งานระบบ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของอาคาร ทั้งระบบโครงสร้างที่ทำให้อาคารตั้งอยู่ได้ ระบบไฟฟ้า น้ำประปา ระบบปรับอากาศล้วนช่วยส่งเสริมให้เราใช้งานอาคารได้อย่างราบรื่นและสะดวกสบาย แต่สิ่งของเหล่านี้มักไม่สวยงาม คล้ายกับอวัยวะภายในที่มักถูกซ่อนเอาไว้ใต้ผิวหนัง โดยมากแล้วเราจึงเห็นงานระบบของอาคารส่วนใหญ่อยู่ภายในบริเวณกลางอาคารซึ่งเป็นจุดที่เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการกระจายงานระบบไปยังจุดต่าง ๆ และทำให้สามารถออกแบบเปลือกหุ้มอาคาร (Facade) ได้อย่างอิสระ
แต่สำหรับ The Centre Pompidou แล้วนั้น กลับใช้วิธีการออกแบบที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง Richard Roger และ Renzo Piano สถาปนิกผู้ออกแบบอาคารหลังนี้ กลับเอาอวัยวะภายในเหล่านั้นมาเป็นเปลือกห่อหุ้มพื้นที่ภายใน เพื่อให้การใช้งานพื้นที่ภายในมี ความยืดหยุ่นและอิสระ อันเป็นหัวใจของอาคาร Pompidou แห่งนี้
การเรียกร้องที่เป็นจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลง
ในยุค 60 เป็นช่วงที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากสงครามเวียดนาม สภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ นักศึกษาและประชาชนรู้สึกสิ้นหวังท้อแท้กับระบบการบริหารของฝรั่งเศส จึงได้เริ่มออกมาทำกิจกรรมทางการเมือง ในเดือนพฤษภาคม ปี 1968 เกิดการลุกฮือของกลุ่มนักศึกษาและประชาชนที่ได้ออกมาเดินประท้วงเต็มท้องถนนในปารีส สุนทรพจน์ บทกวี กราฟฟิตี้ ใบปลิว พรั่งพรูออกมาราวกับเป็นเทศกาลงานศิลปะ แม้ว่าในที่สุดแล้วจะพ่ายแพ้ โดนสลายการชุมนุม มีการบาดเจ็บล้มตาย แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
ในปี 1969 Georges Pompidou ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของฝรั่งเศสได้ปรับปรุงนโยบายต่าง ๆ อันเป็นผลมาจากการชุมนุมเรียกร้องของประชาชน และได้มีวิสัยทัศในการสร้างศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมขึ้น บนพื้นที่ในย่าน Beaubourg ใจกลางกรุงปารีส เพื่อเป็นสถานที่สำหรับส่งเสริมให้มีการแสดงศิลปะอย่างอิสระ ทั้งมิวเซียม ห้องสมุดและพื้นที่จัดแสดงดนตรี จนไปถึงภาพยนตร์ โดยผ่านการประกวดแบบที่มีทีมคณะกรรมการประกอบด้วยวิศวะกรและสถาปนิกมากความสามารถอย่าง Philip Johnson, Oscar Niemyer และ Jean Prouvé ทีม Studio Piano & Rogers นำโดย Renzo Piano สถาปนิกชาวอิตาเลี่ยน และ Richard Rogers สถาปนิกลูกครึ่งอังกฤษ-อิตาเลี่ยน ร่วมมือกับ Ove Arup & Partner บริษัทวิศวกรรมในประเทศอังกฤษ นำโดย Ted Happold และ Peter Rice เป็นผู้ชนะในการประกวดครั้งนี้ซึ่งมีผู้เข้าร่วมส่งแบบมากถึง 681 ทีมจากทั่วโลก
พื้นที่อิสระคือหัวใจของงานศิลปะ
