ในปัจจุบัน สังคมยังขาดความตระหนักรู้ในเรื่องของความตายอีกทั้งยังไม่เป็นที่พูดคุยกันได้อย่างชัดแจ้งในวงสนทนาอย่างเป็นกันเอง ถึงแม้ว่าจะเป็นสิ่งใกล้ตัวที่เราทุกคนเคยประสบและเป็นเรื่องที่เราพบเจอกันเป็นปกติ โดยไม่รู้เลยว่าความตายหรือวันพรุ่งนี้ อะไรจะเกิดก่อนกัน
ส่วนหนึ่งจากหนังสือ ความตายกับการตาย มุมมองจากศาสนากับวิทยาศาสตร์ โดย จันทิมา เอียมานนท์ กล่าวว่า “โดยทั่วไปในสังคม ความตายมักถูกสื่อความหมายในแง่ลบ ถือว่าเป็นเรื่องอัปมงคล เป็นสัญญาณของความสูญเสีย ความพลัดพราก และความเศร้าโศกเสียใจ เป็นเรื่องที่ไม่พึงปรารถนาของผู้คน เราจึงมักหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงความตายกันตรง ๆ เพราะเชื่อว่าจะทำให้เกิดสิ่งที่ไม่ดีตามมา ดังนั้นการพูดถึงคำว่า ตาย ตรง ๆ จึงดูเหมือนว่าจะไม่ส่งผลดีให้แก่ผู้พูด และยังไปทำร้ายจิตใจผู้ฟังมากเกินไป
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในทางกลับกันแล้ว ก็ทำให้ฉุกคิดว่า การที่เราไม่เผชิญกับเรื่องตายตรง ๆ ด้วยการกลบเกลื่อนและแสร้งทำเป็นเรื่องอื่น ๆ เช่นนี้ ก็อาจทำให้การตระหนักถึงความตายในแง่ที่เป็นความจริงน้อยลง และทำให้ความตายถูกทำให้เป็นเรื่องด้านลบ และอาจส่งผลกระทบไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับความตาย ในแง่ที่ถูกทำให้อยู่ในวังวนของภาพด้านลบนี้ไปด้วย”
ความตายหรือคนตาย มักจะถูกนึกถึงในแง่ลบอยู่เสมอ เพราะมีความเกี่ยวเนื่องกับความกลัวของคน กุศโลบายบางอย่างที่ส่งต่อกันมาตั้งแต่อดีต ส่งผลต่อความเชื่อของคนไทยมาจนปัจจุบัน เช่น ความเชื่อที่ว่าคนท้องไม่ควรไปงานศพ เพราะอาจจะมีวิญญาณมาเกิด หรือการผ่านทางที่มีคนตาย วิญญาณจะมาเอาชีวิตไปเป็นตัวตายตัวแทน จึงมีสถานที่หลายแห่งที่ติดอันดับสถานที่น่ากลัว หรือสถานที่อัปมงคล และหนึ่งในนั้นก็คือ สุสาน ถึงขนาดว่าที่ตั้งของสุสานยังไม่ควรอยู่ในที่ที่โดดเด่นจนเกินไป และควรจะอยู่ในที่ที่ห่างไกลหรือลับตาคนมากที่สุด โดยสุสานในไทย มีหลากหลากรูปแบบ ตามความเชื่อ ศาสนา หรือชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นฮวงซุ้ย สุสานของคนไทยเชื้อสายจีน หรือกุโบร์ สถานที่ฝังศพของมุสลิม
ในปัจจุบันด้วยยุคสมัยและพฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนไป นักวิชาการศาสนวิทยาระบุว่าในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา กลุ่มคนไม่มีศาสนาในไทยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการขาดความรู้ความเข้าใจในขนบธรรมเนียม ทำให้แนวโน้มของการทำตามความเชื่อและการทำพิธีกรรมทางศาสนาลดน้อยลง นอกจากนั้นสุสานก็เป็นสถานที่ที่ใช้พื้นที่เยอะ แต่ใช้ประโยชน์ได้น้อย เพราะพื้นที่ที่จำกัดทำให้ไม่สามารถรองรับผู้ใช้งานใหม่ ๆ ได้ อีกทั้งยังมักมีทัศนียภาพที่ไม่สวยงาม เนื่องจากขาดการดูแล เอาใจใส่ และให้ความสำคัญ รวมถึงเป็นสถานที่ที่คนส่วนใหญ่มากันแค่ปีละไม่กี่ครั้ง ตามความเชื่อ หรือมาเพื่อประกอบพิธีกรรม
