กว่าศตวรรษแล้วที่ยานพาหนะสุดคลาสสิกอย่าง ‘รถไฟ’ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทย ซึ่งหากพูดถึงสถานีรถไฟที่คุ้นเคย คงหนีไม่พ้นกับ ‘สถานีกรุงเทพ’ หรือที่หลายคนมักเรียกติดปากว่า ‘หัวลําโพง’ กันอย่างแน่นอน เพราะนี่คือสถานีรถไฟหลักของประเทศที่ไม่เพียงแต่อยู่คู่กับรถไฟไทยมาตั้งแต่ยุคเริ่มต้น แต่ยังเต็มไปด้วยเรื่องราวที่หลายคนผูกพัน อย่างไรก็ตามเมื่อกาลเวลาผ่านไปจนช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงของรถไฟไทยครั้งใหญ่ก็แล่นมาถึงเสียแล้ว เพราะอีกไม่นานจะมีสถานีแห่งใหม่อย่าง ‘สถานีกลางบางซื่อ’ เข้ามาทำหน้าที่ในฐานะสถานีรถไฟหลักของประเทศไทยแห่งใหม่ในปี พ.ศ. 2564 แทนที่สถานีหัวลำโพงเดิมแล้ว
เพื่อยังคงรักษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และอาคารอนุรักษ์ที่มีคุณค่าของสถานีหัวลำโพง ‘Re-Imagining Hua Lamphong’ โครงการประกวดแนวความคิดที่มุ่งหวังให้เกิดการรวมหัวคิดเพื่อหัวลำโพง จึงเปิดโอกาสให้ทีมผู้ออกแบบมากฝีมือจากทั่วประเทศเข้าร่วมส่งแนวคิดและไอเดียในการพัฒนาและอนุรักษ์พื้นที่กว่า 121 ไร่ของสถานีหัวลำโพงสู่บทบาทหน้าที่ใหม่ๆ ซึ่งหนึ่งในผลงานน่าสนใจที่เราหยิบยกมาเล่าในครั้งนี้มีชื่อว่า Hua Lamphong Field ผลงานออกแบบจากทีมสถาปนิก HAS design and research ที่โดดเด่นทั้งในเรื่องของการสร้างพื้นที่สีเขียว ฟังก์ชันใช้งานที่เอื้อต่อกิจกรรมของคนในยุคปัจจุบัน รวมถึงไม่ลืมที่จะเพิ่มคุณค่าในพื้นที่ของสถานีเก่าแก่แห่งนี้ให้มีดีมากกว่าที่เคย
ถ้ายังนึกภาพการเดินทางกว่าร้อยปีของสถานีของเก่าไม่ออกหรือเริ่มเลือนจางหายไปแล้ว มาตามดูภาพหัวลำโพงและอาคารสำคัญอื่นๆ บนพื้นที่ 121 ไร่ (จากซ้ายไปขวา) กันก่อนเสียหน่อย ได้แก่ สถานีหัวลำโพง อาคารโรงรถดีเซลราง หอสัญญานกรุงเทพ ตึกบัญชาการการรถไฟ และอาคารที่ทำการพัสดุยสเส
เปลี่ยนบทบาทของสถานีเก่าสู่หน้าที่ใหม่
เดิมทีสถานีกรุงเทพเป็นจุดนัดพบนัดหมายของผู้คนทุกยุคสมัย และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มากว่าร้อยปี ทั้งอาคารที่ทำการพัสดุยสเส ตึกบัญชาการการรถไฟ อาคารโรงรถดีเซลราง หอสัญญานกรุงเทพ และองค์ประกอบอื่นๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีบทบาทสำคัญให้กับการรถไฟไทยมาอย่างช้านาน แต่เมื่อพิจารณาถึงบริบทและการยกระดับความสำคัญของอาคารอนุรักษ์ในพื้นที่ทั้งหมดนั้น รวมถึงการลดจํานวนเที่ยวสัญจรของรถไฟที่ส่งผลให้จำนวนของผู้ใช้งานในอาคารต่างๆ ลดลงไปด้วย
