Sendai Mediatheque
ห้องสมุดที่ถูกถอดกรอบ Typology แบบเดิมโดย Toyo Ito

ในช่วงยุคหลังสงครามโลก เศรษฐกิจภาพรวมทั่วทั้งโลกเติบโตอย่างรวดเร็ว สิ่งหนึ่งที่เมืองใหญ่ทั่วโลกต้องเผชิญคือ ปัญหาการขยายตัวของเมือง เช่นเดียวกับ เซนได เมืองเอกในจังหวัดมิยางิ ซึ่งเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคโทโฮกุ อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศญี่ปุ่น

หลังจากที่ญี่ปุ่นต้องเผชิญปัญหาจากเหตุแผ่นดินไหวหลายต่อหลายครั้ง ในปี 1968 จึงมีการออกกฏหมายผังเมืองฉบับใหม่ เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาการขยายตัวของเมือง รวมไปถึงกฏหมายควบคุมอาคารเพื่อรองรับแผ่นดินไหว โดยในช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 ปัญหาการขยายตัวของเมืองเซนไดแผ่ขยายเป็นวงกว้าง ทางรัฐบาลจึงมีนโยบายจัดทำโครงการต่าง ๆ เช่น การขยายถนน การปรับปรุงทางเดินเท้า เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชากรในเมือง รวมถึงได้มีการวางแผนจัดทำ Sendai Mediatheque

ในปี 1995 ทางภาครัฐก็ได้มีการจัดประกวดแบบตัวโครงการ Sendai Mediatheque ขึ้น โดยมีเป้าหมายให้อาคารแห่งนี้เป็นศูนย์มัลติมีเดียสำหรับประชาชน ประกอบด้วย พื้นที่อเนเกประสงค์ ห้องสมุด แกลเลอรี่ และ โรงภาพยนตร์ โดยตัวไซท์อยู่บนถนนโจเซนจิ (Jozenji Dori) เป็นหนึ่งในถนนที่ได้รับการปรับปรุงภูมิทัศน์และขยายความกว้าง

จากช่วงปี 1980 หลังจากการปรับปรุงแล้ว ถนนโจเซนจิกว้างถึงฝั่งละ 3 เลนส์ และตรงบริเวณเกาะกลางมีทางเดินเท้าขนาดใหญ่ มีต้นไม้ให้ร่มเงาตลอดสาย ด้วยความต้องการให้เป็นเหมือน Paris Boulevard อีกทั้งยังเป็นถนนที่ไปเชื่อมถนนสายหลักอย่าง เซนได โคโตได (Sendai Kotodai) และมีสถานีรถไฟ โคโตได (Kotodai) ทำให้ถนนนี้มีผู้สัญจรชุกชุม ทั้งรถยนต์และคนเดินเท้าจวบจนมาถึงปัจจุบัน

การประกวดแบบครั้งนี้ได้รับความสนใจอย่างมาก มีผู้ร่วมส่งแบบถึง 235 ราย Toyo Ito & Associate ร่วมกับ Sasaki Structural Consultant ได้นำเสนออาคารที่โปร่งใส ด้วยคอนเซปต์ของการเชื่อมโยงบริบทภายนอกเข้าสู่ภายในอาคาร เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงห้องสมุดสาธารณะของประชาชน ประกอบกับการใช้โครงสร้างหน้าตาคล้ายลำต้นของต้นไม้ ดูโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เข้ากับบริบทบทของที่ตั้งบนถนนโจเซนจิเหมาะสมกับการเป็นสัญลักษณ์ของเซนได ซึ่งเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อว่าเป็น The city of trees จึงทำให้ Toyo Ito เป็นผู้ชนะในการประกวดแบบ Sendai Mediatheque ครั้งนี้

