Café Amazon
เมื่อสถาปัตยกรรมและธรรมชาติถูกออกแบบให้เป็นป่าที่ห่อหุ้มร้านกาแฟ

สำหรับเราแล้ว สัญลักษณ์หนึ่งที่บ่งบอกถึงการเดินทาง คือ บรรยากาศของการเลี้ยวเข้าปั๊มน้ำมัน รองท้องด้วยอาหารมื้อง่าย ๆ จิบกาแฟสักแก้ว ก่อนจะออกตัวไปยังจุดหมาย ร้านกาแฟ ร้านอาหารที่อยู่ในปั๊มต่าง ๆ จึงแข่งกันสร้างจุดขายเพื่อเชื้อเชิญผู้คนที่กำลังจะเดินทางผ่านให้แวะเวียนเข้ามาพักกันสักหน่อย เช่นเดียวกับ Café Amazon Concept Store ณ อำเภอวังน้อย จังหวัดอยุธยา ที่โดดเด่นด้วยอาคารจั่วทรงสูง รายล้อมไปด้วยความเขียวขจีของต้นไม้ เป็นบรรยากาศบ้าน ๆ  ง่าย ๆ ที่สะดุดตาและชวนให้เราแวะไปจิบกาแฟได้ไม่ยาก

หลังจากได้ที่ดินทำเลดีติดถนนใหญ่ มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นแลนด์มาร์คหรือจุดพักรถ จึงมาลงตัวที่ธุรกิจร้านกาแฟ Café Amazon โดยได้สถาปนิกผู้ชื่นชอบการหลอมรวมธรรมชาติเข้ากับงานสถาปัตยกรรมอย่าง คุณแมว-ภราดร กู้เกียรตินันท์ Design Director จาก P.O.P. studio มารับหน้าที่สร้างสรรค์ป่าอเมซอนรูปแบบใหม่จนกลายเป็นแลนด์มาร์คสำคัญบนถนนพหลโยธิน กม.56

คุณแมว-ภราดร กู้เกียรตินันท์ Design Director จาก P.O.P. studio

Café Amazon ที่มีภาพจำเป็นอาคารกลาสเฮาส์

“พอเรารู้โจทย์ว่าเป็น Café Amazon อย่างแรก คือ เราต้องไปหาคาแร็กเตอร์เพื่อจับมาใช้ในงานออกแบบ ลักษณะอาคารของร้าน Café Amazon ช่วงแรกเขาเป็นยังไง กาแฟเขาเป็นไลฟ์สไตล์แบบไหน ซึ่งจากที่สัมผัสมา ส่วนตัวเรามองว่ากาแฟอเมซอนเป็นกาแฟที่มีความไทย ๆ หลากหลายและกินง่าย”

แน่นอนว่าดีไซน์เนอร์ทุกคน เวลาจะออกแบบสิ่งใดย่อมต้องมีการศึกษาค้นคว้าสิ่งนั้น คุณแมวเองก็เช่นเดียวกัน จึงพบว่าเอกลักษณ์ของร้านคาเฟ่อเมซอนในยุคแรก ๆ จะโดดเด่นด้วยอาคารลักษณะกลาสเฮาส์ที่เน้นวัสดุเป็นโครงเหล็ก และงานกระจกเป็นส่วนมาก แต่ปัญหาที่พบตามมาคือความร้อนที่เข้าสู่ภายในอาคารและสิ้นเปลืองพลังงานโดยใช่เหตุ คุณแมวจึงตั้งใจแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยคงรูปแบบกลาสเฮาส์เอาไว้ แต่ปรับให้อาคารสามารถอยู่ในบริบทสภาพอากาศร้อนชื้นแบบเมืองไทยได้ดี ไปในทิศทางเดียวกับแบรนด์คาเฟ่อเมซอนที่พยายามใส่แนวคิดรักโลกเข้ามาในแบรนด์

