เมื่อเป็น ‘เด็ก’ ก็ต้องเล่น และศึกษาเล่าเรียน เมื่อเป็น ‘ผู้ใหญ่’ ก็ต้องทำงานไปพร้อมกับเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เคยสังเกตไหมว่าวิถีชีวิตของเราตั้งแต่เด็กจนเติบโต ทำให้สเปซของบ้านถูกปรับเปลี่ยนไปไม่รู้กี่ครั้ง เหมือนว่ามันเจริญเติบโตไปกับเราอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้สถาปนิกจาก Studio PATH จึงออกแบบบ้าน Masook House ให้สอดคล้องไปกับบริบท และให้ฟังก์ชันภายในบ้านมีสามารถปรับเปลี่ยนฟังก์ชันการใช้งานได้ตลอดเวลา เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของลูกสาว และสามีภรรยา ไปพร้อมกัน
สอดคล้องบริบท อยู่สบาย ยืดหยุ่น
เจ้าของบ้านต้องการสร้างบ้านหลังใหม่ในระแวกใกล้เคียงกับบ้านของคุณแม่ ที่รายล้อมไปด้วยบริบทของที่พักอาศัยไม่ว่าจะเป็น บ้าน และ อพาร์ทเม้นท์เก่าอายุกว่า 40 ปี ด้วยเหตุผลนี้ภายในบ้านหลังนี้จึงต้องมีความเป็นส่วนตัว และมีฟังก์ชันที่ตอบโจทย์ต่อทั้งคู่สามีภรรยา คุณแม่ และที่สำคัญคือต้องเตรียมพร้อมการเติบโตของลูกสาววัย 5 ขวบ ไปพร้อมกันด้วย
ผ่าน 3 คีย์เวิร์ดที่สถาปนิกได้วางไอเดียไว้ ได้แก่ รูปแบบอาคารที่สอดคล้องไปกับชุมชน การจัดสรรพื้นที่ให้อยู่สบาย และพื้นที่รองรับการเติบโตของลูกสาว ฟังก์ชันส่วนกลางจึงต้องมีขนาดใหญ่ และมีความยืดหยุ่นเพื่อปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ตลอดเวลา ในส่วนห้องห้องนอน และห้องน้ำ จำเป็นต้องลดขนาดลง เพื่อให้พ่อแม่ และลูกสาว เน้นทำกิจกรรมร่วมกันอยู่ในพื้นที่ส่วนกลางมากกว่าส่วนอื่นๆ
เส้นสายฟาซาดจากเพื่อนบ้าน
ด้วยบริบทของชุมชนที่มีอายุกว่า 40 ปี อาคารส่วนใหญ่มักออกแบบให้เป็นแพทเทิร์นหน้าต่างสี่เหลี่ยม สลับกับผนังปิดทึบ และเลือกใช้วัสดุคอนกรีตสีขาว อิฐ และไม้ สถาปนิกจึงหยิบเส้นสาย วัสดุ และสีสัน มาใช้กับด้านหน้าอาคารด้วยการสร้างแพทเทิร์นหน้าต่างสี่เหลี่ยมผืนผ้าพร้อมติดระแนงไม้ สลับไปกับเสาเอ็นคอนกรีตสีขาว ทำให้ภายในบ้านหลังนี้สามารถรับแสงธรรมชาติ และลมจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือได้อย่างเต็มที่ แถมตัวบ้านยังดูกลมกลืนบริบทรอบข้างอีกด้วย
ปรับเปลี่ยนฟังก์ชันได้อย่างยืดหยุ่น
พื้นที่ใช้สอยกว่า 200 ตารางเมตร เมื่อเข้ามาภายในบ้านจะพบกับโถงต้อนรับติดกับแพทเทิร์นบานหน้าต่าง ก่อนจะยกระดับพื้นที่ภายในบ้านที่สูงขึ้นหนึ่งระดับ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ทางความรู้สึกในการเปลี่ยนถ่ายไปยังสเปซดับเบิ้ลวอลุ่มที่ประกอบไปด้วย พื้นที่นั่งเล่น พื้นที่รับประทานอาหาร และครัว ตามลำดับ โดยจัดวัดวางเฟอร์นิเจอร์แบบ Open Plan เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ขนาดเล็ก และเฟอร์นิเจอร์ที่สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ เพื่อรองรับการใช้งานของลูกสาวในอนาคต เช่น บาร์รับประทานอาหาร สามารถปรับมาใช้นั่งทำการบ้าน ทำงาน หรือสังสรรค์กับเพื่อนๆ ได้
ภายในชั้นนี้ยังประกอบไปด้วยห้องนอนสำหรับคุณยาย และห้องทำงานของคู่สามีภรรยาที่อยู่ติดกับด้านหน้าอาคารจึงสามารถเปิดระแนงหน้าต่างรับลม แสงแดด และคอร์ตยาร์ทต้นแก้ว ซึ่งเป็นต้นไม้ดั้งเดิมของพื้นที่
ด้านหลังสุดของภายในชั้น 1 เป็นแกนคอนกรีตหล่อในที่ให้บันไดเกาะเกี่ยวเพื่อขึ้นไปยังชั้น 2 นอกจากนี้ยังทำให้ผนังด้านหลังสุดของอาคารถูกปิดทึบเพื่อบดบังสายตาจากอพาร์ทเม้นท์ด้านหลัง และความร้อนจากพระอาทิตย์อ้อมใต้ อย่างไรก็ตาม สถาปนิกก็ยังติดตั้งบานเปิดกระจกไว้ทางด้านซ้าย ให้สามารถเปิดรับลม และแสงบางส่วนเข้ามาสู่ภายในอาคาร จะเห็นได้ว่าภายอาคารทั้งหมดยังคงใช้สี ขาว น้ำตาล และเทา เช่นเดียวกับภายนอกอาคาร
สเปซชั้นสองเมื่อลูกสาวเติบโต
เมื่อเดินขึ้นมาบนชั้น 2 จะพบกับห้องนอนขนาดใหญ่ที่ภายในมีผ้าม่านกั้นสำหรับการแต่งตัว ห้องนี้จะถูกเชื่อมกับห้องน้ำ และเชื่อมไปยังห้องนอนของลูกสาวในอนาคต นอกจากนี้พื้นที่ที่ติดกับห้องนอนของลูกสาวยังออกแบบให้เป็นพื้นที่ Open Space เพื่อรองรับกิจกรรมของลูกสาว และเพื่อนๆ ในอนาคตอีกด้วย
บ้านที่กลมกลืนและยืดหยุ่น
สำหรับบ้านหลังนี้สถาปนิกต้องการให้อาคารดูกลมกลืนไปกับชุมชน โดยหยิบแพทเทิร์นจากบริบทไม่ว่าจะเป็น ช่องเปิดสี่เหลี่ยมผืนผ้า สลับกับคอนกรีตปิดทึบ รวมไปถึงสีสันต่างๆ นำมาใช้ทั้งภายใน-นอกอาคารทั้งหมด ในส่วนสเปซภายในอาคารถูกออกแบบให้เป็นดับเบิ้ลวอลุ่ม เพื่อให้อาคารดูกว้าง ให้ลม และแสงเข้าได้อย่างทั่วถึง สุดท้ายคือพื้นที่ส่วนกลางของบ้านถูกออกแบบให้มีฟังก์ชันที่สามารถเปลี่ยนได้ตลอดเวลาเพื่อรองรับกิจกรรมในทุกช่วงวัยของลูกสาวโดยเฉพาะ
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!