สถาปัตยกรรมคิดบวกของ Anne Lacaton และ Jean-Philippe Vassal
สองสถาปนิกเจ้าของรางวัล Pritzker Prize ปี 2021

เมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลายคนตื่นเต้นกับช่วงเวลาสำคัญของวงการสถาปัตยกรรมกับข่าวประกาศผลรางวัลอันทรงเกียรติ Pritzker Architecture Prize ไปหมาดๆ ซึ่งในปี 2021 นี้ รางวัลตกเป็นของสองสถาปนิกชาวฝรั่งเศส Anne Lacaton และ Jean-Philippe Vassal ผู้ก่อตั้งสตูดิโอออกแบบในชื่อ Lacaton & Vassal  GreatArchitects ในครั้งนี้ เราจึงได้โอกาสพาไปรู้จักสถาปนิกทั้งสองผู้ฝากผลงานออกแบบอันมีค่าไว้ให้คนทั่วโลกได้ชื่นชม

“สถาปัตยกรรมที่ดีควรจะต้องเปิดกว้างเพื่อเพิ่มอิสระให้กับทุกคน โดยที่ทุกคนสามารถทำในสิ่งที่ต้องการได้ สถาปัตยกรรมไม่ควรแสดงออก หรือโอ่อ่า แต่ต้องเป็นสิ่งที่คนเห็นแล้วคุ้นเคย มีประโยชน์ สวยงาม และสามารถรองรับชีวิตที่จะเกิดขึ้นภายในนั้นได้อย่างเงียบๆ” – Anne Lacaton

ทั้งคู่สร้างชื่อเสียงผ่านการออกแบบสถาปัตยกรรมคิดบวกที่พยายามไม่มองว่าสิ่งที่มีหรือสิ่งที่เป็นจะกลายเป็นปัญหาเสมอไป ผลงานออกแบบของพวกเขาจึงมักถูกเปรียบเปรยว่าเป็นเครื่องมือที่เปลี่ยนแปลงชีวิต ซึ่งมักจะแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของ ‘การเสริมสร้างชีวิตมนุษย์’ โดยให้ประโยชน์ต่อทั้งผู้อยู่อาศัยและสนับสนุนการพัฒนาของเมือง

Anne Lacaton and Jean-Philippe Vassal
Photo Credits: https://www.pritzkerprize.com/laureates/anne-lacaton-and-jean-philippe-vassal

ความงามและความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อทรัพยากร

Anne Lacaton และ Jean-Philippe Vassal พบกันครั้งแรกในระหว่างการฝึกอบรมสถาปัตยกรรมที่เมืองบอร์กโดซ์ ประเทศฝรั่งเศส หลังจากนั้น Lacaton ตัดสินใจเรียนต่อในระดับปริญญาโทด้านการวางผังเมืองจากมหาวิทยาลัย Bordeaux Montaigne ในขณะที่ Vassal ย้ายไปศึกษาด้านการวางผังเมืองที่ประเทศไนเจอร์ ในแอฟริกาตะวันตก ซึ่ง Lacaton เองก็มีการไปเยี่ยมเยือน Vassal บ่อยครั้ง

ทั้งคู่มีโอกาสได้ออกแบบและสร้างอาคารร่วมกันเป็นครั้งแรกในเมืองนีอาเม ประเทศไนเจอร์ ซึ่งโปรเจกต์ดังกล่าวเป็นการออกแบบกระท่อมฟางชั่วคราวที่สร้างด้วยกิ่งและพุ่มไม้ที่หาได้ในท้องถิ่น ซึ่งสามารถต้านทานลมได้ถึง 2 ปี นับจากเวลาที่กระท่อมสร้างเสร็จสมบูรณ์ ด้วยความที่ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากความงดงาม และความอ่อนน้อมถ่อมตนของทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดภายในภูมิประเทศทะเลทรายของประเทศไนเจอร์ โปรเจกต์นี้จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ส่งต่อแนวคิด หลักการที่ทั้งคู่ต่างยึดถือ นั่นคือ “ไม่ทำลายสิ่งที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ เคารพในความเรียบง่าย และเสนอความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการออกแบบสถาปัตยกรรม”

Photo Credits:
http://arquitecturasinarquitectura.blogspot.com/2013/09/niamey-niger-lacaton-vassal-1984.html
https://www.stirworld.com/see-news-anne-lacaton-jean-philippe-vassal-the-2021-pritzker-laureates-for-whom-
demolition-is-an-act-of-violence

