสองสาขาแล้ว ทางเจ้าของแบรนด์จึงตั้งใจเปิดสาขาใหม่ในอาคารสำนักงาน Sunny at Summer La Salle ในซอยลาซาล และต้องการสร้างแบรนด์ดิ้งให้ตัวร้านใหม่ให้ฉีกออกไปจากสองร้านเดิมที่ผ่านมา ด้วยตำแหน่งที่ตั้ง ที่หนุ่มสาวชาวออฟฟิศจะชอบแฮ้งเอ้าท์หลังเลิกงานกันอยู่เสมอ โจทย์ของร้านนี้จึงไม่ใช่แค่เสิร์ฟอาหารเพียงเท่านั้น แต่ต้องเสิร์ฟเครื่องดื่มไปพร้อมกันด้วย

“หากย้อนไปสองสาขาแรกจะมีความเป็นอาคารอุตสาหกรรมกึ่ง Glass House พร้อมตกแต่งด้วยสีเขียวตุ่น ซึ่งมีความดูบึกบึน แข็งแกร่ง มีความเป็นผู้ชายสูง การรีแบรนด์ดิ้งใหม่ในคราวนี้เราจึงอยากให้ร้านมีความเป็นผู้หญิงมากขึ้น กล่าวก็คือ การสร้างความอ้อนช้อย ความเบา มีต้นไม้ และใช้สีเขียวที่ผสมกับสีน้ำเงินเล็กน้อยให้ดูอ่อนโยนมากยิ่งขึ้น แต่เราก็ยังไม่ลืมความแข็งแรงของเขียวไข่กาทั้งสองร้านเดิม ซึ่งช่วยมาเป็นแรงบันดาลใจกับร้านใหม่แห่งนี้ด้วย”

ดัดโค้งวัสดุ ไม้ เหล็ก อะลูมิเนียม สร้างบาร์ให้เกิดความโดดเด่น

ความโค้ง อ่อนช้อย แต่ยังดูแข็งแกร่งนี้สถาปนิกได้แรงบันดาลใจมาจาก Crystal Palace Glass House และร้านอาหารสไตล์เรโทรในประเทศฝรั่งเศส เมื่อเดินเข้าไปภายในร้านจะพบกับบาร์ขนาดใหญ่เป็นจุดเด่นของร้าน ที่ตัวบาร์ใช้วัสดุจาก ไม้  HMR กรุด้วย Laminate Lamitak Brunswick SCX 1163D เพิ่มความอ่อนช้อยด้วย ฟิน พลาสวูดหนา 10 มิลลิเมตร พ่นสีทอง The Code Color เพื่อลดทอนความหนักของผนังบาร์ เช่นเดียวกับ คิ้วไม้พ่นสีทอง The Code Color ทอง ใช้ปิดขอบท๊อปโต๊ะที่ปูด้วยวัสดุ Marble: Grey Armani: Stone Gallery ที่มีคุณสมบัติคงทนน้ำได้ดี ไม่เพียงเท่านั้นบนฝ้าเพนดานยังเสริมด้วยชั้นวางโชว์เครื่องดื่ม ที่ทำขึ้นจากเหล็กเส้นขนาด มิลลิเมตร พ่นสีทอง The Code Color และดัดโค้งให้ดูอ่อนช้อย หรูหรามากยิ่งขึ้น   

“เหล็กจะมีความยืดหยุ่นในการบิดโค้งได้ดี แต่ควรใช้เป็นเหล็กเส้นตัน ซึ่งอาจจะมีร่องรอยการดัดบ้างเล็กน้อย แต่เมื่อเก็บสีก็ออกมาดูเรียบเนียนเป็นอย่างดี แต่ถ้าหากเป็นอะลูมิเนียมจะดูมีความความแกร่งเช่นเดียวกัน มีน้ำหนักเบา แต่มีข้อจำกัดตรงที่เมื่อโดนดัดแล้วจะเกิดร่องรอยได้ง่ายกว่าเหล็ก”

