คำว่า “เมแทบอลิซึม” (Metabolism) มาจาก ภาษากรีก แปลว่า การเปลี่ยนแปลง หากพูดถึงในเชิงชีววิทยา แล้วนั้นหมายถึง กระบวนการที่เซลล์สิ่งมีชีวิตเปลี่ยนสารอาหารให้กลายเป็นพลังงาน เพื่อให้สิ่งมีชีวิตดำรงอยู่และเจริญเติบโต
ในยุค 60 ซึ่งเป็นยุคที่ทั่วทั้งโลกกำลังฟื้นตัวหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการใช้ระบบอุตสาหกรรมเข้ามาช่วยในเพิ่มกำลังการผลิตทั้งในวงการการก่อสร้างและของอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ทำให้เมืองมีการเจริญเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีกลุ่มสถาปนิกมากมายแสดงแนวความคิดเกี่ยวกับรูปแบบการพัฒนาเมืองและภาพเมืองในอนาคต เช่น กลุ่ม Team 10 และ Archigram ในอังกฤษ กลุ่ม GEAM ในฝรั่งเศส กลุ่ม Superstudio ในอิตาลี ส่วนในฝั่งประเทศตะวันออกอย่างญี่ปุ่นก็เกิดกลุ่ม Metabolism ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของดีไซน์เนอร์รุ่นใหม่ทั้งสถาปนิก นักอออกแบบผลิตภัณฑ์และกราฟฟิคดีไซเนอร์ ที่เปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงไปของบริบทต่าง ๆ ในสังคม คล้ายกับวิถีของสิ่งมีชีวิต จึงนำคำว่า Metabolism มาอุปมาในเชิงสถาปัตยกรรม เพื่อให้อาคารสามารถปรับเปลี่ยน ซ่อมแซม หรือขยายขนาดเพิ่มขึ้นได้ ตามรูปแบบการใช้งานและบริบทของเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป
ซึ่งความคิดนี้ถูกเผยแพร่ครั้งแรกในงาน World Design Conference ที่จัดขึ้นที่โตเกียวในปี 1960 ผ่านการตีพิมพ์หนังสือ และต่อมาในงาน Osaka Expo 1970 Kisho Kurokawa สถาปนิกหนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม Metabolism ได้จัดแสดงผลงานอย่าง Takara Beautilion ซึ่งเป็น installation ในรูปแบบโมดูลโครงเหล็กขึ้นรูปทรงสี่เหลี่ยมที่สามารถต่อกันไปได้เรื่อย ๆ เป็นอนันต์ ทุกทิศทาง นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่นำมาสู่การออกแบบ นากางิง แคปซูล ทาวน์เวอร์ (Nakagin Capsule Tower)
จาก World Expo สู่ Nakagin Capsule Tower
Takara Beautilion เป็นชิ้นงานที่ได้รับความสนใจจากผู้คนอย่างล้นหลาม รวมถึงการสร้างแรงบัดาลใจให้Torizo Watanabe ประธานบริษัท Nakagin Co, คิดถึงแนวทางที่จะพัฒนาการอยู่อาศัยรูปแบบใหม่ ใจกลางโตเกียวอย่างในย่านกินซ่า (Ginza) ขึ้นเพื่อรองรับกลุ่มนักธุรกิจที่มีบ้านอยู่ชานเมือง และต้องการเข้ามาพักอาศัยในเมืองเป็นครั้งคราว ซึ่งตอนนั้นพื้นที่ใจกลางโตเกียว เต็มไปด้วยสำนักงานและอาคารพาณิชย์ ราคาแพง ผู้คนต่างย้ายออกไปอยู่รอบนอกเมืองและใช้ระบบขนส่งสาธารณะเข้ามาทำงานในตอนเช้าแทนเพื่อแลกกับค่าที่พักราคาประหยัด
คิโช คุโรซาวะ (Kisho Kurokawa) ได้รับหน้าที่ในการออกแบบ Nakagin Tower แห่งนี้ โดยเริ่มจากแนวความคิดของ Installation ที่ได้นำเสนอในงาน Expo โดยตั้งใจให้อาคารเกิดจากการเสียบประกอบ (Plug-in) ของชิ้นส่วนต่าง ๆ ซึ่งถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ ตามอายุขัยของวัสดุ ได้แก่ ส่วนโครงสร้างหลักคือ แก่นอาคาร (Main Shaft) ซึ่ง Kurokawa มองว่าเป็นส่วนที่ไม่ต้องการซ่อมบำรุงมาก มีอายุยื่นยาว 60 ปีเป็นอย่างต่ำ ส่วนยูนิตห้องพัก (Capsule) เป็นส่วนที่ต้องการการซ่อมบำรุงหรือปรับเปลี่ยนฟังก์ชั่นตามยุคสมัยทุก ๆ 25 ปี และส่วนงานระบบ (Service) ที่ต้องการการซ่อมบำรุงบ่อยที่สุด ทั้ง 3 ส่วนนี้ถูกประกอบเข้าด้วยกันเป็นอาคาร และสามารถแยกออกจากกันได้อย่างอิสระ เป็นเสหมือนชิ้นส่วนของเครื่องจักที่เสียบเข้าและถอดออกจากกันได้ เพื่อความสะดวกในการถอดเปลี่ยนเมื่อถึงคราวหมดอายุขัยของมัน
