โฉมใหม่ของ Homepro Suksawad
ที่เปลี่ยนศูนย์รวมสินค้าธรรมดาๆ ให้เป็นบ้านหลังที่ 2 ของคนรักบ้าน

โลโก้หลังคาบ้านทรงจั่วสีส้มและน้ำเงิน บอกเพียงเท่านี้หลายคนคงเดากันออกว่า นี่คือศูนย์รวมของตกแต่งบ้านที่ถูกเรียกว่า Homepro (โฮมโปร) ซึ่งถึงแม้จะไม่ใช่สถานที่ที่ต้องมีธุระให้ไปกันบ่อยๆ หรือเชิญชวนให้เราไปเดินเล่นได้เสมือนห้างสรรพสินค้าทั่วๆ ไป แต่ไม่รู้ทำไมสถานที่แห่งนี้กลับสร้างความคุ้นเคยให้กับเราได้อย่างประหลาด ราวกับว่าวัยเด็กของใครหลายคนต้องโดนคุณพ่อคุณแม่จูงมือเข้าโฮมโปรกันบ้างอย่างเลี่ยงไม่ได้

ภาพลักษณ์ของอาคารขนาดใหญ่ที่เรียบง่ายคล้ายกับคลังสินค้ากลายเป็นภาพจำหนึ่งในวัยเยาว์ แต่ภาพนั้นกำลังจะเปลี่ยนไปเพราะโฮมโปรสาขาใหม่ๆ กำลังหันมาให้ความสำคัญกับสถาปัตยกรรมและงานดีไซน์ เพื่อให้ดูทันสมัยและเข้ากับคนรุ่นใหม่มากขึ้น หนึ่งในนั้นคือ Homepro Suksawad โฮมโปรสาขาใหม่บนถนนสุขสวัสดิ์ที่อวดรูปโฉมผ่านเส้นสายโฉบเฉี่ยว ซึ่งได้ทีมสถาปนิกจาก Design 103 International Limited มารับหน้าที่แปลงโฉม

บ้านหลังที่ 2 ที่อบอุ่นและคุ้นเคย

เพื่อตอบโจทย์การแปลงโฉมอาคารใหม่ในครั้งนี้ ทางโฮมโปรเองมีโจทย์ว่า สถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นใหม่จะต้องดูเท่ ทันสมัย ในขณะที่ยังต้องรักษาความเข้าถึงง่าย และบรรยากาศอบอุ่นของความเป็นครอบครัวเอาไว้ เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกสบายใจเสมือนเป็นที่ที่ทุกคนคุ้นเคยดี

“ทางโฮมโปร เขาอยากให้เราออกแบบตึกที่ดูทันสมัย อาจจะดูแพงขึ้นหน่อย แต่เวลาลูกค้าเข้าไปเดินภายใน เขาจะต้องรู้สึกได้ว่าสินค้าไม่ได้แพงอย่างนั้น ยังเป็นราคาที่เข้าถึงได้และคุ้มค่าคุ้มราคาชวนซื้อ” คุณไผ่-พัทธ์ปิยะ วรรณชาติ หนึ่งในสถาปนิกจาก Design 103 International Limited เล่า

“โฮมโปรเป็นแบรนด์ขายสินค้าเกี่ยวกับบ้าน ซึ่งทุกคนน่าจะรู้จักกันอยู่แล้ว ถ้าเราพูดถึงคำว่าบ้าน เชื่อว่าสามวินาทีแรก หลายคนจะนึกถึงหลังคาจั่ว ซึ่งทางโลโก้ของโฮมโปรเองเขาก็มีเส้นสายของหลังคาจั่วประกอบอยู่ในนั้นด้วย เราเลยหยิบคาแร็กเตอร์ ถอดเส้นเฉียงของทรงจั่วตรงนี้มาใช้” คุณน้ำขิง-ณัฏฐากร  ตั้งสุวรรณศรี สถาปนิกอีกท่านหนึ่งเล่าเสริม

