เมื่อบริบทพื้นที่แฝงเสน่ห์ของวัฒนธรรมหรือเรื่องราวประวัติศาสตร์อันมีคุณค่าและน่าสนใจ สถาปนิกที่ดีย่อมต้องรักษาสิ่งเหล่านั้นไว้ พร้อมกับการออกแบบความงดงามของสถาปัตยกรรมที่ต้องไปในทิศทางเดียวกันได้อย่างกลมกลืน แนวคิดใส่ใจบริบทที่เรากล่าวถึงนี้ จึงเป็นเสน่ห์ที่ทำให้สถาปัตยกรรมของสถาปนิกชาวสเปนเจ้าของรางวัล Pritzker Architecture Prize ในปีค.ศ.1996 อย่าง Rafael Moneo (ราฟาเอล โมเนโอ) กลายเป็นที่น่าจดจำ เพราะชื่อเสียงและสถาปัตยกรรมของเขาโดดเด่นด้วยการออกแบบที่นำองค์ประกอบร่วมสมัยมาผสมผสานกับประวัติศาสตร์ของพื้นที่นั้นๆ ให้รวมเป็นเนื้อเดียวกันได้อย่างสมบูรณ์แบบ
“ผมมองว่าการนำสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์มาผสมผสานเข้าด้วยกัน เป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะนั่นจะทำให้คนสามารถตีความ และเข้าใจได้ง่ายว่า เพราะเหตุใดเราถึงต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เราอยู่” –Rafael Moneo
Rafael Moneo
Photo Credits: https://rafaelmoneo.com/
https://www.archdaily.com/875928/rafael-moneo-soane-annual-lecture/596cafaab22e38cfd4000287-rafael-moneo-soane-annual-lecture-photo
นักออกแบบและนักขับเคลื่อนสถาปัตยกรรมผ่านตัวอักษร
ก่อนจะมาเป็นสถาปนิกที่ฝากชื่อเสียงไว้อย่างในปัจจุบัน วัยเยาว์ของโมเนโอ ยังสนใจด้านปรัชญาและการวาดภาพ มากกว่าสถาปัตยกรรม ก่อนจะได้รับอิทธิพลจากพ่อซึ่งเป็นนักออกแบบเชิงอุตสาหกรรม จนตัดสินใจหันมาเลือกเดินบนเส้นทางสายสถาปัตยกรรมตามรอยพ่อ ถึงแม้ว่าจะคนละสาขากันก็ตาม
โมเนโอจบปริญญาด้านสถาปัตยกรรมจาก Superior Technical School of Architecture of Madrid หรือ ETSAM ในปี ค.ศ.1961 หลังจากนั้น 4 ปี เขาจึงเริ่มก่อตั้งบริษัทสถาปัตยกรรมในกรุงมาดริด ประเทศสเปนบ้านเกิด และเริ่มอาชีพการสอนที่ ETSAM ในปีถัดมา จนกระทั่งในปี ค.ศ.1980 โมเนโอได้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ และได้รับการมอบหมายให้ออกแบบพิพิธภัณฑ์ศิลปะโรมันแห่งชาติในเมืองเมรีดา ประเทศสเปน ซึ่งเป็นโครงการที่พลิกชีวิต กลายเป็นอาคารที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของเขา และทำให้เขาได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ
Photo Credits: https://www.archdaily.pe/pe/02-258325/feliz-cumpleanos-rafael-moneo
National Museum of Roman Art
Merida, Spain 1986
ในปัจจุบันเรามักจะเห็นโครงสร้างซุ้มประตูโค้งถูกนำมาใช้ดัดแปลงจนเกิดความสวยงามกันอย่างมากหลาย แต่รู้หรือไม่ว่าซุ้มประตูโค้งนี้ยังถูกใช้เพื่อแสดงถึงความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของอารยธรรมโรมันในครั้งอดีตกาล ซึ่งโมเนโอเองได้สัมผัสโครงสร้างโบราณและความยิ่งใหญ่เหล่านี้ ภายในพิพิธภัณฑ์ศิลปะโรมันแห่งชาติ ณ เมืองเมริดา ประเทศสเปน ก่อนจะต้องมารับหน้าที่เป็นผู้ออกแบบ
Photo Credits:
https://rafaelmoneo.com/en/projects/national-museum-of-roman-art/
https://www.pinterest.com/pin/379287599853036898/
