Architecture of Humanism I Respect for human dignity
มานุษยสถาน I สถาปัตยกรรมสักการะศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ในอดีตจวบปัจจุบันมนุษย์มีสิ่งที่ใช้ยึดเหนี่ยวจิตใจและผูกมิตรไมตรีกับผู้อื่นผ่านความเชื่อๆหนึ่ง ขนาดของความเชื่อมีแบบแผนมากขึ้น ความศรัทธาผูกโยงกาลเวลาจนกลายมาเป็นศาสนา สถาปัตยกรรมมีบทบาทในการใช้เป็นพื้นที่เพื่อรองรับพิธีกรรม หรือ กิจกรรมที่เกิดขึ้นของผู้คน แสดงออกถึงการเคารพในความเชื่อและสักการะศาสดาหรือคำสอนของศาสนานั้นๆที่ซึ่งมนุษย์รับรู้โดยทั่วกันในชื่อว่า ศาสนสถาน และจะเป็นอย่างไรหากสถาปัตยกรรมนั้นจะแสดงออกถึงการเคารพในความเป็นมนุษย์ ที่มีรากฐานปรัชญาความคิดแบบ มนุษยนิยม – มานุษยสถาน I สถาปัตยกรรมสักการะ (เคารพ) ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
พระเจ้าเป็นผู้สร้างทุกอย่าง (อย่างนั้นหรือ ?) คำกล่าวข้างต้นอาจทำให้ผู้อ่านบางท่านไม่พึงพอใจ แต่เรากำลังจะพาย้อนกลับไปยังยุคหนึ่ง สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาหรือที่เรียกอย่างติดปากกันว่ายุคเรเนสซองส์ ( Renaissance ) อย่างที่ทราบกันดีว่าในยุคนี้เกิดพลวัตต่างๆมากมายที่ส่งผลมาถึงปัจจุบัน ไม่เพียงแต่ความรุ่งเรืองทางด้านศิลปะ ปรัชญา การค้นพบในด้านวิทยาศาสตร์เองก็ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมที่ส่งผลต่อความเชื่อทางศาสนาเช่นเดียวกัน มนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งค้นพบว่าโลกไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล นั่นเป็นจุดที่เสทือนต่อความเชื่อของศาสนจักรอย่างรุนแรง มนุษย์เริ่มรับรู้โดยทั่วกันว่าตนเองก็สามารถสร้างความจริงได้ จากการพิสูจน์และเรียนรู้ ผู้คนเริ่มมองเห็นคุณค่าในตัวมนุษย์ ภาพวาดหรือประติมากรรมมากมายในยุคเรเนสซองส์จึงมักมีการเน้นกายวิภาคของบุคคลหรือเทพเจ้า ให้มีสัดส่วนใกล้เคียงกับมนุษย์
องค์ความรู้ต่างๆส่งผลให้เรเนสซองส์ถูกขนานนามว่าเป็นยุคเรืองปัญญา ( Age of Enlightenment ) มีผลิตผลสกุลทางความคิดแบบใหม่ที่ชื่อว่า มนุษยนิยม (Humanism) ตามมาด้วยระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่เชื่อในคุณค่าสิทธิ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แนวคิดแบบมนุษยนิยมเป็นความเคารพในตัวมนุษย์ แต่ไม่ได้มีเจตจำนงที่จะลดทอนในความศรัทธาต่อพระเจ้าหรือหลักความเชื่อทางศาสนาต่างๆ – ความเชื่อไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเสมอไปฉันใด ความไม่เชื่อก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิดฉันนั้น
ARCHITECTURAL PROGRAMMING
ณ ปัจจุบัน ช่องว่างในสังคมมีระยะห่างมากขึ้นเรื่อยๆ ความเหลื่อมล้ำผลักคนสองกลุ่มออกจากการมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน มองเห็นภาพชีวิตประจำวันตรงหน้าต่างกัน ในยามที่คนกลุ่มหนึ่งมีปัญหา แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งกลับเพิกเฉยต่อสิ่งเหล่านั้น ในทางเดียวกันคนบางกลุ่มยังคงไม่รับรู้ถึงเสียงอันมีค่าของตน อีกทั้งในปัจจุบันเสียงบางเสียงก็ยังคงดังไม่เท่ากันแน่นอนว่าสถาปัตยกรรมไม่อาจแก้ปัญหาได้ทั้งหมด อันเนื่องจากหลากหลายปัญหาเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง
จึงนำมาสู่การทดลอง ออกแบบตัวกลาง (โปรแกรม) ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาในบางส่วนของสังคมที่ผุพัง การสร้างพื้นที่เพื่อให้ผู้คนรับรู้ถึงสิทธิที่ตนพึงมี เพื่อที่จะสร้างความเชื่อมั่นในแสดงออกทางความคิด เพราะการพูดในสิ่งที่ตนคิดคือจุดเริ่มต้นของเสรีภาพทางการพูด (Freedom of speech) รวมไปถึงผู้คนในสังคมจักต้องเรียนรู้ว่าความแตกต่างทางความคิดหรือความเชื่อเป็นเรื่องปกติ
มานุษยสถาน เป็นสถาปัตยกรรมที่แสดงออกถึงการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ใช้วิธีการตามแนวคิดแบบมนุษยนิยมเป็นส่วนหลักในกระบวนการออกแบบ แนวคิดที่เชื่อในคุณค่าของมนุษย์ เคารพในความคิดซึ่งเป็นส่วนสำคัญของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ พื้นที่เพื่อให้ผู้คนที่ต่างสถานภาพในสังคมมาพบกันโดยใช้ทฤษฎีลำดับความต้องการของมาสโลว์(Maslow’s Hierarchy of Needs ) เป็นจุดผสาน พื้นที่เพื่อแสดงออกทางความคิดโดยเสรีและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมไปถึงการสร้างความรู้สึกร่วม ในการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ที่เหล่าผู้คนได้รับความเสมอภาคโดยเท่าเทียม ควรค่าแก่การเคารพและรับฟังซึ่งกันและกัน จากพื้นที่สาธารณะที่อยู่ท่ามกลางความหลากหลายทางบริบทนี้
DESIGN THINKING
มนุษย์ + สถาปัตยกรรม I กระบวนการคิดในการออกแบบที่ก่อรูปอาคาร โดยพิจารณาจากกิจกรรมการใช้งานขอผู้คนเป็นหลัก เป็นคำตอบจากคำถามที่ว่า สถาปัตยกรรมที่เกิดจากผู้คนเป็นอย่างไได้บ้าง ?
การสะท้อนความหลากหลายโดยใช้ความหลากหลายทางบริบท เป็นสะพานเชื่อมต่อผู้คนเข้าด้วยกัน บริบทที่ตั้งเป็นจุดตัดของระบบขนส่งสาธารณะ ( สถานี BTS สะพานตากสิน ท่าเรือสาธร รวมไปถึงถนนเจริญกรุง ) ซึ่งหากจะมองให้เห็นภาพมากขึ้น ในบริเวณใกล้เคียงมีโรงแรมระดับห้าดาวที่รายล้อมไปด้วยย่านชุมชน จึงทำให้ที่ตั้งโครงการมีศักยภาพในการเชื่อมโยงผู้คนที่หลากหลายสถานภาพทางสังคม ให้มีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น
ELEMENTS OF ARCHITECTURE
ทางผ่าน สู่ พื้นที่ปฏิสัมพันธ์ I แนวเส้นความหลากหลาย ( Diversity Line ) เป็นการใช้ประโยชน์จาก ทางผ่าน เพื่อส่งเสริมการพบปะของผู้คนโดยบังเอิญ และมีการสร้างพื้นที่ปิดล้อมจากองค์ประกอบทางสถาปัตกรรมที่สัมพันธ์กับการใช้งานของพื้นที่ ให้ผู้คนยังรับรู้ถึงความเป็นสาธารณะของพื้นที่อยู่ (Publicness) ไล่ลำดับจากความเป็นสาธารณะสู่ความเป็นส่วนตัวโดยมีจุดเริ่มจากแนวเส้น Diversity line