ทางทีม Design 103 International Limited เองรับผิดชอบการออกแบบโฮมโปรมากกว่า 1 สาขา ในแต่ละสาขาจึงมีเส้นสายเฉียงจากจั่วเป็นตัวเชื่อมโยงคาแร็กเตอร์ของโฮมโปรเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้ ‘โฮมโปรมีจั่วของบ้าน แต่บริบทที่แตกต่างจะทำให้จั่วแต่ละที่ไม่เหมือนกัน’

จั่วที่ปรากฏบนโลโก้ สู่เส้นสายของสถาปัตยกรรม

“หนึ่งในหัวใจสำคัญของการออกแบบอาคาร Commercial คือการแสดงตัวตนให้ชัดเจน นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องออกแบบให้มันยูนีคเป็นพิเศษ เพื่อให้อาคารโดดเด่นแตกต่างจากคู่แข่งที่อยู่ในบริเวณนั้น ทำอย่างไรให้คนที่ผ่านไปมาสนใจ หรือขับรถผ่าน รถติดอยู่ก็ต้องหันมามองคุณไผ่เล่า

แน่นอนว่าอาคารประเภท Commercial ที่ต้องดึงดูดลูกค้าหรือมีเรื่องของการขายเข้ามาเกี่ยวข้อง ย่อมต้องมีการวิเคราะห์บริบทรวมถึงมุมมองที่มากเป็นพิเศษ หากอยู่ฝั่งตรงข้ามของอาคารจะมองเห็นอะไร? หรือจุดใดที่เปิดกว้างและคนสามารถมองเห็นได้มากที่สุด? คำถามเหล่านี้ คือสิ่งที่สถาปนิกต้องหาคำตอบ เพื่อนำไปสู่การดีไซน์ที่ตอบโจทย์และดึงดูดผู้ที่สัญจรไปมา

เมื่อรู้ว่ามุมมองด้านข้างของอาคารจากฝั่งตรงข้าม คือมุมมองที่กว้างและอยู่ในตำแหน่งที่คนสามารถรับรู้ได้ดีที่สุด สถาปนิกจึงใช้มุมนี้เป็นหัวใจหลักของโครงการ โดยเป็นตำแหน่งของจั่วซึ่งสื่อความหมายถึงความเป็นบ้านของโฮมโปร

ด้านหน้าของอาคารฝั่งที่ติดกับถนน สถาปนิกออกแบบเส้นเฉียงที่ถอดเส้นสายจากทรงจั่ว เช่นเดียวกับบริเวณด้านข้างอาคาร มุมของอาคารนี้ จึงเป็นจุดที่เส้นเฉียงทั้งสองมาประกอบเข้ากันเป็นทรงจั่วพอดิบพอดี อีกทั้งมุมตรงนี้ยังเป็นทิศเหนือซึ่งสามารถออกแบบช่องเปิด เป็นกระจกได้โดยที่ไม่ได้รับแสงแดดหรือความร้อนโดยตรง

เส้นเฉียงด้านข้างอาคารซึ่งเป็นตำแหน่งของทางลาดเลื่อน (travelator) สถาปนิกดีไซน์ให้เป็นช่องเปิดด้วยกระจกขนาดใหญ่ ที่เปิดองศาเดียวกันกับทางลาดเลื่อน เพื่อเปิดรับแสงธรรมชาติเข้าสู่ภายในอาคาร และสร้างความสัมพันธ์ในแง่ของการใช้งานภายในและภายนอก สามารถมองเห็นได้ทั้งจากมุมมองของผู้ที่อยู่ภายใน และผู้ที่สัญจรไปมา ซึ่งถือเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของการออกแบบอาคารประเภทดังกล่าว