โดยทั่วไปที่ฝังศพหรือที่เก็บอัฐิในไทย มักจะประกอบด้วย รูปภาพ, วันเกิด, วันตาย, คำสรรเสริญ และพื้นที่สำหรับประกอบพิธีกรรม ซึ่งจากประสบการณ์ของข้าพเจ้า สุสานบางแห่งนอกจากจะมีบรรยากาศที่วังเวงน่ากลัวแล้ว ยังไม่ได้ให้ความรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย หรือปลอบประโลมจิตใจใด ๆ แก่ผู้สูญเสียเลย ข้าพเจ้าจึงมองว่าสุสานนั้นมีขึ้นเพื่อคนที่จากไปมาโดยตลอด ตามความเชื่อว่าคนที่จากไปจะ “ไปดี” “ไปสู่สุขติ” เพราะว่าคนที่มาสุสานเองก็อาจจะเชื่อว่ามีจิตวิญญาณอยู่จริง ข้าพเจ้าจึงตั้งคำถามว่า สุสานสามารถ
ปลอบประโลมจิตใจผู้ที่สูญเสียได้อย่างแท้จริงหรือไม่ ? สุสานมีขึ้นเพื่อใคร ? หรือมีขึ้นเพียงเพื่อตอบสนองความเชื่อเกี่ยวกับคนที่จากไป แต่ไม่ได้เข้าใจถึงอารมณ์ความรู้สึกของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ เพราะว่าข้าพเจ้าไม่เคยได้รับประสบการณ์นั้นเลย
อ้างอิงส่วนหนึ่งจากหนังสือ ความตายกับการตาย มุมมองจากศาสนากับวิทยาศาสตร์ โดย สิวลี
ศิริไล “คำว่า การดูแลด้านจิตวิญญาณ (Spiritual Healing) อาจเป็นคำที่ไม่คุ้นเคยในสังคมไทย และมักจะเข้าใจว่าจิตวิญญาณเป็นเรื่องของศาสนา ซึ่งก็ถือได้ว่ามีส่วนถูก แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของจิตวิญญาณมนุษย์ แต่จิตวิญญาณก็ไม่ได้หมายถึงศาสนาอย่างเดียว มีความหมายกว้างและครอบคลุมหลายสิ่งหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับความเป็นองค์รวมของมนุษย์
ลักษณะสำคัญของจิตวิญญาณคือ การแสวงหาความหมายของตัวตนภายในบุคคล ความผูกพันระหว่างบุคคลกับบางสิ่งที่ทำให้เกิดภาวะของความสงบสุข ดังคำอธิบายของพจนานุกรมเวบส์เตอร์ (1983) ที่อธิบายว่า จิตวิญญาณเป็นตัวตนภายในที่ลึกซึ้งของบุคคล เป็นความรู้สึกละเอียดอ่อนผูกพันกับบางสิ่ง ทำให้เกิดพลังใจ ความหวัง ความมีชีวิตชีวา และความอิ่มเอมใจ
นอกจากศาสนาซึ่งเป็นจิตวิญญาณด้านหนึ่งของบุคคลแล้ว ยังมีสิ่งอื่น ๆ ที่อาจมีความหมายเป็นจิตวิญญาณของบุคคลได้เช่นกัน เช่น วัตถุสิ่งของ ตัวบุคคลผู้เป็นที่รัก ครอบครัว ความเชื่อบางเรื่อง สถานที่ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้อาจดูไม่มีความหมายในความรู้สึกของผู้อื่น แต่อาจเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นจิตวิญญาณของคนผู้นั้นได้”
นอกจากนั้นผู้สูญเสียยังอาจมีสภาวะทางอารมณ์และปฏิกิริยาตอบสนองจากการสูญเสีย (ภาวะหลังการสูญเสียคนสำคัญ) โดยผู้ที่สูญเสียคนสำคัญมักจะมองหาที่พึ่งทางใจที่มีความหมายและมีคุณค่าทางความทรงจำเพราะจิตวิญญาณของผู้ที่สูญเสียเองก็ต้องการการเยียวยา สำหรับบางคนการแสดงความเศร้าโศกก็นับว่าเป็นการเยียวยารูปแบบหนึ่ง เพื่อคลายความคิดถึงหรือเพื่อเป็นตัวแทนของคนที่จากไป บางครั้งก็ยังคงเก็บเสื้อผ้า สิ่งของของคนรักที่จากไปไว้ เพื่อเป็นของดูต่างหน้า
จึงเกิดสมมติฐานว่าหากมีสถานที่ที่ถูกออกแบบมาเพื่อเก็บรักษาสิ่งของที่เป็นตัวแทนของความทรงจำเหล่านั้น และเป็นตัวแทนจิตวิญญาณของคนที่จากไป เพื่อบอกเล่าเรื่องราว เตือนความจำ ให้สามารถระลึกถึงได้อยู่เสมอ ให้คุณค่ากับทุกชีวิตและความตาย ที่มีค่าคู่ควรแก่การบอกเล่า อีกทั้งยังเป็นสถานที่ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกสบายใจ แตกต่างจากสุสานรูปแบบเดิมที่เน้นไปที่พิธีกรรม และศาสนา
