สิ่งหนึ่งที่น่ากลัวสำหรับการออกแบบสถาปัตยกรรม คือ ผลงานชิ้นนั้นจะตั้งตนโดดเด่นไปอีกหลายทศวรรษ ไม่สามารถเคลื่อนย้าย หรือไม่คุ้มค่าหากจะปรับเปลี่ยนตามใจต้องการในภายหลัง การออกแบบจึงเรียกได้ว่า ต้องมีการคิด คาดเดา ‘เผื่อ’ อนาคตกันมากพอสมควร ซึ่ง Tate Thonglor 11 Residence ก็เป็นหนึ่งในอาคารเหล่านั้น ด้วยความที่ตั้งอยู่บนที่ดินย่านทองหล่อซึ่งมีศักยภาพในการพัฒนาสูง พื้นที่รอบด้านพร้อมจะปรับเปลี่ยนเป็นอาคารใหญ่ หรือคอนโดมิเนียมสูงในทุกเวลา ที่พักอาศัยแบบ low-rise แห่งนี้จึงจำเป็นต้องคิดถึงบริบทในทุกแง่มุม ตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงอนาคตเพื่อให้การอยู่อาศัยบนที่ดินราคาสูงลิ่วคุ้มค่าทุกตารางเมตร ด้วยฝีมือของทีมสถาปนิกจาก makeAscene
ด้วยพื้นฐานของเจ้าของที่อยู่ในแวดวงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาเป็นเวลาหลายปี และมีประสบการณ์ในการสร้างอพาร์ทเมนท์ให้เช่าย่านทองหล่อมาไม่น้อย กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จึงเน้นไปที่ครอบครัวชาวญี่ปุ่น ผู้ตั้งถิ่นฐานและทำงานใจกลางกรุงเทพฯ แต่เมื่อได้ที่ดินในซอยทองหล่อ 11 แห่งนี้มา จึงตั้งใจสร้างอพาร์ทเมนท์สำหรับคนญี่ปุ่นที่มีขนาดกระทัดรัด เพื่อรองรับผู้อยู่อาศัยที่เข้าพักคนเดียวหรือเป็นคู่มากขึ้น
เป็นส่วนตัวเพื่อรองรับการใช้งานในอนาคต
“พอเราได้โจทย์กว้างๆ มาจากทางเจ้าของ สิ่งที่เรามองหาไม่ใช่สไตล์ แต่เป็นการศึกษาบริบทของพื้นที่ ซึ่งทองหล่อเป็นที่ราคาแพง เราเลยมองว่าพื้นที่รอบๆ ในอนาคต น่าจะถูกทำเป็นอะไรที่มีความหนาแน่นมากกว่านี้แน่นอน บ้านที่มีอยู่เดิมในปัจจุบันอาจจะถูกขายไปกลายเป็นตึกสูง อาคารนี้จึงจะต้องตอบสนองต่อบริบทในอนาคตเหล่านั้น” สถาปนิกเล่า
เริ่มต้นสถาปนิกศึกษาข้อจำกัดและบริบทของพื้นที่ตามที่กฏหมายกำหนด ซึ่งอาคารปิดทึบจะต้องมีระยะร่นด้านข้าง 2 เมตร หรือหากต้องการเปิดช่องเปิด จะต้องมีระยะร่นถึง 3 เมตร ทีมออกแบบจึงได้ไอเดียในการคว้านอาคารบางส่วนออกให้กลายเป็นช่องเปิดด้านกว้างของห้องพัก และออกแบบให้ส่วนนั้นกลายเป็นฟังก์ชันห้องนั่งเล่นซึ่งผู้อยู่อาศัยชาวญี่ปุ่นน่าจะใช้งานและต้องการแสงสว่างมากที่สุด นำมาสู่โมดูลของห้องพักที่ถูกจัดเรียงให้มี Balcony เล็กๆ ที่เปิดรับแสง ส่วนห้องนอนจะมีช่องเปิดบริเวณด้านข้างที่นำแสงธรรมชาติเข้าสู่ภายใน