Initiative Idea

แรกเริ่ม Toyo Ito เสาะหาแนวทางใหม่ในการออกแบบ เพื่อให้หลุดจากห้องสมุดรูปแบบเดิม ๆ ด้วยการพยายามสลายกรอบการเข้าถึงสื่อสารสนเทศแบบตัวอักษร (text-based) ที่เข้าถึงยาก โดยการบูรณาการณ์การใช้สื่อมัลติมีเดียร่วมกับการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และสลายกรอบการเข้าถึงในเชิงสถาปัตยกรรม เขาได้นำเสนอภาพที่ค่อนข้างเป็น Conceptual เป็นลูกบาศก์ที่มีเพียงแค่สามองค์ประกอบ คือ Plate พื้นสีเหลี่ยมจัตุรัส ที่รองรับด้วย Tube เหล็กสาน 13 ต้นวางตัวแบบ Random และ Skin ของอาคารให้เห็นถึงความโปร่งใส เพื่อให้เกิดความลื่นไหลของพื้นที่จากภายนอกเขาสู่ภายใน

Ito กล่าวว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากผลางานของสถาปนิกผู้มีชื่อเสียงในยุคโมเดิร์นทั้งสองคน หนึ่งคือ งาน Dom-Ino House ของ Le Corbusier ที่ใช้พื้น Post tension ทำให้โครงสร้างมีเพียงเสากับพื้น ไม่จำเป็นต้องมีคาน วางตัวแบบ Open Plan ไม่มีผนัง และ งาน Barcelona Pavilion ของ Mies van der Rohe ที่สร้างความลื่นไหลภายในเสปซ ด้วยการเล่นกับจังหวะการใช้วัสดุที่มีความทึบ-โปร่ง ประกอบกับความคิดในการสร้างอาคารที่เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับประชาชนแห่งนี้

เขาต้องการให้รูปแบบการใช้พื้นที่ เปลี่ยนคาร์แรคเตอร์ไปตามการใช้งานของคนและทำให้ทุกกิจกรรมสามารถเกิดขึ้นภายในพื้นที่เดียวกัน คล้ายกับการใช้พื้นที่ใน สวนสาธารณะ คุณอาจจะกำลังนั่งอ่านหนังสือ บนเสื่อ ขณะที่เด็กๆ วิ่งเล่นอยู่บนสนามหญ้า นำไปสู่แนวความคิดของการเปิดพื้นที่ทั้งชั้นให้โล่ง ใช้เฟอร์นิเจอร์เป็นตัวกำหนดพื้นที่ แทนการใช้ผนังกั้น เพื่อให้เกิดความเชื่อมต่อของกิจกรรมในแกนด้านนอน และการใช้ Tube สอดทะลุพื้นแต่ละชั้นให้เกิดความเชื่อมต่อในแกนด้านตั้ง รวมถึงการเชื่อมบริบทจากภายนอกเข้าสู่ภายในด้วยการทำให้อาคารให้โปร่งและใสที่สุด

From Conceptual Idea to Design Development

หลังจากแบบของ Ito ได้ถูกเลือกให้เป็นผู้ชนะแล้ว มาสู่ขึ้นตอนของการพัฒนาแบบ Conceptual ที่นำเสนอไปให้เป็นไปตามแนวความคิดของเขามากที่สุด แน่นอนว่าอาคารจะโปร่งใสไปทั้งหมดคงจะเป็นไปได้ยาก เพราะอย่างน้อยในอาคารก็ต้องประกอบด้วยงานระบบต่าง ๆ เช่น ลิฟต์ ช่องท่อ บันไดหนีไฟ ที่มักจะเป็นส่วนทึบตัน  Ito นำเอางานระบบเหล่านั้นใส่ไว้ในโครงสร้าง Tube เหล็กสาน ที่เชื่อมต่อจากชั้นล่างถึงชั้นบนสุด แน่นอนว่าในความเป็นจริงแล้ว ภายในช่อง Tube จะไม่สามารถเปิดเชื่อมถึงกันได้ตามกฎหมายการป้องกันอัคคีภัย Ito จึงได้เลือกใช้ กระจกชนิดพิเศษที่บรรจุของเหลวไว้ภายใน ซึ่งสามารถทนความร้อนได้ตามที่ข้อกฎหมายระบุ มากั้นระหว่างชั้น รวมถึงใช้เป็นผนังของบันไดหนีไฟ ทำให้อาคารสามารถหลีกเลี่ยงการใช้คอนกรีตทึบส่วนของบันไดหนีไฟได้