ลานลำโพงแห่งนี้จึงมีศักยภาพที่จะสร้างสรรค์พื้นที่สีเขียวให้กับเมืองได้มากกว่าสามสิบเปอร์เซ็นต์ของพื้นที่โครงการ พร้อมกับแทรกพื้นที่เรียนรู้นอกห้องเรียนของการรถไฟไทยผ่านทางกิจกรรมทั้งด้านนอกและด้านในของอาคาร และพื้นที่การค้าอีกสามสิบเปอร์เซ็นต์จะกลายเป็นจุดนัดพบใหม่ เพิ่มรายได้ให้แก่การรถไฟไทย และเชื่อมต่อผู้คนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในย่านนี้อีกครั้ง
รั้วมีชีวิตที่สอดแทรกพื้นที่สีเขียวของเนินหญ้าในรูปแบบ free form
ทั้งนี้การล้อมรั้วขอบเขตของพื้นที่ในปัจจุบันทำให้เกิดการแบ่งแยกตัดขาดจากเมืองและผู้คนโดยรอบอย่างชัดเจน ประกอบกับการสัญจรทางเท้าและทางรถที่ถูกปรับเปลี่ยนตำแหน่งมาหลายครั้งนับตั้งแต่การเปิดใช้อาคารนั้นๆ กลับสร้างทางสัญจรที่ไม่ต้อนรับคนเดินเท้าบริเวณหน้าอาคารสถานี ขณะที่ด้านในอาคารตำแหน่งของพื้นที่ขายตั๋ว ณ ปัจจุบัน กลับบดบังความสวยงามต่อเนื่องทางสายตาที่ผู้ออกแบบอาคารตั้งใจออกแบบไว้แต่เดิม ซึ่งยังไม่รวมถึงการสัญจรภายในอาคารที่ผู้โดยสารรถไฟและคนทั่วไปเดินปะปนกัน นอกจากนี้การเข้าถึงอาคารอนุรักษ์นั้นกลับไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ มีการแบ่งแยกทางเข้าออกที่ต้องเข้าจากทางถนนในการเข้าถึงอาคารนั้นๆ
แนวคิดของลานลำโพงที่จะทำลายขอบเขตการแบ่งกั้นพื้นที่ในแนวยาวทั้งสองข้าง ซึ่งติดกับคลองผดุงกรุงเกษมและถนนรองเมืองจึงเกิดขึ้น ด้วยการสอดแทรกพื้นที่สีเขียวของเนินหญ้าในรูปแบบ free form ทำหน้าที่เป็นรั้วมีชีวิต ให้ร่มเงาผู้คนสองข้างถนน และสร้างความหลากหลายให้กับกิจกรรมที่เกิดขึ้น เอื้อให้เกิดการต้อนรับผู้คนทางสายตาและทำให้พื้นที่นี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เมือง
ลานน้ำพุคนเดินที่ลดอุณหภูมิริมถนนให้เย็นลง และชุบชีวิตโฉมหน้าของสถานีใหม่
ในอดีตวงเวียนน้ำพุและอนุสาวรีย์ช้างสามเศียรด้านหน้าอาคารนั้น เดิมเคยเป็นหลุมหลบภัยทางอากาศซึ่งดัดแปลงจาก ‘อุทกธาร’ หรือพื้นที่ให้บริการน้ำดื่มสำหรับประชาชนในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ขณะที่พื้นที่ด้านข้างของวงเวียนที่ปัจจุบันเป็นเพียงเกาะกลางถนน ทำให้การสัญจรทางรถเดิมมักขัดกับคนเดินเท้าหน้าอาคารสถานีในปัจจุบัน
