Aur Aree House บ้านทรงกล่องที่ถูกต่อและเชื่อมด้วยสัมพันธ์ของครอบครัว

เมื่อวันเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วจากเดิมทีผู้ซึ่งเคยเป็นเจ้าของบ้านกลับกลายมาสู่การเป็นผู้อยู่อาศัย โดยมีลูกหลานเข้ามารับช่วงต่อในหน้าที่ของการดูแลรักษาบ้านและผู้คนในครอบครัวให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข แต่ความสุขภายในบ้านนั้นจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากไม่มีพื้นที่ ๆ ที่รองรับต่อการทำกิจกรรมที่เหมาะสม ผู้อยู่อาศัยรุ่นใหม่จึงเกิดไอเดียการสร้างบ้านหลังใหม่ที่จะเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้สูงอายุภายใต้การออกแบบพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างบ้านหลังเก่าและบ้านหลังใหม่ที่ยังสามารถคงความสัมพันธ์ของผู้อยู่อาศัย

แปลนชั้น ที่ 1

แปลนชั้น ที่ 2

พื้นที่ ๆ คนรุ่นใหม่ออกแบบให้แก่คนรุ่นเก๋า

“ บ้านเอื้ออารี ” บ้านทรงกล่องหลังสีขาวที่สร้างความสะดุดตาให้แก่ผู้ที่ผ่านไปมาบนถนน บรมราชชนนี เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ โดยเดิมทีเป็นบ้านของครอบครัวที่มีสมาชิกในบ้านหลากหลายช่วงวัยอาศัยร่วมกันไปในตั้งแต่รุ่นคุณย่าไปจนถึงรุ่นหลาน และบ้านเอื้ออารีได้รับการออกแบบใหม่โดย aurs studio ภายใต้โจทย์การออกแบบบ้านหลังใหม่จากบ้านหลังเดิมที่ไม่เหมาะสมแก่การใช้ชีวิตของผู้สูงอายุอีกต่อไปและ Owner มีความต้องการสร้างบ้านหลังใหม่ที่เหมาะสำหรับการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว

บ้านทรงกล่องที่รู้สึกโปร่งสบาย ไม่ทึบเหมือนอยู่ในกล่อง

บ้านเอื้ออารี เป็นบ้านพักอาศัย 2 ชั้นที่ตั้งอยู่ตรงข้ามกับบ้านหลังเก่าของครอบครัวผู้อยู่อาศัย ตั้งอยู่ภายในซอยของถนน บรมราชชนนี กรุงเทพมหานคร โดยผู้ออกแบบให้ความสำคัญแก่การเชื่อมต่อของบ้านทั้ง 2 หลังโดยมีการคำนึงถึงการเชื่อมโยงกันระหว่างบ้านหลังเก่าและบ้านหลังใหม่ โดย ( Approach ) การเข้าถึงของบ้านมุมมองจากซอยหน้าบ้านจะเห็นว่า ( Form ) รูปทรงของตัวบ้านมีลักษณะคล้ายกล่อง 2 กล่องที่ถูกต่อกันโดยกล่องทั้ง 2 ได้ทำหน้าที่ ๆ แตกต่างกันในลักษณะของรูปทรงและการใช้งาน

การเชื่อมต่อปฎิสัมพันธ์ผ่านการใช้งานของ Space

เมื่อเข้ามาสู่พื้นที่ส่วนแรกตัวของตัวบ้านจะพบเข้ากับพื้นที่ภายในของกล่องที่มีความโปร่งจากการนำอลูมิเนียมสีขาวมาเจาะรูและพื้นที่ส่วนนี้ถูกนำมาใช้เป็นส่วนของหน้าบ้านเพื่อที่จะกั้น ( Space ) พื้นที่ของตัวบ้านออกจากถนนหน้าบ้านและสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับผู้อยู่อาศัย และสร้างมุมมองจากภายในบ้านให้ผู้อยู่อาศัยสามารถมองออกสู่ภายนอกได้ โดยผู้อยู่อาศัยจะได้รับความเป็นส่วนตัวจากพื้นที่ภายนอกของตัวบ้านและตัวกล่องอลูมิเนียมเจาะรูยังสามารถช่วยกรองแสงอาทิตย์จากทางทิศตะวันออกในตอนเช้าให้แก่ผู้อยู่อาศัยได้ พื้นทีส่วนนี้ทำหน้าที่เป็นระเบียงชั้น 2 ที่มีขนาดใหญ่ที่หันหน้าเข้าสู่บ้านหลังเก่าและทำหน้าที่เป็นหลังคาหรือพื้นที่ออกกำลังกายนอกบ้านที่ผู้ออกแบบตั้งใจให้ผู้อยู่อาศัยสามารถใช้เป็นพื้นที่ส่วนนี้เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมและให้สมาชิกในครอบครัวได้มีพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกันและยังสามารถมองเห็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในบ้านหลังเก่าได้อีกด้วย