หนึ่งในความยากของการก่อสร้างอาคารในญี่ปุ่นคือ การที่ต้องออกแบบโครงสร้างให้สามารถรองรับแรงจากแผ่นดินไหวบวกกับลักษณะพิเศษในโครงสร้างอาคารนี้ จึงต้องอาศัยความสามารถของวิศวกรในการคำนวน ซึ่งนับว่า Sendai Mediatheque ได้ผ่านการพิสูจน์ตัวเองแล้ว ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงของโทโฮกุ เมื่อเดือนมีนาคม 2011 เพราะตัวโครงสร้างอาคารไม่มีการเสียหายเลยแม้แต่เล็กน้อย เป็นผลมาจากทางทีมวิศวกรได้ออกแบบ Tube เหล็กสาน 4 ต้นหลัก ที่มีขนาดใหญ่กว่าอีก 9 ต้น บริเวณมุมทั้ง 4 ของอาคาร เพื่อรับแรงจากทั้งแนวราบและแนวดิ่ง ส่วนต้นที่เหลือ ทำหน้าที่เพียงแค่รับแรงในแนวดิ่งเท่านั้น ภายใน Tube ทั้ง 4 ต้น บรรจุระบบสัญจรแนวตั้งของอาคาร คือ ลิฟต์ บันได และบันไดหนีไฟ ซึ่งเป็นจุดที่ครอบคลุมการสัญจรได้ทั่วทั้งอาคาร ภายใน Tube อื่นๆ บรรจุท่องานระบบต่าง ๆ เช่น ท่อไฟ ท่อน้ำ ท่อแอร์

แม้ว่า Tube เหล็กดูมีลักษณะยาวต่อเนื่องกัน แต่แท้จริงหากดูในรูปตัดจะพบว่า มีเหล็กวงแหวนคั่นในแต่ละชั้น ใช้เป็นจุดเชื่อมเสาเหล็กที่จะมีองศาความเอียงไม่เท่ากัน และเสาของชั้นที่สูงขึ้นทำหน้ารับแรงน้อยกว่าชั้นล่าง จึงสามารถใช้หน้าตัดเหล็กที่เล็กลงได้ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้อาคารดูเบาบางมากยิ่งขึ้น ส่วนโครงสร้างของพื้น ใช้เป็นพื้น Post-tension โดยมีการผูกเหล็กแบบรังผึ้ง (Honeycomb) แล้วเทด้วยคอนกรีตมวลเบา เพื่อใช้เป็นโครงสร้างพื้นที่มีระยะเสาช่วงกว้าง แต่ความหนาพื้นมีขนาดบาง

ในส่วนงานเปลือกอาคาร (Façade) ทั้ง 5 ด้านของอาคาร ถูกออกแบบให้สัมพันธ์กับทิศทางของแดด เพื่อควบคุมความร้อนและแสงที่เข้าสู่ภายในอาคาร ฝั่งทิศใต้ ซึ่งเป็นทิศทางเข้าหลัก หันหน้าเข้าถนนโจเซนจิ ด้วยความที่ต้องการความโปร่งใสในการเชื่อมโยงกับบริบทตามแนวความคิดแรก Ito จึงเลือกใช้วัสดุกระจก แต่ทางทิศใต้เป็นทิศที่โดแสงอาทิตย์ส่องแทบทั้งวัน

เขาจึงใช้ Double Skin Facade ในการป้องกันความร้อน และบนกระจกมีการออกแบบลวดลายเป็นเสมือนระแนงกันไม่ให้แสงเข้าสู่อาคารมากเกินไป ฝั่งทิศตะวันออกและทิศเหนือใช้ผนังกระจก (Curtain Wall) และอลูมิเนียมคอมโพสิท ฝั่งทิศตะวันตก ใช้ แผ่นเหล็กเจาะรู (Perforated Steel) ฝั่งที่ 5 คือด้านหลังคา นอกจากใช้หลังคาคอนกรีต แล้วยังมีการทำ Double Roof เป็น ระแนงเหล็ก คลุมอีกชั้น และบริเวณ Tube มีการเปิด
ให้แสงธรรมชาติเข้าสู่ภายในอาคาร

