Manhattan เป็นบริเวณที่มีความเจริญมากที่สุดใน New York ซึ่งมีลักษณะทางกายภาพเป็น ‘เกาะ’ ทำให้เมืองไม่สามารถขยายตัวออกไปทางราบได้ ซึ่งเป็นข้อดีอย่างหนึ่งที่ทำให้สามารถออกแบบระบบขนส่งสาธารณะครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่ทั้งส่วน Uptown Downtown Midtown และ West Side ประกอบกับเป็นเมืองที่มีทางเท้าที่ดี สามารถเดินเชื่อมต่อไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกสบาย นั่นทำให้การใช้ระบบขนส่งสาธารณะอย่าง รถไฟฟ้า มีการใช้อย่างคับคั่ง
Downtown Manhattan เป็นส่วนที่มีบริษัทยักษ์ใหญ่ ทั้งในและต่างชาติ อยู่รวมตัวกันอย่างหนาแน่น นับเป็นย่านธุรกิจที่สำคัญของโลก บริเวณ World Trade Center Complex เป็นพื้นที่กลุ่มอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ประกอบด้วยอาคารถึง 7 อาคารและเป็นจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าที่สำคัญของแมนฮัตตันตอนล่าง เป็น Hub ที่เชื่อมการเดินทางระหว่าง New York และ New Jersey รองรับผู้โดยสารเฉลี่ยมากถึงวันละ 250,000 คน
เช้าวันที่ 11 กันยายน 2011 เครื่องบินพาณิชย์ 2 ลำ ที่ถูกปล้นโดยผู้ก่อการร้ายกลุ่ม อัล-ไคดา (Al-Qaeda) ขับพุ่งชนตึก WTC 1และ WTC 2 ซึ่งเป็นตึกแฝดที่สูงที่สุดของโลกในขณะนั้น อันเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของมหานครนิวยอร์ก เกิดความเสียหายรุนแรงและพังทลายลง อาคารที่เหลือรอบ ๆ บริเวณถูกซากอาคารถล่มทับเสียหายไปพร้อมกัน ในส่วน World Trade Center Station ได้รับความเสียหายเช่นกัน อันเป็นที่มาของการปรับปรุงพื้นที่ World Trade Center Complex และการออกแบบ The New World Trade Center Transportation Hub เพื่อรองรับการคมนาคมขนส่งรวมถึงการรำลึกถึงเหตุการณ์วินาศกรรมครั้งนี้
จุดเปลี่ยนถ่ายการคมนาคมที่ให้คนและบริบทรอบข้างมาเติมเต็ม
Santiago Calatrava สถาปนิกชาวสเปน เป็นผู้ได้รับหน้าที่การออกแบบ The New World Trade Center Transportation Hub แห่งนี้ ซึ่งเขากล่าวว่า เขาเริ่มต้นการออกแบบจาก ความเป็นนิวยอร์ก ทั้งวัฒนธรรม วิถีชีวิตของผู้คน รวมถึงการวางผังเมืองแบบกริด ทั้งหมดล้วนส่งอิธิพลต่อแนวทางการคิด การออกแบบของเขา ซึ่ง Calatrava ตั้งใจสร้าง The New World Trade Center Transportation Hub ให้กลืนไปกับเมือง กลืนในที่นี้อาจจะไม่ได้หมายถึงรูปร่างหน้าตาที่กลมกลืน แต่เหมายถึงการใช้พื้นที่ Calatrava ต้องการเบลอเส้นขอบของตัวสถานีรถไฟ พื้นที่เชื่อมต่อ และพื้นที่ร้านค้าและเมืองเข้าด้วยกันทั้งหมด เกิดความลื่นไหล ต่อเนื่อง
