Weng’s factory and co-working space
การสถาปัตยกรรมในยุคเปลี่ยนผ่านจากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก

เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไปหลายสิ่งย่อมเปลี่ยนตาม ไม่เว้นแต่วิถีชีวิตของคนเราและงานสถาปัตยกรรม ไม่ต่างจาก
Weng’s factory and co-working space
ที่เดิมทีเป็นโรงกลึงไม้ของคุณพ่อที่ปัจจุบันไม่ได้ทำอาชีพนี้แล้วและพื้นที่ตรงนี้ก็ตกมาเป็นของรุ่นลูก จึงมีการเปลี่ยนแปลงจากโรงกลึงไม้กลายเป็น พื้นที่ Workshop งานไม้ Cafe และ Co-working spaceโดยที่ยังคงกลิ่นอายของโรงไม้เก่าไว้อยู่

Architect Nonsense สถาปนิกผู้ออกแบบเลือกที่จะเก็บ Element ส่วนใหญ่ของโรงไม้เอาไว้ รวมถึงนำอุปกรณ์ต่างๆในโรงไม้มาตกแต่งเพราะรู้สึกว่าเป็นสเน่ห์ดั้งเดิมของอาคารซึ่งปัจจุบันหาได้ยาก ตั้งแต่ทางเข้าหลักที่เป็นผนังโลหะซึ่งมีเครื่องมือต่างๆของโรงงานประดับอยู่ ตัวผนังวางแนวเฉียงเป็นการนำสายตาให้ผู้คนที่เดินเข้ามาไปสู่โถงหน้า Co-working Space ซึ่งเป็นพื้นที่เปิดโล่งหลังจากผ่านทางเข้าที่ไม่ใหญ่มากนักเหมือนเป็นการต้อนรับผู้คนที่เข้ามา

เก็บสิ่งเดิม ก่อสิ่งใหม่

เมื่ออยากรักษาเอกลักษณ์ของความเป็นโรงงานไว้ โครงสร้างเดิมจึงถูกเก็บไว้ให้ได้มากที่สุด เช่น พื้นที่ Double space บานเกล็ดระบายอากาศ พัดลมระบายอากาศ และโครงหลังคาที่เป็นทรัสทำให้ผู้ใช้งานสัมผัสได้ว่าตัวเองกำลังอยู่ในโรงงานไม้ และผู้ออกแบบมีการเก็บเสาไว้แต่ดันผนังเข้าไปด้านในเพื่อให้เป็นพื้นที่รอบข้างอาคาร ทำให้อาคารดูไม่เป็นก้อนทึบตัน มองดูสบายตาและยังมีประโยชน์ในเรื่องกันฝนสาดด้วย

การควบคุมแสงธรรมชาติ และ แสงประดิษฐ์ในอาคาร

ผู้ออกแบบต้องการให้แสงธรรมชาตเข้าสู่ตัวอาคารให้ได้มากที่สุด จึงมีการเปลี่ยนผนังไม้บางส่วนเป็นกระจกแทนและฝ้าบริเวณห้องประชุมก็เป็นกระจกสลับการใส่ Panel light เพื่อให้แสงสว่างเพียงพอต่อการใช้งาน รวมถึงด้านข้างอาคารซึ่งเป็นบริเวณ Workshop จะมีประตูบานม้วนที่ปกติจะถูกเปิดไว้เพื่อรับแสงและให้อากาศถ่ายเท ส่วนผนังแนวอื่นๆจะมีการเว้นช่องแสงเป็นระยะๆ

บางสิ่งยังมีประโยชน์ แค่เปลี่ยนวิธีใช้

วัสดุเดิมในโรงงานไม่เพียงแต่นำมาใช้เป็นโครงสร้างหรือตกแต่งเท่านั้น แต่นำมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์อีกด้วย
พู่เล่เครื่องกลึงถูกนำมาเป็นฐานของบาร์ในโซนคาเฟ่ ในขณะเดียวกันไม้เนื้อแข็งความยาว 12 เมตรในโรงงานก็ถูกนำมาเป็นท็อปของบาร์ นอกจากนี้ยังมีเฟอร์นิเจอร์หลายอย่างที่ถูกสร้างมาจากสิ่งที่มีอยู่แล้วภายในโรงงาน

อาคารเก่า เล่าใหม่

เพราะการหยิบ Element บางอย่างมาใช้ได้เหมาะสมกับผู้คนในปัจจุบัน งานสถาปัตยกรรมนี้จึงกลายเป็นการผสมผสานระหว่างโรงงานยุคเดิมและฟังก์ชั่นการใช้งานใน ยุคปัจจุบันได้อย่างลงตัว

Project Name: Weng’s factory and co-working space
Location : บางขุนเทียน จ.กรุงเทพมหานคร
Architecture Firm: Architect Nonsense
Year: 2023
Area : 750 Sq.m.
Lead Architects: พลพิพัฒน์ นากสวาท
Interior Designer: Architect Nonsense
Construction:
Photographer :คุณากร ธีรธิติธรรม

Writer
Pornpawee Dithisawatwet

Pornpawee Dithisawatwet

สถาปัตยกรรมทุกอย่างมีความหมายซ่อนอยู่ เราค้นพบและนำมาบอกเล่า