หลังจากที่องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อย่อว่า WWF ได้เห็นถึงความสำคัญของผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธรรมชาติ ซึ่งส่งผลให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ ต้องตกอยู่ในอันตราย พวกเขาจึงร่วมมือกับ YAC หรือ Young Architects Competitions จัดโครงการประกวดแบบที่มีชื่อว่า WWF Observation Cabins เพื่อจุดประกายให้มนุษย์ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีส่วนร่วมในการเป็นส่วนหนึ่งของแรงขับเคลื่อนที่จะคอยปกป้องและฟื้นฟูธรรมชาติที่สวยงาม
วันนี้เราเลยชวน ฮิ้น-ธนัท ศักดานรเศรษฐ์ และฮัชเช่ย-ศุภราช หวังจินดามณี สองสถาปนิกชาวไทยที่ได้เข้ารอบ Finalist จากกว่า 300 ทีมผู้เข้าแข่งขันจากทั่วทุกมุมโลก มาบอกเล่าถึงแนวคิดจากผลงานของพวกเขาที่มีชื่อว่า The Nature Blanket ซึ่งถูกคิดออกแบบขึ้นมาอย่างพิถีพิถันด้วยความเข้าใจถึงพฤติกรรมและการอยู่อาศัยของเพื่อนต่างสายพันธุ์อย่างน่าสนใจ
ตั้งต้นจากพื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นมรดกโลก
โจทย์ในการประกวดครั้งนี้ ตั้งต้นมาจากพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีชื่อว่า “Lagoon of Orbetello” ซึ่งเป็นโอเอซิสที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์ในภูมิภาคทัสคานี ทางตะวันตกของประเทศอิตาลี นอกจากนี้ยังมีความพิเศษกว่าพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วไป เพราะเป็นพื้นที่ที่มีการไหลเวียนของกระแสน้ำขึ้น-น้ำลง ทำให้เกิดการทับถมของตะกอนในหลายๆ ระดับ ซึ่งตะกอนที่ว่านี้เอง ก็ถือเป็นแหล่งกำเนิดของห่วงโซ่อาหารที่มีสัตว์นานาชนิดเข้ามาอยู่อาศัย ตั้งแต่สัตว์น้ำขนาดเล็กไปจนถึงสัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่ ทำให้พื้นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงจน WWF ให้ความสำคัญ และประกาศให้เป็น “พื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นมรดกของโลก” รวมถึงมีการจัดตั้งศูนย์วิจัย ศึกษา ให้ความรู้ และจัดตั้งเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวทางนิเวศน์เชิงอนุรักษ์
(พื้นที่ชุ่มน้ำ “Lagoon of Orbetello”)
โจทย์ของโครงการประกวดแบบแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ Observation Cabins อาคารสำหรับส่องสัตว์ที่จะตั้งอยู่บริเวณชายขอบของโอเอชิส โดยในส่วนนี้จะแบ่งเป็น 3 รูปแบบด้วยกัน ประกอบด้วย On-the-ground Observation Point จุดส่องสัตว์ที่ระดับพื้นดิน Raised Observation Point จุดส่องสัตว์ที่ระดับเหนือพื้นดิน At-water-level Observation Point จุดส่องสัตว์ที่ระดับผิวน้ำ
อีกส่วนคือ Hosting Functions อาคารสำหรับรับรองแขกและกิจกรรมสนับสนุน ซึ่งประกอบด้วย Visitor’s Center and Training Center ศูนย์รับรองนักท่องเที่ยวและฝึกอบรมการศึกษา และ Guest House and Restaurant อาคารพักอาศัยสำหรับรับรองแขก
(อาคารส่องสัตว์ Observation Cabins และอาคารรับรองแขกและกิจกรรมสนับสนุน Hosting Functions ที่มีอยู่เดิม)