ผู้ออกแบบจึงปรับเปลี่ยนเส้นทางการจราจรด้านหน้า เพื่อเอื้อให้เกิดการเข้าถึงอาคารที่สะดวกขึ้น และยังเสนอให้เกิดการเชื่อมพื้นที่ไปยังทางเท้าหน้าอาคารที่การสัญจรทางรถถูกเปลี่ยนให้ไม่ต้องตัดผ่านหน้าอาคารอย่างที่เคยเป็น และสร้างสรรค์ออกมาเป็นลานน้ำพุคนเดิน (Wet Plaza) ที่จะช่วยลดอุณหภูมิริมถนนพระรามสี่ให้เย็นลง พร้อมทั้งสร้างพื้นที่สาธารณะระหว่างลานลำโพงและผู้คนในชุมชนโดยรอบให้สามารถทำกิจกรรมร่วมกัน รวมถึงสะท้อนความงามของอาคารสถานีกรุงเทพฯ ได้อย่างชัดเจน
แทรกซึมพื้นที่สีเขียวและความครีเอทีฟเข้าไปในทุกกิจกรรม
เมื่อเดินเข้าไปในอาคารจะพบกับแหล่งเรียนรู้พืชพันธุ์พื้นถิ่นสวนพฤกษศาสตร์ Botanical Garden ใจกลางกรุงเทพฯ แห่งใหม่ที่จะช่วยสร้างบรรยากาศอันรื่นรมย์ในการนั่งรอรถไฟ ดึงดูดผู้คนเพื่อมาพักผ่อนหย่อนใจ และเป็นการปรับเปลี่ยนการใช้งานของอาคารสถานีเดิมที่คำนึงถึงลักษณะของอาคารและยังคงไว้ซึ่งความสวยงามของสถาปัตยกรรม ในขณะที่พื้นที่ขายตั๋วเดิมถูกย้ายมาไว้ทางด้านข้าง เพื่อให้การสัญจรของผู้คนลื่นไหลเป็นไปอย่างธรรมชาติ
การกระจายตัวเล่นระดับของเนินที่สอดแทรกไปกับพื้นที่ในลานลำโพงนั้นทำให้พื้นที่สีเขียวแทรกซึมเข้าไปในทุกกิจกรรม และเกิดการรับรู้การใช้งานที่ต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ผู้เยี่ยมชมจะเพลิดเพลินไปกับการเดินเท้าด้านในลานลำโพง จากสถานีกรุงเทพฯ ผ่านพื้นที่นอกอาคารไปยังหอสัญญานกรุงเทพ ตึกบัญชาการการรถไฟและหอเกียรติยศ ไปจนถึงอาคารที่ทำการพัสดุยสเสผ่านรางรถไฟเดิม เมื่อออกมาจากอาคารสถานีจะพบกับตู้รถไฟเก่าที่ถูกชุบชีวิตให้กลายเป็นร้านอาหารบนรถไฟและภูมิทัศน์ของ พื้นที่สร้างสรรค์อย่าง Creative Park และ Locomotive Factory ที่ปรับเปลี่ยนโรงซ่อมรถไฟให้กลายเป็นพื้นที่ศิลปะและแหล่งเรียนรู้จากการลงมือทำจริง ทำให้เรื่องวิศวกรรมเครื่องกลของรถไฟไทยกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนสามารถจับต้องได้ นอกจากนี้ผู้เยี่ยมชมยังสามารถขึ้นไปบนพื้นที่ส่งพัสดุเดิมที่ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นหอชมวิว Observation Tower เพื่อชมภาพมุมสูงของลานลำโพงได้อีกด้วย
ส่วนอาคารที่ทำการพัสดุยสเสซึ่งคงไว้ซึ่งคุณค่าและความสวยงามทางสถาปัตยกรรม ได้ถูกปรับเปลี่ยนพื้นที่อาคารชั้นล่างให้กลายเป็นร้านอาหารหรูเลิศรส Fine Dining Restaurant และพื้นที่สำหรับจัดงานเลี้ยง งานแต่งงาน Banquet Hall ในอาคาร ขณะที่พื้นที่อาคารด้านบนของอาคารที่ทำการพัสดุยสเสและตึกบัญชาการการรถไฟ นั้นยังคงไว้ซึ่งพื้นที่ทำงานสำหรับพนักงานการรถไฟไทย