ไม่ว่าใครก็มีไอดอลส่วนตัวกันทั้งนั้น แม้แต่สถาปนิกและ Great Architects ที่ยึดโยงแนวคิดและมีอิทธิพล ส่งตรงต่อรูปแบบการทำงาน หรือแม้กระทั่งบ่งบอกไลฟ์สไตล์และเรื่องราวส่วนตัว (ไม่ต่างไปจากเพลงที่ฟัง หรือหนังสือที่อ่าน)
หรือหากไม่ใช่เพียงตัวบุคคล เราเองก็ยังต้องมีการค้นคว้าหาข้อมูลจากสถาปนิกรุ่นใหญ่ เพื่อศึกษาแนวคิด เป็นแหล่งอ้างอิงที่ดีในการสร้างสรรค์ผลงานยุคใหม่ออกมาให้ได้เชยชม Dsign Something จึงชวนมาส่องสถาปนิกรุ่นใหญ่ที่ 10 สถาปนิกไทยประทับใจเป็นการส่วนตัว จะเป็นใครกันบ้าง ลองมาแลกเปลี่ยนไอดอลคนโปรดของคุณ และมาดูไปพร้อมกันเลย !
ญารินดา บุนนาค
Imaginary Objects
“Peter Zumthor”
“โครงการของเขาเรียบง่าย แต่เน้นรายละเอียด และสามารถสร้างบรรยากาศและประสบการณ์ที่เป็นเอกลักษณ์และน่าจดจำได้ดีมาก ๆ ตัวอย่างผลงานที่ชอบก็จะมี Thermal Bath at Vals, Bruder Klaus และ Field Chapel”
Photo Credit : rethinkingthefuture.com
ทวิตีย์ วัชราภัย เทพาคำ
Department of ARCHITECTURE Co.
“Mark Wigley” “Elizabeth Diller”
“ที่จริงชอบ และศึกษาผลงานของสถาปนิกมากมายหลายท่าน แต่ละท่านต่างก็มีส่วนที่สร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นให้เราได้ขบคิดเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมในแง่มุมที่แตกต่างกัน แต่เราคิดว่าคนที่มีผลต่อแนวคิดและวิธีการออกแบบของเราจริง ๆ จะเป็นอาจารย์ของเราตอนเรียนมากกว่า (ซึ่งก็มีหลายท่านที่สำคัญเช่นกัน) แต่ขอยกตัวอย่างเป็น Thesis Advisor สมัยเรียนปริญญาโท คือ Mark Wigley ซึ่งอาจารย์ได้ไกด์กระบวนการทำงานในแบบที่เราไม่เคยทดลองทำมาก่อน และเป็นกระบวนการคิดที่เรารู้สึกว่าตรงกับธรรมชาติการคิดงานของเรามาก ๆ คือ Thesis มีเวลาแค่ 4 เดือน แต่ในหนึ่งเดือนแรก ไม่มีการร่างแบบ เขียนแปลนอะไรทั้งนั้น อาจารย์แค่บอกให้ครุ่นคิดถึงแก่นของเนื้อหา Thesis นี้อย่างเดียว จนเกิดการตกผลึกของความคิด หลังจากนั้นจึงเริ่มทำแบบร่าง ซึ่งกระบวนการนี้นำมาสู่การออกแบบที่มาจากตัวเราและจากเนื้อของโจทย์นั้นจริง ๆ ไม่ได้เกิดจากการรีบขึ้นฟอร์มหรือขึ้นแปลนเร็วเกินไป ซึ่งเราคิดว่ามันทำให้ได้งานที่มีที่มาที่ไป แตกต่างและตั้งคำถามใหม่ ๆ ได้
ตอนที่เราทำ Thesis อยู่ ก็ได้มีโอกาสเอางานไปปรึกษาสถาปนิกอีกท่าน คือ Liz Diller แห่ง Diller Scofidio + Renfro เราก็เริ่มสเก็ตช์แบบให้ดู ท่านก็บอกเหมือน Mark Wigley เลย และบอกว่าอย่าเพิ่งทำ ต้องมี Main Idea ที่แข็งแรงก่อนที่จะเริ่มเขียนเริ่มสเก็ตช์ ‘You have to have it first. It is not going to happen at a later stage.’ ประโยคสั้น ๆ ง่าย ๆ นี้เรายังจำได้ชัด และมีผลต่อกระบวนการออกแบบเรามาจนถึงทุกวันนี้”
photo credit : https://interiordesign.net/
https://www.re-thinkingthefuture.com
พัชระ วงศ์บุญสิน และอรณิชา ดุริยะประพันธ์
P.O.AR (Patchara + Ornnicha Architecture co.,ltd.)