คุณแมวตีความอาคารกลาสเฮาส์ในรูปทรงหลังคาจั่วสูงที่ลดพื้นที่ของกระจกลงให้เหลือเพียงระนาบที่อยู่ด้านในอาคารเท่านั้น พร้อมระเบิดผนังด้านข้าง เซ็ตออกขนาบข้างอาคารให้เป็น Air Gap 2 เลเยอร์ ล้อมรอบด้วยที่ว่างซึ่งทำหน้าที่บังแดด เป็นช่องให้ลมธรรมชาติไหลผ่าน ทำให้ความร้อนที่ปะทะผนังหินด้านหน้าโดนลมพัดออกไปก่อน อีกทั้งยังวางทิศทางของอาคารตามทิศของแสงแดด และเลือกเปิดช่องสกายไลท์ยาวในทิศตะวันออก เพื่อหลบความร้อน รับแสงธรรมชาติในขณะที่ไม่พาความร้อนเข้าสู่ภายใน

Something More : อาคารจั่วสูง 20 เมตรนี้ถูกออกแบบโดยอ้างอิงจากบริบท โดยทำหน้าที่เป็นจุดเด่นเพื่อให้รถที่ขับเร็วบนทางหลวงยังคงมองเห็นได้ในระยะไกล ฐานของอาคารออกแบบด้วยคอนกรีต ส่วนด้านบนเป็นโครงสร้างเหล็ก เพื่อให้สแปนโครงสร้างสามารถทำได้กว้างขึ้น โครงสร้างจั่วยังทำจากโครงสร้างเหล็กสำเร็จรูป Cellular Beam ซึ่งมีลักษณะเป็นรู ทำให้อาคารเบาขึ้น ในขณะที่สามารถยื่นโครงสร้างได้กว้างขึ้นด้วยเช่นกัน

Café Amazon กับความเขียวขจีของป่าและกาแฟที่กินง่าย

เพราะชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า คาเฟ่ อเมซอน แนวคิดหนึ่งที่จะลืมไปไม่ได้เลย คือบรรยากาศความเขียวขจีของป่า โทนสีเขียว น้ำตาล หรือวัสดุที่เด่นไปในทิศทางของธรรมชาติอย่างผนังหิน หรือไม้ ซึ่งทางสถาปนิกเองก็มองว่าความเป็นธรรมชาตินี้เป็นตัวการสำคัญที่เชื่อมโยงผู้คนทั้งทางกายภาพและทางความรู้สึก สู่การออกแบบที่สร้างลำดับการรับรู้ให้ผู้คนค่อย ๆ เข้าถึงร้านกาแฟโดยผ่านธรรมชาติก่อนจะเข้าสู่ภายในอาคาร

“มันจะเป็นความก้ำกึ่ง แทนที่จะจอดรถ เปิดประตู ซื้อกาแฟเลย มันจะมีลำดับการเข้าถึงเพื่อให้เขาปรับอารมณ์ ทุกอย่างมันจะดูซอฟต์ลง แนวคิดคล้าย ๆ บ้านในแถบเอเชีย ที่จะมี Transition Space ระหว่างภายนอกและภายใน เพื่อให้พื้นที่ทั้ง 2 นี้มันซึมเข้าหากันโดยไม่รู้ตัว”

ความรู้สึกที่ว่าเป็นตามที่คุณแมวบอก เพราะทันทีที่เราจอดรถและเดินมายังตัวร้าน จะผ่านสวน เขียวขจีที่รายล้อมไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ สร้างความร่มรื่นผ่อนคลาย และยังสัมผัสได้ถึงความเย็นชื้นของอากาศที่เข้ามาปะทะร่างกาย ซึ่งเราเองลองสังเกต พื้นที่เอาท์ดอร์ที่ไม่ค่อยถูกกับคนไทย กลับมีผู้คนออกมาเดินเล่นถ่ายรูป เดินชมธรรมชาติระหว่างรอกาแฟ กลายเป็นอีกบรรยากาศหนึ่งของร้านกาแฟที่ผ่อนคลาย สบาย ๆ เป็นกันเองตรงตามแนวทางของแบรนด์