พื้นที่ของพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามโรงละครโดยมีถนนคั่นกลาง ภายในอาคารสูงตระหง่านเหนือพื้นดินและประกอบเข้าหากันด้วยซุ้มอิฐ ซึ่งบริเวณเหนือซุ้มอิฐโค้ง ถูกออกแบบให้เป็นสกายไลท์ที่นำแสงธรรมชาติเข้าสู่พื้นที่ภายใน
Photo Credits: https://rafaelmoneo.com/en/projects/national-museum-of-roman-art/
พื้นที่จัดนิทรรศการถูกจัดวางให้อยู่บริเวณชั้นบนในขณะที่ภายใต้ระดับพื้นดินจะเปิดให้ผู้เข้าชมได้สัมผัสกับอารยธรรมการขุดค้นเมืองอันเก่าแก่ในยุคโรมัน พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงเป็นหนึ่งในสุดยอดตัวอย่างของงานออกแบบที่สามารถอนุรักษ์และจัดแสดงโบราณคดีของสถานที่ไปพร้อมๆ กับการออกแบบสถาปัตยกรรมใหม่ได้อย่างมีความหมาย
Photo Credits: https://rafaelmoneo.com/en/projects/national-museum-of-roman-art/
นอกจากการจับปากกาวาดเขียนงานออกแบบเป็นอาชีพ เขายังตั้งใจขับเคลื่อนวงการสถาปัตยกรรมด้วยการใช้ตัวอักษร ผ่านความสนใจด้านงานเขียนบทความสถาปัตยกรรมต่างๆ ที่มีคุณค่า อีกทั้งยังมีบทบาทเป็นที่รู้จักในฐานะนักวิจารณ์ที่เชี่ยวชาญในสาขาสถาปัตยกรรม และยังเป็นผู้ก่อตั้งนิตยสารสถาปัตยกรรม ‘Arquitectura Bis’ อีกด้วย
นิตยสารสถาปัตยกรรม ‘Arquitectura Bis’
Photo Credits: https://abcblogs.abc.es/fahrenheit-451/arte/revista-arquitecturas-bis-historia-del-diseno.html?ref=https%3A%2F%2Fwww.google.com%2F
โมเนโอเล่าว่า การเขียนงานช่วยให้เขาได้ทบทวนงานออกแบบของตนเอง สร้างบทสนทนาร่วมกับเพื่อนสถาปนิกท่านอื่นๆ ซึ่งนี่เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เขาเข้าใจผลงานและความตั้งใจของสถาปนิกได้เป็นอย่างดี อีกทั้งในขณะเดียวกัน ผลงานการเขียนเหล่านี้ก็ยังได้เผยแพร่ให้บุคคลอื่นๆ และช่วยเป็นแรงขับเคลื่อนให้กับวงการสถาปัตยกรรมได้ต่อไป
“คุณจำเป็นต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาและสะสมความรู้โดยการเดินทางไปเยี่ยมชมโครงการ อ่านประวัติ วิจารณ์แลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือพยายามตั้งคำถามกับสิ่งที่คุณรู้อยู่แล้วตลอดเวลา สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ผมไม่เคยออกแบบโครงการด้วยวิธีเพียงวิธีเดียว หรือออกแบบด้วยการใช้สไตล์ แต่ผมมักจะขยายแนวคิดโดยใช้ส่วนผสมของกลยุทธ์ที่แตกต่างกัน” –Rafael Moneo (จากบทสัมภาษณ์ของ Vladimir Belogolovsky ใน https://www.stirworld.com/)
BEULAS FOUNDATION HUESCA, SPAIN 2005
Photo Credits: https://rafaelmoneo.com/en/projects/beulas-foundation/
ATOCHA STATION ENLARGEMENT (COMPETITION, FIRST PRIZE 1884-1992 , SECOND ENLARGEMENT 2007-2012)
MADRID, SPAIN Photo Credits: https://rafaelmoneo.com/en/projects/atocha-station-enlargement/
IESU Church
San Sebastian ,Spain 2011
อีกหนึ่งตัวอย่างผลงานที่สร้างปฏิสัมพันธ์กับคนในพื้นที่ได้ไม่น้อย คือ IESU Church ที่ตั้งอยู่ภายในย่านเล็กๆ ของเมือง San Sebastian ซึ่งหากดูจากภายนอก โบสถ์แห่งนี้ดูจะเหมือนผลงานในช่วงยุคปัจจุบันอยู่ไม่น้อย ความมินิมอลโมเดิร์นในสีขาวตัดกับความนุ่มนวลของไม้ แอบซุกซ่อนความลึกลับทั้งจากภายนอกและภายในไว้อย่างน่าสนใจ
