‘Sustainability หรือความยั่งยืน’ หากพูดคำๆ นี้ขึ้นมาในยุคปัจจุบัน แน่นอนว่าคงไม่ใช่เทรนด์หรืออะไรที่เรียกว่าใหม่มากนัก เพราะวงการต่างๆ อย่างเช่น การออกแบบสถาปัตยกรรม นวัตกรรม หรือกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีต่างๆ ก็มักออกผลิตภัณฑ์หรือแนวคิดที่แสดงถึงประเด็นดังกล่าวนี้ให้เราเห็นกันอยู่เรื่อยๆ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดี เพราะนอกจากจะส่งผลดีกับโลกแล้ว เรายังได้เห็นการครีเอทผลงานใหม่ๆ ผ่านกระบวนการออกแบบและผลิตภายใต้แนวคิดของความยั่งยืนนี้
หนึ่งในนั้น คือ Kindness Wood โปรเจ็กต์พิเศษที่ทางสตูดิโอออกแบบ Studio Act of Kindness ทำร่วมกับบริษัทผู้นำเข้าและส่งออกไม้ชนิดต่างๆ ด้วยประสบการณ์มากกว่า 40 ปีอย่าง Champaca Wood จากเศษไม้เหลือใช้ที่ถูกตัดและเตรียมทิ้ง จึงถูกชุบชีวิตด้วยพลังของการสร้างสรรค์ สู่ซุงไม้ใหม่ผสมไม้สักแท้ ไม้โอ๊ค ไม้แดง และไม้อื่นๆที่พร้อมใช้งาน ผ่าน 7 แพทเทิร์นที่ออกแบบขึ้นใหม่ให้มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์
คุณชารีฟ ลอนา Design Director แห่ง Studio Act of Kindness เล่าว่า “เราเป็นดีไซน์เนอร์ที่ใช้ไม้เป็นวัสดุหลักอยู่แล้ว พอได้ไปเยี่ยมทางบริษัท Champaca เขาเองก็ค่อนข้างให้ความสำคัญกับการจัดสรรทรัพยากรมากพอสมควร พอเราได้ไปเห็นเศษไม้ที่เหลือใช้เราก็เลยตัดสินใจกันว่าจะนำเศษเหล่านี้มาเป็นโจทย์หลักของโปรเจกต์ และนำการออกแบบมาใช้เป็นเครื่องมือแก้ปัญหา เพื่อให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรที่คุ้มค่ามากที่สุด”
‘From Flaw to Flawless’ เพิ่มคุณค่าให้กับเศษเหลือใช้
Kindness Wood คือสร้างไม้ขึ้นใหม่โดยเปลี่ยนวิธีการจัดการเศษไม้ off cut ที่ถูกตัดออกเพียงเพราะไม่ได้สวยตามมาตราฐาน A grade ของตลาด ซึ่งในการทำอุตสาหกรรมไม้พื้น 30% ของซุงไม้ 1 ต้นก็มักจะถูกคัดทิ้งมาโดยตลอด Studio Act of Kindness และ Champaka จึงเล็งเห็นโอกาสดังกล่าว โดยได้จัดการกับเศษไม้ จนกลายเป็นไม้ชิ้นใหม่ที่ได้ลวดลายมากถึง 7 รูปแบบ และในแต่ละรูปแบบยังสามารถนำมาตัดและทำให้เกิดลวดลายในตัวเองได้อีก 4 ลวดลาย
เศษที่เคยเหลือทิ้งจึงถูกดัดแปลงมาสร้างสรรค์เป็นผลงานได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มของงานเฟอร์นิเจอร์ เครื่องประดับ องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม และยังมีราคาที่เข้าถึงได้ สำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สนใจการทำงานฝีมือจากไม้ Kindness Wood จึงเปรียบเหมือนทางเลือกใหม่ของวัสดุไม้ที่น่าสนใจ ถือเป็นการต่ออายุทรัพยากรให้ยืนยาวและใช้งานได้อย่างหลากหลาย อีกทั้งในกระบวนการผลิตยังใช้สารเคมีน้อย ทำให้สามารถย่อยสลายได้ง่าย ไม่เป็นพิษต่อดินและระบบนิเวศ