การออกแบบไม่ได้เริ่มต้นและจบที่ตัวอาคารเพียงเท่านั้น แต่คุณแมวเล่าว่า ทั้งหมดคิดขึ้นจากลำดับการรับรู้ของคน ตั้งแต่ขับรถมาถึงสามารถมองเห็นต้นไม้เป็นจุดเด่นดึงสายตา ก่อนจะค่อย ๆ เดินเข้าสู่ตัวร้านโดยเชื่อมโยงพื้นที่ภายนอกและภายในเข้าด้วยกัน เมื่อเข้าสู่ภายในการตกแต่งด้วยต้นไม้เทียมยังสร้างความกลมกลืน ทำให้ความรู้สึกภายในและภายนอกถูกเบลอเข้าหากัน ถัดไปจากโซนทางเข้า จะพบกับ Golden shelf ซึ่งเป็นพื้นที่ขายสินค้าตามซีซัน โดยเป็นจุดที่ดึงดูดสายตาผู้คนมากที่สุด ถัดจากนั้น บริเวณด้านข้างจะเป็นเคาน์เตอร์กาแฟขนาบยาว สร้างความโดดเด่นในพื้นที่ เพื่อดึงดูดให้ผู้คนรู้สึกอยากเข้าไปสั่งกาแฟเป็นกลยุทธ์หนึ่งในด้านการขายที่ใช้การออกแบบเป็นตัวช่วย ส่วนที่เหลือภายในร้านจะค่อนข้างฟรีสไตล์ โดยเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้มีพื้นที่เดินเล่น เดินชมส่วนต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ

อีกส่วนหนึ่งที่สร้างความรู้สึกอิสระ คือการออกแบบทางสัญจรภายในในลักษณะลูป ที่สร้างทางเลือกหลากหลายให้กับผู้มาเยือน ไม่จำเป็นต้องขึ้นหรือลงในเส้นทางเดิม ซึ่งวิธีนี้จะสร้างความน่าสนใจให้การใช้งานพื้นที่ภายในได้ดี อีกทั้งยังเสริมแนวคิดในเรื่องของความเป็นธรรมชาติ ทางเลือกที่หลากหลายยังทำให้เรานึกถึงการเดินในสวน หรือป่าที่วกวนไปมา มีอิสระในแบบของตัวเอง พื้นที่ชั้นสองรวมถึงบันไดยังลดทอนด้วยชานพักและพื้นที่หลากหลายประเภท เพื่อหลอกล่อให้ผู้คนไม่เหนื่อยที่จะเดินขึ้นสู่ชั้นบน ไม่ว่าจะเป็นซุ้มต้นไม้เกาะกลางที่ออกแบบให้เป็นที่นั่งพักจิบกาแฟ หรือโซนโต๊ะนั่งที่จริงจังขึ้น โดยในโซนนี้ออกแบบ Feature Walls ด้วยผนังไม้โค้งสร้างเส้นสายกลมกลืน กลายเป็นจุดเด่นที่ดึงดูดให้ผู้คนสนใจที่จะเดินขึ้นมาบริเวณชั้นบน

ไม่ใช่เพียงพื้นที่สีเขียวที่โอบอุ้มให้ร้านร่มรื่น น่านั่งพักผ่อน แต่ธรรมชาติในอีกนัยหนึ่งของพื้นที่แห่งนี้ ยังเป็นบรรยากาศของความเป็นกันเองที่สอดแทรกผ่านองค์ประกอบเล็ก ๆ อย่างมาสคอตนกแก้ว ดอกไม้ ต้นไม้ตกแต่ง ยอมลดความเนี้ยบของงานดีไซน์ลงไปบ้าง และปล่อยให้ตัวแบรนด์และงานออกแบบทำงานร่วมกัน ภายใน Café Amazon Concept Store จึงเต็มไปด้วยบรรยากาศผ่อนคลายที่รอให้นักเดินทางแวะเวียนเข้ามาชิมกาแฟสักแก้ว

“เราชอบพื้นที่ที่มันมีการเปลี่ยนแปลงได้ เช่น วัชพืชมันงอกมาบนพื้นที่ที่เราเว้นไว้ คือ เราวางแผนไว้ระดับหนึ่งเพียงแต่ปล่อยให้ธรรมชาติมันมาดีไซน์ต่อ เราสนใจอะไรแบบนั้น รู้สึกว่ามันน่าจะต่อยอดวิธีคิดไปได้เรื่อย ๆ” คุณแมวกล่าว

Location: พหลโยธิน กม.56 อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา
Building Area: 700 sq.m.
Architect & Interior : P.O.P Design Studio Team
Owner : OR (PTT Oil and Retail Business Public Company Limited)
Contractor : นิติรักษ์ ดาวลอย Dowloy Integration Co.,Ltd
Civil Engineer : สุนทร เกียรติคงศักดิ์ SKS Engineers&Architects Co.,Ltd.
Electrical Engineer : ยุทธพล คงอุบล
Mechanical  Engineer : ไกรธเนศ บุญชู

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้