ในการก่อสร้างบ้าน โครงสร้าง หรือระยะต่างๆ ไม่ควรจะผิดเพี้ยนไปจากแบบก่อสร้างที่ทางสถาปนิก และวิศวกรได้ออกแบบไว้ แต่เราก็มักจะพบเจอการก่อสร้างที่เยื้องศูนย์ หรือ ระยะของโครงสร้างที่ผิดเพี้ยนอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากปัญหาทางเทคนิคของผู้รับเหมา ทำให้เกิดความไม่มั่นใจถึงความสวยงาม ความปลอดภัย และความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
วันนี้ Dsign Something มีโอกาสพูดคุยกับ วิศวกรจากบริษัท all_houses ถึงความคลาดเคลื่อนของระยะโครงสร้างที่ยอมรับได้ว่ามีค่าเหล่านั้นอยู่ที่เท่าไหร่ เพื่อให้ความมั่นใจ ไม่เป็นอันตรายต่อการอยู่อาศัย และยังคงความสวยงามของอาคารได้เช่นเดิม
เสาเข็ม
แม้สายตาของเราจะสังเกตว่าเสาเข็มตั้งตรงเป็นมาตรฐาน แต่นั่นไม่ใช่วิธีการวัดเสาเข็มเยื้องศูนย์ที่ถูกต้อง ฉะนั้นจำเป็นต้องใช้หลักวิศวกรรมในการวัดความคลาดเคลื่อนในการก่อสร้าง โดยเสาเข็มจะต้องมีความคลาดเคลื่อนไม่เกิน 1:100 นั่นก็หมายความว่าทุกๆ 1 เมตร สามารถคลาดเคลื่อนได้ไม่เกิน 1 เซนติเมตร ซึ่งวิศวกรจะเป็นผู้ตรวจสอบรายละเอียดเพื่อความมั่นคง และความปลอดภัย
ฐานราก
สิ่งสำคัญในลำดับถัดมาก็คือ ฐานราก ซึ่งมีวิธีการวัดความคลาดเคลื่อนเหมือนกับการวัดขนาดเสาเข็มเยื้องศูนย์ แต่แตกต่างกันตรงที่ความคลาดเคลื่อนของงฐานรากทุกๆ 1 เมตร สามารถคลาดเคลื่อนได้ไม่เกิน 7 เซนติเมตร จึงจะให้ความมั่นคง และความปลอดภัย
โครงสร้างทั่วไป
ในส่วนของงานโครงสร้างทั่วไป เช่น เสา คาน พื้น และโครงสร้างหลังคา ความคลาดเคลื่อนที่ยอมรับได้คือ ทุก 1 เมตร สามารถคาดเคลื่อนได้ไม่เกิน 2 เซนติเมตร ซึ่งความคลาดเคลื่อนในลักษณะนี้ไม่จำเป็นต้องแก้ไข หรือ เสริมโครงสร้างเพิ่มเติมใดๆ แต่แนะนำให้ใช้วิธีการขยับแนวดิ่งฉาก หรือ การปรับค่าระดับเพิ่มขึ้น หรือ ลดลง 1-2 เซนติเมตร ตามความคลาดเคลื่อนก็เพียงพอ แต่ถ้าหากความคลาดเคลื่อนเกินค่ามาตรฐานให้ทำการปรึกษาวิศวกร และผู้ออกแบบ เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขต่อไป
งานตกแต่งภายใน-นอก
สำหรับงานตกแต่งภายนอก หรือภายในอาคาร สามารถใช้สายตาสังเกตถึงความคลาดเคลื่อน หรือ ลักษณะที่ผิดแปลกไปจากที่ตกลงกันไว้กับผู้ออกแบบ และวิศวกร หากเป็นที่พึงพอใจทางสายตาก็ไม่จำเป็นต้องแก้ไข หรือเพิ่มเติมใดๆ เพราะการตกแต่งไม่ได้ส่งผลถึงโครงสร้างของตัวอาคาร หรือภายในอาคารเท่าไหร่นัก
เฟอร์นิเจอร์บิ้วอิน
ด้วยโครงสร้างต่างๆ ที่มีโอกาสคลาดเคลื่อนถึง 2 เซนติเมตร ทำให้ผู้ออกแบบ และผู้รับเหมาด้านเฟอร์นิเจอร์บิ้วอินจำเป็นต้องวัดขนาดพื้นที่จัดวางเฟอร์นิเจอรที่หน้างานอีกครั้ง เพื่อปรับเปลี่ยนขนาดของเฟอร์นิเจอร์ที่ออกแบบไว้ให้สอดคล้องเข้ากับพื้นที่ได้อย่างพอดิบพอดี
แม้ว่าการออกแบบ และการคำนวณโครงสร้างของตัวบ้านจะถูกคิดมาอย่างละเอียด และรอบคอบตามในแบบก่อสร้างเท่าไหร่ เมื่อถึงเวลาก็สร้างก็ยากที่จะควบคุมให้ออกมาได้ 100 % อย่างไรก็ตามเพื่อไม่ให้เกิดความคลาดเคลื่อนของโครงสร้างจนเกินมาตรฐาน ควรให้วิศวกร และนักออกแบบเข้ามาตรวจสอบเป็นประจำ และต่อเนื่องจะดีที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจาก บริษัท ออลเฮ้าส์ จำกัด
LINE ID : Allhousesolder
Hotline : 095 747 7000
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!