เพราะเหตุใด บ้านแต่ละหลังจึงมีหน้าตาแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง?
บริบท ลักษณะนิสัย วัฒนธรรม หรือวิถีชีวิตของผู้อาศัยล้วนมีผล และนั่นคือจุดเริ่มต้นแนวคิดหลักของ TOUCH Architect กับสตูดิโอออกแบบขนาดไม่เล็ก ไม่ใหญ่ที่เชื่อในความหมายของการอยู่อาศัยมากกว่าเพียงรูปลักษณ์และสไตล์ของสถาปัตยกรรม นำทีมโดยคุณเอฟ – เศรษฐการ ยางเดิมและ คุณจือ – ภาพิศ ลีลานิรมล
“Touch แปลตรงตัวเลยว่า สัมผัส เพราะเราอยากให้สถาปัตยกรรมที่เราออกแบบสามารถเป็นอะไรที่จับต้องได้ ทั้งในแง่ความสวยงาม งบประมาณ รวมถึงฟังก์ชัน เพราะฉะนั้นลูกค้าสิบคน บ้านสิบหลัง แม้ว่าจะมีฟังก์ชัน 2 ห้องนอนเหมือนกัน แต่ทำไมบ้านแต่ละหลังถึงหน้าตาแตกต่างกัน นี่คือสิ่งที่ TOUCH Architect พยายามเป็นมาเสมอ”
ก่อนจะเข้าสู่เส้นทางสถาปนิก
ด้วยความที่เป็นเด็กต่างจังหวัดประกอบกับการที่ยุคสมัยนั้นไม่มีสื่อออนไลน์ที่ค้นคว้าหาข้อมูลง่ายเพียงเสี้ยงวินาทีอย่างในปัจจุบัน ‘สถาปนิก’ ในยุคนั้นจึงมีน้อยคนนักที่จะรู้ว่าขอบเขตของการศึกษา หรือการประกอบอาชีพในสายนี้ แท้จริงเป็นอย่างไร คุณเอฟก็เป็นหนึ่งคนที่หลงทางอยู่ในวังวนของการสอบเอนทรานซ์ กว่าจะรู้ว่าสิ่งที่ตนเองต้องการและชอบจริงๆ คืออะไร ก็ต้องใช้เวลาเป็นตัวช่วยอยู่ไม่น้อย
สิ่งหนึ่งที่คอยย้ำให้มั่นใจนั่นคือ อาคารหลากหลายดีไซน์ที่มองเห็นและสะดุดตา นำมาสู่การได้รู้ว่า สถาปนิกคือผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบอาคารเหล่านั้น ความคิดดังกล่าวจึงไม่รอช้าที่จะพาให้คุณเอฟเดินทางมาอยู่ในสายอาชีพนี้อย่างเต็มตัว
แต่สำหรับคุณจือเอง การได้เรียนต่อในคณะสายวิชาชีพ เป็นจุดมุ่งหมายมาตั้งแต่ต้น ผสมกับการที่ตนเองชอบสเก็ตช์ภาพ แต่ไม่ได้มีพื้นฐานการวาดที่โดดเด่น ‘สถาปนิก’ อาชีพที่อยู่กึ่งกลางระหว่างวิทย์และศิลป์จึงเป็นคำตอบสุดท้ายที่ตนเองไม่เคยเสียใจที่ตัดสินใจเลือกในวันนั้น
หากคิดว่าการเปิดออฟฟิศออกแบบเป็นของตนเองนั้น ต้องเรียนเก่งและเพอร์เฟกต์มาตั้งแต่ต้น ความคิดนั้นก็คงจะดูใจร้ายและสุดโต่งไปเสียหน่อย เพราะวิชาชีพนี้ต้องสั่งสมจากประสบการณ์ มิใช่เพียงตำราที่ท่องจำแล้วเพียงพอ คุณเอฟเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล เพราะหากย้อนกลับไปในสมัยเรียน คุณเอฟเล่าว่าตนเองไม่ใช่เด็กเรียนเก่ง แต่สั่งสมประสบการณ์ผ่านการเก็บรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เพื่อใช้สำหรับประกอบอาชีพในอนาคต
“บางอย่างเราก็ไม่รู้ จนเราจบมาทำงานผ่านประสบการณ์มากมายหลายปี อย่างตอนนั้นอาจารย์บอกว่า Construction มันเหมือนยาขม ดีแต่ต้องฝืนกิน เพราะถ้าคุณไม่รู้เรื่องงานโครงสร้าง คุณจะเป็นคนกระจอกในสายตาช่าง เราจำคำพูดนั้นได้ดี มันเลยทำให้เราพยายามฝึกฝนตัวเองมาตลอด”
