ความต้องการใช้พื้นที่อาคารนั้นอาจเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยซึ่งสอดคล้องกับบริบทสังคมในช่วงเวลานั้น ๆ การปรับปรุงอาคารและปรับเปลี่ยนฟังก์ชั่นการใช้งานเป็นเรื่องดีไม่น้อย ยิ่งถ้าเป็นอาคารที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์แล้ว การเก็บรักษารูปลักษณะภายนอกส่วนใหญ่ไว้ ต่อเติมบางส่วนให้เหมาะสมกับฟังก์ชั่นใหม่ เหมือนเป็นการคืนชีวิตให้อาคารเหล่านั้นอีกครั้ง แต่ก็เป็นเรื่องยากอยู่ไม่น้อยที่จะสร้างของใหม่ให้อยู่รวมกับของเก่าได้อย่างเหมาะสม เช่นเดียวกับพระราชวังลูฟวร์ (Louvre) ซึ่งเมื่อราวศตวรรษที่ 10 บริเวณตรงนั้นถูกใช้เป็นป้อมปราการสร้างโดยพระเจ้าฟิลลิป์ที่ 2 เพื่อป้องกันเมืองปารีสจากข้าศึกทางนอร์มังดี (Normandy) และมีการสร้างพระราชวังขึ้นในศตวรรษที่ 16 ใช้เป็นที่อยู่อาศัยของกษัตริย์สืบทอดต่อกันมาจนในยุคของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงย้ายไปอยู่ที่พระราชวังแวร์ซาย (Versailles) ในปี 1793 ได้มีการปรับเปลี่ยนการใช้งานให้เป็นมิวเซียมสำหรับจัดแสดงภาพวาดมากมายกว่า 537 คอลเลคชั่นซึ่งเป็นของสะสมในสมัยของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 5 แต่เพียง 3 ปีหลังจากนั้น มิวเซียมก็ถูกปิดตัวลงจากปัญหาเรื่องโครงสร้างของอาคารที่มีการเสื่อมสภาพ Napoleon Bonaparte ได้ทำการปรับปรุงและต่อขยายส่วนจัดแสดงผลงานศิลปะ จนกลับมาเปิดอีกครั้งในปี 1801
แม้ว่าจะผ่านการซ่อมบำรุงส่วนโครงสร้างและมีการต่อเติมบางส่วนแล้ว แต่จากอาคารที่เคยเป็นพระราชวังมาเกือบ 200 ปี ซึ่งผ่านการต่อเติมมาหลายครั้งในแต่ละยุคสมัย ถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นอาคารสาธารณะอย่างมิวเซียมแล้วนั้น ทำให้ไม่ได้สะดวกสบายต่อการใช้งานมากนัก ทั้งแปลนที่ซับซ้อน และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่เพียงพอเช่น ห้องเก็บชิ้นงาน ห้องน้ำ ร้านค้า ร้านอาหาร ทำให้ในปี 1981 François Mitterrand ประธานาธิปบดีของฝรั่งเศสในขณะนั้น ผู้ขึ้นชื่อว่าเป็นบุคคลที่ให้ความสำคัญกับศิลปะมาก ได้มีความคิดที่จะทำการปรับปรุงมิวเซียมแห่งนี้ ซึ่งนับว่าเป็นสถานที่สำคัญทั้งในเชิงประวัติศาสตร์และมีคุณค่าทางจิตใจต่อชาวฝรั่งเศสให้มีความทันสมัยและสามารถรองรับการใช้งานของคนที่มาเยี่ยมชมได้เป็นอย่างดี ซึ่งโดยปกติแล้วงานในส่วนของราชการจะต้องมีการจัดประกวดแบบเพื่อคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมมาออกแบบ แต่ในงานนี้ Mitterrand มีสถาปนิกในใจที่ต้องการให้มีทำโครงการนี้อยู่แล้ว คือ Ieoh Ming Pei สถาปนิกลูกครึ่งจีน-อเมริกัน ผู้ที่ได้แสดงฝีมือการออกแบบ The East Wing of the National Gallery of Art ที่ Washinton D.C. และเป็นเจ้าของบริษัท I.M.Pei & Associates
ปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้ไข
