“สมัครงานทั้งที เขาดูที่อะไรบ้าง?”
อะไรคือสิ่งที่สถาปนิกรุ่นพี่มองหาจากสถาปนิกรุ่นใหม่

เข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านปีของน้องๆ นักศึกษาที่เพิ่งจบใหม่ หลายคนกำลังมองหางาน สมัครงานไปตามองค์กรต่างๆ ที่ตนเองสนใจ แต่เคยสงสัยกันไหมว่า เวลาที่เราส่งพอร์ทโฟลิโอไปสมัครงานยังออฟฟิศต่างๆ และมีโอกาสได้เข้าไปสัมภาษณ์ เขาดูกันที่อะไรบ้าง ก่อนจะตัดสินใจรับเราเข้าไปทำงาน หรือจะมีอะไรเป็นพิเศษไหม ที่สถาปนิกรุ่นพี่มากประสบการณ์ มองหาจากตัวสถาปนิกจบใหม่ไฟแรง?

หลังจากมีโอกาสได้พูดคุยกับสถาปนิกรุ่นพี่ในระดับ Director Dsign Something ขอเป็นตัวแทนมาไขข้อข้องใจ เผื่อเป็นไอเดียสำหรับใครที่กำลังมองหางาน กำลังจะสมัครงาน หรือสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปปรับใช้กับการทำงานในชีวิตประจำวันก็ได้เช่นกัน !

โชว์ทักษะและความละเอียดในตัว

ความละเอียดในที่นี้ เราขอเหมารวมทั้ง Soft Skills และ Hard Skills เพราะแน่นอนว่าการที่เราส่งอีเมลล์และพอร์ทโฟลิโอไปสมัครงานนั้น การตัดสินเริ่มได้ตั้งแต่วินาทีที่เราจั่วหัวเรื่องว่า เรียนคุณ…… เพราะฉะนั้นความละเอียดที่ว่าจะส่งผ่านตัวอักษรที่เราใช้ในอีเมล ความตั้งใจ ภาษาที่ใช้นอบน้อมถ่อมตนเหมาะสมมากน้อยแค่ไหน หรือแม้แต่การสะกดคำผิด ถูก ก็สามารถบอกบุคลิกและความละเอียดของตัวบุคคลนั้นได้มากในระดับหนึ่ง เรื่องเล็กน้อยอย่างนี้ จึงไม่ควรพลาดให้โดนตัดคะแนนกันตั้งแต่แรกเห็น

ความละเอียดในส่วนต่อไปยังวัดได้จากรูปแบบของการทำกราฟฟิก การนำเสนอภายในพอร์ทโฟลิโอ ซึ่งตรงนี้ถือเป็น Hard Skills ที่สุดแท้แต่ความสามารถของแต่ละบุคคล  การนำเสนอภาพรวมของพอร์ทให้คนอ่านและคนดูเข้าใจ ก็บ่งบอกลักษณะนิสัยและความละเอียดในตัวได้ดี

เตะตาด้วยสกิลการออกแบบงาน Presentation

สิ่งที่โดดเด่นและเตะตาจากการมองดูพอร์ทโฟลิโอ ส่วนมากแล้วไม่ใช่เนื้อหาของการออกแบบ ความเหมาะสม ถูก-ผิดมากแค่ไหนหรืออย่างไร แต่เป็นสกิลของการพรีเซนท์งานเหล่านั้นออกมาให้คนเข้าใจและสวยงามไปพร้อมกัน อย่างเช่น ทักษะการเรนเดอร์ perspective ทักษะการพรีเซนท์ภาพแปลนโครงการ การนำเสนอไอเดียไดอะแกรมแสดงคอนเซ็ปต์ดีไซน์ หากมีพื้นฐานของงานเหล่านี้ในระดับที่ดี ก็มั่นใจได้หายห่วง

Something More: หากเรามีทักษะในการใช้โปรแกรมแอดวานซ์ขั้นพิเศษขึ้นมาหน่อยอย่าง Rhino , Grasshopper โปรแกรมในการขึ้น 3D หรือโปรแกรมเฉพาะทางด้านอื่นๆ ก็อาจเป็นแต้มต่อในการสมัครงาน แต่ทั้งนี้สกิลดังกล่าวจะจำเป็นหรือไม่จำเป็น ก็อาจจะขึ้นอยู่กับระบบการทำงานของออฟฟิศนั้นๆ ด้วย (อย่าลืมแอบไปสืบมาล่ะ!)

ทัศนคติเปิดเข้าไว้จะเป็นแต้มต่อ

หลังจากพอร์ทโฟลิโอเราผ่านเข้าตา ได้เข้ารอบสู่การพูดคุยและสัมภาษณ์ สิ่งต่างๆ ที่ตามมาคือการมองหา Soft Skills หรือทักษะการพูดจา การแก้ปัญหา หรือแม้แต่ทัศนคติ

เข้าใจว่าทุกคนย่อมมีความคิด หรือทัศนคติเป็นของตัวเอง ยิ่งเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์ การเป็นตัวของตัวเองสูงนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่บางทีการเปิดรับ เปิดมุมมองความคิดให้กว้าง แสดงออกว่าเราเป็นน้ำไม่เต็มแก้ว ที่พร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไปพร้อมกับองค์กร จะสร้างแต้มต่อในการสมัครงาน

และด้วยความที่สถาปนิกเป็นอาชีพที่ต้องทำความเข้าใจกับพฤติกรรมของคนหลายประเภท ในหลายมิติ การมองหาบุคคลที่มีทัศนคติดี พร้อมจะเข้าใจผู้อื่นจึงเรียกได้ว่าเป็นพื้นฐานที่จะขาดไปไม่ได้เลย