เรื่องราว ‘กล้าได้ กล้าเสีย’ หลังเรียนจบ กับอาชีพที่ไม่มีทางลัด
หลังจากที่ทั้งคู่เรียนจบ จึงมุ่งสู่การเริ่มต้นวัยทำงานเหมือนบุคคลทั่วไป มองหางาน ยื่น Portfolio จนได้มีโอกาสได้เข้าทำงานที่ออฟฟิศสถาปนิกอยู่ประมาณหนึ่งปี ประกอบกับรับหน้าที่ออกแบบเป็นฟรีแลนซ์ควบคู่กันไป
คุณจือเล่าว่า “พองานฟรีแลนซ์เริ่มเยอะ เราก็เริ่มคิดว่าเราควรออกมาทำเต็มตัวดีกว่าไหม จะได้ไม่เอาเปรียบบริษัทและจะได้ทำงานของเราได้เต็มที่ ด้วยความที่เด็ก เรากล้าได้กล้าเสีย อยากทำอะไร เราก็ลองเลย ตอนนั้นเราไม่คิดหรอกว่า อาชีพนี้จะเลี้ยงตัวเองได้แค่ไหน จะมีเงินเข้ามาเยอะไหม เราคิดแค่ว่า มีงานอะไรเข้ามา เรารับหมด เราทำทุกอย่าง”
(TREE Sukkasem VILLA 2012)
“ผมจำได้ว่ามีงานอะไร เราทำหมดในตอนนั้น ไม่เคยเกี่ยง แล้วก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมมันลำบากขนาดนี้ ในช่วงที่เราออกมาทำช่วงแรกๆ เราใช้เวลากับวิชาชีพนี้เกือบตลอดเวลาเลย แต่ทำไมสิ่งที่เราทำมันได้ผลตอบแทนกลับมาน้อยมาก ค่าแบบที่ได้กลับมาสมัยก่อนมันน้อยมาก แล้วผลงานของเราเองก็ยังไม่ค่อยได้รับการยอมรับเท่าไหร่” คุณเอฟเสริม
ทั้งคู่เล่าถึงช่วงเวลาแสนลำบาก หากพูดง่ายๆ ก็เรียกได้ว่าเป็นขาลงของชีวิตที่ไม่ว่าใครก็คงต้องมีช่วงเวลานี้เป็นของตัวเองกันทั้งนั้น ช่วงเวลาของการท้อถอย เหนื่อยล้า ทำให้ทั้งคุณเอฟและคุณจือต้องถอยกลับมาคิดใหม่ว่า เส้นทางการเป็นสถาปนิกนั้นใช่สำหรับตัวเองหรือยัง? ก่อนจะได้คำตอบว่า ไหนๆ ก็กล้าได้กล้าเสียกันมาขนาดนี้แล้ว หากจะลุยกันอีกสักตั้งจะเป็นไร
(I I I FAÇADE 2016)
“เคยมีรุ่นพี่พูดกับผมว่า วิชาชีพนี้ไม่มีทางลัด ซึ่งผมก็เห็นด้วย เราก็เลยคิดจะลองให้มันรู้ไปเลย เอาให้สุดทางว่าอาชีพนี้โอเคจริงหรือเปล่า เลี้ยงตัวได้จริงไหม แต่ต้องตัดความชอบออกไป เพราะเราเองชอบอาชีพนี้อยู่แล้ว” หลังจากได้ข้อสรุปว่าจะสู้กันอีกครั้ง ทั้งคู่ตั้งเพดานส่วนตัวเอาไว้ หากถึงเพดานนั้นแล้วยังรู้สึกไม่มีความสุขกับวิชาชีพนี้ ก็ถึงเวลาที่ต้องพอ แต่เมื่อสั่งสมประสบการณ์ผ่านงานออกแบบไปเรื่อยๆ ราวกับการหว่านเมล็ดพันธุ์เพื่อรอวันเติบโต ผลงานที่สร้างเสร็จจึงเริ่มมีออกมาให้เห็น เริ่มมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับ เกิดเป็นกำลังใจ ที่มาและจุดเริ่มต้นของ TOUCH Architect ในปัจจุบัน
ความตั้งใจของ TOUCH Architect
ถ้าพูดถึงสถาปัตยกรรมที่ TOUCH Architect ออกแบบ อะไรคือสิ่งที่นึกถึงเป็นอย่างแรก? เราโยนคำถาม