ซึ่งภาพรวมของทั้งสองส่วนต่างก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ การเปิดโอกาสให้คนที่เข้ามาในพื้นที่แห่งนี้ได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ รวมถึงเกิดการเรียนรู้และตระหนักถึงความสำคัญของระบบนิเวศน์ และสร้างจิตสำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบของมนุษย์ที่ควรมีต่อธรรมชาติ ทำให้ประเด็นเหล่านี้จึงถูกตีความออกมาเป็นรูปแบบของสถาปัตยกรรมในลำดับต่อมา
“เรามองจากสัตว์เป็นหลัก เดิมทีเราจะมองจาก Landuse ก็ได้ หรือจะมองจากโจทย์ที่เขาให้เป็น Architecture ก็ได้ เพียงแต่ว่าด้วยความที่เรามาดีไซน์งานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เกี่ยวข้องกับสัตว์โดยตรง และพวกเราเองก็มีความกังวลว่า ถ้าสมมติเรานำ Architecture มาตั้ง แล้วมันรบกวนการอยู่ของสัตว์ มันก็อาจจะไม่ใช่การดี แต่ถ้าสมมติว่า เราสามารถส่งเสริมให้สัตว์อยู่อาศัยได้ดีขึ้น และตัวเราเองก็สามารถซ่อนตัวจากมันได้ด้วย สัตว์เองก็จะรู้สึกปลอดภัย ก็น่าจะช่วยให้ผลงานของเราเกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริง”
“ถ้าเรามองจากโอเอซิสตรงกลางที่แบ่งพื้นที่ออกมาเป็น 4 ส่วนได้อย่างชัดเจน ได้แก่ Upland ที่มนุษย์อาศัยอยู่ Riparian Zone ตัวคั่นกลางระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ Marshland ที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่เป็นโซนที่มีการทับถมของตะกอน มีสัตว์มาทำรัง ปลา นก มาหาอาหารกินกัน และโซนสุดท้ายคือ Oasis เป็นส่วนที่ระดับน้ำมีความลึกกว่าพื้นที่อื่น มีปลา มีนกที่กินปลาเป็นอาหาร พื้นที่ทั้งหมดนี้จึงกลายเป็นพื้นที่ที่มีสัตว์หลากหลายชนิด และมีความหลากหลายทางชีวภาพมาก แต่ส่วนที่เรามองว่า ดูมีความอุดมสมบูรณ์น้อยกว่าพื้นที่อื่น มันคือ Lacking of sedimentation ซึ่งถ้าลองสังเกตจะเห็นว่าพื้นที่ตรงนี้มีการทับถมของตะกอนน้อยกว่าพื้นที่อื่น เพราะอยู่ใกล้กับลำคลองด้านบนที่มนุษย์สร้างขึ้น ทำให้ไม่มีต้นไม้ที่เป็น Riparian Zone เหมือนด้านล่าง สัตว์ไม่กล้ามาทำรัง และขาดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ สิ่งเหล่านี้เลยทำให้เรามองว่า ถึงจะไม่ใช่โจทย์ แต่ถ้าหากเราทำตรงนี้ให้อุดมสมบูรณ์ได้ มันก็คงจะเป็นอะไรที่พิเศษมากๆ”
ห่อหุ้มธรรมชาติด้วยการใช้วัสดุธรรมชาติ
สิ่งที่จะลงไปสัมผัสอยู่กับธรรมชาติ ควรจะไม่ใช่สิ่งแปลกปลอม และทำให้สัตว์รู้สึกปลอดภัย การออกแบบสถาปัตยกรรมให้กลมกลืนไปกับบริบทแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติเป็นหัวใจของผลงานชิ้นนี้ ผู้ออกแบบจึงมีแนวคิดในการเลือกใช้วัสดุที่มาจากธรรมชาติ โดยออกแบบรากฐานของสถาปัตยกรรมจากดิน (Natural Foundation) ด้วยดินอัด (Rammed Earth) ที่สร้างจากดินในพื้นที่ดั้งเดิมอยู่แล้ว นำมาก่อเป็นชั้นเพื่อเป็นโครงสร้างหลักของอาคาร รวมถึงสร้างสิ่งปกคลุมสถาปัตยกรรมด้วยพืชอย่างกก (Reed) มาใช้เป็น facade ที่ห่มสถาปัตยกรรมให้เกิดความกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับภูมิทัศน์ของพื้นที่ เพื่อไม่ให้ดูแปลกปลอมไปจากพื้นที่เดิม รวมถึงยังช่วยสร้างความรู้สึกที่ปลอดภัยกับสัตว์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นๆ