Reclaimed Legacy กลิ่นอายของความคุ้นเคย
แพทเทิร์นต่างๆ พิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถนำไปใช้ได้จริงอย่างหลากหลาย ผ่าน Reclaimed Legacy นิทรรศการที่หยิบนำแพทเทิร์นทั้ง 7 มาออกแบบให้เป็นงาน Furniture Sculpture รวมถึงของตกแต่งที่แฝงกลิ่นอายความวินเทจ หรือนำวัฒนธรรมที่เราคุ้นเคยเข้ามาผสมผสาน เพื่อให้คนทั่วไปสามารถจับต้องและเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น
Kopitiam Chair
Kopitiam Chair ชวนให้เรานึกถึงเก้าอี้วินเทจในสภากาแฟที่อาม่าหรืออากงมักจะมานั่งสนทนากัน โดย Reclaimed ขึ้นใหม่ด้วยการนำแพทเทิร์นของ Kindness Wood ดีไซน์ผสมผสานบริเวณส่วนนั่ง พนักพิงและขาโต๊ะ เกิดเป็นลวดลายที่น่าจดจำและสร้างเสน่ห์ได้เป็นอย่างดี
Stool on Pedestal
Stool on Pedestal ถูกดีไซน์ให้เป็นของตกแต่งที่เติมเต็มสเปซก็ทำได้ หรือจะใช้ในฟังก์ชันของการนั่งเป็นเก้าอี้ Stool ก็ได้เช่นเดียวกัน โปรดักต์ตัวนี้ยังโชว์กระบวนการผลิตซึ่งสามารถนำไม้ Kindness Wood มาดัดให้อยู่ในลักษณะโค้งได้อีกด้วย
Wood Terrazzo Totem
Wood Terrazzo Totem ถือเป็นโปรดักต์ที่มีการจัดการยากที่สุด เนื่องจากเป็นการ Random แพทเทิร์นก่อนจะนำสู่กระบวนการผลิตจนเกิดเป็นของตกแต่งชิ้นดังกล่าว แต่สิ่งที่น่าสนใจคือกระบวนการผลิตที่คล้ายคลึงกับ Terrazzo หรือหินขัดโดยเป็นการนำเศษวัสดุหลายชนิดมาหล่อรวมเข้าด้วยกัน ซึ่งในอนาคตเราอาจเห็นกระบวนการนี้ถูกนำไปพัฒนาร่วมกับอุตสาหกรรมของวัสดุชนิดอื่นๆ ก็เป็นได้
Chinese Cabinet
Chinese Cabinet หยิบนำกลิ่นอายของความเป็นบ้านแบบชาวเอเชียเข้ามาออกแบบดีไซน์โปรดักต์ ซึ่งโชว์เทคนิคการผสมผสานระหว่างไม้โอ๊คและไม้แดง รวมถึงเทคนิคของการนำแพทเทิร์นไม้ที่ว่าไปทาสี สร้างสีสันและยังเพิ่มทางเลือกให้กับการใช้วัสดุได้อีกทางหนึ่ง
คุณชารีฟทิ้งท้ายว่า “งานนี้เป็นงานที่พวกเราทุกฝ่ายตั้งใจทำกันมาก ลงมือทำเอง ทั้งการคัดไม้ กำกับการผลิตทุกอย่าง รวมถึงทำวิจัยร่วมกันกับองค์กรป่าไม้และผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเราหวังว่าอย่างน้อย อยากให้ทุกคนลองตั้งคำถามถึงวิธีการจัดการกับขยะ เศษเหลือใช้ หรือเศษวัสดุ ซึ่งจะนำมาสู่ความยั่งยืนจริงๆ”
รายละเอียดของสินค้าและผลิตภัณฑ์ สามารถติดตามได้ทาง IG : Kindness Wood และงาน Reclaimed Legacy ณ Warehouse 30 ที่จะจัดขึ้นตั้งแต่วันนี้จนถึง 8 เมษายนนี้