จากข้อมูลที่กล่าวมาจึงเกิดเป็นโครงการ สุสานแห่งความทรงจำ เพื่อการระลึกถึง (Memorial Park Columbarium) เพื่อตอบสนองต่อผู้ใช้งานอาคารที่เป็น คนเป็น ให้สามารถ รำลึก ถึงผู้ที่จากไป แสดงออกถึงความเศร้าโศกผ่าน ตัวแทนจิตวิญญาณ ของผู้ที่จากไป และได้รับการปลอบประโลม ผ่านกิจกรรม องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม และสภาพแวดล้อม โดยการการผสมผสานแนวคิด นวัตกรรมด้านสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานโครงการและเข้ากับยุคโลกาภิวัตน์ นอกจากนั้นยังเป็นโครงการที่จะเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของสุสานให้เป็นมิตรและเข้าถึงง่ายมากขึ้น พัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เหมาะสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ และเหมาะสมกับคนทุกเพศทุกวัย เพื่อตอบสนองผู้ใช้งานที่หลากหลาย และพัฒนาจากสถานที่ที่คนส่วนใหญ่มากันแค่ปีละไม่กี่ครั้ง ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ตลอดทั้งปี
การวิเคราะห์รายละเอียดของโครงการ
วิเคราะห์จากวัตถุประสงค์ของโครงการที่ต้องการแก้ปัญหาของสุสานในไทยดังที่กล่าวมา รวมถึงแนวความคิดทางจิตวิทยาที่เกี่ยวข้อง และพฤติกรรมของผู้สูญเสียเป็นหลัก ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับความทรงจำของผู้สูญเสีย และสิ่งที่เป็นตัวแทนจิตวิญญาณของผู้ที่จากไป
การวิเคราะห์ผู้ใช้งานโครงการ
ผู้ใช้งานโครงการ จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มผู้ใช้บริการ และกลุ่มผู้ให้บริการโครงการโดยกลุ่มผู้ใช้บริการกลุ่มหลัก คือ กลุ่มผู้ใช้บริการที่อยู่ในภาวะหลังการสูญเสีย และกลุ่มผู้ใช้บริการทั่วไป ซึ่งเน้นไปที่กลุ่มผู้ใช้บริการเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งเป็นคนโดยรอบของพื้นที่เป็นหลัก
การวิเคราะห์ที่ตั้งของโครงการ
ที่ตั้งของโครงการตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากกรุงเทพ ฯ มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการบริการสังคม เป็นจุดศูนย์รวมประชากร เหมาะแก่การเป็นพื้นที่ตัวอย่าง
ที่ตั้งโครงการอยู่ในเขตบางนา เนื่องจากสามารถเข้าถึงการคมนาคม ระบบขนส่งสาธารณะ และสิ่งอำนวยความสะดวกได้ง่าย รวมถึงเป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการหาพื้นที่สีเขียวเพิ่มเติม
แนวความคิดในการออกแบบ
แนวคิดในการออกแบบเกิดจากการตั้งคำถามในเรื่องของความตาย ว่าตายแล้วไปไหน ? ซึ่งคำตอบนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เพราะมนุษย์มีความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม และอื่น ๆ อีกมากมาย จุดเชื่อมโยงของคำตอบทั้งหมด คือมนุษย์ล้วนเกิดจากธรรมชาติ เมื่อตายไป ร่างกายของมนุษย์ล้วนกลับสู่ธรรมชาติ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
จึงเกิดเป็นแนวคิดของโครงการ “การกลับสู่ธรรมชาติ” หรือ “Back to Nature” โดยการจำลอง-เลียนแบบ และเชื่อมโยงธรรมชาติเข้ากับ Mass Form ของอาคาร Zoning หรือ Experience ของผู้ใช้บริการ และ Material ที่ใช้ในการออกแบบ
Mass Form ได้ Inspiration จากภูเขา โดยดัดแปลงให้พื้นที่ด้านบนที่มีลักษณะเนินเขา สามารถใช้งานได้ และคำนึงถึงการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Inclusive Design)
แนวคิดในการจัดวาง Zoning คือ การให้ผู้ใช้งานโครงการได้รับประสบการณ์จากธรรมชาติ ตามลำดับเดียวกัน โดยบริเวณด้านในอาคารจะมีลักษณะเสมือนพื้นที่ใต้ดิน หรือ ถ้ำ และพื้นที่บนหลังคา เปรียบเสมือนพื้นที่เนินเขา
