สนทนาภาษาอินทีเรียกับ WORA_WORK
นักออกแบบภายในที่ผันตัวไปเป็น 3D Artist เต็มตัวในวัย 24 ปี

‘เด็กรุ่นใหม่ไฟแรง’ แทบจะเป็นสโลแกนที่ตีคู่มากับคำว่าวัยเยาว์ไปโดยปริยาย ด้วยความที่เปี่ยมด้วยพลังงาน พลังใจ และความคิดสดใหม่ เป็นตัวของตัวเอง เด็กรุ่นใหม่จึงมักเป็นตัวแทนของความคิดสร้างสรรค์ที่พร้อมจะเปลี่ยนความน่าจะเป็นในแบบเดิมๆ ให้ก้าวออกสู่นอกกรอบได้อย่างน่าสนใจ เช่นเดียวกับ เวิร์ค-วรปรัชญ์ ศุภเมธีวรกุล หนึ่งในรุกกี้รุ่นใหม่ ผู้ขยายขอบเขตโอกาสของตนเองจากอินทีเรียดีไซน์เนอร์สู่ศิลปินนักออกแบบโมเดล 3D เต็มตัวในวัยเพียง 24 ปี

(เวิร์ค-วรปรัชญ์ ศุภเมธีวรกุล)
(ตัวอย่างผลงานออกแบบโมเดล 3D)

เริ่มต้นจากความหลงใหลในศิลปะ

เมื่อรู้ตัวตั้งแต่มัธยมว่าตนเองชอบและหลงใหลในศิลปะ เวิร์คก็มุ่งมั่นเข้าเรียนพิเศษด้านดีไซน์ เพื่อลองซ้อมมือและทดลองว่าตนเองเหมาะสมจริงหรือเปล่า ซึ่งเวิร์คก็ตัดสินใจไม่ผิด ความสนุกสนานที่พบเจอในตอนนั้นจึงพาเวิร์คเดินทางต่อมายังคณะมัณฑนศิลป์ รั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร

ถึงแม้จะได้เข้ามาเรียนอย่างที่ใจฝัน แต่ปัญหาของเวิร์คก็ไม่ต่างจากเด็กรุ่นใหม่คนอื่นๆ “ตอนเรียนเราก็ไม่รู้ขนาดนั้นว่าลึกๆ จริงๆ แล้วเราชอบอะไร เราก็คิดเหมือนที่หลายๆ คนคิด คือ อินทีเรียดีไซน์เนอร์ จบมาน่าจะหางานทำง่าย เพราะมันอาจจะดูครอบคลุม ถ้าเราเรียนอินทีเรียไปก่อน ถึงสุดท้ายไปสนใจด้านอื่นอย่างงานเฟอร์นิเจอร์ เราก็ยังสามารถไปศึกษาเพิ่มเติมได้เอง ซึ่งตอนเรียนเวิร์คเอนจอยนะ คิดว่าเรามาถูกทางแล้วล่ะ เพราะเราได้ออกแบบสร้างสรรค์ ตลอด 4 ปีที่เรียนเรารู้สึกสนุกไปกับมันตลอดเวลา”

(ตัวอย่างผลงานการออกแบบอินทีเรีย)

แต่เมื่อเรียนจบและมีโอกาสเข้าสู่ระบบการทำงานในออฟฟิศอินทีเรีย เข้างาน 9 โมงเช้า เลิกงาน 6 โมงเย็น อีกทั้งยังมีข้อจำกัดในการสร้างสรรค์ผลงาน ไม่ว่าจะเป็นโจทย์จากลูกค้า งบประมาณ หรือสไตล์ลายเซ็นออฟฟิศนั้นๆ ทำไปได้ไม่นาน เวิร์คก็เริ่มรู้สึกเบื่อ และเริ่มรู้ตัวว่าการทำงานในลักษณะนี้ไม่เหมาะกับเขาเท่าไรนัก ก่อนจะเริ่มมองหางานอดิเรก (แก้เซ็ง) ที่ทำให้เขาได้ทดลองทำอะไรใหม่ๆ ในสิ่งที่ตัวเองคิดและต้องการจริงๆ ไม่ใช่เพียงการทำตามคำบอกหรือโจทย์ที่ได้รับมา