“ในส่วนเก้าอี้ของบาร์ เราอยากให้ดูหรูหรามีเส้นสายโค้งอ่อนนุ่ม ดูเบา จึงใช้วิธีขึ้นแบบด้วยตัวเอง และส่งไปยังร้าน I Loft Chair ทดสอบความแข็งแรงและทำการผลิตในเวลาต่อมา”

สถาปนิกได้เสริมให้ตัวบาร์ดูโดดเด่นมากยิ่งขึ้น ด้วยการกรุผนังห้องครัวด้านหลังด้วยวัสดุ Cotto: MT 225 Carrera Green PM ลายหินสีเขียวเข้ามาแทนการใช้หินจริง เนื่องจากมีแพทเทิร์นแบบพิกเซล แถมมีผิวสัมผัสที่มีเงาสะท้อนอีกด้วย นอกจากนี้ยังเสริมด้วยเคาน์เตอร์วัสดุไม้ HMR กรุ Laminate Lamitak Brunswick SCX 1163D และแสงไฟทรงวงกลมที่สถาปนิกออกแบบขึ้น เพื่อสร้างบรรยากาศให้ภายในร้านดูเข้ากัน และดูมีความหรูหรามากยิ่งขึ้น

“เฟอร์นิเจอร์ในส่วนนี้เราตั้งใจที่จะอิงความรู้สึกสบายเหมือนกับการอยู่บ้าน เราจึงเลือกชุดโต๊ะเก้าอี้โมเดิร์นที่มีหวายเป็นองค์ประกอบของ I Loft Chair เข้ามาใช้งาน”

สร้างความรีแล็กซ์ด้วยบรรยากาศธรรมชาติ

ในโซนถัดมาจัดวางพื้นที่สำหรับนั่งรับประทานอาหารแบบแนวยาว สถาปนิกยังคงใช้กระเบื้อง Cotto: MT 225 Carrera Green PM แต่เสริมด้วย ผนังทาสีเทาจาก TOA และ ภาพจิตรกรรมลวดลายธรรมชาติ พร้อมให้ไฟสลัวจาก Lighting Factotry ให้ภายในร้านที่ดูเป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผู้เข้าใช้บริการมีความรีแล็กซ์ตามไปด้วย 

“เราอยากให้บรรยากาศภาพรวมของร้านเป็นสไตล์เรโทรจึงเลือกใช้ไฟสลัวๆ แต่ในส่วนของบาร์ที่เป็นจุดเด่นเราก็อยากจะให้สว่างหน่อย จึงเลือกใช้ไฟของแลมป์ติจูดที่สามารถควบคุมด้วยแอพลิเคชันให้เปลี่ยนแสง สี ได้ตลอดเวลา”

พื้นที่ส่วนตัวถูกกั้นด้วย ตะแกรงเหล็กและผ้าม่าน

ในโซนสุดท้ายของร้านสถาปนิกยังได้เพิ่มพื้นที่ส่วนตัวเพื่อรองรับการประชุม หรือ การรับประทานอาหารแบบกลุ่มประมาณ 10 – 15 คน โดยแบ่งกั้นโซนระหว่างพื้นที่ส่วนรวม และพื้นที่ส่วนตัวด้วยตะแกรงเหล็กพ่นสีเทา The Code Color และออกแบบทางเข้าให้เป็นช่องซุ้มโค้ง พร้อมพ่นสีทอง The Code Color เพื่อเป็นการขับเน้นทางเข้าให้ดูโดดเด่น และไม่ตัดขาดจากโซนอื่นๆ มากเกินไป ทั้งนี้ยังได้เสริมด้วยผ้าม่านจาก Pasaya: Samba: Balsam Green เพื่อปิดกั้นให้พื้นที่ดูเป็นส่วนตัวมากยิ่งขึ้น

