งานสถาปนิก’66 ปีนี้มาในธีมแปลกกว่าทุกปี กับแนวคิดในชื่อ “ตำถาด: Time of Togetherness” ที่คลุกเคล้ารสชาติของวิชาชีพสถาปนิกจาก 5 องค์กรวิชาชีพให้ทุกคนได้ลิ้มรสชาติกัน
ซึ่งภายในงานจัดกิจกรรมอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการพาวิลเลี่ยน,นิทรรศการผลงานของสถาปนิกทั้ง 4 สาขาวิชาชีพ, กิจกรรมห้องสมุดมนุษย์ และงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ รวมถึงนวัตกรรมใหม่จากแบรนด์ต่างๆ โดยงานนี้จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 25-30 เมษายน 2566 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี
1. Thematic Pavilion จากสถาปนิกรุ่นใหม่
ก่อนงานจะเริ่มขึ้นอีกไม่กี่สัปดาห์นี้ เราขอชวนทุกคนไปชมภาพ และแนวคิดทั้ง 4 Thematic Pavilion ที่สถาปนิก และซัพพลายเออร์วัสดุก่อสร้าง ร่วมมือกันสร้างสรรค์ชิ้นงาน เพื่อแสดงศักยภาพวัสดุ ผลิตภัณฑ์ การก่อสร้าง และการออกแบบให้ดูล้ำสมัย ซึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สร้างความน่าสนใจให้กับงานสถาปนิกได้เป็นอย่างดี
TOA & VG x Hypothesis
หนึ่งในสี่ผลงานของ Thematic Pavilion คือการร่วมมือกันของ TOA, VG และ Hypothesis ที่นำไอเดียจากความเป็นต้นน้ำ ความโดดเด่นด้านการผลิตผลิตภัณฑ์ และการพัฒนาวิจัยของทั้งสองแบรนด์ นำมาออกแบบให้สเปซตรงกลางพาวิลเลี่ยนเป็นพีระมิดน้ำพุที่สื่อถึงความเป็นต้นน้ำ ล้อมรอบด้วยเสา 4 ต้น และติดตั้งวัสดุเส้นสีขาวที่เป็นวัสดุเด่นจากทั้งสองแบรนด์ เพื่อบ่งบอกถึงความแตกต่างของวัสดุ แต่สร้างความกลมกลืน
ภายในพาวิลเลี่ยนจัดเส้นทางเดินให้เป็นรูปตัว X เมื่อเดินไปยังวัสดุชนิดใด ปลายทางของช่องทางออกจะเป็นทางลัด เชื่อมไปสู่โซนแสดงสินค้าของวัสดุนั้นอย่างสะดวก นอกจากนี้ยังได้ติดตั้งวัสดุด้วยวิธีแบบปกป้อง หรือการเชื่อมต่อวัสดุโดยไม่ให้เกิดการเสียดสี เมื่อจบงานแล้วสามารถถอดนำกลับไปใช้งานใหม่ได้
WOODDEN x PAVA
เมื่อพูดถึงการใช้ ‘ไม้สัก’ มักจะถูกมองในเชิงลบว่าไม่ควรตัดมาใช้ประโยชน์ เนื่องจากเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม แต่ PAVA architects และ WOODDEN อยากนำเสนอมุมมองใหม่ในการใช้ ‘ไม้สัก’ เพราะไม้เป็นวัสดุที่ปล่อย Carbon Footprint น้อยกว่าวัสดุก่อสร้างอื่นๆ แถมไม้ยังสามารถวางแผนปลูกทดแทนได้อีกด้วย
Thematic Pavilion ชิ้นนี้ถูกออกแบบให้ไม้สักไล่ระดับความสูงเสมือนป่า ซึ่งภายในจะพาเราย้อนกลับไปดูต้นกำเนิดของ “ไม้สัก” ตั้งแต่เปลือกไม้ แก่น และกระพี้ ที่อยู่ลึกลงไปในชั้นไม้ กระทั่งนิทรรศการจะพาเราไปสู่ปลายทางที่จะเล่าเรื่องไม้สักที่ถูกผ่านกระบวนการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ
TKS & TPP x Context Studio
Context Studio เปลี่ยนภาพจำของท่อเหล็ก 70 ท่อน ให้กลายเป็นประติมากรรม ขนาดสูง 6 เมตร กว้าง 4 เมตร สีฟ้าอมเขียวเมทัลลิกซึ่งเป็นสี CI จาก Thaikoon steel group และ Thai premium pipe นำมาเชื่อมเรียงต่อกันด้วย Joint คอหมุน พร้อมหมุนเหล็กแต่ละเส้นให้เกิดเป็นทรงบิดเกลียว ซึ่งช่วยสร้างความรู้สึกที่พลิ้วไหว และอ่อนโยน นอกจากนี้ยังติดตั้ง โต๊ะและเก้าอี้ที่ออกแบบมาจากท่อเหล็กและเส้นโซ่ ซึ่งสามารถนั่งพักหรือนั่งฟังบรรยายจากกิจกรรม Human Library ได้
เนื่องจากแบรนด์ และดีไซน์เนอร์ใส่ใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อม จึงคัดเลือกวัสดุที่มีขนาดมาตรฐานในท้องตลาดมาใช้งาน ทำให้ไม่ต้องออกแบบ และผลิตใหม่ รวมถึงยังสะดวกต่อการขนส่ง นอกจากนี้การเชื่อมเหล็กแต่ละจุดยังใช้ Washer Bolt เพื่อสร้างความแข็งแรง ทั้งยังลดการเสียดสีขณะติดตั้ง เมื่อจบงานนี้แล้วยังสามารถถอดออกและนำกลับไปใช้งานใหม่ได้อีกด้วย
Empower Steel x ACa
หลังจากที่ได้ออกแบบ Thematic Pavilion จนคว้ารางวัลไปเมื่อปีที่แล้ว ในปีนี้ทาง ACa Architects กลับมาอีกครั้งด้วยการหยิบ ‘เหล็ก’ จาก Empower steel มาใช้ออกแบบ สถาปนิกได้ถอดรหัสเหล็กด้วยการส่องขยายวัสดุเหล็กจนมองเห็นโมเลกุลขนาดเล็กทรงเรขาคณิตเรียงต่อกันเป็นระเบียบ จึงนำไอเดียนี้ไปใช้กับเหล็กแผ่นสกรีนลาย ด้วยการตัดให้เป็นชิ้นสี่เหลี่ยมขนาดเท่ากัน และบากร่อง เพื่อเชื่อมต่อเหล็กให้เป็นโมดูลาร์เรียงต่อกัน ตั้งแต่พื้น ผนัง ฝ้า เฟอร์นิเจอร์ เคาน์เตอร์ ประติมากรรม และชั้นวางของ ทำให้ Thematic Pavilion ชิ้นนี้ปราศจากเสาและคานทั้งหมด
การออกแบบในครั้งนี้ยังสอดแทรกเรื่องความยั่งยืน ด้วยการตัดเหล็กให้เป็นสี่เหลี่ยมขนาดเท่ากันทั้งหมด ซึ่งเป็นขนาดที่ตัดแล้วเหลือเศษน้อยที่สุด และสามารถขนส่งได้สะดวก นอกจากนี้หลังจากจบงานยังสามารถถอดแผ่นเหล็กออก และนำกลับมาใช้ใหม่ได้
ความน่าสนใจยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะภายในพาวิลเลี่ยน Empower Steel x Aca ยังมีกิจกรรม Workshop ต่อแผ่นสี่เหลี่ยมโมดูลาร์ขนาดเล็กที่จำลองวัสดุจากพาวิลเลี่ยน ซึ่งสร้างความสนุกสนานให้กับผู้เยี่ยมชมได้อย่างแน่นอน
2. แลกเปลี่ยนกับสถาปนิก และผู้มีชื่อเสียง
เป็นครั้งแรกที่งาน สถาปนิก’66 ได้จัด HUMAN LIBRARY หรือ ห้องสมุดมนุษย์ โดยนำสถาปนิกชื่อดังจาก 4 สาขา หรือผู้ที่เรียนจบจากสถาปัตยกรรมแต่ประสบความสำเร็จในวิชาชีพอื่น และ Influencer ที่มีชื่อเสียง รวมทั้งหมด กว่า 27 คน ได้มาแชร์ประสบการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ชีวิตส่วนตัว การทำงาน หรือการแก้ไขปัญหาช่วงเวลาที่ยากลำบากในชีวิต ซึ่งกลุ่มผู้ฟังสามารถถาม ตอบ แลกเปลี่ยนความคิดได้อย่างเป็นกันเอง