นอกจากนี้การโยกย้ายที่จอดรถเดิมออกมาตรงที่ว่างด้านนอกอาคารทำให้ลานโล่งกลางอาคารกลายเป็นพื้นที่สีเขียวสำหรับพักผ่อนหย่อนใจของพนักงานและผู้เยี่ยมชมได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้พื้นที่ลานที่โอบล้อมด้วยอาคารที่ทำการพัสดุยสเสนั้นสามารถเป็นลานฉายสารคดีเชิงอนุรักษ์ Heritage Theatre ให้ความรู้แก่ผู้เยี่ยมชมและสามารถรับรู้ได้ถึงความสำคัญของมรดกสถาปัตยกรรมในพื้นที่ลานลำโพงแห่งนี้
สถานีหัวลำโพงใหม่ในร่างลานกิจกรรมของคนเมือง
แม้ในอนาคตบทบาทของการเป็นสถานีรถไฟหลักที่เชื่อมต่อคนทั้งประเทศเข้าด้วยกันจะต้องยุติลง แต่เรื่องราวและเสน่ห์ของสถานีหัวโพงก็จะคงอยู่ เสียงหวูดร้องรถไฟ เสียงจอแจของผู้คน เด็กๆ วิ่งเล่นบนลานน้ำพุ กระโดดลงจากเนินหญ้า ชมงานศิลปะปนไปกับการเรียนรู้เรื่องรถไฟ นั่งเล่นที่ลานใต้ร่มไม้และชมภาพยนตร์สารคดีเชิงอนุรักษ์ ประสบการณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่ทีมผู้ออกแบบ HAS design and research คาดหวังไว้ว่า ผลงานจากโครงการประกวดแบบเฉพาะแนวคิดอย่างลานลำโพง Hua Lamphong Field จะเกิดขึ้นจริงได้ในสักวันหนึ่ง เพื่อเป็นเสมือนพื้นที่เชื่อมต่อของกาลเวลา รำลึกถึงอดีตเพื่อเรียนรู้ และเอื้อให้เกิดกิจกรรมใหม่ที่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน
“หัวลำโพงต่อจากนี้ ไม่ว่าความเป็นจริงจะเปลี่ยนไปเช่นไร งานออกแบบชิ้นนี้เกิดขึ้นได้เพราะความหวัง ความหวังที่จะให้คนไทยทุกคนร่วมหวังไปด้วยกัน ความหวังของการมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นให้กับผู้คนและเมือง ความหวังของการปรับเปลี่ยนการใช้งานอาคารอนุรักษ์ที่มีคุณค่าทั้งทางประวัติศาสตร์และทางใจ มอบไว้ให้แก่คนรุ่นหลังได้ใช้งานสืบต่อไป แม้ว่าในขณะนี้จะเป็นเพียงแค่ภาพหวังในอุดมคติเท่านั้นก็ตาม”
นอกจากผลงานออกแบบ Hua Lamphong Field จาก HAS design and research ยังมีผลงานประกวดออกแบบเฉพาะแนวคิดน่าสนใจที่มุ่งหวังในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) อีกมากมาย โดยสามารถเข้าไปเยี่ยมชมและดูผลงานจากผู้เข้าร่วมประกวดอื่นๆ กันต่อได้ที่ https://reimagininghualamphong.info
Project Information
Project name: Hua Lamphong Field
Project location: Bangkok, Thailand
Design Company: HAS design and research
Team: Jenchieh Hung, Kulthida Songkittipakdee, Atithan Pongpitak, Muze Ouyang
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!