ออกแบบภายในให้ ‘นอกกรอบ’

“พื้นฐานเวิร์คเป็นคนชอบอะไรท้าทาย ชอบอะไรสนุกๆ เราชอบสร้างสรรค์สิ่งใหม่ พยายามดีไซน์อะไรแปลกใหม่ คิดให้มันนอกกรอบ แต่ตัวจริงผมก็ไม่ได้เป็นคนแอคทีฟ ต้องออกไปทำกิจกรรมอะไรผาดโผนขนาดนั้นนะ (หัวเราะ) ส่วนมากเราจะใช้เวลาไปกับการคิดมากกว่า ว่าเราจะทำแบบนั้น แบบนี้ ที่สำคัญคือเราต้องลงมือทำจริงเลย คือทดลองไปกับสิ่งที่เราคิด”

งานที่อดิเรกที่ว่านั้น เวิร์คตัดสินใจอยู่นานว่าจะทำอะไรดี วิธีง่ายๆ คือการลองหันกลับมามองว่าตนเองทำอะไรได้ดี อะไรคือสิ่งที่สนุกที่สุดในการทำงานแต่ละครั้ง ซึ่งเวิร์คก็พบคำตอบว่า การดีไซน์ผลงาน และการนำภาพในหัวเหล่านั้นออกมาเป็นภาพสามมิติ คือขั้นตอนที่เขารู้สึกตื่นตาตื่นใจและสนุกไปกับมัน  เวิร์คจึงร่วมกับเพื่อนจากรั้วมหาวิทยาลัยอีก 3 คน (เกษศิริ นิติพิสานนท์ , ศุภณัฐ เหม่งเวหา และภทรกร เกตุสมบูรณ์) เริ่มต้นทำ 3D model เล็กๆ ที่นำความรู้ของอินทีเรียดีไซน์ที่มีอยู่มาผสมผสาน จากเรื่องเล่นๆ จึงกลายเป็นแอคเคาท์อินสตาแกรม @what_the_bed ที่ปัจจุบันมียอดคนติดตามถึง 6,000 กว่าคน

“เวิร์คเคยคุยกับหลายๆ คน เขาบอกว่างานอินทีเรียดูเข้าถึงยาก ถ้าเราไม่ใช่สายดีไซน์เนอร์ หรือคนที่กำลังมองหาการตกแต่งบ้าน ก็แทบจะไม่มีใครมาดูงานอินทีเรียเลย เปรียบเทียบกับงาน 3d Model งานแอนิเมชั่น หรือตัวการ์ตูนต่างๆ เรากลับนั่งดูเล่นกันได้โดยไม่เบื่อ เราเลยรู้สึกว่ามันน่าจะสนุกดีถ้าเอาสองสิ่งนี้มารวมกัน น่าจะดูแตกต่าง ในขณะที่ทำให้คนธรรมดาเข้าถึงงานอินทีเรียได้ง่ายขึ้นด้วย”

เวิร์คและทีมมองหาแรงบันดาลใจจากผลงานศิลปะหลายสาขา แล้วนำมาเอามาประยุกต์เข้าด้วยกัน พร้อมใส่แนวคิด ธีม ลูกเล่น หรือความตลก น่ารักเข้าไปเจือปน เพื่อให้คนทั่วไปเพลิดเพลินไปกับการดูได้โดยไม่จำเป็นต้องคิดอะไรเยอะ Nike และ Supreme แบรนด์แฟชันที่คุ้นตา ตัวละครที่คุ้นเคยอย่างสตรอมทรูปเปอร์ เกมปังย่าที่เราเคยเล่นในวัยเด็ก หรือตัวการ์ตูนเรื่องโปรดอย่างทอยสตอรี่จึงถูกย่อส่วน นำดีเทลยิบย่อยที่เราคุ้นเคยมาปรับแต่ง ผสมกับความรู้ในการจัดองค์ประกอบและการบาลานซ์โทนสีจากการเรียนอินทีเรียมาผสม เกิดเป็นผลงานศิลปะสามมิติที่สดใหม่ ในเวอร์ชันที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่ายกว่าเดิม