กิจกรรมนี้จัดขึ้นตลอด 6 วันสำหรับใครที่สนใจสามารถลงทะเบียนสำรองที่นั่งได้ที่เพจงานสถาปนิก: ASA EXPO (จำนวนจำกัด) ผู้ที่ลงทะเบียนจะได้รับสิทธิ์ในการซักถาม พูดคุย กับเหล่าหนังสือมนุษย์ แต่หากใครสนใจฟังเพียงอย่างเดียวก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้โดยไม่ต้องลงทะเบียน
3. พูดคุยกับสถาปนิกระดับโลก
ASA ACT FORUM’23 หรือ การประชุมสัมมนานานาชาติทางสถาปัตยกรรม ที่ครอบคลุมทั้ง 4 สาขาวิชาชีพ ได้แก่ สถาปนิก มัณฑนากร ภูมิสถาปนิก และนักออกแบบผังเมือง ที่มีชื่อเสียงระดับโลก มาแบ่งปันประสบการณ์วิชาชีพ ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ ความยั่งยืน ความร่วมมือ และความเชื่อ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ให้กับนักออกแบบ อย่างเช่น
Jakob Dunkl สถาปนิกจาก querkraft ผู้ออกแบบ The New Inner Ikea Store at Vianna ห้างสรรพสินค้าแบรนด์ดังที่ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และแนวคิดความยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำมาใช้ออกแบบ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมเมืองให้มีคุณภาพดี และมอบประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้คนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
หากพูดถึงเรื่องการออกแบบยั่งยืนแล้ว คงจะหนีภูมิสถาปนิก Damian Thompson จาก FAILA ไปไม่พ้น เพราะเขามีแนวคิดในการสร้างความสมดุลระหว่างเมืองและธรรมชาติ การผสมผสานพื้นที่สีเขียวระหว่างภายในอาคารและพื้นที่ภายนอกให้กลายเป็นส่วนเดียวกัน นอกจากจะสร้างภาพลักษณ์ของเมืองให้ดูร่มรื่นน่าใช้งานแล้ว ยังสร้างอากาศบริสุทธิ์ที่ส่งผลให้ผู้คนมีชีวิตที่ดีขึ้นอีกด้วย
ด้วยสภาพอากาศร้อนชื้นของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การออกแบบสถาปัตยกรรมจึงต้องเปิดโล่งให้มากที่สุดเพื่อระบายอากาศที่ดี นอกจากวิธีการออกแบบเช่นนี้แล้ว ยังมีวิธีอื่นๆ อีกหรือไม่ ที่ทำให้งานออกแบบยังมีความทันสมัยแต่ระบายอากาศได้ดีเช่นเดิม Wong Mun Summ สถาปนิกจาก WOHA ประเทศสิงคโปร์ จะเป็นผู้ถ่ายทอดแนวคิด และวิธีการออกแบบให้พวกเราได้ฟังกัน
สถาปนิกและนักออกแบบภายในคนที่สี่คือ Angela Spathonis กรรมการผู้จัดการสำนักงานสถาปัตยกรรม Gensler จากประเทศสิงคโปร์ ที่มุ่งพัฒนานวัตกรรมใหม่ในการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็น บ้านพักอาศัย สำนักงาน และร้านค้า ให้เกิดความยั่งยืนในทุกมิติ