“Touch Architect ไม่มีสไตล์ครับ เราออกแบบทุกอย่างจากบริบทที่มี เราหาคำตอบของตัวอาคารนั้น จากคำถามที่ลูกค้าให้มา ถ้าพูดแบบวิชาการหน่อย ก็คือเราคิดแบบ Bottom Up ไม่ใช่ Top down เราไม่ได้คิดว่า หน้าต่าง ประตูควรเป็นแบบนี้ แล้วมายัดฟังก์ชันใส่ทีหลัง อันนี้คือวิธีคิดของเรา”
ผู้คนยังมีหลากพ่อ พันแม่ แล้วสถาปัตยกรรมที่เกิดจากผู้คนเหล่านั้นจะมีหน้าตาเหมือนกันได้อย่างไร
นี่คือคำถามที่ TOUCH Architect ตั้งไว้ในใจเสมอ ขึ้นชื่อว่าเป็นสถาปนิกที่ออกแบบวิถีชีวิตของผู้อยู่อาศัย ความหมายที่คุณเอฟและคุณจือเล่าให้เราฟังคงบอกเป็นนัยๆ ว่า ความสวยงามและสไตล์ของสถาปัตยกรรมนั้นเป็นเรื่องรอง แต่สิ่งที่ต้องมาก่อนคือฟังก์ชันและการใช้งานที่ตอบโจทย์
เรื่องราวการออกแบบของ TOUCH Architect เริ่มต้นขึ้นอย่างเรียบง่ายจากการสำรวจไซต์งาน พูดคุยกับลูกค้าเพื่อมองหาไลฟ์สไตล์หรือวิถีชีวิตเพื่อที่จะได้ทำการออกแบบสถาปัตยกรรมให้สอดคล้องกับสิ่งที่ผู้อยู่อาศัยต้องการ “แต่สำหรับบางงาน อย่าง option coffee bar การออกแบบมันจะต่างออกไปเล็กน้อย อย่างบ้านเราจะโฟกัสที่คนอยู่อาศัย กับฟังก์ชันเป็นหลัก แต่ถ้าเป็นโปรเจ็กต์ที่เป็นอาคารสาธารณะ เราก็ต้องมองว่า ร้านกาแฟนั้นจะต้องขายได้ อาคารต้องโด่ดเด่น สวยงาม ดึงดูดและคำนึงถึงคนส่วนใหญ่ ซึ่งสุดท้ายก็ย้อนกลับไปที่แนวคิดว่า จุดประสงค์ของสถาปัตยกรรมนี้ ออกแบบมาเพื่ออะไร และเพื่อใคร นั่นคือแนวคิดสำคัญของเรามากกว่า”
เป้าหมายและความสุขของ TOUCH Architect
“คำตอบของคำถามนี้ เปลี่ยนไปตามช่วงอายุของเรา ถ้าถามคำถามนี้ย้อนกลับไปเมื่อสิบปีก่อน เราจะตอบชัดเจนว่า อยากมีชื่อเสียง เพื่อเอาชื่อเสียงไปหาเงิน แต่พอระยะเวลามันผ่านไปเรื่อยๆ มันไม่ใช่ชื่อเสียงแล้ว แต่เราอยากทำงานที่ตัวเองชอบ อยากสร้างสถาปัตยกรรมที่ตัวเองพอใจที่จะทำ แต่ ณ ปัจจุบัน คำตอบของเราทั้งสองคน คือการบาลานซ์ความสุขในการทำงาน สิ่งที่เราตั้งเป้าของ Touch Architect ก็คือความสุขของทุกคน ตัวเราเอง ลูกค้า หรือแม้กระทั่งทีมของเรา”
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ Touch Architect พิสูจน์ตนเองบนเส้นทางสถาปนิกผ่านการออกแบบสถาปัตยกรรมมากมายนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ร้านอาหาร หรือร้านกาแฟ ซึ่งถึงแม้แต่ละผลงานจะมีรูปร่างหน้าตาที่แตกต่างกันไปอย่างสิ้นเชิง แต่สิ่งที่มีร่วมกัน นั่นคือความตั้งใจส่งต่อเรื่องราวและการใช้งานภายในที่ตอบโจทย์กลุ่มคน ผู้อยู่อาศัย เพื่อให้สถาปัตยกรรมเป็นมากกว่ากล่องสี่เหลี่ยมที่บรรจุฟังก์ชันไว้ภายใน
คุณจือ – ภาพิศ ลีลานิรมล
ปริญญาตรี INDA: International Program in Design and Architecture จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คุณเอฟ – เศรษฐการ ยางเดิม
ปริญญาตรี สาขาวิชาสถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!