บริเวณช่องเปิด สถาปนิกออกแบบแผงกันแดดทำองศาเอียงด้วยแผ่นอลูมิเนียมเพอฟอเรทเจาะรู ทำให้ห้องพักทุกห้อง และทุกชั้นสามารถรับแสงได้ในขณะที่ยังมีขอบเขตของความเป็นส่วนตัว เพื่อบดบังทิวทัศน์รอบข้างที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งองศาและรูของแผงกันแดดในแต่ละชั้นจะแตกต่างกันไปตามมุมมอง โดยบริเวณชั้นล่าง ที่มีวิวทิวทัศน์ในปัจจุบันไม่ดีมากนัก แผงกันแดดจะมีลักษณะที่พลิกไปมาเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัว ส่วนบริเวณชั้นบน แผงต่างๆ จะเริ่มตั้งฉาก เพื่อเปิดรับวิวที่กว้างไกลได้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม แผงกันแดดทั้งหมดนี้ก็ยังถูกออกแบบให้สามารถปรับเปลี่ยนได้ในอนาคต “เราศึกษาจาก Existing ก่อน จากนั้น เราจึงคาดเดาว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต แล้วเราก็ออกแบบให้มันตอบรับ”
ประหยัดพื้นที่และคุ้มค่าตอบสนองต่อบริบทในปัจจุบัน
เมื่อรู้ว่าที่ดินมีราคาสูง แน่นอนว่าทุกพื้นที่ต้องใช้งานได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด สถาปนิกจึงจัดการกับที่ดินหน้าแคบและลึก ด้วยการออกแบบทางสัญจร Double-load corridor เพื่อประหยัดพื้นที่ให้มากที่สุด รวมถึงออกแบบเลย์เอาท์ห้องพักให้มีหน้ากว้างและตื้น สวนทางกับแปลนคอนโดมิเนียมทั่วไปที่เรามักพบได้ในปัจจุบัน ทำให้แปลนห้องอยู่ในลักษณะสี่เหลี่ยมที่เป็นสัดเป็นส่วน แบ่งเป็นพื้นที่ห้องนั่งเล่น ห้องนอนและห้องน้ำที่มีขนาดเหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัย อีกทั้งยังมีระนาบของช่องเปิดที่สามารถรับแสงธรรมชาติได้มากขึ้นอีกด้วย
80% ของห้องทั้งหมดจะมีขนาดประมาณ 30 กว่าตารางเมตร โดยฟังก์ชันภายในห้องถูกออกแบบคล้ายโมดูลที่วางลงไปราวกับตัวต่อที่ลงล็อคกันได้ทั้งหมด สลับซ้าย-ขวา หรือจำนวนห้องไปตามรูปแบบที่แตกต่างกัน ส่วนอีก 20% ที่เหลือ คือ ห้องหัวมุมตึกบริเวณชั้นบนซึ่งมีศักยภาพในการขยายให้เป็นห้องพักขนาดใหญ่ เพื่อให้พื้นที่หัวมุมไม่ถูกทิ้งให้เป็น Waste Space ที่ว่างเปล่าไปโดยไม่จำเป็น
‘Duality’ ความแตกต่างที่คู่ขนานกันไปอย่างลงตัว
ภาพรวมของอาคารที่มีแนวช่องเปิด และช่องปิด ยังสะท้อนแนวคิดความเป็นคู่ในแบบ Duality โดยช่องปิดที่ทึบตันเป็นตัวแทนของอาคารใหญ่ในแบบ Urban Scale ในขณะที่ช่องเปิดของอาคารที่ถูกคว้านออกเป็น Balcony จะทำหน้าที่เป็นส่วน Residential Scale ที่เข้าถึงผู้อยู่อาศัย