Photo Credits: https://rafaelmoneo.com/en/projects/iesu-church-in-san-sebastian/
ตัวอาคารด้านนอกหมุนองศาหาผืนที่ดินสี่เหลี่ยมผืนผ้าบริเวณด้านหลังของโครงการซึ่งเป็นสวนสาธารณะชุมชน รวมถึงพื้นที่ภายในยังมีส่วนของซูเปอร์มาร์เก็ต ทำให้อาคารขนาด 900 ตารางเมตรหลังนี้กลายเป็นจุดศูนย์รวมของคนในชุมชนไปโดยปริยาย
อาคารถูกออกแบบให้โดดเด่นด้วยความสูงที่แตกต่างกัน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงความสูงในแต่ละจังหวะยังให้ความรู้สึกที่แตกต่าง โดยมีทั้งความสูง 7 11 23 และ 27 เมตร นอกจากนี้โมเนโอยังออกแบบเพดานเป็นรูปลักษณ์ของไม้กางเขนที่ไม่เป็นเส้นบรรจบสม่ำเสมออย่างที่เราคุ้นเคย ซึ่งระหว่างช่องสี่มุมของไม้กางเขนจะถูกเว้นเป็นช่องเปิดที่สามารถดึงแสงสว่างให้ส่องเข้าถึงบริเวณแท่นศักดิ์สิทธิ์ได้อย่างสวยงาม
Photo Credits:
https://divisare.com/projects/190187-rafael-moneo-francisco-berreteaga-iglesia-de-iesu
https://rafaelmoneo.com/en/projects/iesu-church-in-san-sebastian/
สถาปัตยกรรมที่ดีต้องสดใหม่ แต่มีรากฐานมาจากบริบทที่ตั้ง
สำหรับงานออกแบบของโมเนโอ ถึงแม้บริบทจะเป็นตัวแปรสำคัญ แต่ก็ไม่ใช่เพียงตัวแปรเดียวเท่านั้นที่ต้องรักษาไว้โดยห้ามไปแตะต้อง กล่าวคือ สถาปัตยกรรมของเขากำลังทำงานร่วมไปกับบริบท โดยมองหารูปแบบ ความสดใหม่ ที่สามารถปรับให้เข้ากับเรื่องราวของไซต์นั้นๆ ได้อย่างพอดี ‘การออกแบบสิ่งปลูกสร้างให้มีลักษณะเฉพาะของพื้นที่ มองหาสิ่งที่พื้นที่และอาคารต้องการ’ จึงเห็นจะเป็นแนวคิดหรือปรัชญาการออกแบบกว้างๆ ที่โมเนโอยึดถือ
“ผมไม่เคยมองหาภาษาของสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ สามารถนำมาใช้ซ้ำแล้วซ้ำอีก จากโปรเจ็กต์หนึ่งสู่อีกโปรเจ็กต์ เพราะทุกโครงการมันมีความแตกต่างกัน มีลักษณะเฉพาะในตัวเอง ดังนั้นผมไม่กลัวถ้าหากตัวผมเองจะไม่มีลายเซ็น หรือภาษากลางในการออกแบบ”– Rafael Moneo
TOLEDO CONVENTION CENTER TOLEDO, SPAIN 2010
Photo Credits: https://rafaelmoneo.com/en/projects/toledo-convention-center/
SPANISH AMBASSADOR’S RESIDENCE IN WASHINGTON, USA 2002
Photo Credits: https://rafaelmoneo.com/en/projects/spanish-ambassadors-residence-in-washington/
อาคารของเขายังโดดเด่นด้วยการเล่นจังหวะของสัดส่วน ระยะห่างระหว่างองค์ประกอบต่างๆ โดยเน้นความชัดเจนของวิธีการในการก่อสร้าง และสิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ การพยายามสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถาปัตยกรรมและเมืองรอบๆ โดยพยายามเชื่อมโยงอาคารเข้ากับถนนเส้นต่างๆ ด้วยความเชื่อที่ว่าสถาปัตยกรรมจะต้องเติบโตไปพร้อมกับเมือง เพราะเมื่อเทียบสเกลที่ใหญ่โตของเมืองแล้ว อาคารเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ดังนั้นอาคารจึงต้องแสดงตัวเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและวิถีชีวิตในเมืองใหญ่ได้อย่างกลมกลืน
“ผมปรับเปลี่ยนและมองหาสิ่งที่เหมาะสมทุกครั้งในการออกแบบ สถาปัตยกรรมควรให้ความเคารพต่อบริบทหรือสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัว สถาปนิกไม่ควรคิดถึงเพียงช่วงเวลาปัจจุบัน แต่ยังควรคำนึงถึงทั้งอดีตและเวลาในอนาคตด้วย” โมเนโอกล่าว