Dynamic and Diversity

โดยปกติแล้ว Toyo Ito & Associate จะดูแลทั้งงานสถาปัตย์ งานตกแต่งภายใน รวมไปถึงการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ เพื่อให้ภาพรวมทุกองค์ประกอบในงานไปในแนวทางเดียวกัน แต่สำหรับ Sendai Medaitheque นี้ Toyo Ito คิดว่าเพียงแค่ตัวอาคารและโครงสร้างมีพลังเพียงพอในการแสดงแนวความคิดของเขา เขาออกแบบอาคารทรงลูกบาศก์ที่ดูนิ่งเรียบที่สุด โดยตั้งใจให้องค์ประกอบภายในเป็นตัวทำให้อาคารมีความ Dynamic ซึ่งการตกแต่งภายในและเฟอร์นิเจอร์เป็นตัวสำคัญในการกำหนดกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นภายในแต่ละพื้นที่ เขาจึงเปิดโอกาสให้ดีไซน์เนอร์จากทีมอื่น ๆ หลากหลายทีมมาออกแบบ เช่น Kazuyo Sejima สถาปนิกชาวญี่ปุ่นผู้ก่อตั้ง Sanaa ออกแบบ Flower chair, Kerim Rashid สถาปนิกชาวแคนนาดา ออกแบบเคาเตอร์สีแดงบริเวณโถงต้นรับ ทำให้บรรยากาศของพื้นที่รวมถึงโทนสี แตกต่างกันออกไป ตามแนวคิดของ Ito ที่ต้องการให้มีความหลากหลายของพื้นที่ภายใน

จาก Conceptual Idea ในปี1995 พัฒนาแบบมาสู่การเปิดใช้อาคารแล้วเสร็จในปี 2001 นับว่า Toyo Ito สามารถคงแนวความคิดแรกเริ่มที่จะเชื่อมโยงบริบทจากภายนอกสู่ภายใน และคงรูปแบบความโปร่งของอาคารไว้ได้เหมือนที่นำเสนอในการประกวดแบบ ซึ่งเป็นผลจากการคิดครอบคลุมในทุก ๆ มิติ เพื่อนำสู่แนวความคิดตั้งต้นของเขาคือการทำสลายรอยต่อของการเข้าถึงห้องสมุดของประชาชน ทั้งในแง่ของการเข้าถึงสื่อความรู้และในแง่ของการเข้าถึงตัวสถาปัตยกรรม จนทำให้อาคารแห่งนี้เป็นที่รู้จักทั่วโลก ซึ่ง Toyo Ito เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Designboom ในปี 2012 ว่า Sendai Mediatheque เป็นอาคารที่เขาพอใจต่อผลลัพธ์ที่ออกมามากที่สุด

Toyo Ito

Toyo Ito เกิดในปี ค.ศ. 1941 เป็นลูกของนักธุรกิจ ในวัยเด็กเข้าแตกต่างจากสถาปนิกคนอื่น ๆ คือเขาไม่ได้มีความผูกพันหรือสนใจงานด้านสถาปนิกเลย สิ่งที่เขาสนใจเป็นพิเศษดูจะเป็นการเล่นเบสบอล จนถึงในระดับอนุปริญญา Toyo Ito เลือกเข้าเรียนที่คณะด้านการออกแบบที่มหาวิทยาลัยเกียวโต และได้ชนะการประกวดแบบปรับปรุงสวนสาธารณะอุเอโนะ นั้นเป็นจุดที่หักเหที่ทำให้เขามาสนใจด้านสถาปัตยกรรมอย่างจริงจัง หลังเรียนจบเขาได้ทำงานในบริษัท Kikutake ซึ่งทำงานเกี่ยวกับด้าน Sustainability และผังเมือง

ก่อนจะก่อตั้งบริษัทของตัวเองชื่อ Urban Robot (Urbot) ในปี 1971 ภายหลังเปลี่ยนชื่อมาเป็น Toyo Ito & Associate เขาทำงานบนแนวเชื่อที่ว่า สถาปัตยกรรมเป็นส่วนต่อขยายของธรรมชาติ ผลงานของเขาส่วนใหญ่จึงออกมาบนพื้นฐานแนวคิดการเชื่อมโยงกับบริบทและธรรมชาติ เช่นเดียวกับใน Sendai Mediatheque

สถาปนิกผู้ออกแบบ Toyo Ito
Writer