จากเหตุการณ์การชุมชุมนุมนี้เอง Richard Roger และ Renzo Piano เล็งเห็นว่า “พื้นที่อิสระ” คือสิ่งสำคัญในการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ จึงนำมาสู่แนวทางการออกแบบซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่การวางผังตัวอาคาร เพียงครึ่งหนึ่งของพื้นที่ เพื่อให้อีกครึ่งหนึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ เป็นลานกิจกรรม เป็นที่ว่างของเมือง ช่วยส่งเสริมการรับรู้รูปร่างอาคาร
ประการต่อมาของ พื้นที่อิสระ คือแนวคิด Inside-out กล่าวคือการนำเอาส่วน Service ทั้งหมดของอาคาร มาไว้ภายนอก ภายในส่วนจัดแสดงใช้ โครงสร้าง Truss คลุมช่วงกว้าง 44.80 เมตร จำนวน 13 ช่วง และมี Garberettes เป็นคานยื่นต่อออกจากเสาที่รับโครงสร้าง Truss ทั้งสองฝั่ง คลุมทางเดินที่ขนาบตลอดความยาวอาคาร ทำให้ในแต่ละชั้นมีพื้นที่มากถึง 7,500 ตารางเมตรหรือประมาณ สนามซอคเกอร์ขนาดใหญ่สุด 2 สนามต่อกัน ส่วนระบบการสัญจรทางตั้งได้แก่ ลิฟต์และบันไดเลื่อนทำหน้าทีเป็นเหมือน Facade ด้านหน้าหันเข้าสู่ลานกิจกรรม ซึ่งสามารถมองเห็นการเคลื่นไหวของผู้คนภายในได้แต่ไกล บันไดเลื่อนที่อยู่ในท่อกลมใส วางตัวยาวตลอดด้านหน้าทำหน้าที่เส้นทางหลักในการแจกจ่ายคนสู่ชั้นต่าง ๆ ซึ่งผู้ใช้งานจะได้รับประสบการณ์ที่สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ของปารีสในระดับความสูงที่ค่อย ๆ เปลี่ยนไป เป็นหนึ่งความตั้งใจของสถาปนิกทั้งสองและได้กลายเป็นภาพจำของอาคารแห่งนี้ในเวลาต่อมา
งานระบบที่ถูกนำมาไว้ด้านนอก ถูกจัดเรียงอย่างเป็นระบบระเบียบ และได้กำหนดสีเพื่อบอกหน้าที่ของแต่ละระบบ สีแดงบอกถึงระบบสัญจรทางตั้ง (ห้องลิฟต์และเครื่องบันไดเลื่อน) สีเขียวบอกถึงระบบประปา สีเหลืองคือระบบไฟฟ้า และ สีฟ้าคือระบบปรับอากาศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถูกใช้เป็น Facade อาคารไปในตัว เป็นวิธีการคิดแบบ Functionalism
กว่าจะมาเป็น The Centre Pompidou
นับตั้งแต่การประกวดแบบจนการเปิดใช้งานอาคาร ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งสถาปนิก วิศวกร ได้ต่อสู้ฝ่าฟันอุปสรรคมาหลายต่อหลายครั้ง เพื่อยืนหยัดในแนวคิดให้อาคารสร้างออกมาได้ตามแบบ
อุปสรรคที่ 1 แม้ว่าแบบของ Rogers และ Piano จะถูกตัดสินให้ชนะ แต่ก็มีหลายฝ่ายไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดนี้ ด้วยความที่อาคารหน้าตาประหลาดมากในยุคนั้น และไม่สอดคล้องกับบริบทในย่าน Beaubourg ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น ย่านเมืองเก่าของปารีส ประกอบด้วยอาคารเก่าตั้งแต่ยุค Medieval อีกทั้งสมาชิกในทีมทั้งหมดเป็นชาวต่างชาติ หลายฝ่ายจึงไม่เห็นด้วยกับการสร้างสถานที่สำคัญของเมืองด้วยทีมจากต่างชาติ ภายหลังจึงต้องมีการร่วมมีกับทีมวิศวะของฝรั่งเศส บวกกับประธานาธิบดี Georges Pompidou ชื่นชอบในแนวความคิดของ Rogers และ Piano จึงช่วยคัดค้านกับฝ่ายที่ต่อต้าน