เมื่อ I.M.Pei ถูกทาบทามให้มาออกแบบปรับปรุง Louvre Museum แห่งนี้ เขาได้บินมายังปารีสเพื่อศึกษาทำความเข้าใจและหาแนวคิดในการออกแบบที่ปารีสอย่างเงียบ ๆ อยู่หลายครั้งโดยไม่บอกแม้กระทั่งทีมงานในบริษัท ซึ่งเขามักจะพักอยู่โรงแรมเล็ก ๆ ฝั่งตรงข้าม เฝ้าสังเกตและเดินมาที่มิวเซียมทุก ๆ วัน หลังจากการทำรีเสริชอยู่หลายต่อหลายครั้ง เขาค้นพบว่าจุดสำคัญที่ต้องแก้ไขคือ ‘เส้นทางเดินที่น่างงงวยภายในมิวเซียมแห่งนี้’ นั้นทำให้นักท่องเที่ยวมักหลงทางและตัดสินใจกลับออกไปหลังเดินชมไปเพียงไม่กี่ห้อง ซึ่งเป็นเพราะว่าในพระราชวัง Louvre นั้น นอกจากตัว Louvre Museum แล้วยังมีสำนักงานอื่น ๆ ประกอบอยู่ด้วย เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งทำให้เส้นทางในมิวเซียม เป็นทางเดินยาว ๆ กว่า 800 เมตร ที่ต้องเดินขึ้น ๆ ลงๆ อ้อมไปมาหลบที่ทำการสำนักงานต่าง ๆ อีกทั้งการขาดพื้นที่เซอร์วิสและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ
จากประสบการณ์ของ Pei ในตอนที่ออกแบบ National Gallery of Art เขาต้องใช้ สัดส่วนพื้นที่จัดแสดงต่อสำหรับส่วนบริการมากถึง 1 : 1 กล่าวคือ ในมิวเซียมมีพื้นที่จัดแสดงงานเพียง 50 % ส่วนอีก 50% จะเป็นพื้นที่สำหรับ โถงต้อนรับ ห้องประชุม (Auditorium) ร้านค้า ร้านอาหาร ห้องน้ำและห้องเก็บของ
จากเหตุผลดังกล่าว Pei ตัดสินใจที่จะออกแบบ พีรามิดกระจกขึ้นบริเวณกลางคอร์ทนโปเลียน (Napoleon Court) เพื่อเป็นทางเข้าหลักของตัวมิวเซียม เชื่อมต่อกับโถงต้อนรับใต้ดินอันใหม่ เพื่อรองรับผู้มาเยี่ยมชม ใช้เป็น Node หลักในการกระจายนักท่องเที่ยวเข้าสู่ส่วนต่าง ๆ และเป็นการทำให้เส้นทางอันซับซ้อนของมิวเซียมนั้นคลี่คลาย กล่าวคือ ช่วยให้ผู้มาเยี่ยมชมจดจำตำแหน่งได้ดีขึ้นหลงทางน้อยลง อีกทั้งยังเสนอต่อประธานาธิปบดีให้ย้ายกระทรวงการคลังออกจากปีกส่วน Richeliue เพื่อขจัดสิ่งกีดขวางการเส้นทางในมิวเซียม
ทำไมต้อง พีรามิดกระจก กลางคอร์ท?
หากมองในมุมใหญ่สุด คือ มุมของ Urban Design นั้น การวางตัวของพระราชวัง Louvre วางอยู่ในแนวแกนหลักของปารีส โดยเริ่มจากพระราชวัง Louvre วิ่งยาวไปผ่านสถานที่สำคัญของเมืองปารีส เช่น ประตูชัย (Arc de Triomphe) ถนนฌ็องเซลิเซ่ (Champs-Élysées ) แต่ตรงบริเวณ Louvre นั้นไม่มีเส้นทางสัญจรทางเท้าที่สะดวกสบาย ต้องอาศัยการนั่งรถยนต์เท่านั้น ในตอนนั้นพื้นที่คอร์ทนโปเลียนเดิมถูกใช้เป็นที่จอดรถของกระทรวงการคลัง ซึ่ง Pei มองว่าต้องจัดการภาพใหญ่สุด คือ ให้การลื่นไหลของคนด้วย การเปิดพื้นที่คอร์ทให้เป็นลานสาธารณะ และเปิดทางเดินใต้อาคารแต่ละปีก เพื่อให้คนสามารถทะลุออกไปเชื่อมส่วนได้ต่าง ๆ ของเมืองได้
เมื่อลานบริเวณนี้กลายเป็นพื้นที่ให้คนเดินผ่านไปมาแล้ว ทางเข้าหลักและตัวโถงต้อนรับก็เหมาะสมที่จะวางไว้ตรงกลางลาน ซึ่งตัวพื้นที่ของโถงนั้นจะถูกวางอยู่ใต้ดิน ส่วนที่โผล่ขึ้นมามีเพียงทางเข้าเท่านั้น