เท่ ทันสมัย แต่ต้องเข้าถึงง่ายและเป็นกันเอง

เพื่อให้โฮมโปรสาขาใหม่ดูทันสมัยตามโจทย์ที่วางไว้ สีส้มน้ำเงินที่เราคุ้นตาในโลโก้ไม่ได้ถูกนำมาใช้ออกแบบอาคาร แต่สถาปนิกกลับเลือกถ่ายทอดความเฉียบคม โดดเด่นผ่านโทนสีเทาเข้ม เทาอ่อน และสีขาวเข้ามาแทนที่ สลับกับช่องเปิดที่เผยให้เห็นวัสดุกระจกผืนใหญ่ที่เติมความทันสมัยได้เป็นอย่างดี

หากสังเกตจากภายนอก เราจะเห็นแมสอาคารเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ ตั้งตนโดดเด่นราวกับคนที่มีความเป็นตัวเองสูง บริเวณแมสอาคารชั้นล่างซึ่งเป็นร้านค้าเช่า ถูกออกแบบให้มีความโปร่งเป็นกระจกใส ตัดกับแมสอาคารส่วนทึบด้านบนซึ่งเป็นพื้นที่ขายหลักของทางโฮมโปร ทำให้แมสอาคารชั้นสองดูลอยและโดดเด่นขึ้นมาเมื่อมองจากภายนอก เสริมด้วยฟาซาดซ้อนระนาบของแผ่นผนังสำเร็จรูปพรีแคสที่ออกแบบจังหวะเส้นตั้งเรียงรายจากขนาดเล็กไปจนขนาดใหญ่ เป็นเทคนิคเล็กๆ ที่ช่วยพรางสายตา อีกทั้งการซ่อนเส้นไฟหลืบไว้ด้านหลังในแต่ละระนาบ ยังทำให้จั่วบริเวณมุมอาคารเด่นชัดมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการทดลองใช้วัสดุใหม่ๆ อย่าง การใช้เมทัลชีทสีขาวลอนเล็กเป็นแนวเส้นตั้งซ้อนอยู่บริเวณหลังกระจกที่มุมจั่วของอาคาร เส้นตั้งจะล้อไปกับเส้นสายส่วนอื่นๆ ของโครงการ รวมถึงสีขาวที่ซ้อนอยู่หลังกระจกจะเป็นพื้นหลังที่ทำหน้าที่ขับให้จั่วมุมอาคารดูโกลวขึ้นมา เมื่อเกิดการเปิดไฟส่องสว่างในยามค่ำคืน ซึ่งสถาปนิกเล่าว่าไอเดียนี้ค่อนข้างประสบความสำเร็จจากการมองเห็น ณ หน้างานจริง และอาจเป็นอีกหนึ่งส่วนที่จะนำไปใช้ในการออกแบบโฮมโปรสาขาอื่นๆ

อีกทั้งยังเพิ่มลุคความเฉียบ เท่ และทันสมัยให้กับอาคารด้วยการใช้เส้นคิ้วแผ่นอลูมิเนียมคอมโพสิทตัดกับแมสอาคารโทนสีขาว Off-white ให้โดดเด่นขึ้น ในขณะที่ลดทอนความทันสมัยนี้ให้ดูเข้าถึงง่ายและเป็นกันเองด้วยการนำแผ่นอลูมิเนียมลายไม้มาใช้บริเวณฝ้าด้านหน้าของอาคารเพื่อทำให้ลูกค้ารับรู้ได้ถึงความโคซี่และอบอุ่นเหมือนบ้าน

Dtips : ด้วยความที่อาคาร Commercial มักจะมีขนาดใหญ่ จึงต้องมีการควบคุมการเลือกใช้วัสดุเพื่อให้อยู่ในงบประมาณที่เหมาะสม โซนด้านหน้าโครงการหรือส่วนที่่ต้องใกล้ชิดกับผู้ใช้งานอาคารมากๆ สถาปนิกจะเลือกใช้วัสดุอย่างกระจก หรือแผ่นอลูมิเนียมคอมโพสิท ส่วนโซนด้านหลังถูกออกแบบด้วยแผ่นพรีแคส หรือเมทัลชีทธรรมดา และพยายามหลีกเลี่ยงการออกแบบแมสอาคารแบบ Double Layer โดยพยายามมองอาคารเป็นแมสและโครงสร้างก้อนเดียวกัน โดยที่ไม่ต้องมีการเสริม ใส่ฟาซาดให้เป็นเลเยอร์ที่แตกต่าง เพื่อให้สามารถควบคุมงบประมาณได้ตามที่กำหนด