ในปี ค.ศ.1987 ทั้งคู่ตัดสินใจลงหลักปักฐานและก่อตั้งบริษัท Lacaton & Vassal ขึ้นในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผลงานของพวกเขาก็แสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญผ่านการออกแบบอาคารใหม่ๆ และโครงการที่ง่ายต่อการเปลี่ยนแปลง โดยส่วนมากจะเป็นโครงการออกแบบที่อยู่อาศัยส่วนตัว อาคารสงเคราะห์ทางสังคม สถาบันวัฒนธรรมและวิชาการ พื้นที่สาธารณะ และการวางผังเมือง

จุดเด่นที่ทำให้ผลงานของทั้งคู่ควรค่าแก่การน่าจดจำ คือความใจกว้างของสถาปัตยกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงการสนับสนุนในเรื่องความยุติธรรมทางสังคม และความยั่งยืน โดยการจัดลำดับความสำคัญของการใช้งานพื้นที่ อิสระทางการใช้งาน ผ่านวัสดุที่ประหยัดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

Palais de Tokyo, 2014, Paris
Photo Credits:
https://www.dezeen.com/2021/03/17/key-projects-anne-lacaton-jean-philippe-vassal-pritzker-prize/
https://arquitecturaviva.com/works/palais-de-tokyo-10

‘จากภายในสู่ภายนอก’ แก่นแท้ของสถาปัตยกรรมคือผู้คนที่เข้าไปใช้งาน

กว่าจะออกมาเป็นอาคารสักหนึ่งหลัง ย่อมประกอบไปด้วยมิติที่หลากหลาย ทั้งมิติของการออกแบบสถาปัตยกรรมที่จับต้องได้ หรือมิติที่ต้องอาศัยเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์อย่างการใช้งานของ Users ซึ่งอาคารของ Anne Lacaton และ Jean-Philippe Vassal ต่างมองแก่นแท้ของงานสถาปัตยกรรมผ่านการใช้งานของผู้คน ผลงานของทั้งคู่จึงใส่ใจการออกแบบจากภายในสู่ภายนอก ด้วยการจินตนาการว่าผู้คนจะเคลื่อนไหวและใช้ชีวิตอย่างไรภายในที่ว่างเหล่านั้น อาคารต้องตอบสนองต่อการใช้งานและแน่นอนว่าต้องอยู่สบาย ฟาซาดและการใช้วัสดุจึงมักเกิดขึ้นในตอนท้ายของกระบวนการออกแบบ แต่กลมกลืนและเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันได้อย่างลงตัว

Tour Bois le Prêtre, 2011, Paris
Photo Credits:
https://modulo.net/it/realizzazioni/riqualificazione-della-torre-bois-le-pretre

ยกตัวอย่างเช่น Latapie House บ้านที่สร้างขึ้นในประเทศฝรั่งเศส โครงการแรกที่พวกเขาได้ออกแบบ หลังจากกลับมาจากประเทศไนเจอร์ สถาปนิกทั้งสองตั้งใจมอบความเป็นอยู่ที่ดีทั้งทางร่างกายและอารมณ์ให้กับผู้อยู่อาศัย โดยนำการใช้เทคโนโลยีเรือนกระจกเข้ามาเป็นองค์ประกอบหลักเพื่อสร้างสภาวะทางชีวภาพ การใช้แสงอาทิตย์ร่วมกับการระบายอากาศตามธรรมชาติ การออกแบบที่บังแดดและฉนวนกันความร้อน สร้างสภาพอากาศที่อยู่สบายและสามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างยืดหยุ่น  

“แรกเริ่มเราได้ศึกษาโรงเรือนในสวนพฤกษศาสตร์ ที่มีพืชอันเปราะบาง แสง ความโปร่งใสที่สวยงาม และความสามารถในการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศกลางแจ้ง มันเป็นบรรยากาศและความรู้สึกที่น่าสนใจ ซึ่งเราอยากที่จะนำความละเอียดอ่อนเหล่านั้นมาสู่งานสถาปัตยกรรม” Lacaton เล่า

Latapie House, 1993, Floirac
Photo Credits:
https://www.dezeen.com/2021/03/17/key-projects-anne-lacaton-jean-philippe-vassal-pritzker-prize/
https://www.atlasofplaces.com/atlas-of-places-images/ATLAS-OF-PLACES-LACATON-VASSAL-MAISON-LATAPIE-IMG-3.jpg


นอกจากความสำคัญของผู้ใช้งาน ทั้งสองยังเคารพและให้เกียรติบริบทเดิมที่มีอยู่ก่อนในพื้นที่ สถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นทีหลังจึงควรแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตน แทนที่จะโออ่าและแสดงตัวเหนือบริบทเดิมเสียจนไม่หลงเหลือเสน่ห์ Cap Ferret House ที่พักส่วนตัวในประเทศฝรั่งเศส พิสูจน์แนวคิดดังกล่าว ด้วยการออกแบบที่รบกวนสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติน้อยที่สุด แทนที่จะกำจัดต้นไม้เดิม 46 ต้นบนพื้นที่โครงการ สองสถาปนิกเลือกที่จะได้ดูแลพืชพันธุ์พื้นเมืองเหล่านี้ โดยยกระดับตัวบ้านและสร้างบ้านขึ้นรอบๆ ลำต้น ทำให้ผู้อยู่อาศัยสามารถใช้ชีวิตท่ามกลางความเขียวขจีได้อย่างเต็มที่โดยไม่จำเป็นต้องตัดต้นไม้ทิ้งแม้แต่ต้นเดียว