เขามองว่าทางเข้าของ Louvre Museum ต้องมีสเปซที่พิเศษต่างไปจากทางลงรถไฟฟ้าใต้ดินทั่วไป รูปทรงสามเหลี่ยมพีรามิดมีความเรียบ นิ่งและมีพลัง ทั้งจากมุมมองด้านนอก รวมถึงการเข้าไปอยู่ในสเปซด้านในภายใต้หลังคาสามเหลี่ยมนั้น และด้วยความที่คอร์ทนั้นล้อมรอบไปด้วยสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิค การใส่สถาปัตยกรรมโมเดิร์นเข้าไปแล้วใช้ความโปร่งใสของรูปทรง เป็นความขัดแย้งที่ไม่ได้แข่งขันกับสถาปัตยกรรมรอบ ๆ
Pei จึงเลือกวิธีนี้ในการสร้างของใหม่ขึ้นท่ามกลางของเก่า ดังนั้นกระจกจึงถูกเลือกมาเป็นวัสดุในงานนี้ทั้งหมด ซึ่งส่งผลดีต่อพื้นที่ภายในโถงต้อนรับที่ได้แสงธรรมชาติ และทำให้คนภายในสามารถมองออกมาเชื่อมต่อกับพื้นที่เมืองภายนอกด้วยเช่นกัน โดยพีรามิดนั้นจะประกอบจากชิ้นส่วนกระจกรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด 603 ชิ้นและสามเหลี่ยม 70 ชิ้น ยึดโยงกันด้วยโครงสร้างเหล็ก มีความสูงกว่า 21.60 เมตร คลุมพื้นที่กว้างถึง 1,000 ตารางเมตร ซึ่งภายหลัง Pei ก็ยังใช้พีรามิดกระจกในลักษณะเดียวกันนี้ กลับด้านลงไปในส่วนที่เป็นห้างสรรพสินค้าใต้ดินอีกทีหนึ่งที่เรียกว่า Louvre Inverted Pyramid เพื่อเป็นการเปิดช่องแสงธรรมชาติลงสู่ใต้ดิน ซึ่งเป็นโครงการปรับปรุง Louvre Museum ในเฟสที่ 2 หลังจากการสร้าง New Grand Entrance of Louvre Museum
หนทางการต่อสู้ที่ยาวนาน
ถึงแม้ว่าความตั้งใจที่ดีของ Pei ในการที่จะสร้างสถาปัตยกรรมโมเดิร์นที่วางตัวอยู่อย่างเบาบาง โปร่งใส สามารถมองทะลุผ่านไปได้ เพื่อส่งเสริมให้พระราชวัง Louvre ได้โชว์รายละเอียดองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิคที่หนักแน่นได้เต็มที่
แต่ความที่บริเวณพระราชวัง Louvre นั้นมีความสำคัญต่อชาวฝรั่งเศส ด้วยความที่เคยเป็นที่อาศัยของกษัตริย์ เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของความเป็นชาตินั้น ทำให้การจะสร้างอะไรขึ้นมาใหม่ในบริเวณนี้เป็นเรื่องยาก และยิ่งยากมากเมื่อเป็นสถาปนิกลูกครึ่งจีน-อเมริกันที่เป็นผู้ออกแบบสถาปัตยกรรมอันมีหน้าตาเหมือนสุสานของชาวอียิปต์ ถูกสร้างด้วยภาษาสมัยใหม่ แทรกขึ้นมากลางคอร์ทของสถาปัตยกรรมในยุคคลาสสิค ทุกอย่างดูขัดแย้งและขาดความเหมาะสมอย่างสิ้นเชิง เมื่อ Pei นำเสนอแบบที่เขาคิด มีเพียง Mitterrand เท่านั้นที่ไม่ได้แสดงความขัดแย้งใด ๆ แต่คนอื่น ๆ ในที่ประชุม รวมถึงคนฝรั่งเศสนั้น ไม่มีใครยอมรับแนวความคิดนี้เลย นั่นทำให้ Pei ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายอย่างมาก
ประกอบกับในตอนนั้นทักษะภาษาฝรั่งเศสของเขาไม่ได้เพียงพอต่อการสื่อสารโดยตรง Pei พยายามอย่างหนัก ซึ่งเขาเสียเวลาหลายปีในช่วงแรกไปกับการโน้มน้าวใจทุก ๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเจรจาเองการย้ายกระทรวงการคลังออกจากปีกในส่วน Richeliue ซึ่งตั้งอยู่มาอย่างยาวนาน จนกระทั่งในปี 1985 Pei สามารถโน้มน้าวใจให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตกลงสร้างตามแบบที่เขาคิดไว้ได้ แต่ก็ยังมีปัญหาต่อมา คือ การสร้างโถงต้อนรับใต้ดินจะถูกยุติลงทั้งหมด ถ้าเกิดการขุดไปเจอหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งมีความเสี่ยงมาก เพราะพื้นที่นั้นมีความเป็นมายาวนาน นับว่าโชคดีที่เมื่อขุดลงไปไม่ได้เจออะไรที่สำคัญมากพอให้หยุดการสร้างได้ จึงทำให้ New Grand Entrance of Louvre