เมื่อพูดถึงประเทศสิงคโปร์คงจะนึกถึงการวางผังเมือง พื้นที่สาธารณะ และการจัดการสภาพแวดล้อมที่ดี เห็นได้จาก อ่าวมารีน่า แม่น้ำสิงคโปร์ ถนนออร์ชาร์ด และอื่นๆ อีกมากมาย จนกลายเป็นพื้นที่ที่สร้างความสนใจให้กับผู้คนทั่วโลก โดยงานออกแบบข้างต้นนี้ Fun Siew Leng สถาปนิกผังเมืองจาก Urban Redevelopment Authority ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าในการออกแบบทั้งหมด
นอกจากนี้ยังมีหัวข้ออื่นๆ จาก สถาปนิก นักออกแบบ และผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ของประเทศไทยได้มาแชร์ประสบการณ์ และแนวคิดต่างๆ ให้กับผู้เยี่ยมชมในงานนี้อีกด้วย
4. สถาปนิกโชว์ของ
หากใครกำลังคิดงานไม่ออก และต้องการสร้างแรงบันดาลใจในการออกแบบ ในปีนี้งานสถาปนิกได้จัดนิทรรศการผลงานของสถาปนิกทั้ง 4 สาขา ประกอบด้วย สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย และสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย ซึ่งเป็นการรวมแนวคิดการออกแบบและโมเดลสถาปัตยกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเลยก็ว่าได้
TOA AQUA SHIELD 2IN1 MULTI SURFACE
GREENLAM SHOWER SURFACES
FLOOR PATCHING MORTAR
MW001G MAKITA
5. วัสดุและนวัตกรรมใหม่
นอกจากการพูดคุย และชมผลงานของสถาปนิกแล้ว ทางแบรนด์วัสดุชั้นนำ ยังนำวัสดุและนวัตกรรมใหม่มาเปิดตัวในงาน สถาปนิก’66 ครั้งนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น TOA AQUA SHIELD 2IN1 MULTI SURFACE นวัตกรรมสีเคลือบรวมรองพื้น สูตรน้ำ สาร VOCs ต่ำ ปลอดภัยกว่าสีน้ำมันทั่วไปถึง 9 เท่า จาก TOA , GREENLAM SHOWER SURFACES ผนังห้องน้ำไร้ร่องยาแนว ที่ออกแบบมาเพื่อให้กระเบื้องกลายเป็นประวัติศาสตร์ จาก Greenlam , FLOOR PATCHING MORTAR นวัตกรรมการซ่อมพื้นคอนกรีตบางที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ จาก JORAKAY และ MW001G เตาไมโครเวฟแบบพกพาจาก MAKITA เป็นต้น
6. วัตถุดิบที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ
เรียกได้ว่าภายในงาน สถาปนิก’66 พร้อมเสิร์ฟตำถาดขนาดใหญ่ ที่มีวัตถุดิบเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจมากมายไม่ว่าจะเป็น การบรรยายของสถาปนิกระดับโลก ความเพลิดเพลินในการเดินชม Thematic Pavilion และบูธที่มีดีไซน์โดดเด่น รวมไปถึงการพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่างๆ กับสถาปนิก และนักออกแบบ แถมยังมีนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่อีกด้วย จึงไม่ควรพลาดที่จะเข้าร่วมงาน สถาปนิก’66 ในปีนี้ สำหรับใครที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/ASAArchitectExposition หรือ www.ArchitectExpo.com
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!