เพื่อสร้างภาวะน่าสบายให้การใช้งานอาคารหรือการอยู่อาศัย สถาปัตยกรรมและมนุษย์จึงจำเป็นต้องพึ่งพาธรรมชาติ สร้างความสัมพันธ์ร่วมกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประเด็นดังกล่าวส่งต่อสู่แนวคิดการออกแบบสถาปัตยกรรมของ คุณแก้ว-คำรน สุทธิ สถาปนิกและผู้ก่อตั้งออฟฟิศ Eco Architect ด้วยเบื้องหลังความเชื่อว่า บ้านทุกหลังที่ออกแบบจะต้องอยู่สบายอย่างแท้จริง และต้องหายใจร่วมกับธรรมชาติ ไม่เพียงแค่มนุษย์และสถาปัตยกรรม แต่ธรรมชาติเองก็ต้องได้รับการดูแลให้เติบโตไปพร้อมๆ กัน
สถาปัตย์ กับจุดกึ่งกลางความพอดีระหว่าง วิทย์ และ ศิลป์
เชื่อว่าเหตุผลของหลายคนที่เลือกเรียนสถาปัตยกรรม ก็เพราะคณะนี้ถือเป็นส่วนผสมที่ลงตัวของความมีเหตุผลในแบบวิทยาศาสตร์สอดแทรกด้วยสุนทรียศาสตร์แบบงานศิลป์ ซึ่งคุณแก้วเองก็เป็นหนึ่งในนั้น
เมื่อย้อนกลับไปในสมัยเด็ก ด้วยความที่ได้มองเห็นคุณพ่อที่เป็นช่างไม้ ก่อสร้างบ้านด้วยทีมก่อสร้างเพียงไม่กี่คนและสามารถสร้างเสร็จโดยใช้เวลาเพียงไม่นาน ประกอบกับพี่สาวที่เรียนวิศวกรรม สิ่งเหล่านี้ปลูกฝังให้คุณแก้วชื่นชอบ และอยากจะเป็นเหมือนคุณพ่อและพี่สาว แต่ด้วยความที่ตนเองไม่ได้ถนัดด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มากรัก แต่กลับรักในการจับดินสอ ขีดๆ เขียนๆ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จึงกลายเป็นคำตอบสุดท้ายที่สร้างจุดเริ่มต้นเส้นทางการเป็นสถาปนิกให้กับคุณแก้วในเวลานั้น
การเรียนสถาปัตย์ที่ทำให้ค้นพบการแข่งขันกับตนเอง
คุณแก้วเข้าไปเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ด้วยการเป็นเด็กโควต้าที่ผ่านการรับเลือก จังหวัดละ 1 คนในภาคอีสาน ด้วยความที่มีแต่คนเก่งๆ ในช่วงแรกของการเรียนคุณแก้วจึงรู้สึกว่าตัวเองอยู่ท้ายแถวของเพื่อนๆ ด้วยเกรดเฉลี่ย ด้วยฝีมือ หรือสกิล กลายเป็นความกดดันที่ทำให้ตนเองหันมาฝึกฝน พยายามอยู่กับตนเองและฝึกขีด เขียน หัดสกิลไปเรื่อยๆ ค่อยๆไต่ระดับขึ้นมา จนในที่สุดที่มีเทอมหนึ่งที่คุณแก้วสามารถพิชิตเกรด 4.00 ได้สำเร็จ
ทำให้คุณแก้วค้นพบว่า จริงๆ แล้ว เราอาจไม่ต้องไปเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น เพียงแค่อยู่กับตนเอง มีสมาธิกับการเรียน เพียงเท่านั้นก็สามารถพัฒนาและพาตัวเองไปอยู่ในจุดที่ต้องการได้สำเร็จ “ช่วงปี1 เรามองว่าคนนู้นก็เก่ง คนนี้ก็เก่ง มันบั่นทอนเรามากเลย ทำไมเราไม่เก่งเหมือนเขา แต่พอเราเริ่มอยู่กับตัวเอง มันทำให้เราคิดได้ว่า ที่จริงเราแข่งกับตัวเองมากกว่าโดยไม่ต้องไปแข่งกับใครก็ได้ จนท้ายที่สุดเราได้เกียรตินิยม เลยมองว่า เราไม่ต้องไปแข่งกับใคร เราก็สามารถไปยืนในจุดที่เราคาดหวังได้” คุณแก้วเล่า