ในส่วนของพื้นที่ ๆ อยู่ภายในของกล่องลักษณะปิดทึบนั้นเป็นพื้นที่ ๆ ถูกปิดล้อมด้วยผนังคอนกรีตฉาบเรียบสีขาวที่ช่วยทำหน้าที่ป้องกันแสงอาทิตย์จากทางทิศใต้และเชื่อมต่อกกับพื้นที่กลางบ้านที่เป็นพื้นที่โล่งมีการเว้นช่องแสงขนาดใหญ่เพื่อปลูกต้นไม้เป็นพื้นที่ให้ร่มเงาแก่บ้านกล่องทั้ง 2 ฝั่ง

และด้วยการที่สมาชิกแต่ละคนในครอบครัวมีความชอบที่แตกต่างกันทำให้เกิดความต้องการของการใช้พื้นที่ส่วนตัวที่แตกต่างกันซึ่งห้องนอนในแต่ละห้องจึงมีรูปแบบลักษณะการออกแบบที่แตกต่างกันไปตามความชอบของแต่ละคนโดยมีความเชื่อมต่อผ่านวัสดุที่เหมือนกันแต่ต่างกันด้วยเทคนิครูปแบบการทำสีและพื้นผิวสัมผัสที่แตกต่างกันไป

คอร์ทยาร์ดกลางบ้านพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างผู้อยู่อาศัย

พื้นที่ทางเข้าของบ้านถูกออกแบบให้พื้นที่ถูกโอบล้อมด้วยสีเขียวจากสวนริมรั่วในบริเวณของพื้นที่ข้างบ้านและคอร์ทยาร์ดตรงกลางบ้านเพื่อให้พื้นที่ตรงนี้สามารถเปิดรับลมและแสงธรรมชาติให้สามารถไหลเข้าสู่ตัวบ้านได้ โดยที่ทางเข้าบ้านจะสามารถมองเห็นพื้นที่นั่งเล่นผ่านทางคอร์ทยาร์ดตรงกลางบ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่ ๆ คุณย่าในวัยเกษียญจะใช้เวลาเวลาอยู่มากที่สุด สถาปนิกผู้ออกแบบจึงให้ความสำคัญกับพื้นที่นั่งเล่นส่วนนี้เป็นอย่างมากเนื่องจากจะเป็นพื้นที่ ๆ สมาชิกในบ้านและญาติ ๆ จะเข้ามาร่วมตัวกัน

ต่างกิจกรรมภายในพื้นที่เดียวกัน

รูปแบบการใช้งานของพื้นที่ภายในของบ้าน เอื้ออารี เป็นรูปแบบ ( Connecting room ) ที่มีการเชื่อมต่อของพื้นที่นั่งเล่นเข้ากับพื้นที่รับประทานอาหาร และ ห้องครัวด้วยการเชื่อมต่อของเฟอร์นิเจอร์ซึ่งทำให้พื้นที่ในการทำกิจกรรมพบปะของครอบครัวมีขนาดใหญ่และเพียงพอให้ผู้อยู่อาศัยสามารถใช้ทำกิจกรรมไปพร้อมกันได้โดยที่ยังสามารถมองเห็นซึ่งกันและกันเพื่อเป็นการส่งเสริมกิจกรรมที่สามารถทำร่วมกันได้ระหว่างคนในครอบครัว

โดยบ้าน เอื้ออารี ถือเป็นบ้านที่มีแนวคิดในการออกแบบตั้งต้นมาจากความใส่ใจของผู้อยู่อาศัยโดยแท้จริงที่ต้องการให้แต่ละพื้นที่ของบ้านผู้อยู่อาศัยทุกคนภายในบ้านสามารถใช้งานได้อย่างสะดวกสบายและมีความสุข

Project Name: Aur Aree House
Architecture Firm: aurs studio 
Year: 2023
Area : 400 ตรางเมตร
Lead Architects: อินทัช เอื้อศักดิ์อารี
Photographer : aurs studio

Writer
Heamarat Chimchavee

Heamarat Chimchavee

สถาปนิกจำเป็น ที่ทำงานออกแบบเป็นงานอดิเรก มีความสนใจในการทำความเข้าใจแนวคิดและที่มาของงานออกแบบต่าง ๆ ที่พบเจอ ให้กลายเป็นเรื่องเล่า