พื้นผิวและเส้นสายภายนอกของสถาปัตยกรรมยังสร้างความสัมพันธ์ไปสู่พื้นที่ภายในให้มีความกลมกลืนและต่อเนื่องเป็นเรื่องราวเดียวกัน เส้นเฉียงและรูปทรงจั่วที่โดดเด่นจึงถูกนำไปใช้ภายในอาคาร โดยเป็นเส้นสายที่วิ่งยาวตลอดแนวฝ้า หรือแม้แต่ดีเทลคีออส (Kiosk) ของร้านค้าเช่าภายใน ก็ถูกออกแบบให้เป็นหลังคาจั่วเพื่อล้อไปกับตัวฝ้าและเส้นสายทั้งหมดของโครงการเช่นกัน

*ส่วนการจัดสรรฟังก์ชันในส่วนพื้นที่ขาย เป็น know-how ของทางโฮมโปรที่ไม่สามารถเปิดเผยได้

“เชื่อว่าหลายคนๆ เคยเข้าโฮมโปร เราเองก็เคยเข้าโฮมโปรตั้งแต่เด็ก มันดูเป็นที่ที่มีความเป็นครอบครัวอยู่ เราเลยพยายามใส่ความอบอุ่น เข้าไปในสถาปัตยกรรมด้วย ให้เขารู้สึกเหมือนเป็นบ้านหลังที่สองที่สามารถมาเดินได้อย่างสบายใจ” คุณน้ำขิงกล่าว

ถึงแม้ในปัจจุบันรูปแบบการช้อปออนไลน์จะมีให้เราเลือกมากมาย ง่ายเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส แต่เราก็ยังปฏิเสธไม่ได้ว่าห้างสรรพสินค้าหรือโชว์รูมหน้าร้านก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น เพราะนอกจากจะทำให้เราได้มองเห็นและสัมผัสกับสินค้าแบบเป็นๆ แล้ว ยังสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ สร้างความรู้สึกระหว่างสถานที่ สินค้า และผู้คนได้อย่างลึกซึ้งในแบบที่ช็อปออนไลน์ทำไม่ได้อย่างเช่น ความอบอุ่นเหมือนบ้าน ความทันสมัยสุดโฉบเฉี่ยว หรือความเป็นกันเองของทั้งสถานที่และราคาสินค้า ซึ่งกระบวนการออกแบบที่ผ่านการคิดวิเคราะห์ มีคอนเซ็ปต์เป็นหัวใจของโครงการนี้เอง ที่จะรับหน้าที่พาลูกค้าไปสัมผัสกับความรู้สึกที่ว่าเหล่านั้น เช่นเดียวกับการมาเยือน ณ โฮมโปรสาขาใหม่ที่สุขสวัสดิ์แห่งนี้   

Project: Homepro Suksawad
Location:
ถนนสุขสวัสดิ์ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
Owner:
Home Product Center Public Company Limited. (Thailand)
Lead Architects:
Chaiwat Limwattananon D103i
Architects Team:
Patpiya Wannachart , Nutthakorn Tangsuwansri  D103i
Interior architect:
Chusak Taweesri IA103
Landscape architects :
palang sittithaworn 1819

Other collaborators :
Lighting designer:
 L&E
Corporate identity:
Chusak Taweesri IA103
Electrical engineer :
Nakarin Tolek ESCON
Mechanical engineer :
Panya Janphaisaeng ESCON
Sanitary engineer :
Chaiyos Sangphungtham ESCON
Main Construction :
RITTA

Photographer: Rungkit Charoenwat

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้