ANANTA
แบรนด์จิวเวลรี่เก่าแก่ที่สร้างมุมมองใหม่
ของไลฟ์สไตล์จิวเวลรี่ด้วยดีไซน์ไร้กาลเวลา

จากแบรนด์จิวเวลรี่เก่าแก่อายุ 30 ปีสู่ร้าน Lifestyle Jewelry ร่วมสมัย

หากพูดถึงแบรนด์ธุรกิจเครื่องประดับอัญมณีและเพชรเก่าแก่ที่อยู่คู่บ้านเรามาตั้งแต่ยุคเฟื่องฟู ต้องมีชื่อของ ANANTA เป็นหนึ่งในร้านเครื่องประดับอัญมณีและเพชรที่ติดอันดับต้น ๆ ของประเทศ แต่พอเวลาผ่านไปรูปแบบของร้านก็ดูแก่ลงตามสภาพ บวกกับมุมมองของร้านจิวเวลรี่ที่คนมักเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดูเข้าถึงยาก หรือดูทางการเกินไป ในปัจจุบัน ANANTA จึงถูกชุบชีวิตขึ้นมาใหม่ ด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบของธุรกิจ และการตกแต่งภายในร้าน สู่การเป็นแบรนด์จิวเวลรี่ในอุตสาหกรรมแฟชั่นแบบ lifestyle jewelry ที่เข้ากับยุคสมัยยิ่งขึ้น

ไม่เพียงแต่เพิ่มความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการที่แตกต่าง เข้ากับรสนิยม อายุ การใช้งาน และงบประมาณ ของผู้คนในยุคนี้ สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นคือ การฉีกออกจากภาพลักษณ์ของแบรนด์จิวเวลรี่เดิม ๆ ที่มักดูทางการเกินไป เข้าถึงยาก ให้เข้าถึงผู้คนได้ง่ายมากขึ้น และเกิดการรับรู้ใหม่ให้คุณค่าของผลิตภัณฑ์อย่างอัญมณีให้กลายเป็นสิ่งที่สามารถอยู่ในทุกช่วงเวลาสำคัญของชีวิต ที่ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าถึงอัญมณีและเพชรได้ 

Ananta Jewelry สาขา Central Pinklao (PK)
Ananta Jewelry สาขา Central World (CW)

ท็อป-ธนพลพจน์ โรจน์ณัฐกุล สถาปนิกจากทีม IF เล่าถึงที่มาของความตั้งใจปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของแบรนด์ใหม่ว่า “เราอยากทำให้ความหมายของจิวเวลรี่ที่ดูเข้าถึงยาก มาทำให้เข้าถึงกลุ่มคนมากขึ้น เหมือนเครื่องเพชรเป็นอะไรที่สามารถใส่ได้ทุกวัน และไม่จำเป็นต้องถูกซื้อแค่ในวาระสำคัญอย่างเช่น งานแต่งงาน แค่เรียนจบมหาวิทยาลัย สอบได้เกรดดี ๆ หรือวันเกิด ก็สามารถที่จะซื้อเครื่องประดับในราคาที่ย่อมเยาขึ้นมาได้ ดังนั้นเรื่องของการจิวเวลรี่ จึงถูกปรับเปลี่ยนให้เป็น lifestyle jewelry มากขึ้น”

ถอดเส้นโค้งจากสัญลักษณ์ “นิรันดร์” มาใช้ในการออกแบบ

“เราเห็นเอกลักษณ์ของโลโก้ของแบรนด์ ANANTA ที่เป็นสัญลักษณ์อินฟินิตี้ไขว้กัน แสดงถึงความไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งสอดคล้องกับความหมายของคำว่า นิรันดร์ รูปลักษณ์เส้นโค้งของ ANANTA นี้ เลยน่าถูกนำมาใช้ในการวางแปลน สร้างคาแร็กเตอร์ของร้าน และสร้างภาษาที่ไหลต่อเนื่องไปทั่วทั้งร้าน โดยกรีดผนังบางส่วนแล้วดึงออกมาเป็นคอร์เนอร์ตามฟังก์ชันที่ลูกค้าอยากได้” นานา ตรรกวาทการ สถาปนิกผู้ดูแลโครงการ ANANTA เล่า

จากคำว่า “นิรันดร์” ในภาษาสันสกฤต ที่มาจากความหมายของคำว่า “อนันทา (Ananta)” สถาปนิกทีมผู้ออกแบบจาก IF จึงหยิบแนวคิดที่สอดคล้องไปกับโลโก้ของแบรนด์อย่างสัญลักษณ์อินฟินิตี้ไขว้กันที่มีลักษณะของการเคลื่อนไหวอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เข้ามาทำหน้าที่ในการออกแบบพื้นที่ภายในและกราฟิกสภาพแวดล้อม (Environmental Graphic) โดย หยิบเอาสัญลักษณ์เส้นโค้งที่มีลักษณะเฉพาะดังกล่าว มาใช้กำหนดการวางผังพื้นที่ภายใน ถ่ายทอดผ่านความลื่นไหล และต่อเนื่องของพื้นที่ ไปจนถึงการสร้างผนังโค้งที่พับเข้าและฉีกออกเพื่อกำหนดพื้นที่ภายในเกิดเป็นคอร์เนอร์ตามฟังก์ชันใช้งาน ส่วนโค้งยังช่วยให้บรรยากาศของร้านดูมีดีไซน์ที่เหนือกาลเวลาอีกด้วย