แนวคิดในการเลือกใช้ Material หลักของโครงการ คือการเลือกใช้วัสดุธรรมชาติที่มีรูปลักษณ์ และผิวสัมผัสเชื่อมโยงกับถ้ำ และภูเขา ดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงเลือกใช้ดินอัด (Rammed Earth) เป็นวัสดุหลักของโครงการ
ผลงานการออกแบบ
การออกแบบเน้นการสร้างทัศนียภาพภายใน ไม่เปิดมุมมองออกสู่ภายนอกมากเกินไป เนื่องจากคำนึงถึงผลกระทบจากพื้นที่ข้างเคียง และพื้นที่โดยรอบ โดยทางเข้าหลักของโครงการจะอยู่ฝั่งซ้ายของที่ตั้ง และนำไปสู่พื้นที่ภายในอาคาร เนื่องจากใกล้สถานีรถไฟฟ้ามากที่สุด ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงพื้นที่บนหลังคา เพื่อทำกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจผ่านทางเข้ารองของโครงการ โดยองค์ประกอบส่วนหลัก ๆ ของโครงการ มีดังนี้
(ก) ส่วนสุสานความทรงจำ
ส่วนสุสานความทรงจำเป็นส่วนที่เป็นองค์ประกอบหลักของโครงการ มีความเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับความทรงจำ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับหลักการทางจิตวิทยา เนื่องจากเป็นสถานที่ที่เก็บรักษาสิ่งที่มีคุณค่าทางความทรงจำ รวมถึงสิ่งที่เป็นตัวแทนจิตวิญญาณของผู้ที่จากไป โดยส่วนสุสานความทรงจำ แบ่งออกเป็น
พื้นที่เก็บโกศ
พื้นที่เก็บโกศ คือ พื้นที่เก็บรักษาโกศของผู้ที่จากไป ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับการระลึกถึงและมีความหมายทางความทรงจำ อาจมีความหมายเป็นตัวแทนจิตวิญญาณ หรือผูกพันกับตัวตนของผู้ที่จากไป มีลักษณะเป็นช่องเก็บเรียงต่อกันเป็นแนวยาว มีการซ้อนชั้นขึ้นไปในแนวดิ่ง โดยพื้นที่เก็บโกศนั้น จะประกอบด้วย ช่องเก็บ จำนวน 2,000 ช่อง และโถงอเนกประสงค์
(แสดงขนาดและลักษณะของช่องเก็บโกศ)
การออกแบบพื้นที่เก็บโกศนั้น คำนึงถึงการการจัดสรรพื้นที่อย่างคุ้มค่า โดยการซ้อนชั้นช่องเก็บอัฐิแบบ Modular System เพื่อประหยัดพื้นที่ใช้งาน นอกจากนั้นยังคำนึงถึงการผสมผสานเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เข้ากับยุค โดยการใช้ระบบ Access Control ในการแสกนลายนิ้วมือ เมื่อผู้ใช้บริการต้องการเปิดช่องเก็บโกศ เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างสะดวก และป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงได้
พื้นที่รำลึก
พื้นที่รำลึก คือ พื้นที่ที่จัดให้ผู้ใช้บริการได้ระลึกถึงผู้ที่จากไป โดยการจัดสภาพแวดล้อมแบบเป็นส่วนตัว มีการกั้นพื้นที่ออกจากส่วนอื่น หรือการแยกอาณาบริเวณ เพื่อให้เกิดภาวะส่วนตัว เอื้อต่อการแสดงความโศกเศร้าของผู้สูญเสีย ภายในพื้นที่รำลึกสามารถใช้งานด้วยระบบดิจิตอล ได้แก่ Hologram Virtual Reality (VR) เสียง วิดีโอภาพ รูปถ่าย และเสียง ที่เก็บไว้ใน Cloud Storage
