บ้านอิงสุข ฟิวชันเพิงเหนือ-ใต้ เปิดสเปซพื้นถิ่นแบบใหม่ในยุค 2023

นับวันการออกแบบและก่อสร้างเรือนไม้พื้นถิ่นในกรุงเทพ ฯ และต่างจังหวัดเริ่มจะหาดูยากมากขึ้นเพราะไม้จริงมีราคาสูง และหายาก รวมไปถึงวิธีการก่อสร้างแบบช่างไม้ฝีมือพื้นถิ่นที่ค่อยๆ สูญหายไปตามกาลเวลา แต่นั่นไม่ใช่สำหรับ บ้านอิงสุข ที่ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าอุทยานแห่งชาติออบขาน จังหวัดเชียงใหม่  ที่ได้ทีมสถาปนิกยางนาสตูดิโอ ออกแบบโดยนำสเปซของ ขนำ” หรือ เพิงพื้นถิ่นของชาวสวนภาคใต้ มาผสมผสานกับ ห้าง” เพิงพื้นถิ่นแบบชาวนาภาคเหนือ แถมยังใช้วัสดุเก่าอย่างไม้จริง เหล็ก และไม้ไผ่ในพื้นที่ มาใช้เป็นองค์ประกอบหลักของตัวบ้านหลังนี้

วัสดุของคนชื่นชอบของเก่า

เมื่อ 4 ปีก่อนยางนาสตูดิโอเคยออกแบบเรือนไม้ให้กับเจ้าของบ้าน หลังจากที่ได้พื้นที่ดินใหม่ จึงชักชวนมาออกแบบอีกครั้ง แต่คราวนี้เป็นเรือนไม้หลังใหม่สำหรับรับรองรับแขก และปล่อยเช่ารายวัน

ด้วยไลฟ์สไตล์เจ้าของที่ชอบสะสมของเก่า สถาปนิกจึงตั้งใจทดลองใช้วัสดุจากไม้เก่า เหล็กเก่า และไม้ไผ่ในพื้นที่ นำมาผสมผสานเพื่อให้เกิดมิติใหม่ของเรือนไม้แบบพื้นถิ่น แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธวัสดุใหม่ในท้องตลาดที่จะต้องหาซื้อได้ในระยะไม่เกิน 10 กิโลเมตร ซึ่งมีเพียงแค่ต่อม่อ ฐานราก และหลังคารอนคู่เท่านั้น

ไม้เก่าอย่าง เต็งรัง ประดู่ และไม้แดงถูกเลือกมาใช้เป็นวัสดุหลัก เพราะมีโอกาสยืดหดตัวน้อย และปราศจากปลวกและแมลง ทั้งนี้ทางผู้ออกแบบยังเลือกที่จะไม่ทาเคลือบไม้เพื่อให้วัสดุมีสีสันที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา นอกจากนี้ยังใช้ไม้ไผ่เป็นหน้าบานประตู หน้าต่าง บานกระทุ้ง และระแนง เพื่อบดบังแสง และสายตาจากคนภายนอก ขณะเดียวกันก็ยังสามารถมองเห็นกิจกรรมภายนอกได้เช่นเดิม

แรงบันดาลใจ “ขนำ”

เนื่องจากเจ้าของบ้านมีพื้นเพเป็นคนหาดใหญ่ สถาปนิกจึงหยิบ ขนำ หรือ เพิงยกใต้ถุนของชาวสวนภาคใต้ที่มีชานนั่งเล่น ครัว และพื้นที่นอน นำมาใช้ในการออกแบบให้ขนำมีรูปแบบที่ใหญ่ขึ้น และแบ่งห้องนอน ห้องอเนกประสงค์ และห้องน้ำออกเป็นยูนิตจนเกิดช่องว่างระหว่างอาคาร เพื่อให้แต่ละห้องมีความเป็นส่วนตัว รวมถึงลมยังสามารถพัดผ่านได้ตลอดทั้งวัน และในส่วนช่องว่างบริเวณตรงกลางของบ้านถูกใช้เป็นบันไดหลักสำหรับขึ้น-ลง

ทุกฟังก์ชันภายในบ้านเชื่อมโยงด้วยชานใต้หลังคา ทั้งหมด โดยห้องนอนอยู่ทิศตะวันออก เน้นการนอนหลับพักผ่อน ส่วนห้องอเนกประสงค์อยู่ตรงกลางของตัวบ้านสามารถนั่งพักผ่อน นอนเล่น หรือทำกิจกรรมอื่นได้ ส่วนพื้นที่ครัวอยู่ทางทิศตะวันตกจะมีความคล้ายคลึงกับแพนทรี่สำหรับทำอาหารขนาดเล็กได้ นอกจากนี้ครัวยังเชื่อมโยงไปยังห้องน้ำ และส่วนแต่งตัวได้อีกด้วย