สร้างมุมมองใหม่ของร้านจิวเวอรี่ที่เข้าถึงผู้คนได้ง่ายขึ้น

แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นแบรนด์จิวเวลรี่รุ่นเก๋าที่มีอายุมานานกว่า 30 ปี แต่ด้วยความตั้งใจที่อยากให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์หลุดจากความคุ้นชินเดิม ๆ ของร้านจิวเวอรี่ และสามารถเข้าถึงผู้คนได้ง่ายขึ้น สถาปนิกจึงแกะโจทย์และความต้องการของลูกค้านี้ ด้วยการปรับเปลี่ยนวางผังพื้นที่ใหม่ จากที่แต่เดิมประตูทางเข้าจะถูกปิดไว้ตลอดเวลา สู่การใช้ open plan แบบไม่มีประตูกระจกกั้น ซึ่งการเปิดโล่งแบบเต็มหน้ากว้างของพื้นที่ร้านดังกล่าว ทำให้ ANANTA มีความทันสมัย ดูเป็นมิตร และเข้าถึงง่ายขึ้นนั่นเอง

Transition Space from Lifestyle Zone to Bridal Zone สาขา Central World

เมื่อเดินเข้าไปภายในร้านจะมีพื้นที่ถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน เพื่อให้ตอบรับกับลูกค้าแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน รวมถึงสร้างบรรยากาศและความรู้สึกที่แตกต่างให้กับผู้เข้ามาใช้บริการ สถาปนิกจึงปรับเปลี่ยนรูปแบบการตกแต่งทั้ง 3 โซน ลงดีเทลไปถึงการเลือกใช้และจัดวางเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงขับความสวยงามของเครื่องประดับให้ออกมาโดดเด่นที่สุด ซึ่งยังได้ทีม FOS Lighting Design มาช่วยเสริมบรรยากาศด้วยแสงไฟ

โซนแรกคือ Lifestyle ที่กินพื้นที่ประมาณ 70% ของร้าน ถูกออกแบบขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์ประเภท lifestyle jewelry โดยเป็นการผสมผสานความหรูหรา แต่สนุกสนาน มีลูกเล่น เข้าถึงง่าย

Lifestyle Zone สาขา Central Pinklao

“วิธีการวางเฟอร์นิเจอร์หรือวิธีการให้บริการก็จะเห็นว่า มีการวางเฟอร์นิเจอร์ให้ชนผนัง เพื่อให้ลูกค้ากับพนักงานสามารถยืนคุยข้างกันได้ เพื่อช่วยลดความเกร็งมากกว่าที่ปกติแล้วพนักงาน มักจะยืนอยู่หลังเคาน์เตอร์เสมอ หรืออย่างพื้นที่ด้านหน้าของโซน lifestyle ที่โดยปกติลูกค้าจะใช้เวลาในการเลือกซื้อไม่นาน วิธีการจัดวางหรือเก้าอี้ที่เราเลือกใช้ ก็จะออกมาเป็นเก้าอี้สตูลนั่งง่าย ๆ หรือมีโต๊ะสูงไว้วางของพูดคุยกัน” คุณนานาเล่าเสริม

ภายในโซนเดียวกันนี้ ยังมีพื้นที่ Men’s อันเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกสร้างสรรค์สำหรับผู้ชาย ซึ่งถูกตกแต่งให้มีความเรียบง่าย เน้นวัสดุโทนสีเข้มอย่างสีดำ น้ำ เงิน ตัดด้วยสีขาว รวมทั้ง Moment โซนเครื่องประดับไลฟ์สไตล์ซึ่งมีรูปแบบและราคาที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามต้องการ โดยถูกออกแบบให้มีความสนุกสนานแต่มีภูมิฐานในเวลาเดียวกัน

ขณะที่ Bridal พื้นที่สำหรับแหวนแต่งงาน ถูกออกแบบให้มีความเป็นผู้หญิง ชวนฝัน และสดใส ผ่านผนังฉากสีขาว สำหรับโซนสุดท้ายเรียกว่า High Jewelry เป็นพื้นที่ในส่วนผลิตภัณฑ์ที่ถือเป็นจุดกำเนิดของแบรนด์ เนื่องจากต้อนรับฐานลูกค้าเก่า จึงถูกออกแบบโดยคงความภูมิฐานผ่านโทนสีน้ำตาลซึ่งเป็นสีคอร์เปอร์เรทดั้งเดิมของแบรนด์ แต่เพิ่มบรรยากาศสบาย ๆ เป็นกันเอง และอบอุ่นมากยิ่งขึ้น