อินทีเรียดีไซน์ในโลกแห่งจินตนาการ

ด้วยความที่ต้องมองหาโมเดลแปลกๆ หรือวิธีการใหม่ๆ ให้คอยศึกษาเพิ่มเติมอยู่เสมอ เวิร์คจึงได้เจอกับโปรแกรม Blender ซึ่งสามารถทำภาพ 3D ให้แปลกใหม่ และสามารถออกแบบสร้างสรรค์ผลงานตามภาพที่คิดไว้ในหัวได้มากขึ้น เมื่อทำ what_the_bed ซึ่งเป็นเลย์เอาท์ห้องเดิมๆ ไปได้สักพักหนึ่ง ก็ถึงเวลาที่เวิร์คเริ่มตั้งคำถามและมองหาโจทย์ใหม่ที่ท้าทายสำหรับตัวเองอีกครั้ง ขยับขยายสู่แอคเคาท์ใหม่ในชื่อ WORA_WORK

“จากตอนแรกที่จะทำเล่นๆ เวิร์คตัดสินใจออกมาลองศึกษาโปรแกรมนี้จริงจังดู ทดลองไปเรื่อยๆ ศึกษาด้วยตัวเอง เราพยายามใส่แนวคิดให้มันแตกต่างจากแอคเคาท์เดิม คิดคอนเซ็ปต์ใหม่ๆ ให้มันดูหลากหลาย แต่สิ่งที่ยังคงอยู่ คือเราพยายามเอาความรู้เรื่องอินทีเรียดีไซน์ เรื่องสเปซมาผสมผสานเข้าไปภายในโมเดลแต่ละอันด้วย”

หากใครพอจะรู้จักโปรแกรมดังกล่าว ก็จะรู้ว่ามี Default Cube เป็นจุดเริ่มต้นในการปั้นโมเดล ซึ่งเวิร์คนำองค์ประกอบของอินทีเรียในสไตล์ต่างๆ พาเลทสีโทนต่างๆ มาดีไซน์กับโมเดล อ้างอิงจากฟอร์มสี่เหลี่ยม บิดทรงไปมา หรือหยิบวัตถุดิบที่เราต่างคุ้นเคยมาจัดวางให้ดุสนุกสนานมากขึ้น อย่างฟ้อนท์ภาษาญี่ปุ่น ตัวอักษร A หรือ ก “เราพยายามคิดให้ง่ายที่สุด เพียงแค่ใช้จินตนาการเข้ามาทำให้งานออกนอกกรอบ ไม่ได้ทำให้อินทีเรียมันเป๊ะไปตามทฤษฏี เพื่อให้คนรู้สึกว่างานอินทีเรียก็สนุกได้นะ ไม่จำเป็นต้องจริงจัง สามารถดูเพลินๆ ได้เหมือนกัน” 