การได้เกรดเฉลี่ย 4.00 ไม่ได้หมายความว่าระหว่างทางนั้นง่ายดาย เพราะคุณแก้วเล่าเสริมว่า ตอนเรียนสถาปัตย์ตนเองก็ยังคงงงๆ ไม่เข้าใจในสิ่งที่อาจารย์สอน อาจเพราะสมัยนั้นไม่มีสื่อที่บอกเล่าเรื่องราวของวิชาชีพมากมายเท่าในปัจจุบัน ทำให้การมองภาพวิชาชีพเป็นเรื่องที่ยาก กลายเป็นเรื่องหรือประเด็นที่อาจารย์สอนแยกกันเป็นส่วนๆ โดยไม่รู้จะนำเรื่องเหล่านั้นมาเรียงร้อยต่อกันให้เป็นภาพรวมของวิชาชีพได้อย่างไร ทำไมถึงต้องเข้าใจคน ทำไมถึงต้องเรียน Drawing และทำไมถึงต้องคำนวนโครงสร้าง
ปัญหาดังกล่าวได้รับการผ่อนคลายจากธรรมชาติ ทริปเล็กๆ หลังเลิกเรียนที่คุณแก้วมักจะเข้าป่า ไปอยู่กับธรรมชาติ และอยู่กับตัวเอง ช่วยกล่อมเกลาจิตใจ ทำให้สงบ มีสมาธิ เริ่มนำเรื่องราวเหล่านั้นมาปะติดปะต่อกัน และเข้าใจในความเป็นวิชาชีพสถาปนิกมากขึ้น
จุดเปลี่ยนและจุดเริ่มต้น บ้านหายใจได้ ของ Eco Architect
ความเป็นธรรมชาติเหล่านั้นถูกซึมซับอยู่ในวิถีชีวิตของคุณแก้วเรื่อยมา แต่จุดที่เรียกได้ว่าเปลี่ยนแนวทางการออกแบบจนเกิดเป็น Eco Architect คือช่วงที่คุณแก้วเรียนจบ และได้มีโอกาสออกแบบบ้านให้ลูกค้าท่าหนึ่งซึ่งเป็นชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ภายในจังหวัดภูเก็ต ด้วยความที่การเรียนที่ผ่านมามักจะสอนจากตำราตะวันตก มีบ้านโมเดิร์นสวยงามให้เรียนรู้มากมาย คุณแก้วที่ยังไม่ได้มีประสบการณ์และเข้าใจในแก่นแท้ของการออกแบบจึงนำแนวคิดบ้านโมเดิร์นที่ตนเองชื่นชอบและเห็นว่าเท่มาใช้ในการออกแบบ
“มันเท่มาก เป็นกล่อง กระจกเยอะ ในตอนนั้นเราเองก็คิดว่ามันเท่สุดละ แต่พอมันสร้างเสร็จแล้ว กลายเป็นว่ามันอยู่ไม่ได้ มันร้อน เพราะวิวที่ดีที่สุดของภูเก็ตคือด้านทิศตะวันตก ก็ต้องเปิดทิศตะวันตกให้เห็นวิวมากที่สุด แต่กลายเป็นว่าพอเปิด ความร้อนจากดวงอาทิตย์เก็บสะสม เขาเลยต้องปิดม่าน เปิดแอร์ แทนที่จะเห็นวิวสวยๆ แทนที่จะได้ลมทะเลสบายๆ กลายเป็นบ้านอยู่ไม่ได้เลย”
การออกแบบที่เกิดปัญหาในครั้งนั้น ทำให้คุณแก้วต้องย้อนกลับมามองเรื่องแก่นของการออกแบบใหม่ทั้งหมด และตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโทด้านการออกแบบนิเวศน์สถาปัตย์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเรียนจบจึงเริ่มเปิดออฟฟิศของตนเองในชื่อ Eco Architect ภายใต้ความตั้งใจที่ว่า “บ้านทุกหลังที่ออกแบบจะต้องอยู่สบายและต้องหายใจร่วมกับธรรมชาติ ซึ่งนอกจากจะอยู่สบายแล้ว ต้องดูแลธรรมชาติควบคู่ไปกับบ้านที่พร้อมจะเติบโตด้วยกัน”
สถาปัตยกรรมที่ประนีประนอมกับธรรมชาติ
เมื่อความตั้งใจ คือการออกแบบสถาปัตยกรรมที่อยู่สบาย การออกแบบอาคารของ Eco Architect จึงต้องเข้าใจสภาพอากาศ หรือการ ‘Design by Climate’ เป็นสำคัญ ขั้นตอนแรกจึงเป็นการสำรวจ เก็บข้อมูลรอบๆ พื้นที่โครงการ เพื่อให้เข้าใจสภาพแวดล้อมในบริเวณนั้น การจัดการกับกระแสลม แสงแดดจากธรรมชาติ ต้นไม้เดิมในพื้นที่ บ่อน้ำ หรือแม้กระทั่งสภาพดิน “เราต้องเรียนรู้ทุกอย่างที่อยู่โดยรอบว่าเขาให้ประโยชน์อะไรกับเราบ้าง ให้โทษอะไรบ้าง เราจะเลือกอยู่กับเขาอย่างไร จะประนีประนอมกันอย่างไรให้ธรรมชาติก็อยู่ได้ และเราก็อยู่ได้ อันนี้เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการออกแบบ” คุณแก้วเล่า