สร้างเสร็จและอวดโฉมแก่สาธารณะ ในเดือนเมษายน ปี 1982
แม้ว่าในช่วงเวลานั้น จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย หนังสือพิมพ์ทุกสำนักพาดหัวข่าวในเชิงลบ Pei ถึงกับกล่าวว่า เขาไม่สามารถเดินบนถนนในปารีสแบบไม่มีเสียงนินทาและสายตาที่จับจ้องมาที่เขาได้เลย แต่ในปัจจุบัน The Louvre Pyramid นับเป็น Landmark ที่สำคัญของปารีสไม่แพ้กับ Eiflel Tower ซึ่งสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากมายในแต่ละปี และถือเป็นผลงานชิ้นเอกที่โด่งดังทั่วโลกของ I.M.Pei เลยทีเดียว
I.M.Pei
Ieoh Ming Pei เกิดและโตในประเทศจีน จนกระทั่งอายุ 17 ปี เขาได้ย้ายไปอยู่ที่อเมริกาและได้เข้าเรียนในคณะสถาปัตยรรมศาสตร์ที่ University of Pennsylvania ก่อนจะย้ายไปเรียนที่ Massachusetts Institue of Technology (M.I.T) จนจบปริญญาตรี ในปี 1939 และเข้ารับการศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่ Havard University ที่นั้น Pei ได้มีโอกาสเรียนกับ Walter Gropius สถาปนิกชาวเยอรมันผู้ก่อตั้ง Bauhaus School หลังจากเรียนจบ Pei ได้เขาทำงานที่ Webb & Knapp จนในปี 1955 เขาได้ออกมาตั้งบริษัท I.M.Pei & Associates หรือที่รู้จักกันในนาม Pei Cobb Freed & Partner
ในปี 2019 Pei จากโลกนี้ไปในวัย 102 ปี แต่ผลงานการออกแบบของเขาที่สั่งสมไว้ในช่วงชีวิตของการเป็นสถาปนิกนั้น มีมากมายหลากหลายชิ้น เช่น The East Wing of the National Gallery of Art อาคารสำนักงานใหญ่ของ Bank of China รวมถึง The Grand Entrance of Louvre ซึ่งล้วนแล้วแต่ถูกออกแบบด้วยภาษาสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ที่มีเอกลักษณ์ด้วยการสร้างฟอร์มและสเปซด้วยรูปทรงเรขาคณิต เช่นเดียวกับ New Grand Entrance of Louvre ถือว่าเป็นเสมือนลายเซ็นของ Pei ปรากฎอยู่บนงานของเขาทุกชิ้นเลยก็ว่าได้
อ้างอิงข้อมูล
https://en.wikipedia.org/wiki/Louvre_Pyramid#:~:text=The%20Louvre%20Pyramid%20(Pyramide%20du,entrance%20to%20the%20Louvre%20Museum.
https://www.architectmagazine.com/awards/aia-honor-awards/louvre-pyramid-the-folly-that-became-a-triumph_o
https://www.archdaily.com/88705/ad-classics-le-grande-louvre-i-m-pei
https://infinite.mit.edu/video/i-m-pei-designing-louvre-pyramid%E2%80%9D-mit-technology-day-641994
https://en.wikipedia.org/wiki/Louvre_Castle
https://www.livescience.com/31935-louvre-museum.html
https://www.biography.com/artist/im-pei
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!