บานเปิดยาวรับลม

สถาปนิกออกแบบบานเปิดให้ยาวอยู่ในระดับเดียวกับคนนั่ง เพื่อรับ ลม และแสงเข้ามาภายในอาคารในช่วงฤดูร้อน และหน้าฝน เมื่อถึงฤดูหนาวก็สามารถปิดหน้าต่างบางส่วน เพื่อป้องกันความหนาว แต่ก็ยังสามารถระบายอากาศได้เช่นเดิม นอกจากนี้ห้องนอนยังมี เติ๋น” หรือ ชานนั่งเล่นแบบเดียวกับ ห้าง” เพิงภาคเหนือเข้ามาผสมผสานกันอีกด้วย

“นอกจากจะนำฟังก์ชันแบบเรือนภาคเหนือเข้ามาผสมผสานแล้ว รายละเอียดการต่อไม้คาน พื้น และเสา ก็เลือกใช้วิธีแบบเรือนพื้นถิ่นภาคเหนือ เช่น การเจาะ สอด ทะลุ และสลักเดือย เพราะมีความแข็งแรงและมีความยืดหยุ่นสูง แต่ถ้าเป็นวัสดุไม้เชื่อมกับเหล็กจะเลือกใช้น็อตเป็นตัวเชื่อมมากกว่า”

บันไดจากตอไม้แรงบันดาลใจจากเรือนพื้นถิ่น

เดิมในแบบก่อสร้างเป็นเพียงบันไดธรรมดาเท่านั้น แต่ในระหว่างการก่อสร้าง สถาปนิกต้องการให้บันไดมีความพิเศษมากขึ้น จึงนำตอไม้แดงเก่าที่ไม่ได้ใช้งาน นำมาเรื่อย ขัด ตัด แต่ง พร้อมติดตั้งราวจากเหล็กเก่า คล้ายคลึงกับงานศิลปะ เมื่อเสร็จสิ้นจึงนำฐานเหล็กเจาะยึดไปกับหินที่ฝังลงในพื้นดิน ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากบ้านเรือนพื้นถิ่นใน ในประเทศพม่า ลาว และเวียดนาม

ลานดินขั้นบันไดระบายน้ำไว

สถาปนิกเลือกปั้นระดับเนินดินให้เป็นขั้นบันได เพื่อให้ระดับของดินใจกลางตัวบ้าน ที่เป็นจุดรวมตัว และทำกิจกรรม ไม่ห่างจากชานของเรือนมากเกิน สามารถนั่งห้อยขาได้อย่างสะดวกสบาย ทั้งนี้ในขณะที่ฝนตก น้ำก็สามารถไหลออกได้รวดเร็ว นอกจากนี้พื้นที่ใต้ถุนยังใช้หินก่อสร้างโรยทั่วทั้งพื้นที่เพื่อป้องกันสัตว์เลื้อยคลาน

สร้างประสบการณ์ใหม่ผ่านเรือนไม้

เรือนไม้รองรับแขกหลังนี้ ได้ทดลองใช้วัสดุเก่า อย่างไม้จริง เหล็ก และไม้ไผ่ในพื้นที่นำมาผสมสานจนทำให้ตัวบ้านมีมิติที่มากขึ้น ส่วนการออกแบบฟังก์ชัน และรูปลักษณ์ก็ได้หยิบ ขนำ เรือนจากภาคใต้ นำมาผสมผสานกับ เติ๋น ชานพักของเพิงภาคเหนือ และรายละเอียดการก่อสร้างแบบเรือนแบบภาคเหนือ จนเกิดเป็นเรือนยูนิตที่เกาะเกี่ยวไปกับชานบ้าน นอกจากนี้ยังปรับระดับพื้นดินเป็นขั้นบันไดให้อยู่ในระดับใกล้ชิดกับชานเพื่อให้สะดวกต่อการนั่ง และทำกิจกรรม

“การสร้างบ้านในพื้นที่ธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์เช่นนี้ ฟังก์ชันของบ้านต้องเชื่อมโยงข้างนอกกับข้างในให้มากที่สุด เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยได้รับประสบการณ์จากธรรมชาติ และกิจกรรมแบบใหม่อย่างที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน” สถาปนิกกล่าว

Project location : Nam Phrae, Hang Dong District, Chiang Mai, Thailand
Building Type : Wood House
Completion Year : 2022
Area : 50 sq.m.
Lead Architect : Dechophon Rattanasatchatham, Metee Moonmuang
Interior design : Yangnar studio
Construction Supervisor : Metee Moonmuang
Structure Engineer : Yangnar studio
Builder Team : Yangnar studio builder team
Documentary Photographer : Metee Moonmuang
Narrative text : Patcharada Inplang
Drawing : Prabrawarin Nimsiri, Nutwara Thaiprayoon, Kan Pinsopon
Materialization : rock,earthen and waste log in construction site / used wood, old wood, old teak door and window / Cement roof tile / Steel pipe and tube from recycle material shop / Decorative object and fitting from local second hand and flea market
Writer
Watsapon Vijitsarn

Watsapon Vijitsarn