นอกจากจะเข้าใจธรรมชาติแล้ว ยังต้องทำความเข้าใจลูกค้า หรือที่เราเรียกว่า ‘Human Centric’ โดยแต่ละบุคคลก็จะมีภาวะน่าสบายหรือความสบายที่แตกต่างกัน หลังจากนั้นจึงมาดูบริบทบริเวณนั้น ซึ่งคุณแก้วใช้คำว่า ‘Vernacular Architecture’ เพราะแต่ละที่จะมีความเป็นเอกลักษณ์ของงานสถาปัตยกรรม องค์ความรู้ หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นในบริเวณนั้น เมื่อนำทั้งสามประเด็นมาผสมผสานกัน จึงเกิดเป็นกระบวนการออกแบบสถาปัตยกรรมของ Eco Architecture
“ด้วยแนวทางที่เราพยายามวางมันค่อนข้างชัด แม้กระทั่งชื่อออฟฟิศ ลูกค้าเลยมักจะมาในโจทย์ที่อยากได้บ้านแบบไม่ต้องเปิดแอร์ เลยกลายเป็นว่าลูกค้าเลือกเราจากชื่อและแนวทางของออฟฟิศ เราก็พยายามสร้างงานที่มีคุณภาพไปเรื่อยๆ เพื่อให้ลูกค้าอิน และอยากให้ทุกคนอินกับเรื่องพวกนี้ไปด้วย อย่างน้อยๆ คือ เราได้เป็นจุดเล็กๆ ที่จุดประกายให้คนค่อยๆ ตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติ”
การเป็นสถาปนิก กับบทบาทของน้ำที่ไม่เต็มแก้ว
“จริงๆ เรารู้สึกว่าสถาปนิก เป็นอาชีพที่วิเศษมาก เรามีความสุขที่เราได้นั่งขีดๆ เขียนๆ เรามีความสุขที่เราได้คุยกับลูกค้า ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น แต่ละคนก็จะมีความคิดเห็นที่หลากหลาย มันทำให้เรากลายเป็นน้ำที่ไม่เต็มแก้ว ลูกค้าก็คอยเติมให้เราตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้มันทำให้เราก้าวหน้าต่อไปได้เรื่อยๆ” คุนแก้วเล่าว่าการเป็นสถาปนิกสอนให้ฟัง ฟังให้เยอะและคิดตาม ซึ่งเปิดโอกาสให้ทำความรู้จักกับตัวเองมากขึ้น เราชอบอะไรหรืออยากจะมีความสุขแค่ไหน
ซึ่งสำหรับคุณแก้ว ความชื่นชอบ แพสชันและแนวทางชัดเจนที่ว่านี้ สะท้อนให้เห็นผ่านผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมของ Eco Architect ที่กลายเป็นสถาปัตยกรรมอ่อนน้อมถ่อมตน ที่หวังดีต่อทั้งเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติ
“เราแค่อยากเห็น เรื่องสภาวะน่าสบาย การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ การใช้ประโยชน์จากธรรมชาติในแนวทางของ Passive กลายเป็นพื้นฐานที่ทุกออฟฟิศจะใช้ เราไม่ได้มองเรื่องอื่นไกลไปกว่านี้ คือ ถ้าเราช่วยกันในเรื่องประมาณนี้ ผมมองว่าวิชาชีพสถาปนิกจะจับต้องได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่าง ถ้าทุกออฟฟิศออกแบบแล้วบ้านอยู่สบายมากๆ คนที่เข้าไปใช้งานจริงจะสัมผัสได้ง่าย และมันจะทำให้เขาเข้าใจสถาปนิกมากขึ้น เราอยากให้เรื่องแก่นพวกนี้กลายเป็นพื้นฐานหรือทฤษฎีของการออกแบบ และมันจะช่วยขับเคลื่อนให้โลกเราน่าอยู่ขึ้น” คุณแก้วเสริม