แนวคิดดังกล่าว เห็นได้ชัดเจน ผ่านการเลือกใช้วัสดุ ซึ่งส่วน Urban Scale ที่ทึบตันจะออกแบบด้วยคอนกรีตโทนสีขาว โดยมีการเล่นกับความหลากหลายของสีด้วยเท็กเจอร์ที่มีความหยาบต่างกัน ทำให้เมื่อแสงตกกระทบ อาคารจึงไม่ได้อยู่ในลักษณะเพลนสีขาว แต่มีเฉดเงาที่สร้างความน่าสนใจแตกต่างกันออกไปในแต่ละโทน ส่วน Residential Scale ถูกแทนด้วยวัสดุที่ให้ความรู้สึกเบาลง อย่างการใช้แผ่นอลูมิเนียมเจาะรู และด้วยความที่ช่องเปิดของอาคารมีการใช้กระจกเป็นหลัก ซึ่งสะท้อนไปมากับบริบทโดยรอบจนกลายเป็นสีเทา สถาปนิกจึงเน้นกรอบและโครงรอบช่องเปิดเหล่านั้นด้วยโทนสีเทาเข้มทั้งหมด เพื่อย้ำให้เกิดความแตกต่างในแบบ Duality ได้อย่างชัดเจน
เพื่อให้อาคารเข้าถึงและมีกลิ่นอายแบบคนญี่ปุ่น วัสดุทั้งหมดจึงแสดงถึงความเรียบง่าย และไม่ได้ใช้ของแพงที่สร้างความฉูดฉาดแต่อย่างใด อีกทั้งยังมีการเลือกใช้ไม้สีน้ำตาลเทาเข้ม สะท้อนถึง SHOU SUGI BAN ซึ่งเป็นเทคนิคญี่ปุ่นโบราณที่นำผิวไม้มาเผาไฟจนเกิดเป็นเอกลักษณ์ของบ้านในญี่ปุ่น นอกจากนั้น สถาปนิกยังคงคำนึงถึงอนาคต โดยวัสดุทั้งหมดที่เลือกนำมาใช้จะต้องดูแลรักษาง่าย และประหยัดงบประมาณในการดูแลรักษาในอนาคตให้ได้มากที่สุด
กล่าวได้ว่า Tate Thonglor 11 Residence คือรูปแบบหนึ่งของอาคารที่การอยู่กับปัจจุบันนั้นไม่เพียงพอ การคาดเดาบริบทในอนาคตจึงช่วยทำให้ฟังก์ชันอยู่อาศัยภายในถูกรบกวนน้อยลง ถึงแม้จะอยู่ใจกลางเมืองใหญ่ที่ผู้คนพลุกพล่าน ก็ยังสามารถมีบ้านที่อยู่สบายและเป็นส่วนตัวได้ไม่ยาก ก่อนจะจบบทสนทนา สถาปนิกทิ้งท้ายว่า “เวลาที่เราออกแบบ เราจะคิดว่า ถ้าเราเป็นเจ้าของบ้านเล็กๆ เหล่านั้น เราต้องการอะไร อยู่ยังไงจะสบายที่สุด อยากได้ช่องแสง อยากได้ความเป็นส่วนตัว แต่บ้านอยู่กลางทองหล่อ จะทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านั้นมันเกิดขึ้นได้ ดังนั้นใจความสำคัญ ผมมองว่ามันคือการออกแบบบ้านพักอาศัยขนาดเล็กมาประกอบกันมากกว่าการออกแบบอาคารขนาดใหญ่ที่ต้องแสดงจุดเด่นของความเป็นแบรนด์ใหญ่โต”
Location : ซอยทองหล่อ11 กรุงเทพฯ
Built Area : 2,150 ตารางเมตร
Architects : makeAscene
Design Team : ธีรยุทธ วุฒิวงศ์ธนกิจ และชิษณุพงศ์ รุ่งเลิศนิรันดร์
Interior: PAON Architects
Contractor: 7 Makara Company Limited
Photo credit: Depth of Field Company Limited
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!