LABORATORIES BUILDING FOR COLUMBIA UNIVERSITY. NEW YORK. USA 2010
Photo Credits: https://rafaelmoneo.com/en/projects/laboratories-building-for-columbia-university/
Prado Museum Enlargement
Madrid , Spain 2007
หลังจากการแข่งขันประกวดแบบถึง 2 ครั้ง โมเนโอก็ได้รับเลือกให้ออกแบบส่วนขยายใหม่ของพิพิธภัณฑ์และส่วนขยายของธนาคารแห่งชาติสเปน ซึ่งเป็นการจำลองอาคารที่มีอยู่เดิมเกือบทั้งหมดภายใต้การดูแลของกระทรวงวัฒนธรรม โดยอาคารใหม่นี้มีพื้นที่มากกว่า 22,000 ตารางเมตร ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% ของสเกลเดิมที่มีอยู่ เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับผู้เยี่ยมชมได้อย่างครบครัน รวมถึงสามารถจัดเรียง แสดงและอนุรักษ์คอลเล็กชันของผลงานได้มากยิ่งขึ้น
การออกแบบของโมเนโอเผยให้เห็นแนวคิดของเขา โดยให้ความสำคัญกับอาคารดั้งเดิม สภาพแวดล้อมและอาคารบริเวณใกล้เคียงซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่าง โบสถ์ Jerónimos และ Academia Española ซึ่งอาคารใหม่และอาคารเก่าจะถูกเชื่อมโยงเข้าหากันผ่านแพลตฟอร์มที่ออกแบบปกคลุมด้วยพุ่มไม้ เกิดเป็นสวน และพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง
PRADO MUSEUM ENLARGEMENT MADRID, SPAIN 2007
Photo Credits: https://rafaelmoneo.com/en/projects/prado-museum-enlargement/
‘Why We Are Where We Are’ คงจะเป็นนิยามที่สถาปัตยกรรมอันเรียบง่ายของโมเนโอ คอยเตือนให้เราฉุกคิดอยู่เสมอ ไม่ใช่ความโดดเด่นที่พยายามทำตนเองให้น่าจดจำ แต่เป็นความคุ้นเคยของบริบทที่เขาพยายามสอดแทรกเข้าไปในสถาปัตยกรรม เพื่อให้คนในชุมชนภาคภูมิใจ และสัมผัสได้ถึงความเป็นเจ้าของในพื้นที่นั้นๆ ราวกับจะเตือนว่า นี่คือบ้านเกิดของฉันและสถานที่ที่ฉันควรอยู่
ถึงแม้จะเป็นรายละเอียดเพียงเล็กน้อย แต่การที่สเกลอันยิ่งใหญ่ของสิ่งปลูกสร้างสามารถส่งผลถึงความคิดและความรู้สึก เพื่อให้คนธรรมดาที่ผ่านไปมาสามารถรับรู้และสัมผัสได้ไปพร้อมกัน และนั่นก็คงจะเป็นตัวพิสูจน์แล้วว่า สถาปัตยกรรมเหล่านั้นควรคู่แก่การน่าจดจำด้วยชื่อเสียงของ Rafael Moneo สถาปนิกที่มีอิทธิพลคนหนึ่งของยุค
CATHEDRAL OF OUR LADY OF THE ANGELS LOS ÁNGELES, USA 2002
Photo Credits: https://rafaelmoneo.com/en/projects/cathedral-of-our-lady-of-the-angels/
ขอบคุณข้อมูลจาก:
https://www.britannica.com/biography/Rafael-Moneo
https://www.stirworld.com/think-columns-rafael-moneo-believes-good-architecture-must-be-innovative-but-rooted-in-its-place
https://www.archdaily.com/625552/ad-classics-national-museum-of-roman-art-rafael-moneo
https://rafaelmoneo.com/en/studio/
https://visuallexicon.wordpress.com/2017/10/11/rafael-moneos-iesu-church-in-san-sebastian-spain/
Photo Credits (ภาพปก) :
https://rafaelmoneo.com/wp/wp-content/uploads/2016/11/Michael-MORAN_0758G-02BCweb.jpg
http://architectuul.com/architect/rafael-moneo
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!