เมื่อคุณเดินอยู่ในทางเดินใต้ดินแล้วไม่รู้สึกว่ามันคือทางเดินใต้ดิน แต่รู้สึกว่านี้คือมหานครนิวยอร์ก Calatrava เชื่อว่าจุดเชื่อมต่อการขนส่ง ไม่สามารถจบเบ็ดเสร็จในตัวมันเองเหมือนอย่างการออแบบ มิวเซียม จุดเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่ง ต้องพึ่งพา movement ของเมืองและบริบทรอบข้าง
อย่างแรกที่ Calatrava คิดคือการวางอาคารลงตรงกลาง Block เปิดพื้นที่พลาซ่ารอบ ๆ ให้ชาวนิยอร์กมาเติมเต็ม และบริบทรอบ ๆ ที่มี Character ชัดเจน เช่น St. Paul’s Church ที่มีหอระฆัง มีสวน จะช่วยส่งเสริมการรับบรู้ Sense of Symbolism ให้ตัว Hub เอง
จากดวงตาในยุค Byzantine สู่ดวงตาในปัจจุบัน
คำว่า Oculus ในภาษาลาตินหมายถึง ดวงตา ซึ่งในเชิงสถาปัตยกรรมหมายถึง ช่องเปิดทรงกลมบนโดมหรือผนัง เป็นรูปสถาปัตยกรรมดั้งเดิมในยุค Byzantine ถูกนำมาตั้งเป็นชื่อของสถานีแห่งนี้ เพราะด้านบนสุดของโครงเหล็กซี่สีขาวถูกออกแบบให้มี Skylight วงรี เมื่อถึงที่ 11 เดือนกันยายน ของทุกปี ดวงอาทิตย์จะส่องตรงลงมาในบริเวณโถงตรงกลาง ในเวลา 10.28 ซึ่งเป็นเวลาที่อาคาร WTC 2 ถล่ม เพื่อเป็นการรำลึกถึงผู้สูญเสียในเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นแนวความคิดที่ Calatrava หยิบยืมมาจาก มหาวิหาร Pantheon ในกรุงโรม และนี่เป็นสาเหตุที่ตัว Oculus วางตัวบิดจากแกนอาคารอื่น ๆ และบิดไปจากกริดของเมืองนิวยอร์ก แต่ก็มีการเว้นที่ว่างรอบอาคารสัมพันธ์กับขนาดของตัวอาคาร ทำให้การบิดแกนของอาคารไม่ส่งผลให้เกิดความอึดอัด
หากเข้าไปภายในจะพบว่าสเปซ มีขนาดใหญ่กว่าที่เรารับรู้จากภายนอก ซึ่ง Calatrava ใช้วิธีการ Exaggerate Space ให้ดูใหญ่ขึ้น ด้วยการออกแบบให้ตัวซี่โครงสร้างมีความเอียงลู่เข้าหากัน ประกอบกับการใช้พื้นที่ในชั้นใต้ดินที่ลงต่ำลงไปกว่าระดับพื้นดิน 2 ชั้น เป็นวิธีการสร้างประสบการณ์ให้ผู้ใช้อาคารเกิดความประทับใจ หรือที่เรียกว่าการสร้าง Shocking Space
พื้นที่ภายในใช้เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการคมนาคมขนส่ง ซึ่งมีทางเดินใต้ดินเชื่อมต่อรถไฟกว่า 10 สาย เชื่อมต่อไปยัง ท่าเรือเฟอรี่ที่ Battery Park และส่วนต่าง ๆ ทั้ง The September 11th Memorial & Museum อาคาร WTC 1 , 3 , 4 และ 7 และมีร้านค้า ร้านอาหารมากมายที่ทั้งชาวนิวยอร์กและนักท่องเที่ยวสามารถแวะเวียนมาใช้งานได้นอกเหนือจากการมาเพี่อเปลี่ยนสายรถไฟ
โครงสร้างซี่เหล็กสีขาวสลับกับช่องกระจก และช่อง Skylight ทำให้เมื่ออยู่ภายในจะมองออกมาเห็นท้องฟ้าและ Freedom Tower (One World Trade Center) ภายนอก รับรู้ถึงความเป็นอิสระ บวกกับรูปทรงอาคารที่ถูกออกแบบรูปทรงให้มีลักษณะ เหมือนนกพิราบที่ถูกปลดปล่อยออกจากมือ สื่อความหมายเชิงนัยยะถึงอิสระภาพเช่นกัน ซึ่งโครงสร้างเหล็กซี่เราเห็นทั้งหมดนี้ ทำหน้าที่รับน้ำหนักอาคาร กล่าวคือไม่มีการใช้เสาในอาคารเลย แม้ว่าตัวเหล็กจะมีซี่ขนาดใหญ่ แต่การใช้สีขาวและการเว้นช่องกระจกให้แสงธรรมชาติส่องเข้ามาช่วยให้อาคารดูเบา