เมื่อได้ใช้เวลากับมันอย่างเต็มที่ ชำนาญในโปรแกรมมากขึ้นในทุกวัน เวิร์คก็มีโอกาสได้รับงานหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการทำ 3D สำหรับโฆษณา งานเปิดตัวสินค้า หรือแม้แต่การเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบ 3D Model ในเกม Kingdoms reborn จากบริษัท Earthshine สู่การก้าวเข้าสู่การเป็นศิลปินหรือ 3D Designer อย่างเต็มตัว “มันเหมือนเราได้ทำในสิ่งที่ชอบไปพร้อมกับการทำงาน อย่างเกม มันไม่ได้มีข้อจำกัดมากขนาดนั้น เราได้ทำในสิ่งที่เราอยากออกแบบจริงๆ เราเลยเอนจอยมากๆ ถ้าเทียบกับงานอินทีเรีย ข้อจำกัดมันเยอะกว่านี้มากเลย เหมือนอยู่ในโลกจินตนาการ กับโลกแห่งความเป็นจริง ประมาณนั้นครับ (หัวเราะ)”

(ผลงานออกแบบ 3D Model ในเกม Kingdoms reborn)

NFT แพลทฟอร์มที่สนับสนุนคนมีฝีมือให้กลายเป็นศิลปิน

ย้อนเวลากลับไปหลายสิบปีก่อน เราคงมองว่า ‘ศิลปิน’ เป็นอาชีพที่ไส้แห้ง กว่าจะขายงานหรือโด่งดังเป็นที่รู้จักในวงกว้างได้ ต้องดิ้นรน จนศิลปะหรือศิลปินกลายเป็นเรื่องที่คนทั่วไปแทบจะแตะต้อง เข้าถึงได้ยากเหลือเกิน ผิดจากในปัจจุบัน แพลทฟอร์มดิจิตอลเกิดขึ้นมากมาย หนึ่งในนั้นคือ NFT หรือ Non-Fungible Token ตลาดผลงานดิจิทัลที่เปิดโอกาสให้คนทุกคนสามารถเป็นเจ้าของผลงานศิลปะได้อย่างง่ายดาย

“จริงๆ ต้องพูดไปถึงคริปโทเคอร์เรนซี หรือสกุลเงินยุคใหม่ ซึ่ง NFT มันก็เป็นการขายผลงานผ่านทางดิจิตอลเพื่อให้คนที่ถือสกุลเงินนั้นๆ มาซื้อได้ เวิร์คก็เพิ่งศึกษาเรื่องนี้ได้ไม่นาน แต่คิดว่ามันเป็นตลาดยุคใหม่ที่น่าจะรุ่งมากสำหรับการเป็นศิลปินในอนาคต เป็นแพลทฟอร์มหนึ่งที่ทำให้คนที่มีฝีมือหลายๆ คน สามารถเป็นศิลปินได้จริงๆ ในประเทศไทย”

นอกจากผลงานที่มีให้เห็นใน @WORA_WORK และการออกแบบโมเดล 3 มิติที่ทำเป็นงานหลักแล้ว เวิร์คยังคงไม่หยุดที่จะมองหาสิ่งใหม่หรือเติมความรู้ให้กับตนเองอยู่เสมอ โดยปัจจุบันเวิร์คไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้าน Media and Technology ที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อต่อยอดเทคโนโลยีดิจิตอล 3 มิติที่ตนเองสนใจในอนาคต

ก่อนจะจบบทสนทนา เวิร์คยังทิ้งท้ายว่า “เวิร์คทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ ถึงมันจะไม่ได้ออกมาดีทุกครั้ง แต่เวิร์คก็มีความสุขที่จะได้ทำ และเชื่อว่าถ้าทำไปเรื่อยๆ ยังไงเราก็น่าจะเก่งขึ้น ตอนเริ่มต้นเราก็ไม่ได้คิดว่ามันจะออกมาดี แค่คิดง่ายๆ เลยว่า เราอยากทำและเราต้องทำ กลับมามองตอนนี้ มันก็ยังมีอีกหลายสิ่งที่เรายังไม่รู้ ซึ่งเราก็ต้องลองทำ และค้นหามันต่อไปเรื่อยๆ”  นี่แหละ คือ พลังแห่งความสดของคนรุ่นใหม่ ในแบบที่โลกอนาคตต้องการ!

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้