พื้นที่รำลึกในระบบดิจิตอล เป็นวิธีการที่นอกจากจะผสมผสานเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อนำเสนอแนวคิดที่สอดคล้องกับยุคโลกาภิวัตน์แล้ว ยังเป็นการคำนึงถึงการจัดระเบียบพื้นที่อย่างยั่งยืนด้วยเช่นกัน เนื่องจากพื้นที่สุสาน และพื้นที่เก็บอัฐิทั่วไป รวมถึงพื้นที่เก็บโกศภายในโครงการมีจำกัด ถ้าหากต้องการเพิ่มช่องเก็บก็จำเป็นต้องขยายพื้นที่ต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อรองรับผู้ใช้งานในอนาคต การเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องความทรงจำในระบบดิจิตอล ที่มีพื้นที่ไม่จำกัด จึงเป็นวิธีการที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพื้นที่ใช้งาน ซึ่งนอกจากจะนำเสนอได้หลากหลายรูปแบบแล้ว ยังเป็นการจัดเก็บที่มีความยั่งยืน และเป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นต่อ ๆ ไปในแง่ประวัติศาสตร์
พื้นที่พิธีกรรม
เนื่องจากโครงการมีจุดมุ่งหมายที่จะรองรับผู้ใช้งานที่มีความหลากหลาย จึงจัดให้มีพื้นที่สำหรับรองรับการทำพิธีกรรมของผู้ใช้บริการ การออกแบบพื้นที่พิธีกรรมภายในโครงการ จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงความยืดหยุ่นของพื้นที่ เนื่องจากต้องตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานที่มีความหลากหลาย โดยพื้นที่จะแบ่งออกเป็นห้องโล่ง ภายในมีความยืดหยุ่น สามารถเคลื่อนย้ายเฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ประกอบได้ โดยผู้ใช้บริการสามารถใช้พื้นที่ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา หรือใช้เป็นห้องละหมาดได้
(ข) ส่วนกิจกรรมสาธารณะภายในอาคาร
ส่วนกิจกรรมสาธารณะภายในอาคาร เป็นองค์ประกอบรองของโครงการ มีความเกี่ยวเนื่องกับความตาย ความทรงจำ และการสูญเสีย เป็นหลัก โดยมุ่งเน้นการสร้างกิจกรรมสร้างสรรค์ที่มีความสัมพันธ์กับความรู้สึก และอารมณ์ของผู้สูญเสีย รวมถึงการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้ สร้างความบันเทิง และความเพลิดเพลิน โดยส่วนกิจกรรมสาธารณะภายในอาคาร ประกอบด้วย
พื้นที่กิจกรรมบำบัด
พื้นที่กิจกรรมบำบัด คือ พื้นที่สำหรับรองรับกิจกรรมแบบกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยาและฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้สูญเสีย ได้แก่ การสร้างสัมพันธภาพเพื่อการบำบัด (Therapeutic Relationship) ซึ่งได้แก่ การพูดคุยสนทนา แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูญเสียได้ระบายความรู้สึกออกมาผ่านคำพูดและท่าทาง ซึ่งช่วยให้ผู้สูญเสียได้รับกำลังใจ แรงเสริมทางบวก และมีความเข้มแข็งมากขึ้น
รวมถึงส่งเสริมให้ผู้สูญเสียยอมรับต่ออารมณ์ความรู้สึกและภาวะสูญเสียที่เกิดกับตน รวมทั้งได้รับข้อมูลความรู้ที่ถูกต้อง การชี้แนะแนวทางการคิดเชิงบวกและการเลือกวิธีการปรับตัวที่เหมาะสมจากผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนั้นยังเป็นพื้นที่สำหรับรองรับการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดจิตใจแบบกลุ่ม เช่น ดนตรี และศิลปะบำบัด เป็นต้น
ส่วนจัดแสดงนิทรรศการชั่วคราว
ส่วนจัดแสดงนิทรรศการชั่วคราวภายในโครงการ มีลักษณะคล้ายโถงอเนกประสงค์ โดยพื้นที่สามารถยืดหยุ่นในการเปลี่ยนแปลงกิจกรรม มีจุดมุ่งหมายขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ หรือเนื้อหาที่นำมาจัดแสดง โดยมีขอบเขตในการรองรับ และจัดแสดงเนื้อหาเฉพาะ สื่อ ศิลปะ หรือเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสูญเสีย การรำลึก ความทรงจำ และความตาย ยกตัวอย่างเช่น นิทรรศการภาพถ่าย การใช้พื้นที่เพื่อการแสดงความไว้อาลัยต่อบุคคลสาธารณะ หรือผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ต่าง ๆ เป็นต้น