ศาสนสถาน สู่ มานุษยสถาน I การศึกษาทิศทางรูปแบบของสถาปัตยกรรม โดยเรียนรู้จากวิธีคิดของศาสนสถาน ซึ่งพบว่า วัด มัสยิด โบสถ์และเทวสถาน มักมีเอกลักษณ์ที่มาจากความเชื่อหรือคำสอนในศาสนานั้นๆ นำมาสู่การตีความและเรียบเรียงองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่สะท้อนถึงการเคารพในมนุษย์
SYMMETRY I ASYMMETRY
FOCUS ON GOD I FOCUS ON HUMAN
LIGHT OF GOD I LIGHT OF NATURE
CENTRALIZED I DISPERSE
FUNCTIONAL
จากการตั้งคำถามง่ายๆว่า พื้นที่แบบไหนที่ผู้คนต่างสถานภาพทางสังคมจะมาพบกัน ? นำไปสู่การวิเคราะห์จากทฤษฎีลำดับความต้องการของมาสโลว์ (Maslow’s Hierarchy of Needs ) ที่ส่งผลต่อการออกแบบพื้นที่การใช้งาน เพื่อใช้ความต้องการของมนุษย์เป็นแรงดึงดูดผู้คนต่างสถานภาพทางสังคมเข้ามาใช้งานร่วมกัน
โดยมีพื้นที่หลักของโครงการที่สะท้อนถึงการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ พื้นที่เพื่อการแสดงออก ( Expression space ) เราเชื่อว่าความคิด หรือการพูดเพื่อแสดงออกของผู้คน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของสังคมที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย การใช้สถาปัตยกรรมเป็นกระบอกเสียงเพื่อเพิ่มระดับของเสียงให้ดังมากยิ่งขึ้น โดยผู้รับสารไม่จำเป็นจะต้องกดปุ่มอนุญาติเข้าเพื่อฟัง หรือถูกควบคุมโดยอัลกอริทึม ( Algorithm )ในสร้างโลกเสมือนของสิ่งที่ตนอยากฟังเพียงเท่านั้น
ตำแหน่งของ Exprssion space อยู่ในจุดทางผ่านของผู้คน เผื่อว่าคนที่เดินผ่านไปผ่านมา จะบังเอิญได้ยินในเรื่องที่เขาอาจไม่เคยรับรู้มาก่อน ซึ่งอาจนำไปสู่การมองเห็นถึงสิ่งที่ผู้คนในสังคมกำลังเผชิญหน้า
Debate room การสนทนาเบื้องหลังม่าน พื้นที่ที่ผู้สามารถแลกเปลี่ยนความคิดโดยไม่ตัดสิน การที่มองไม่เห็นรูปร่างภายนอกของคู่สนทนา นำไปสู่การลดอคติจากรูปลักษณ์ภายนอก
LIBERTY WALL การแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการ อาจเป็นได้ทั้งผนังและอนุสาวรีย์ตามชื่อเรียกของมัน “เสรีภาพ”
สถาปัตยกรรมที่ก่อรูปโดยมีผู้คนเป็นภาพจำ โอบล้อมกิจกรรมหรือพื้นที่เพื่อการแสดงออกของผู้คน ( Expression space ) จากแนวคิดการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
บทสนทนาของผู้พูด และ ผู้ฟัง
มานุษยสถาน เป็นเพียงเสี้ยวส่วนของแรงกระเพื่อมอันเล็กน้อยที่มุ่งหวังให้สังคมเกิดการเคารพซึ่งกันและกัน สร้างสภาพแวดล้อมที่ผู้คนเป็นได้ทั้งผู้พูด และ ผู้ฟัง เพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงสิทธิ เสรีภาพที่ตนพึงมี ผ่านการพบปะผู้คนที่หลากหลาย เป็นสารที่ส่งไปยังผู้ที่นิ่งนอนใจต่อปัญหา หันกลับมาตั้งคำถาม เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆที่กระตุ้นให้ผู้คนกล้าแสดงออกทางความคิด เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่จะก่อรูปร่างของคำว่าเสรีภาพให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
แด่ ผู้มีอำนาจ
เราจะฟังท่าน และได้โปรดให้ท่านรับฟังเรา
วิทยานิพนธ์โดย
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!