สร้างสเปซให้บ้านมีความเป็นส่วนตัวด้วยแพทเทิร์น ‘ผนังไม้เสียบเหล็ก’

หากจะมีบ้านสักหลังหนึ่ง เชื่อว่าเราคงอยากได้บ้านที่ให้ความเป็นส่วนตัว สงบ ร่มรื่น ปราศจากเสียงรบกวน และสร้างความผ่อนคลาย เหมือนกับ บ้านไม้เสียบเหล็ก ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่สถาปนิกจาก BackYardArchitect ออกแบบอาคารให้ปิดทึบหลีกสายตาจากคนภายนอก บิดแมสฟอร์มเพื่อป้องกันแสงแดด รวมถึงสร้างผนังแพทเทิร์นไม้เสียบเหล็กรอบอาคารที่ช่วยให้ลมผ่านเข้ามาภายในบ้าน และยังบดบังสายตาจากภายนอกได้ดียิ่งขึ้น ไปพร้อมกับการออกแบบภายในอาคารให้ดูอบอุ่นด้วยโทนสี ขาว เทา ดำ และน้ำตาล สไตล์โมเดิร์น โดยอินทีเรียดีไซน์เนอร์จาก Narakon Studio 

ความต้องการที่เรียบง่าย

เจ้าของมีความต้องการให้บ้านหลังนี้มีพื้นที่นั่งเล่น ห้องครัว ห้องชมภาพยนตร์ ห้องนอนของคู่สามีภรรยา และห้องนอนลูกสาว ซึ่งทุกฟังก์ชันของบ้านต้องมีความเป็นส่วนตัว เพื่อไม่ให้คนภายนอกรบกวนได้ เนื่องจากบริเวณโดยรอบมักมีคนสัญจรผ่านไปมาอยู่ตลอด  

วางผังให้มองเห็นแค่ชั้น 2

เพื่อความเป็นส่วนตัว สถาปนิกร่นระยะตัวบ้านเข้าไปเกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่ดิน และสร้าง Slope ไล่ระดับตั้งแต่รั้วขึ้นไปถึงตัวบ้านเพื่อช่วยลดระดับเสียงจากการสัญจร และคนภายจะนอกมองเห็นได้แค่แมสฟอร์มอาคารชั้น 2 ที่มีการปิดทึบเท่านั้น นอกจากนี้ยังออกแบบวางผังถนนทางเข้าไว้ฝั่งด้านขวาเพื่อไม่ให้คนภายนอกมองเห็นช่วงเวลาเข้า-ออก  

บิดแมสฟอร์มบดบังความร้อน

ด้วยความที่ด้านหน้าอาคารหันเข้าสู่ทางทิศตะวันตก จึงเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้แมสฟอร์มชั้น 2 ถูกปิดทึบด้วยหินอ่อนสีขาว และสร้างจังหวะด้วยหินอ่อนสีดำ โดยให้แมสฟอร์มด้านขวาเป็นส่วนของห้องนอน ห้องแต่งตัว และห้องน้ำของสามีภรรยา พร้อมเจาะช่องแสง และปลูกต้นไม้ไว้ด้านหน้าสำหรับกรองแสง ซึ่งตัวแมสฟอร์มที่ถูกทำให้ยื่นและบิดเอียงไปทางด้านซ้ายจะทำหน้าที่ช่วยบดบังแสงแดด และเบี่ยงเบนสายตาคนภายนอกไม่ให้มองเข้ามาภายในตัวบ้านได้

ส่วนแมสฟอร์มด้านซ้ายที่มีฟังก์ชันเป็นห้องภาพยนตร์ถูกผลักระยะไปด้านหลังเพื่อให้แมสอาคารทางขวาบดบังแสงแดดไม่ให้เกิดความร้อน ถึงแม้แมสฟอร์มทั้งสองส่วนจะดูทึบตัน แต่เมื่อวางอยู่บนผนังแพทเทิร์นสี่เหลี่ยมเหล็กกล่อง กลับทำให้อาคารที่ดูหนักแน่นรู้สึกเสมือนก้อนหินที่กำลังลอยตัวอยู่ 

“การที่นำห้องนอนมาเป็นตัวบังแดด เพราะกิจกรรมครอบครัวเน้นไปที่พื้นที่นั่งเล่นมากกว่า ซึ่งเรามีการนำห้องน้ำ และห้องแต่งตัวมาไว้ด้านหน้าสุดของแมสฟอร์ม เพื่อกรองความร้อนให้กับห้องนอนได้อีกระดับหนึ่ง”

ไม้เสียบเหล็ก’ แรงบันดาลใจจากการก่ออิฐ

ไฮไลท์ของบ้านหลังนี้ คือ ผนังไม้เสียบเหล็ก ที่นำเหล็กกล่องมาก่อเรียงกันแบบเดียวกับการก่ออิฐ เสริมความพิเศษด้วยไม้เต็งรังยึดเข้าไปในตัวเหล็ก เว้นช่วงทุก 1 กล่อง จนเกิดเป็นมิติแสงเงา และบดบังสายตาจากคนภายนอกได้ โดยการวางไม้ให้โผล่ออกมาจากเหล็กกล่องเล็กน้อยยังช่วยให้ลมพัดเข้ามาภายในอาคารได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้แพทเทิร์นของเหล็กและไม้ยังสร้างความแตกต่างกับหินอ่อนชั้น 2 จนกลายเป็นอัตลักษณ์ที่น่าสนใจให้กับตัวบ้าน