ส่วนจัดแสดงนิทรรศการถาวร
ส่วนจัดแสดงนิทรรศการถาวรภายในโครงการ มีจุดมุ่งหมายในการสื่อประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความตาย ความทรงจำ และการสูญเสีย ไปยังกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งก็คือผู้สูญเสีย รวมถึงคนทั่วไปในสังคม
โดยประเด็นหลักของนิทรรศการ มุ่งเน้นให้ผู้ใช้บริการได้ระบายและส่งต่อความรู้สึกหรือเรื่องราวของตนเอง ผ่านการมีปฏิสัมพันธ์เชิงพื้นที่ การส่งเสริมให้มีกิจกรรมในลักษณะนี้ภายในโครงการ นอกจากจะมุ่งเน้นในการดึงดูดคนมายังโครงการ และสร้างการมีส่วนร่วมของผู้คนกับพื้นที่แล้ว ยังสร้างความเพลิดเพลิน และเป็นประโยชน์ในการส่งต่อเรื่องราวและกำลังใจให้กับผู้อื่นอีกด้วย
พื้นที่ส่วนจัดแสดงนิทรรศการถาวร จะเชื่อมต่อกับพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจบนหลังคา เพื่อแสดงถึงการระบายความรู้สึก และการปล่อยวางของผู้สูญเสีย
ส่วนกิจกรรมสาธารณะภายนอกอาคาร
ส่วนกิจกรรมสาธารณะภายนอกอาคาร เป็นองค์ประกอบรองของโครงการ เน้นการออกแบบพื้นที่ธรรมชาติ และการสร้างกิจกรรมภายนอกอาคารเป็นหลัก รองรับการจัดกิจกรรม เช่น นิทรรศการกลางแจ้ง หรือพิธีกรรมประจำปี เช่น การทำบุญครบรอบ เทศกาลเช็งเม้ง เป็นต้น
ประกอบด้วย พื้นที่ธรรมชาติบำบัด พื้นที่พักผ่อน ลานอเนกประสงค์ และส่วนนิทรรศการกลางแจ้ง โดยจะอธิบายรายละเอียดขององค์ประกอบที่มีความเฉพาะเจาะจง ได้แก่ พื้นที่ธรรมชาติบำบัด
พื้นที่ธรรมชาติบำบัด
พื้นที่ธรรมชาติบำบัด คือ พื้นที่ที่ใช้ธรรมชาติในการเยียวยาและฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้สูญเสีย เป็นพื้นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ มีบรรยากาศที่สงบ และเป็นมิตร ก่อให้เกิดภาวะน่าสบาย และคำนึงถึงที่ว่างที่มีคุณภาพ เพื่อให้เกิดภาวะส่วนตัว ความเงียบสงบ สบาย และสมาธิ ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตของผู้สูญเสีย และผู้ใช้บริการกลุ่มอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน
มีลักษณะพื้นที่และการใช้งานคล้ายกับสวนสาธารณะขนาดย่อมภายนอก ที่เชื่อมโยงเข้าสู่ภายในอาคาร เน้นการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนและองค์ประกอบทางธรรมชาติรอบตัว ที่มีความเกี่ยวข้องกับประสาทสัมผัส ได้แก่ เสียงธรรมชาติ (Sound) แสงธรรมชาติ (Natural Light) กลิ่นของธรรมชาติ (Phytoncides) สี (Color) และสัมผัส (Texture) ซึ่งส่งผลดีในทางจิตวิทยา โดยการสร้างองค์ประกอบที่เลียนแบบธรรมชาติ จะช่วยกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาทางจิตวิทยา และมีส่วนช่วยให้เกิดความสดชื่น ลดความเครียด และภาวะซึมเศร้าได้ เช่น เสียงน้ำไหล ทางน้ำไหล พื้นหินและทราย เป็นต้น
นอกจากจะเยียวยาและฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้สูญเสียแล้ว ยังส่งเสริมให้ผู้คนโดยรอบมาใช้บริการโครงการเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ และเพื่อความเพลิดเพลิน สร้างสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้คนโดยรอบโครงการด้วยเช่นกัน
วิทยานิพนธ์โดย
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!