ซึ่งอีกสิ่งที่น่าสนใจก็คือ การต่อยอดวัสดุจาก “กก” ที่เมื่อหมดอายุการใช้งานในการเป็น facade ของสถาปัตยกรรมแล้ว ก็ยังสามารถถูกนำมาใช้ต่อในกระบวนการสร้างที่อยู่อาศัยของสัตว์ในพื้นที่ได้ด้วย และจากองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมข้างต้น จึงเป็นที่มาของภาษาของการออกแบบของทีม ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จึงเสมือนว่า ธรรมชาติปกคลุมสถาปัตยกรรมจนเป็นหนึ่งเดียวกัน จึงเป็นที่มาของแนวคิดหลักอย่าง The Nature Blanket นั่นเอง
จุดสังเกตการณ์สัตว์ที่ตีความจาก “รัง” ของสัตว์หลากหลายชนิด
โดยผู้ออกแบบได้ตีความรูปแบบของสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นจนได้อาคารสำหรับส่องสัตว์และอาคารสำหรับรับรองแขกที่ถูกตีความออกมาเป็น 5 ชิ้นงาน ซึ่งมาจากการตีความลักษณะและองค์ประกอบของ “รัง”จากการทำรังของสัตว์หลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นรังจากสัตว์นักล่าอย่างเหยี่ยวหรือรังจากตัวนาก
The Nest
เกิดจากการตีความคำว่า “รัง” ในมุมมองและการใช้งานของมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์สามารถเข้าไปอยู่ในธรรมชาติ หรือเข้าไปหลบในรัง เพื่อเฝ้าสังเกตสัตว์นานาชนิดโดยมีตัวสถาปัตยกรรมที่ออกแบบให้กลมกลืนไปกับแนวต้นไม้และภูมิทัศน์ ซึ่งมนุษย์จะสามารถช่อนตัวอยู่หลังผนังผืนนี้ แล้วเฝ้ามองออกไปเห็นวิวทิวทัศน์ด้านนอก รวมทั้งยังซึมชับความสวยงามของธรรมชาติโดยรอบ ผ่านช่องเปิดยาวแนวนอนได้โดยที่สัตว์ไม่ทันได้สังเกตเห็น
The Aerie
จากมุมมองของสัตว์นักล่าอย่าง “เหยี่ยว” ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร ตัวสถาปัตยกรรมจึงถูกมองว่าเป็นเสมือน “รัง” ที่มั่นคง แข็งแรง วางตัวอยู่เสมอกับแนวเรือนยอดของต้นไม้และเป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์ในพื้นที่ โดยที่ไม่รู้สึกแปลกแยกหรือโดดเด่นจากบริบทจนเกินไปซึ่งมีแนวคิดว่า เมื่อมนุษย์ได้รับประสบการณ์ของการมองและซึมชับบรรยากาศโดยรอบของโอเอซิสที่กว้างใหญ่จากจุดที่สูงที่สุดในพื้นที่ เขาจะเรียนรู้และตระหนักได้ว่า มนุษย์เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ที่อยู่ในธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่แห่งนี้ ในขณะเดียวกันมนุษย์เองก็มีอำนาจมากพอที่จะกำหนดความเป็นไปของธรรมชาติเช่นกัน
The Holt
จากการตีความลักษณะและองค์ประกอบรังของ “ตัวนาก” สถาปัตยกรรมหลังนี้จึงสร้างประสบการณ์ให้มนุษย์ได้สัมผัสธรรมชาติอย่างใกลัชิด อีกทั้งยังสามารถเฝ้าสังเกตพฤติกรรมและความสัมพันธ์ของสัตว์ขนาดเล็กในพื้นที่น้ำตื้นได้ โดยเมื่อมนุษย์เข้าไปอยู่ภายในตัว Cabin หลังนี้จะต้องนอนหมอบลงไปบนพื้นที่ภายใน ที่ถูกออกแบบให้เหมาะสมกับสรีระการหมอบของมนุษย์เพื่อให้เกิดมุมมองที่อยู่ใกลักับธรรมชาติมากที่สุด อีกสิ่งที่น่าสนใจที่แตกต่างจากจุดสังเกตการณ์อื่นๆ คือ ตัวสถาปัตยกรรมยังถูกออกแบบให้สามารถเคลื่อนย้ายได้เหมือน “เรือ” ซึ่งเป็นการเลี่ยงการเกิดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับกระบวนการทับถมของตะกอน ที่ละเอียดอ่อน และเป็นส่วนสำคัญมากของระบบนิเวศน์ในโอเอชิสแห่งนี้
Visitor’s Center