ลักษณะตัวอาคาร แบ่งเป็นชาฟท์ 2 อันเป็นปล่องลิฟต์และบันได และทำหน้าที่เป็นโครงสร้างหลักของอาคาร ส่วนแคปซูลทั้งหมดจำนวน 140 ยูนิตขนาด 4 x 2.5 x 2.5 เมตร นำมาประกอบเข้ากับชาฟท์ ทั้ง 2 อย่างไม่สมมาตร มี 11 ชั้น และ13 ชั้น มีทางเดินเชื่อมกันทุก ๆ 3 ชั้น ด้วยสะพานคอนกรีตภายนอก ท่อน้ำท่อไฟ ส่วนงานระบบต่าง ๆ ประกบเข้ากับตัวแคปซูลที่ด้านนอก
ตัวชาฟท์ทำจากคอนกรีต ซึ่งเป็นส่วนเดียวที่ถูกสร้างขึ้นที่หน้างาน ส่วนตัวแคปซูทำจากโครงทรัส (Truss) ปิดด้วยแผ่นกัสวาไนซ์ (Galvanized-rib steel Panel) ใช้วิธีทำสำเร็จจากโรงงาน (Prefabricated) เช่นเดียวกับสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ภายในที่ถูกทำขึ้นจากโรงงานอีกแห่งหนึ่ง และขนส่งไปยังโรงงานที่ทำตัว Capsule ประกอบเข้าด้วยกันก่อนถูกส่งมาติดตั้งที่หน้างาน ด้วยการยึดน๊อตเพียง 4 ตัวเข้ากับปล่องชารฟท์เท่านั้น
ภายในแคปซูล มีขนาด 3.1 x 2.3 เมตรเท่ากับขนาด 4 เสื่อตาตามิ ซึ่งเป็นวิธีการกำหนดขนาดห้องแบบญี่ปุ่น นับว่าเป็นขนาดที่เล็กมาก Kurokawa กล่าวว่า เขาไม่ได้ออกแบบอพาร์ทเมนท์ ไม่ใช่หอพัก แต่เป็น 1 ยูนิต ห้องนอน ที่นำมาประกอบเข้าด้วยกันเป็นอาคารสำหรับคนที่ต้องการมาพักในเมือง ด้วยขนาดที่เล็กมากของห้องพัก สิ่งอำนวยความสะดวกภายในจึงถูกออกแบบติดตั้งกับตัวแคปซูล ประกอบไปด้วยห้องน้ำสำเร็จรูป เตียง ตู้ โต๊ะทำงานทีวี ตู้เย็น เตา เครื่องปรับอากาศ เครื่องฝอกอากาศ โทรศัพท์ นาฬิกา ทั้งหมดนี้ถูกออกแบบให้มีลักษณะเฉพาะกับพื้นที่ที่มีขนาดเล็กเพียง 7 ตารางเมตร
เส้นทางที่ไม่ถูกเลือกเดิน
แม้ Nakagin Tower จะสร้างบนแนวความคิดการถอดประกอบแต่ละยูนิตเมื่อต้องการซ่อมแซม เปลี่ยนใหม่ แต่กว่า 40 ปีที่ผ่านมายังไม่เคยได้มีการถอดประกอบ เนื่องจากทุกอย่างเป็นสิ่งที่ออกแบบมาเพื่อใช้กับอาคารนี้โดยเฉพาะ การซ่อมจึงมีราคาสูงมาก และสิทธิการซ่อมบำรุงขึ้นอยู่กับผู้ซื้อเนื่องจากเป็นการขายขาด ประกอบกับการออกแบบทีให้แต่ละแคปซูลแยกอิสระต่อกัน ทำให้ไม่ได้ใช้ประสิทธิภาพสูงสุดของพื้นที่ ซึ่งหากสร้างขึ้นใหม่โดยใช้พื้นที่เต็มประสิทธิภาพจะมีพื้นที่ใช้สอยในอาคารเพิ่มขึ้นถึง 60 %
ตั้งแต่ในปี 1988 Kurokawa ได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ในรีโนเวทอาคารโดยการเก็บชาฟท์หลักทั้งสองอันไว้ และทำการถอดเปลี่ยนแคปซูล โดยมีการขยายขนาดแคปซูลเพื่อให้ได้พื้นที่เพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้คุ้มทุนกว่าการสร้างอาคารขึ้นใหม่ทั้งหมดได้
ในปี 2007 ได้มีการทำมติโดยได้เสียงจากผู้พักอาศัยมากกว่า 80 % ของผู้พักอาศัยทั้งหมด ให้ทำการรื้อถอน จึงเกิดกระแส “Save Nakagin Capsule Tower” ขึ้นซึ่งองค์กรเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมหลายองค์กรในญี่ปุ่นทั้ง Japan Institute of Architects, the Japan Federation of Architect and Building Engineer Associations และ DoCoMoMo Japan รวมถึงสียงจากนานาชาติต่างสนับสนุนให้เก็บรักษาอาคารและทำการรีโนเวทตามแนวทางของ Kurokawa
