จะเป็นอย่างไรถ้าสถาปัตยกรรมตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง
Responsive Architecture

Responsive Architecture
สถาปัตยกรรมที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง

ที่มาของโครงการ :

วิทยานิพนธ์นี้เริ่มจากการตั้งคำถามถึงกายภาพของสถาปัตยกรรมที่เมื่อระยะเวลาการใช้งานผ่านไป ปัจจัยต่างๆที่ช่วยกำหนดกายภาพของสถาปัตยกรรมนั้นๆเกิดการเปลี่ยนแปลงทำให้กายภาพที่เคยตอบสนองปัจจัยเหล่านั้นกลับกลายเป็นข้อจำกัดต่อการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ ทั้งในด้านของการใช้งาน และด้านสภาพแวดล้อม ทำให้สถาปัตยกรรมไม่สามารถตอบสนองปัจจัย หรือความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปได้

การคลี่คลายแนวคิด :

เพื่อทำลายข้อจำกัดทางกายภาพที่หยุดนิ่ง ผู้ศึกษาจึงได้เริ่มทำการศึกษากลไกของเครื่องมือที่ทำให้สถาปัตยกรรมมีกายภาพที่มีความ kinetic หรือสามารถเคลื่อนไหว ปรับเปลี่ยนรูปทรงได้ โดยผู้ศึกษาได้ใช้หลักการของ scisoors frame ที่สามารถขยายความยาวได้มาเป็นแกนหลักในการขยับของเครื่องมือเพื่อให้เครื่องมือสามารถขยับในแนวดิ่งที่ระยะต่างๆได้ โดยหลังจากที่ได้ทำการศึกษาศักยภาพของเครื่องมือพบว่าเครื่องมือที่ได้พัฒนามานั้นสามารถทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ในปริมาตรคงที่

แนวคิดในการออกแบบ :

ผู้ศึกษาได้นำศักยภาพของเครื่องมือที่ได้กล่าวไปที่สามารถเพิ่มพื้นที่ใช้งานในปริมาตรคงที่มาช่วยแก้ปัญหาในประเด็น “ความขัดแย้งระหว่างพื้นที่สีเขียวนันทนาการ และพื้นที่เศรษฐกิจ” ซึ่งเป็นการพูดถึงปัญหาระหว่างสัดส่วนของพื้นที่สีเขียวนันทนาการต่อพื้นที่เศรษฐกิจภายในเขตเมืองอ้างอิงจากบทความในวารสารสุทธิปริทัศน์ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ปุณยนุช รุธิรโก (2556, น.55) โดยใช้การเพิ่มขึ้นของพื้นที่เอื้อให้เกิดทั้งโปรแกรมของพื้นที่เศรษฐกิจ และพื้นที่สีเขียวในเวลาเดียวกัน

อธิบายโครงการ :

ที่ตั้งโครงการตั้งอยู่ระหว่าง Central Chidlom และ Central Embassy ซึ่งเป็นที่ที่ขาดแคลนพื้นที่สีเขียวนันทนาการมากที่สุด และมีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงที่สุด โดยในส่วนของพื้นที่สีเขียวนันทนาการผู้ศึกษาได้กำหนดให้มีขนาดพื้นที่เพียงพอที่จะช่วยเพิ่มสัดส่วนของพื้นที่สีเขียวของ Central Embassy ให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน EIA และในส่วนของพื้นที่เศรษฐกิจนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ Central Embassy ที่อยู่ข้างเคียง ผู้ศึกษาจึงได้ทำการวิเคราะห์ และเลือกให้เป็นพื้นที่จัดแสดงงาน และนิทรรศการซึ่งเป็นหมวดหมู่ของพื้นที่ใช้งานในย่านของที่ตั้งโครงการที่ยังขาดหายไปตามวิสัยทัศน์ข้างต้น

โครงการแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกคือส่วนล่างที่ทำหน้าที่เป็นพื้นที่สีเขียวที่สามารถขยับเปลี่ยนรูปร่างเพื่อเชื่อมพื้นที่ต่างๆโดยรอบโครงการเข้ามาภายในตัวอาคาร โดยในพื้นที่ในส่วนนี้จะขยับ และเปลี่ยนแปลงไปตามตัวแปรของความหนาแน่นของจุดโดยรอบโครงการเพื่อช่วยดึงผู้ใช้งานให้เข้ามาในโครงการมากขึ้น และช่วยให้ย่านเกิดความ active จากการเคลื่อนที่ของผู้คน

พื้นที่สีเขียวนันทนาการส่วนแรก

ในส่วนที่ 2 จะเป็นส่วนที่มีโปรแกรมของ event space ซ้อนทับอยู่กับพื้นที่สีเขียวนันทนาการ โดยในส่วนของ event space จะถูกเครื่องมือห่อหุ้มทำให้เกิดปริมาตรภายในหลากหลายรูปแบบตามการขยับของเครื่องมือทำให้สามารถรองรับการจัดกิจกรรมต่างๆตามความต้องการของผู้ใช้งาน ซึ่งในแต่ละเครื่องมือย่อยๆภายในส่วนนี้จะมีการเรียงตัวกันแบบ spiral ต่อกันทุกๆครึ่งชั้นขึ้นไปเรื่อยๆเพื่อให้พื้นที่ในแต่ละเครื่องมือสามารถขยายตัวในแนวดิ่งมาเชื่อมต่อกันเพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้งานได้อีกด้วย

พื้นที่ event space ที่อยู่ใต้พื้นที่สีเขียวนันทนาการในส่วนที่สอง | Enclosure ในแนวดิ่งของพื้นที่ event space

พื้นที่สีเขียวนันทนาการในส่วนที่สองของโครงการ

วิทยานิพนธ์โดย

นายชวิน วงศ์ศรีสุนทร
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาสถาปัตยกรรม
มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา 2563
 
Writer
Ekkarach Laksanasamrith

Ekkarach Laksanasamrith

สถาปนิกที่เชื่อว่า "ตัวหนังสือ" มีพลังพอๆกับ "สเปซ" และ "การเขียนหนังสือ" ก็ใช้สกิลไม่ต่างจาก "การเขียนแบบ" ใน AUTO Cad