Passion พลังของความหลงใหล

อย่างที่รู้กันว่า Passion หรือความหลงใหล เป็นสิ่งสำคัญในวิชาชีพการออกแบบอย่างเราๆ เพราะการมี Passion จะเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง เปรียบเสมือนโค้ชข้างสนามที่คอยดึงเราให้เข้าที่เข้าทางอยู่เสมอ ถึงแม้จะท้อ หรือเกิดปัญหาในส่วนใดขึ้นมา หากใจยังมีความหลงใหลกับมัน ย่อมมีพลังในการต่อสู้กับปัญหาเหล่านั้นได้ดี

ยิ่งเป็นสถาปนิกรุ่นใหม่ไฟแรง ที่พร้อมไปด้วยแรงกายและแรงใจ ย่อมมาช่วยเติมไฟที่กำลังจะดับมอดให้กับพี่ๆ ได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นรักษา Passion ที่ดีต่อวิชาชีพนี้เอาไว้ จะส่งผลที่ดีกับการทำงานอย่างแน่นอน

ความสดใหม่ ไอเดียสุดปัง

ไอเดียสุดปังในที่นี้ ไม่ได้ตั้งใจกดดันว่าต้องเป็นคนเก่งกันซะเมื่อไร! ความสดใหม่สามารถฉายแววให้เห็นผ่านสิ่งที่เราสนใจอย่าง ข่าวสารปัจจุบัน เทรนด์ เทคโนโลยี หนัง เพลง สังคม หรือแม้แต่เกมส์ที่เล่น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ สามารถเป็นปัจจัยที่ช่วยหล่อหลอมให้เด็กเจนเนอเรชันหลังๆ มีวิธีคิด หรือมุมมองต่อโลกที่สดใหม่ และแตกต่างจากคนรุ่นก่อน

Generation Gap ตรงนี้ อาจจะส่งผลดีในการทำงานร่วมกัน เกิดการแลกเปลี่ยนความคิด เมื่อความสดและใหม่ของน้องๆ ผสมกับประสบการณ์ช่ำชองของพี่ๆ นี่แหละที่จะกลายเป็นจุดกำเนิดของไอเดียสุดปังที่เราว่า !

เป็นตัวเองในแบบที่พร้อมปรับตัว

ความสามารถในการปรับตัว ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ควรจะมี ทั้งการปรับตัวให้เข้ากับระบบการทำงาน รูปแบบงานดีไซน์ขององค์กรนั้นๆ หรือการปรับตัวเข้ากับหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน การมีสกิลนี้ติดตัวจะทำให้เราสามารถทำงานในองค์กรนั้นๆ ได้อย่างลื่นไหล สามารถทำงานได้นาน รวมถึงสามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์ได้อย่างเต็มที่ (ซึ่งหากเป็นไปได้ก็ควรเลือกออฟฟิศที่เราชื่นชอบในงานออกแบบของเขา เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายพูดคุยภาษาเดียวกันได้อย่างสมูท)

ซึ่งในมุมขององค์กรเอง การมองหารุ่นน้องที่พร้อมปรับตัว ลดอีโก้และความไฟแรงในตัวลง  ก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะทำให้การสอนงาน หรือการทำงานร่วมกันเกิดปัญหาได้น้อยกว่านั่นเอง

รับความกดดัน ทำงานกับเดดไลน์ได้ดี

เพราะสถาปนิกเป็นวิชาชีพที่ต้องรับผิดชอบการออกแบบโครงการระดับใหญ่ที่ส่งผลมากมายต่อตัวบุคคล การทำงานจึงแน่นอนว่า เยอะ! และต้องละเอียดในทุกๆ ขั้นตอน เพื่อให้ข้อผิดพลาดเกิดขึ้นได้น้อยมากที่สุด
บางครั้งก็ต้องมีการปรับแก้กันไม่ใช่น้อยๆ งานหนักที่ถาโถมจึงทำให้สถาปนิกอาจจะต้องมีการอดหลับอดนอนกันไปบ้างเป็นครั้งครา

ถึงแม้ว่าเด็กรุ่นใหม่อาจจะยังไม่มีประสบการณ์การทำงานจริงมากนัก ความละเอียด หรือการแก้ปัญหาหน้างานจึงเป็นเรื่องที่มาศึกษา เรียนรู้กันได้ทีหลัง แต่อย่างน้อยสิ่งที่สถาปนิกรุ่นพี่มักจะมองหาเป็นพื้นฐาน นั่นคือ สกิลของการรับแรงกดดัน พร้อมสำหรับงานหนัก งานละเอียด และอึด ถึก ทนกับเดดไลน์ได้ดี

Team Work ก็สำคัญไม่แพ้งาน

ในการทำงาน ไม่มีอะไรเป็นดั่งใจเรา งานที่เราชอบอาจจะโดนลูกค้าแก้ หรืออาจจะมีความคิดเห็นไม่ตรงกันกับเพื่อนร่วมงานบ้างก็เป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้งานเดินหน้าต่อไปได้อย่างไม่ติดขัด คือความเป็น Team Work ที่ต้องร่วมด้วยช่วยกันแก้ไขปัญหา บอกเลยว่า สกิลง่ายๆ อย่างนี้ ก็เป็นเรื่องที่ทุกคนควรจะมีติดตัวเอาไว้

Soft Skills อย่างการทำงานร่วมกับผู้อื่น ความเห็นอกเห็นใจ การฟัง หรือการจัดการตัวเองทั้งหลาย รักษาไว้ให้ดี ผสมผสานกับ Hard Skills ที่หมั่นฝึกฝน เรียนรู้ สั่งสมประสบการณ์ เพียงเท่านี้รับรองว่าสมัครงานที่ไหน ก็ไม่มีพลาดอย่างแน่นอน!  

Writer