อุปสรรคที่ 2 คือการพัฒนาแนวความคิดตอนประกวดแบบมาเป็นแบบก่อสร้าง ต้องอาศัยความรู้ความสามารถและความกล้าในการทดลอง เพราะชิ้นส่วนโครงสร้างแทบทั้งหมด ทั้งหน้าตัดเหล็ก ข้อต่อต่าง ๆถูกออกแบบขึ้นมาในอาคารนี้โดยเฉพาะ ด้วยการใช้ Cast Steel คือการหล่อเหล็กตามรูปทรงที่ออกแบบ ไม่ได้ใช้ตามมาตราฐานเหล็กที่มีในระบบอุตสาหกรรม เพื่อให้แต่ละชิ้นส่วนแสดงหน้าที่ของตัวเองอย่างแท้จริง เช่นการออกแบบ Garberettes คานยื่นที่ตรงโคนมีความหนากว่าบริเวณจุดปลาย ซึ่งเป็นไปตามการถ่ายแรงจริง ๆ ที่เกิดขึ้นในคาน การใส่ใจเรื่องดีเทลทุกองค์ประกอบเหล่านี้ล้วนต้องใช้ความสามารถในการออกแบบทั้งเชิงสถาปัตยกรรมที่เน้นไปที่ความสวยงามในการรับรู้ของมนุษย์ ต้องออกแบบรูปร่าง สัดส่วนให้พอเหมาะกับพื้นที่ ผนวกกับการออกแบบในทางวิศวะกรรมโครงสร้างที่ต้องคำนวนเพื่อให้ชิ้นส่วนแต่ละชิ้น ข้อต่อแต่ละอัน ทำหน้าที่ของตัวเองได้เกิดประสิทธิภาพที่สุด
แนวทางการใช้ Cast Steel นี้เป็นอีกเหตุผลนึ่งที่หลายฝ่ายคัดค้านเพราะเป็น แนวคิดที่ต่อต้านระบบอุตสาหกรรมในโลกยุคโมเดิร์น ที่เน้นผลิตสิ้นค้าจำนวนมากจากโรงงาน การผลิตสินค้าแบบ Made to order เป็นเรื่องที่เรื่องที่ไม่คุ้มทุนและใช้ทรัพยากรณ์อย่างสิ้นเปลืองในยุคหลังสงครามโลก แต่ถึงอย่างนั้นทีมออกแบบก็ยังมั่นคงในจุดยืนที่ต้องการใช้เหล็กหล่อตามที่ออกแบบ เพื่อให้ทุกองค์ประกอบในอาคารซื่อตรงต่อแนวทาง Functionalism ตั้งแต่ชิ้นส่วนเล็ก ๆ ไปจนถึงภาพรวมทั้งหมด
อุปสรรคที่ 3 การยืนยันที่จะใช้ Cast Steel นี้เองทำให้ทีมผู้รับเหมาทั้งหมดถอนตัวออกไปหมด จึงตกเป็นหน้าที่ของผู้ออกแบบในการหาผู้รับเหมามาทำงานนี้ โชคดีที่ได้พบกับ Krupps ทีมผู้รับเหมาชาวเยอรมันที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการทำงานชิ้นนี้ได้ทันตามกำหนดเวลา
อุปสรรคที่ 4 ครั้งถึงคราวที่ทดลองหล่อตัวอย่างชิ้นส่วน Garberettes มาทดสอบการรับน้ำหนัก กลับไม่ได้เป็นอย่างที่คาดหวัง ตัวอย่างที่หล่อมารับน้ำได้เพียงไม่ถึงครึ่งของน้ำหนักทั้งหมดที่ต้องการ ซึ่งพบว่าเป็นความผิดพลาดจากการสื่อสารระหว่างภาษาอังกฤษและภาษาเยอรมัน และการใช้มาตราฐานเหล็กที่ต่างกันของทั้งสองประเทศ แต่ต่อมาก็สามารถแก้ปัญหานี้ได้
อุปสรรคที่ 5 คือการเสียชีวิตของ Georges Pompidou ในปี 1974 ผู้มารับช่วงต่อในการดูแลโปรเจคต้องการลดจำนวนชั้นลง 2 ชั้น โชคดีที่การลดชั้นออกเป็นเรื่องยุ่งยากเกินไป สำหรับโครงสร้างที่คำนวนและได้ดำเนินการสร้างไปแล้ว ทำให้ Pompidou ยังมี 10 ชั้น ตามเดิม
โครงการ The Centre Pompidou นับว่าเป็นหนึ่งโครงการที่ใช้ระยะเวลาในการพัฒนาแบบค่อนข้างยาวนาน นับตั้งแต่การริเริ่มโครงการของ Georges Pompidou ในปี1969 จนดำเนินการสร้างเสร็จในปี 1977 ซึ่งต้องขอบคุณการยืนหยัดต่อสู้ของ Roger, Piano ทีมสถาปนิก Riceและทีมวิศวะกร วิสัยทัศของ Georges Pompidou รวมถึงผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดในโครงการ ที่ไม่โอนอ่อนต่อคำวิจารณ์ พยามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อคงไว้ในแนวความคิดที่ได้ผ่านศึกษามาอย่างละเอียดรอบครอบแล้ว
จากจุดเริ่มต้นสู่การเลือกเส้นทางของตัวเอง