Passion กับการเป็นสถาปนิก
แน่นอนว่าหากจะดำเนินชีวิตให้มีความสุขและสนุกกับทุกช่วงเวลา ย่อมจำเป็นต้องอาศัย Passion หรือความหลงใหล จนกลายเป็นสิ่งที่คนส่วนมากในยุคปัจจุบันให้ความสำคัญ ซึ่งคุณแก้วเองมองว่า Passion ในสายอาชีพนี้เป็นสิ่งที่ดี ซึ่งจะเป็นพลังขับเคลื่อนให้ตัวเองพยายามพัฒนาให้เก่งขึ้น ไล่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆ แต่บางครั้งหากฝันไว้สูง ย่อมแลกด้วยความเหนื่อย จึงไม่แปลกที่เราจะหยุดพักเสียบ้าง เพียงแค่ไม่ลืมความฝันหรือ Passion ที่มี
ในฐานะที่เป็นสถาปนิกรุ่นพี่ ผู้ผ่านประสบการณ์หลากหลายรูปแบบในเส้นทางการเป็นสถาปนิก คุณแก้วฝากถึงน้องๆ เอาไว้ว่า “อย่างที่บอกแหละ เวลาเรียนเราไม่จำเป็นต้องไปเปรียบเทียบตัวเองกับใคร สู้กับตัวเองให้มาก มีวินัยให้มาก ไม่ต้องมองว่าคนนี้เก่งมาก แล้วมาเปรียบเทียบเก็บไปบั่นทอนจิตใจ สู้เราแข่งกับตัวเองทุกวัน เข้าใจตัวเองให้ได้ ว่าแท้จริงแล้วเราชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เราก็จะมีแนวทางของตัวเอง แต่ถ้าเรามัวแต่เปรียบเทียบ เราจะไม่มีทางเข้าใจตัวเอง”
ตลอดเส้นทางสถาปนิกของคุณแก้ว ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ถึงแม้ในวันนี้ Eco Architect จะมีชื่อเสียง แต่คุณแก้วยังคงเรียนรู้ ทดลอง ราวกับน้ำที่ไม่เต็มแก้วอย่างที่ได้กล่าวไว้ สิ่งหนึ่งที่เป็นแนวทางอันชัดเจน คือความตั้งใจมอบสถาปัตยกรรมที่หวังดีต่อทั้งผู้ใช้งาน และธรรมชาติ เพื่อให้ทั้งสามสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิตมนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างประนีประนอม
“การอยู่ในสายอาชีพนี้มันมาไกลเกินกว่าที่เราคิดเยอะมาก จริงๆ เราแค่อยากสร้างบ้านสักหลังหนึ่งที่ลูกค้าให้เราออกแบบ ให้มันอยู่สบาย ตอบรับกับพฤติกรรมของเขา และเข้ากับสภาพแวดล้อมตรงนั้นจริงๆ ถ้ามันเกิดขึ้นหลายๆหลัง ผมมองว่า มันจะช่วยโลกได้เยอะมาก เราไม่เคยคิดว่าจะต้องดัง มีชื่อเสียง หรือเป็น Great Architects อะไร แต่แค่มีความสุขกับจุดนี้แค่นั้นเอง ได้เห็นงานที่เราเริ่มออกแบบสร้างเสร็จแต่ละหลังๆ เห็นรอยยิ้มลูกค้า แค่นี้เราก็แฮปปี้แล้ว” คุณแก้วทิ้งท้าย
คุณคำรน สุทธิ สถาปนิกและผู้ก่อตั้ง Eco Architect
ปริญญาตรี : สถาปัตยกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น (เกียรตินิยมอันดับสอง)
ปริญญาโท : สถาปัตยกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต สาขานวัตกรรมการออกแบบนิเวศน์สถาปัตย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(ภาพผลงานประกอบบทความจาก Eco Architect)
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!