“สตูดิโอของเราสนใจเกี่ยวกับวัสดุเหล็ก จึงหยิบเหล็กกล่องมาทดลองต่อกันในลักษณะเดียวกับการก่ออิฐ ซึ่งเราเจอปัญหาว่า เมื่อเชื่อมเหล็กกล่องด้วยความร้อน ทำให้เหล็กหดตัว เมื่อนำมาเรียงต่อกันจึงเกิดความลาดเอียงที่ไม่สม่ำเสมอ เราจึงนำไม้เต็งรังมาเสียบเข้าไปในแต่ละจุดของเหล็กกล่อง สร้างแพทเทิร์นเหล็กให้ดูเนี้ยบ และมีความน่าสนใจมากขึ้น”

ให้ธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งกับภายใน

พื้นที่ใช้สอยกว่า 550 เมตร สถาปนิกออกแบบให้ทางเข้าและที่จอดรถมีหลังคายื่นยาวล้อไปกับแมสฟอร์ม เพื่อป้องกันฝนในเวลาที่ต้องเดินเข้าบ้าน กลับกันถ้าเดินเข้าบ้านในช่วงเวลาบ่าย แสงเงาของแพทเทิร์นเหล็กกล่อง และต้นไม้จะสะท้อนลงสู่กระเบื้องหินอ่อนสีขาว ช่วยสร้างความรู้สึกผ่อนคลายก่อนเข้าตัวบ้านได้

เมื่อเข้ามาภายในบ้านจะพบกับคอริดอร์ ที่พาไปยัง Living Room โถงสูงที่ล้อมรอบด้วยประตูและหน้าต่างกระจก เพื่อดึงคอร์ทยาร์ดต้นไม้ที่อยู่ตรงกลาง และสนามหญ้าภายนอกให้เป็นส่วนเดียวกับภายในอาคาร พร้อมจัดวางเฟอร์นิเจอร์แบบ Open Plan ไล่ลำดับตั้งแต่ เคาน์เตอร์ครัวไอส์แลนด์ โต๊ะรับประทานอาหาร และพื้นที่นั่งเล่น ซึ่งอินทีเรียดีไซน์เนอร์เลือกใช้วัสดุโทนสีขาว เทา ดำ  เพื่อให้ภาพรวมของอาคารดูโปร่งโล่ง และดูผ่อนคลายกับผู้อยู่อาศัย

บนพื้นที่ชั้น 2 คือห้องชมภาพยนตร์สำหรับครอบครัว ที่ออกแบบภายในเป็นสีน้ำตาล พร้อมม่านขนาดใหญ่ให้สามารถปิดได้เมื่อต้องการชมภาพยนตร์ และเปิดได้เมื่อต้องการรับธรรมชาติจากต้นไม้คอร์ทยาร์ดที่อยู่ตรงกลางพื้นที่ชั้น 1 ถัดมาจากห้องชมภาพยนตร์จะเป็นพื้นที่ของโต๊ะหมู่บูชาพระที่พื้นหลังเจาะช่องแสงให้เป็นวงกลมมองเห็นต้นไม้ภายนอก และติดตั้งกระจกให้ล้อมบริเวณคอร์ทยาร์ด จนทำให้ธรรมชาติทั้ง 2 ฝั่งเกิดความเชื่อมโยงกัน

พื้นที่โต๊ะหมู่บูชายังทำหน้าที่เป็นตัวแจกเข้าสู่ห้องนอนของลูกสาว และห้องนอนของสามีภรรยา โดยห้องนอนลูกสาวได้ออกแบบให้มีเส้นสายโค้ง พร้อมใช้สีเทาอมฟ้า และสีชมพู เพื่อให้บรรยากาศดูน่ารักสดใส ส่วนห้องของสามีภรรยา ออกแบบให้เป็นโทนสีเทาน้ำตาลที่ให้ความรู้สึกของความสุขุม นุ่มลึก แบบผู้ใหญ่

นอกจากนี้ยังมีชานภายนอกบริเวณสนามหญ้าหลังบ้านที่เชื่อมโยงเข้ากับห้องรับแขก ที่ถูกออกแบบด้วยเส้นแนวนอน แนวตั้ง และใช้สีเทาอมฟ้าให้รู้สึกถึงความผ่อนคลาย ทั้งนี้ยังสามารถเปิดประตูรับบรรยากาศจากสวนภายนอกที่ให้ความสดชื่นได้อีกด้วย  

ทดลองการออกแบบให้ต่างไปจากเดิม

สำหรับการออกแบบบ้านหลังนี้สถาปนิกพยายามนำเสนอวิธีการออกแบบที่แตกต่างไปจากวิธีการออกแบบบ้านแบบเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นการหยิบวัสดุเหล็กและไม้นำมาสร้างแพทเทิร์นแบบใหม่ที่สร้างความน่าสนใจให้กับตัวอาคาร แถมยังบดบังสายตาจากคนภายนอกไม่ให้มองเห็นกิจกรรมของคนในบ้าน นอกจากนี้การบิดแมสฟอร์มของอาคารยังช่วยป้องกันความร้อนจากแสงแดด และให้ความเป็นส่วนตัวกับเจ้าของบ้าน เมื่อดูภาพรวมของบ้านหลังนี้ยังเป็นเสมือนกับประติมากรรมให้บริบทโดยรอบอีกด้วย  

Credit 
Year :
2022
Area :
500 Sq.m.
Architect : BackYardArchitect
Interior : Narakon Studio 

Writer
Watsapon Vijitsarn

Watsapon Vijitsarn