ในยามค่ำคืนแสงไฟจากภายใน เปล่งประกายออกสู่ภายนอก คล้ายกับว่าเป็นตะเกียง ให้แสงสว่างแก่พื้นที่รอบ ๆ เป็นความตั้งใจของ Calatrava ด้วยรูปทรงอาคารและการใช้โครงสร้างพิเศษในลักษณะนี้ นับเป็นความยากในงานวิศวกรรมอย่างมาก Shanska บริษัทวิศวกรรมขนาดใหญ่สุดของโลก มีความชำนาญการก่อสร้างด้วยโครงสร้างพิเศษ เป็นผู้ดูแลงานวิศวกรรมโครงสร้างและการก่อสร้างทั้งหมดของตัวอาคาร
เสียงวิพากษ์วิจารณ์
แม้ว่า Calatrava จะคิดถึงรายละเอียดในงานอย่างมากมาย ทั้งในแง่ของความสัมพันธ์กับพื้นที่เมือง โครงสร้างอาคาร ดีเทลงานสถาปัตยกรรมต่าง ๆ และในแง่ของความหมายเชิงนัยยะที่มีความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ซึ่งทำให้อาคารประสบความสำเร็จในแง่ของการใช้งานและสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกได้มากมาย แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย ทั้งในเรื่องของการสร้างล่าช้าในการก่อสร้าง และการบานปลายของงบก่อสร้าง อันเป็นเหตุมาจากความยากในหลาย ๆ มิติของอาคารหลังนี้
ความยากที่ 1 คือ โครงสร้างพิเศษขนาดใหญ่ ที่แทบทุกชิ้นส่วนมีความแตกต่างกันทั้งในเรื่องของ ขนาด รูปทรงและน้ำหนัก รวมทั้งหมด มี 588 ชิ้นส่วน ซึ่งต้องทำการผลิตโดยบริษัท Cimolai ในอิตาลี เพราะแทบจะไม่มีบริษัทไหนในโลกสามารถผลิตได้
ความยากที่ 2 คือ การขนส่งชิ้นส่วนจากบริษัทผู้ผลิตในอิตาลี การผลิตชิ้นส่วนที่ต่างประเทศและขนส่งผ่านทางเรือคงไม่ใช่เรื่องยากอะไรมาก ถ้าไม่ใช้โครงสร้างที่มีขนาดใหญ่ยักษ์ ที่มีความยาวมากกว่า 30 เมตร นั่นทำให้ชิ้นส่วนทั้งหมดเกือบ 600 ชิ้น ถูกส่งขึ้นเรือมาเพียงคืนละ 1-2 ชิ้น จากอิตาลีสู่โกดังย่าน Brooklyn
ความยากที่ 3 คือการขนส่งชิ้นส่วนจากโกดังไปหน้างาน แม้ว่ามีระยะทางเพียงแค่ 11 กิโลเมตร แต่ด้วยความที่ชิ้นส่วนถูกทำสำเร็จมา ทำให้มีขนาดใหญ่มาก การขนส่งเข้าไปยังเขตเมืองในนิยอร์กจึงเป็นเรื่องที่ลำบากมาก ถึงขนาดต้องรื้อถอนเสาไฟและตู้โทรศัพท์ในเส้นทางที่ใช้ขนส่งออกไปชั่วคราว
จากทั้งหมดนี้ ทำให้การก่อสร้างล่าช้าไปกว่าที่คาดการไว้มาก และค่าก่อสร้าง ค่าขนส่ง ค่าดำเนินการต่าง ๆ รวมถึงในตอนหลังต้องมีการเร่งการก่อสร้าง ทำให้ค่าก่อสร้างอาคารแห่งนี้พุ่งสูงจากที่คาดไว้ จากเดิมทาง Federal Transit Admistration (FTA) กองบริการรถสาธารณะแห่งชาติ ภายใต้กระทรวงคมนาคมของสหรัฐอเมริกา ให้งบไว้ 2 พันล้านดอลล่า แต่จนแล้วเสร็จกลับใช้งบไปมากถึง 4 พันล้านดอลล่า นับเป็นสถานีรถไฟที่แพงที่สุดในโลก และการก่อสร้างล่าช้าจากกำหนดไปถึง 10 ปี ซึ่ง Calatrava เองก็เคยให้สัมภาษณ์ว่างานนี้เป็นงานที่ทั้งยาก และท้าทายที่สุดในชีวิตของเขา แต่สุดท้ายมันก็สำเร็จลุล่วงไปได้