Cap Ferret House, 1998, Cap Ferret
Photo Credits:
https://www.dezeen.com/2021/03/17/key-projects-anne-lacaton-jean-philippe-vassal-pritzker-prize/
https://arquitecturaviva.com/assets/uploads/obras/40161/av_imagen.jpeg

แนวทางใหม่ของที่พักอาศัยแบบอาคารสงเคราะห์

Anne Lacaton และ Jean-Philippe Vassal ยังเป็นที่รู้จักในฐานะผู้คิดค้นแนวทางใหม่ของอาคารสงเคราะห์เพื่อสังคม (Social Housing) ตลอดเส้นทางการเป็นสถาปนิก พวกเขาได้ปฏิเสธผังเมืองที่เรียกร้องให้มีการรื้อถอนอาคารดังกล่าว โดยมุ่งเน้นการออกแบบจากพื้นที่ภายในสู่ภายนอก เพื่อจัดลำดับความสำคัญการใช้งานของผู้อยู่อาศัยในอาคาร และความต้องการส่วนรวมสำหรับพื้นที่ขนาดใหญ่

Lacaton & Vassal ได้เปลี่ยนอาคารจำนวน 530 ยูนิตภายในอาคาร 3 หลังที่ Grand Parc ในเมืองบอร์กโดซ์ ประเทศฝรั่งเศส เพื่อพัฒนาฟังก์ชันทางเทคนิค เพิ่มพื้นที่สีเขียวที่มีความลึก 3.8 เมตรและระเบียงเปิดโล่งให้กับอพาร์ทเมนต์ในแต่ละห้อง หน้าต่างบานเล็กถูกแทนที่ด้วยประตูกระจกบานเลื่อนขนาดใหญ่ ที่เปิดออกไปสู่พื้นที่ภายนอกดังกล่าว ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือ การออกแบบระบบโมดูลสำเร็จรูป แผ่นพื้นและเสาสำเร็จรูป ทำให้สามารถเพิ่มพื้นที่ว่างที่ยืดหยุ่นในแต่ละยูนิตได้โดยไม่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายผู้อยู่อาศัยในระหว่างการก่อสร้าง โดยอพาร์ทเมนท์แต่ละห้องใช้เวลาปรับปรุงเพียง 12 – 16 วัน นอกจากนั้นยังคงรักษาค่าเช่าที่เป็นธรรมให้กับผู้อยู่อาศัยในราคาเท่าเดิม

นวัตกรรมจากโครงการดังกล่าวได้รับรางวัล 2019 European Union Prize for Contemporary Architecture – Mies van der Rohe Award และได้รับการยกย่องในเรื่องของ ‘การปรับปรุงพื้นที่และคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย’ รวมถึงเป็นตัวอย่างของอาคารสงเคราะห์เพื่อสังคมที่ช่วยเพิ่มค่าครองชีพทางเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม

Transformation of 530 Dwellings, 2017, Bordeaux
Photo Credits:
https://www.dezeen.com/2021/03/17/key-projects-anne-lacaton-jean-philippe-vassal-pritzker-prize/

นอกจากบทบาทของนักออกแบบ สองสถาปนิกยังทำงานอยู่ในแวดวงของการศึกษาสถาปัตยกรรม  โดย Lacaton เป็นรองศาสตราจารย์ด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบที่ Swiss Federal Institute of Technology ETH Zurich ตั้งแต่ปีค.ศ. 2017 และยังเป็นศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ส่วน Vassal เป็นรองศาสตราจารย์ที่ Universität der Künste Berlin ตั้งแต่ปีค.ศ. 2012 และเคยสอนที่มหาวิทยาลัยอื่นๆ ในเยอรมนีและฝรั่งเศสอีกด้วย

École Nationale Supérieure d’Architecture de Nantes, 2009, Nantes

โรงเรียนสถาปัตยกรรมแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตทางตะวันตกของประเทศฝรั่งเศส อาคารหลังนี้สูง 3 ชั้น ประกอบด้วยชั้นกระจกเรียงรายสูงจากระดับพื้นดิน 9 16 และ 22 เมตรเชื่อมโยงถึงกันด้วยทางลาดที่อยู่ภายนอก อาคารใช้โครงสร้างเหล็กที่มีน้ำหนักเบา เอื้อต่อการออกแบบภายในที่มีขนาดพอดีตัว และออกแบบให้สามารถปรับเปลี่ยน หรือขยายได้ง่าย เพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของโรงเรียน

Photo Credits:
https://www.archdaily.com/254193/nantes-school-of-architecture-lacaton-vassal

FRAC Nord-Pas de Calais, 2013, Dunkirk

Lacaton & Vassal แปลงโฉมอู่ต่อเรือที่ถูกทิ้งร้างให้กลายเป็นหอศิลป์ FRAC Nord-Pas de Calais โดยสะท้อนให้เห็นส่วนต่อเติมได้อย่างชัดเจนผ่านการใช้วัสดุโปร่งแสงอย่างโพลีคาร์บอเนต ภายในถูกจัดสเปซไว้อย่างยืดหยุ่นเพื่อรองรับนิทรรศการศิลปะ ความโปร่งใสยังแสดงให้เห็นถึงผลงานศิลปะที่ซ่อนอยู่ภายใน เป็นภาพพื้นหลังให้กับอาคารได้อย่างมีมิติ การออกแบบของพวกเขาได้รับรางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันประกวดแบบอาคาร ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของคอลเล็กชันงานศิลปะระดับนานาชาติ พื้นที่เก็บผลงานถาวร และห้องโถงนิทรรศการ

Photo Credits:
https://www.dezeen.com/2013/12/11/art-gallery-and-archive-by-lacaton-vassal-mirrors-the-former-shipyard-building-next-to-it/

Ourcq-Juarès Student and Social Housing, 2014, Paris

โครงการที่อยู่อาศัยแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขต 19 ของปารีส ประกอบด้วยหอพักนักศึกษา อาคารสงเคราะห์เพื่อสังคม บ้านพักคนชราและร้านค้าสามแห่ง จุดเด่นของการออกแบบ คือห้องนั่งเล่นและห้องครัวที่ถูกจัดวางในตำแหน่งที่มองเห็นสวน นอกจากนี้ยังเปิดออกสู่สวนเล็กๆ ส่วนตัว และระเบียง เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยสามารถเชื่อมโยงกับพื้นที่ภายนอกได้ ในขณะเดียวกันก็อยู่อาศัยได้อย่างอุ่นใจทั้งในฤดูร้อนและฤดูหนาว

Photo Credits:
https://www.archdaily.com/476650/ourcq-jaures-student-and-social-housing-lacaton-and-vassal

Le Grand Sud Multipurpose Theater, 2013, Lille

โรงละครอเนกประสงค์แห่งนี้ออกแบบมาเพื่อความยืดหยุ่น โดยมีซุ้มเคลื่อนที่ได้ ที่นั่งที่เคลื่อนย้ายได้ ระบบม่านขนาดใหญ่ และประตูพับบนราง ทำให้สามารถสร้างขอบเขตของพื้นที่ภายในได้อย่างหลากหลาย ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับประเภทของการใช้งานได้ตามที่ต้องการ

Photo Credits:
https://www.archdaily.com/475683/polyvalent-theater-lacaton-and-vassal

หากจะพูดว่าสถาปัตยกรรมของ Anne Lacaton และ Jean-Philippe Vassal เป็นสถาปัตยกรรมคิดบวก ที่ใจกว้างและอ่อนน้อมถ่อมตนก็คงจะไม่มากเกินไปนัก ด้วยความเชื่อที่พยายามจะรักษาทรัพยากรอันมีค่ารวมถึงให้ความสำคัญกับผู้ใช้งานอาคารเป็นหลัก แต่ละผลงานของพวกเขาจึงเรียบง่าย ไม่โฉ่งฉ่าง แต่ตระหนักถึงความเป็นอยู่ของทั้งมนุษย์ เมือง และธรรมชาติ ฝากผลงานอันน่าจดจำไปทั่วโลก สมกับบทบาทของสองสถาปนิกผู้คว้ารางวัล The Pritzker Architecture Prize ในปี 2021 นี้

ภาพและข้อมูลอ้างอิงจาก :
https://www.archdaily.com/958575/who-are-lacaton-and-vassal-15-things-to-know-about-the-2021-pritzker-architecture-laureates
https://www.archdaily.com/958565/anne-lacaton-and-jean-philippe-vassal-receive-the-2021-pritzker-architecture-prize
https://www.dezeen.com/2013/12/11/art-gallery-and-archive-by-lacaton-vassal-mirrors-the-former-shipyard-building-next-to-it/


Photo Credits (ภาพปก) ;
https://arquitecturaviva.com/assets/uploads/obras/40167/av_imagen.jpeg
https://news.yahoo.com/french-duo-win-architectures-top-140902424.html


Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้