Nicolai Ouriussoff นักวิจารณ์สถาปัตยกรรมของหนังสือพิมพ์ The New York Times เคยเขียนบทความชื่อ Future Vision Banished to the Past ซึ่งได้กล่าวให้การสนับสนุนการเก็บรักษาอาคารนี้ไว้ว่า การดำรงอยู่ของ Nakagin Capsule Tower เป็นหลักฐานที่แสดงถึงเส้นทางที่ไม่ถูกเลือกเดินของชุดความคิดที่เกิดขึ้นจากกลุ่มของค่านิยมหนึ่ง ๆ ในยุคสมัยนั้น ซึ่งแม้ว่าความคิดนั้นจะไม่ได้ประสบความสำเร็จนัก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็ย่อมส่งผลถึงแนวความคิดอื่น ๆ ต่อมา
จุดกำเนิดของหลายสิ่งที่เราคุ้นชินในปัจจุบัน
จากเหตุผลหลาย ๆ ประการทั้งในเชิงธุรกิจ และการเติบโตของไปของบริบททางสังคมที่ยากเกินการคาดเดา ทำให้แนวความคิดนี้ของ Kurokawa ไม่ประสบความสำเร็จ แต่บนชุดความคิดนี้ก็ล้วนส่งผลมายังแนวความคิดปัจจุบัน กล่าวคือ Nagakin Capsule Tower นี้เป็นจุดกำเนิดของหลาย ๆ สิ่งในญี่ปุ่นทั้ง รูปแบบการพักอาศัยชั่วคราวในพื้นที่ขนาดเล็กจนเกิดเป็น Capsule Hotel วิธีการก่อสร้างแบบ Prefabricated ทำให้เกิดบ้านสำเร็จรูปและห้องน้ำสำเร็จรูปที่เป็นที่นิยมแพร่หลายอย่างมากในเวลาต่อมา ทั้งยังเป็นต้นแบบอาคารที่นำไปสู่การพัฒนาอาคารพักอาศัยที่มีความหนาแน่นสูงในเมืองใหญ่ทั่วโลกอีกด้วย
Kisho Kurokawa
Kisho Kurokawa เกิดในปี 1934 เติบโตขึ้นมาในประเทศญี่ปุ่น และได้เข้ารับการศึกษาในคณะสถาปัตยกรรมภายใต้การดูแลของ Kenzo Tange จนจบปริญญาโทในปี 1959 ต่อมาในปี1960 ได้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Metabolism ขึ้นควบคู่ไปกับการเปิดบริษัท Kisho Kurokawa Achitect & Asoocites ในปี 1962 จนกระทั่งได้จัดแสดงผลงาน Osaka World Expo ซึ่งเป็นการนำโอกาสมาสู่การออกแบบอาคาร Nakagin Capsule Tower ดังที่ได้กล่าวไว้ตอนต้น นอกจาก Nakagin Tower แล้ว Kurokawa ก็ยังมีผลงานอื่น ๆ ที่เริ่มจากชุดความคิดของ Metabolism Movement เช่น Capsule House K และ Sony Tower
แม้ว่าภาพลักษณ์ผลงานของ Kisho Kurokawa จะดูแปลกประหลาด ล้ำสมัย ณ ตอนที่สร้างขึ้น และดูไม่มีเอกลักษณ์ของความเป็นญี่ปุ่น แต่หากมองลึกเข้าไปในแนวความคิดของเขาแล้ว Kurokawa นับว่าเป็นสถาปนิกผู้นำเสนอแนวความคิดของสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นผ่านเทคโนโลยีแบบตะวันตก เพราะพิจราณาดูภาษาสถาปัตยกรรมของ Kurokawa แล้วนั้น ทั้งการใช้สัดส่วนห้องตามหน่วยเสื่อตาตามิ รูปแบบฟอร์มที่แตกย่อยออกเป็นหลาย ๆ สเปซ และมีความไม่สมมาตร มิใช่เป็นหนึ่งก้อนฟอร์มใหญ่ที่มักพบเห็นในงานฝั่งตะวันตก สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงถึงจิตวิญาณความเป็นญี่ปุ่นที่อยู่ในตัวของ Kisho Kurokawa ทั้งสิ้น
อ้างอิงข้อมูลและรูปภาพ
https://issuu.com/fernandogonzalezpiris/docs/kurokawa_kisho_metabolism_in_archit
https://www.acsa-arch.org/proceedings/Annual%20Meeting%20Proceedings/ACSA.AM.98/ACSA.AM.98.62.pdf
https://www.nytimes.com/2009/07/07/arts/design/07capsule.html
https://www.britannica.com/biography/Kisho-Kurokawa
http://architectuul.com/architect/kisho-kurokawa
https://www.ronenbekerman.com/showcase/nakagin-capsule-tower-otakus-room/
https://www.archdaily.com/961330/nakagin-capsule-tower-could-face-demolition
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!