Santiago Calatrava
Santiago Calatrava Valls จบการศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จาก Polytechnic University of Valencia ในปี 1974 และได้เข้ารับการศึกษาต่อในคณะวิศวกรรมโครงสร้าง ที่ Swiss Federal Institue of Techonology (ETH) จนจบปริญญาเอกในปี 1979 หลังจากนั้นเพียง 2 ปี Calatrava ได้ก่อตั้งบริษัทสถาปนิกและวิศวกรรมของตัวเองใน Zurich ภายหลังขยายสาขาไปที่ Paris, Valencia และ New York
ในงาน Expo ’92 ที่จัดขึ้นในเมือง Sevilla ที่สเปน Calatrava มีโอกาสได้ออกแบบสะพานสำหรับการข้ามไปแม่น้ำไปยังพื้นที่จัดงาน ชื่อว่า Calatrava Alamillo Bridge ด้วยการใช้ Cable ขึงกับเสา Pylon ที่วางแบบ asymmetrical balance รับสะพานที่มีช่วงยาวกว่า 142 เมตร นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักของต่างชาติ ภายหลังเขาก็ได้มีผลงานการออกแบบสะพานอีกหลายแห่ง รวมทั้งมีผลงานการออกแบบสถานีรถไฟ สนามบิน และจุดเชื่อมต่อการคมนามคมอีกหลายที่ เช่น Stadelhofen Station ใน Swiss และ Mediopadana Station ใน Italy
ผลงานของ Calatrava ส่วนใหญ๋ ล้วนได้รับแรงบรรดาลใจมาจาก สัตว์ (Zoomorphic Forms) ทั้งในเรื่องของรูปทรง การใช้เส้นโค้ง และจังหวะ ประกอบกับความรู้ ความสามารถในด้านวิศวกรรมของเขาแล้ว ส่งผลให้งานของสถาปนิกชาวสเปนคนนี้ มีเอกลักษณ์โดดเด่น ทั้งในแง่ของฟอร์ม สเปซ และโครงสร้าง เป็นที่จดจำและเป็นที่รู้จักของคนทั้งโลก อีกทั้งในชีวิตการทำงาน Calatrava มักได้ออกแบบสถาปัตยรรมที่เป็นสาธารณะ มีความสัมพันธ์กับพื้นที่เมืองและผู้คน เช่น มิวเซียม สถานีรถไฟ สนามบิน นั่นทำให้เขามีมิติความคิดในเชิง Urban มีความเข้าใจวิถีชีวิต การใช้งาน รวมไปถึงการรับรู้ถึงที่ว่างและตัวสถาปัตยกรรม ดังที่แสดงออกมาให้เห็นในงานอย่าง Oculus นี้
อ้างอิงข้อมูลและรูปภาพ
https://911groundzero.com/blog/world-trade-center-oculus/
https://www.archdaily.com/783965/world-trade-center-transportation-hub-santiago-calatrava
https://issuu.com/janbaxewanos/docs/case_study_the_wtc_transportation_h
https://www.britannica.com/biography/Santiago-Calatrava
https://www.buildernews.in.th/wp-content/uploads/2016/09/santiago-calatrava-oculus-world-trade-center-transportation-hub-hufton-crow_dezeen_ss_8-1024×731.jpg
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!