หน้าร้านสไตล์ดิบเท่ด้วยการใช้สีแบบแฮนด์เมด

เพื่อให้ร้านยังคงตรงกับแนวคิดความเรโทรย้อนยุค จึงกรุผนังด้วยอะลูมิเนียม และทาสีแฮนเมดโดย Tanyarin ให้เป็นริ้วรอยขนาดยาวสีเข้ม พร้อมติดตั้งกระจกใสหนา มิลลิเมตร พร้อมคิ้วอะลูมิเนียมที่ชุบสีทองโดยผู้รับเหมา ปิดท้ายด้วยป้ายร้านเขียวไข่กาด้วยวัสดุ กล่องไฟ Acrylic  ขาวนม เพื่อให้ในเวลากลางคืนสามารถส่องแสงสว่างได้

ถัดมาจะเจอกับพื้นที่ต้อนรับ ที่โอบล้อมไปด้วยกระจกใสดัดโค้ง หนา 6 มิลลิเมตร ทั้งนี้ยังสามารถนั่งพักคอยด้วยเก้าอี้ I Loft Chair ที่ดูหรูหราตั้งบริเวณตรงกลางของพื้นที่

“โดยปกติแล้วเราจะติดตั้งกระจกในรูปแบบเลขาคณิตอยู่แล้ว แต่งานนี้ไม่เหมือนกับงานอื่นๆ เพราะกระจกต้องถูกดัดโค้งให้เป็นออแกนิคฟอร์ม ซึ่งกระจกจะมีองศาที่จำกัดความโค้งอยู่ เมื่อนำมาติดตั้งในช่วงแรกก็อาจจะมีการแตกออกไปอยู่บ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรระวัง แต่โชคดีที่เราได้ผู้รับเหมาเก่งเข้ามาดูแลในส่วนนี้ จนงานออกมาได้เนี้ยบ สวยงาม และไม่มีปัญหาให้กังวลใจมากนัก”

แบ่งแยกพื้นที่ด้วยวัสดุหินขัด และโมเสคหิน

ด้วยตัวเจ้าของร้านเคยได้สัมผัสพื้นของบ้านคุณยายที่ใช้พื้นหินขัด สถาปนิกจึงเลือกใช้ Terrazzo.By Nisti สีดำ และสีขาว พร้อม คิ้ว Stainless Maha Stainless  สี champaign gold เงา นำมาสร้างแพทเทิร์นสลับสีกัน นอกจากนี้สีหินขัดดำยังเป็นตัวจบขอบระหว่างผนังกับพื้นด้วย และไฮไลท์สำคัญอยู่ที่พื้นรอบตัวบาร์ที่ใช้วัสดุ Imex mosaic หินธรรมชาติ สีครีม เพื่อขับเน้นให้ตัวบาร์ดูโดดเด่นมากยิ่งขึ้น ซึ่งสถาปนิกได้แรงบันดาลใจนี้มาจากร้านอาหารในฝรั่งเศส

ความงาม และงบประมาณ ต้องสมดุลกันในงานประเภทคอมเมอร์เชียล

สถาปนิกกล่าวว่า การออกแบบงานประเภทคอมเมอร์เชียลต้องดูภาพรวมทั้งหมด ทั้งด้านความงาม และเรื่องงบประมาณ ซึ่งในตอนแรกสถาปนิกต้องการใช้สแตนเลสเพื่อความมันเงา แต่ด้วยเหตุผลด้านราคาจึงต้องหาตัวเลือกวัสดุที่มีความคล้ายคลึงหรือใกล้เคียงกันเข้ามาแทนที่ เช่นเหล็กพ่นสี หรือ การเลือกวัสดุที่นิยมใช้งานในประเทศไทยอยู่แล้ว เช่น พื้นหินขัดที่ก็สามารถหยิบจับมาใช้ได้ง่าย ราคาถูก และยังให้รู้สึกถึงสไตล์เรโทรได้อีกด้วย

Writer
Watsapon Vijitsarn

Watsapon Vijitsarn