Bridal Zone สาขา Central Pinklao
High Jewelry Zone สาขา Central World

นอกจากวัสดุที่แตกต่างจากร้านเพชรทั่วไป อย่างการเลือกใช้ผนังฉาบที่จะมีพื้นผิวแบบดิบ ๆ เพื่อลดบรรยากาศที่ดูเป็นทางการของร้านเพชรแบบเดิมลงแล้ว ยังมีปรับเปลี่ยนโทนสีใหม่ เดิมทีสีคอร์เปอร์เรทดั้งเดิมของแบรนด์ ANANTA คือสีน้ำตาล แต่เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ให้ดูแก่เกินไป บรรยากาศของร้าน ANANTA ในตอนนี้ จึงถูกเปลี่ยนให้รู้สึกมีชีวิตชีวาขึ้น ด้วยการเลือกใช้สีฟ้าและสีน้ำเงินเป็นสำคัญ

ขณะเดียวกันก็เพิ่มความนุ่มนวลด้วยการใช้สีน้ำตาลซึ่งเป็นสีคอร์เปอร์เรทดั้งเดิมของแบรนด์ และสีขาวในองค์ประกอบอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ถูกใช้ภายในร้าน หรือพื้นที่ภายใน และงานกราฟิกต่าง ๆ ซึ่งในส่วนของแบรนดิ้งของ ANANTA ยังได้ทีมสตูดิโอออกแบบจาก be>our>friend มาเป็นผู้สร้างสรรค์และดูแลแบรนด์ดิ้งใหม่ให้ ANANTA เป็นแบรนด์จิวเวลรี่ไลฟ์สไตล์ที่ทันสมัยมากขึ้น

จุดบรรจบของงานดีไซน์และธุรกิจที่ลงตัว

คุณท็อปยังสรุปถึงวิธีออกแบบร้านจิวเวลรี่ในแบบของ IF ว่า “จะเห็นว่าเราไม่ได้ทำงานออกมาว่ามันจะเป็นยังไง จุดหลัก ๆ เลยคือ ยิ่งเราทำ Retail หรือ Commercial สิ่งที่เราให้ความสำคัญคือเรื่องของธุรกิจแล้วเราก็ให้ความสำคัญในดีไซน์ของเราด้วย จุดที่มาเจอกันระหว่างดีไซน์ และธุรกิจ ที่มันตรงกันมาก ๆ อยู่ที่ตรงนั้น ฉะนั้นถ้าถามว่างานจะออกมาเป็นงานดีไซน์ที่หรูหราเตะตาตั้งแต่ครั้งแรกมั้ย ผมว่าคิดว่าอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ที่เราตั้งเอาไว้กันกับปรัชญาในการทำงานของเรา แต่ถ้าเกิดคนที่เดินเข้าไปในร้านเป็นลูกค้าของ ANANTA หรือเป็นคนที่กำลังเดินเข้าไปซื้อเพชร หรือสนใจในเรื่องจิวเวลรี่ไลฟ์สไตล์ ผมคิดว่าสิ่งที่เราทำไปจะตอบโจทย์กับลูกค้ากลุ่มนี้”

และนี่คือเรื่องราวของ ANANTA กับการออกแบบที่เข้ามาทำหน้าที่เปลี่ยนภาพลักษณ์จากแบรนด์ร้านจิวเวลรี่เก่าแก่จากรุ่นพ่อแม่ สู่ร้านจิวเวลรี่ดีไซน์ใหม่ในรุ่นลูกที่มีบรรยากาศดูคลาสสิกเหนือกาลเวลา ที่พร้อมพาทุกคนไปท่องโลกแห่งเครื่องเพชรและอัญมณีแบบเข้าถึงง่าย และเป็นกันเองขึ้น แต่ระวังอย่าไปสะดุดรักตรงบริเวณทางเข้าที่ทีม IF แอบแฝงดีเทลกราฟิกเล็ก  ๆ รูปคนกำลังสะดุดซ่อนตัวเป็นกิมมิกน่ารัก ขี้เล่น ไว้ต้อนรับผู้คนที่เดินเข้ามาในร้าน ANANTA แห่งนี้

โปรดระวังสะดุดรัก
“Caution! Falling in Love”

Project: ANANTA JEWELRY
Location: Central World Branch (CW) และ Central Pinklao Branch (PK), Bangkok
Owner: ANANTA JEWELRY
Interior architect: IF (Integrated Field)
Environmental graphic: IF (Integrated Field)
Signature furniture design: IF (Integrated Field)

Other collaborators
Lighting designer: FOS Lighting Design Co., Ltd.
Corporate identity: be>our>friend
Electrical engineer: SITE 83 Co., Ltd.
Sanitary engineer: SITE 83 Co., Ltd.

Photographer: Ketsiree Wongwan

Writer
Saovapak Ayasanond

Saovapak Ayasanond

อดีตกองบรรณาธิการนิตยสารบันเทิงที่ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะผันตัวมาเป็นนักเล่าเรื่องสายบ้านและสถาปัตยกรรม จนกระทั่งพบว่าการออกแบบเต็มไปด้วยคุณค่าและเรื่องราวที่น่าสนใจไม่แพ้กัน