Richard Rogers เกิดที่อิตาลีและย้ายมาอยู่อังกฤษตั้งแต่ยังเด็ก เขาเป็นเด็กที่มีปัญหาในการอ่านซึ่งเขาไม่สามารถอ่านหนังสือได้จนกระทั่งอายุ 11 ทำให้หลายคนมองว่าเขาป็นเด็กที่ไม่ฉลาด แต่กระนั้นเขาก็สามารถเข้าเรียนคณะสถาปัตยกรรมที่ Architectural Association School of Architect (AA) ในลอนดอนและได้ทุน Fulbright ไปเรียนปริญญาโทที่ Yale School of Architecture ในอเมริกา ที่นั้นทำให้เขาได้รู้จักกับ Norman Foster และ Su Brumwell หลังจากกลับมาที่อังกฤษ ในปี 1963 พวกเขาก็ได้ทำโปรเจคทดลองเล็กด้วยกัน จนกระทั้งได้เจอกับ Renzo Piano
ทางด้าน Renzo Piano นั้นเติบโตมาในครอบครัวที่มี ปู่ พ่อ และลุงอีก 4 คนทำงานอยู่ในวงการการก่อสร้างทั้งหมด เรียกได้ว่าในวัยเด็ก Piano โตมาในไซท์ก่อสร้าง ทำให้เขาซึบซับและปรารถนาจะเป็นช่างก่อสร้าง เขาเลือกเข้าเรียน คณะสถาปัตยกรรมใน Milan Polytechnic จนจบและได้เป็นอาจารย์อยู่ที่นั้นหลายปี ในขณะเดียวกันนั้นเขาก็ยังช่วยงานก่อสร้างของพ่อมาตลอด จนกระทั้งปี 1969 Piano ในวัย 32 ได้ตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่อังกฤษ นั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการพบกันระหว่าง Roger และ Piano และตัดสินตั้ง Studio Piano & Rogers ขึ้น ซึ่งเน้นการทำงานแบบทดลองสิ่งใหม่ตามความสนใจ ในเวลานั้นทั้งคู่ได้สนใจในสิ่งใกล้เคียงกันคือการศึกษาออกแบบโครงสร้าง นำไปสู่การเข้าร่วมประกวดแบบ The Centre Pompidou และได้เป็นผู้ชนะในครั้งนี้
จากการริเริ่มการประกวดแบบ ผ่านการพัฒนาแบบมาด้วยกัน จนกระทั้งอาคาร Pompidou สร้างเสร็จ กินระยะเวลากว่า 9 ปี ซึ่งเป็นเวลาที่ยาวนานพอที่ทั้งคู่จะค้นพบตัวเองมากขึ้น ทั้งคู่ได้ตัดสินใจแยกย้ายไปตามทางที่ตนสนใจ Rogers เลือกที่จะทำงานด้วยวิธีการทดลองคล้ายกับตอนทำ Pompidou และได้ก่อตั้ง Rogers Stirk Harbour + Partner ขึ้นในปี 1977 ส่วน Renzo Piano สนใจในทางโครงสร้างที่ค่อนข้างเป็นจริงมากกว่า และได้ก่อตั้ง Renzo Piano Building Workshop ในปี 1981
ผ่านมากว่า 40 ปี ทั้งคู่ยังเป็นเพื่อรักกันและได้ประสบความสำเร็จในทางของตนเอง แต่หากสังเกตดูแล้วผลงานของทั้งคู่ก็ยังมีพื้นฐานมาจากแนวความคิดแบบ Functionalism ด้วยกันทั้งสิ้น และแม้ว่าทั้ง Rogers และ Piano จะมีผลงานที่มีชื่อเสียงหลายต่อหลายชิ้น แต่ The Centre Pompidou ก็ยังนับว่าเป็น Masterpiece ที่ทำให้คนทั้งโลกรู้จัก Richard Rogers และ Renzo Piano
อ้างอิงข้อมูลและรูปภาพ
http://www.rsh-p.com/projects/centre-pompidou/
http://www.rpbw.com/project/centre-georges-pompidou
https://archive.curbed.com/2017/1/23/14365014/centre-pompidou-paris-museum-renzo-piano-richard-rogers
https://issuu.com/gravidade-eng/docs/art-beaubourg_cmm45_en_
https://www.royalacademy.org.uk/article/richard-rogers-renzo-piano-80
https://en.wikipedia.org/wiki/Richard_Rogers
https://en.wikipedia.org/wiki/May_68
https://documentaryclubthailand.com/thedreamers-article7/
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!