สถาปัตยกรรมหลังนี้เปรียบเสมือนประตูสุดเขตแดนของมนุษย์ที่จะเปิดไปสู่ดินแดนของธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ ตัวอาคารมีองค์ประกอบหลักคือ “รัง” ต่างๆ ของมนุษย์ที่มีฟังก์ชันการใช้งานที่แตกต่างกันอยู่ภายในโดยจะเรียงตัวตามแนวยาวของอาคาร พื้นที่ว่างที่อยู่ระหว่าง “รัง” เหล่านี้เป็น Multi-function Space และหากมองจากทางด้านหน้า สถาปัตยกรรมจะดูโปร่งจนสามารถมองทะลุพื้นที่ภายในไปจนถึงโอเอชิสได้ เกิดเป็นภาพเสมือนว่า “รัง” ของมนุษย์วางตัวอยู่ท่ามกลางดินแดนธรรมชาติแห่งนี้
Guest House & Restaurant
อาคารรับรองแขกมีการให้ความสำคัญกับเรื่องมุมมองของผู้ที่มาพักเป็นหลัก โดยทั้งในส่วนโถงรับรอง ส่วนรับประทานอาหาร และส่วนห้องพัก จะมีกรอบขนาดใหญ่เป็นองค์ประกอบหลัก เบื้องหน้าของอาคารจะเป็นทัศนียภาพของดินแดนธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ ในขณะที่เมื่อมองกลับไปทางด้านหลังจะเป็นการมองกลับไปสู่ดินแดนของมนุษย์ ซึ่งอาคารหลังนี้จะตั้งอยู่ตรงกลางของพื้นที่ และทำให้ผู้ใช้งานที่อยู่ภายในอาคารสามารถมองเห็นและรับรู้ถึงความแตกต่างของทัศนียภาพจากทั้งสองดินแดนได้อย่างชัดเจน
เชื่อมต่อมนุษย์และธรรมชาติให้อาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างเกื้อกูล
ฮิ้นเล่าถึงความรู้สึกที่ได้มาทำโปรเจ็กต์นี้ว่า “จากการที่ได้ทำโปรเจ็กต์นี้ มันเหมือนกับเราได้ทบทวนตัวเองอีกครั้งว่า เรามองทิศทางของสถาปัตยกรรมที่เราอยากทำยังไง เรามองหาบาลานซ์ของสถาปัตยกรรมกับธรรมชาติ นอกจากสถาปัตยกรรมจะสร้างประโยชน์ให้กับมนุษย์แล้วมันควรจะสร้างประโยชน์กลับคืนไปสู่ธรรมชาติได้ด้วย การที่ทั้งสองสิ่งสามารถอยู่กันอย่างเกื้อกูลได้ มันก็เป็นการเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน และไม่ว่าธรรมชาติจะมีปัญหาอะไร เราก็สามารถที่จะนำสถาปัตยกรรมเข้าไปช่วยเติมเต็มหรือแก้ไขธรรมชาติให้เกิดผลดีกับทั้งสองฝ่าย”
ในขณะที่ฮัชเช่ยเล่าเสริมว่า “ในการออกแบบ ถ้าเราสามารถนำสถาปัตยกรรมและธรรมชาติมาอยู่อย่างเกื้อกูลกันได้ มันก็จะทำให้งานมีความพิเศษมากขึ้น และทำให้ก่อนที่คนจะสร้างสิ่งต่างๆ ในพื้นที่ธรรมชาติขึ้นมา ได้ตระหนักคิดมากขึ้นก่อนที่จะลงมือทำอะไรที่จะทำให้เกิดผลเปลี่ยนแปลงตามมาจนทำให้ไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ ซึ่งการประกวดแบบครั้งนี้มันดีตรงที่ว่า มันชวนให้คำนึงถึงการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างนอบน้อม แล้วถ้าไอเดียนี้สามารถนำไปต่อยอดในอนาคต มันก็จะมีประโยชน์ทั้งกับผู้ที่ทำงานประกวด รวมถึงผู้ได้เข้ามาชมผลงานตรงนี้ด้วย”
แม้ผลงานประกวดแบบ The Nature Blanket จะไม่ได้ถูกนำมาสร้างจริง แต่ก็เป็นอีกงานที่น่าสนใจที่แสดงออกถึงมุมมองที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และยังเป็นอีกผลงานที่สะท้อนถึงความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานจากฝีมือของสถาปนิกชาวไทยรุ่นใหม่ หากใครที่ต้องการเข้าไปชมผลงานอื่นๆ ในการแข่งขันโครงการประกวดแบบ WWF Observation Cabins ก็สามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ Young Architects Competitions
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!