พัชระ วงศ์บุญสิน
“Peter Zumthor”
“ตอนเรียนปริญญาโทที่ GSD ผมได้มีโอกาสเรียนและทำ workshop กับ Jürg Conzett ซึ่งเป็นวิศวกรหลักที่ทำงานกับ Peter Zumthor หลายงาน ทำให้ได้เข้าใจงานของเขาอย่างลึกซึ้งมากขึ้นกว่าสิ่งที่เห็นหรือได้อ่านจากหนังสือ กระบวนการออกแบบที่ได้คิดทุก ๆ องค์ประกอบ ตั้งแต่ส่วนโครงสร้าง งานสถาปัตย์ งานออกแบบภายใน ธรรมชาติแวดล้อม โปรแกรม ประสบการณ์ของคน วัสดุ เทคนิคและวิธีการก่อสร้างพร้อมกันตั้งแต่เริ่มโปรเจกต์ ซึ่งคุณค่าของแต่ละงานนั้นถูกแสดงออกมาผ่านเอกลักษณ์ในทุก ๆ องค์ประกอบ และไม่สามารถถอดแต่ละสิ่งออกไปจากงานแต่ละงานได้เลย ซึ่งในการทำงานของผมบางงานที่สามารถผลักดันได้ ก็พยายามสร้างงานที่มีเอกลักษณ์ ซึ่งไม่สามารถถอดองค์ประกอบใด ๆ ออกไปจากงานสถาปัตยกรรมเช่นเดียวกัน”
อรณิชา ดุริยะประพันธ์
“Valerio Olgiati” “Herzog de Meuron ”
“งานของเขาเป็นงานสถาปัตยกรรมที่เป็นส่วนผสมของศาสตร์และศิลป์ และมีนวัตกรรมในการออก แบบโครงสร้าง ซึ่งให้ผลลัพธ์ออกมาในเชิง Artistic Expression (การแสดงออกทางศิลปะ) ทำให้งานดู สดใหม่และมีความชัดเจนในคาแร็กเตอร์ ส่วน Herzog de Meuron จะคล้ายกับ Valerio ในเรื่องศาสตร์และศิลป์ แต่เราจะชอบในการเล่นกับโปรแกรมในการออกแบบสถาปัตยกรรม และงานแต่ละงานที่ไม่มีกรอบ”
วสุ วิรัชศิลป์ VaSLab ARCHITECTURE
“Le Corbusier” “Raimund Abraham”
“Le Corbusier เป็น Mastermind ของยุค Modern Architecture ที่มีแนวคิดการแก้ปัญหา และหลักการของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Five Points of A New Architecture) รวมทั้งงานออกแบบสถาปัตยกรรมแบบ Brutalist ที่ยังมีอิทธิพลกับสถาปนิกสมัยใหม่รวมทั้งผมเองในทุกวันนี้
ส่วน Raimund Abraham เป็นสถาปนิกชาวออสเตรียที่มี Poetic Vision ที่ได้รับอิทธิพลจาก Viennese Architecture ในการออกแบบงานสถาปัตยกรรมที่มีแนวคิดเทียบเคียงกับประติมากรรม นอกจากนี้ยังเป็นอาจารย์สอนผมที่ School of Architecture, Pratt Institute ซึ่งผมได้รับอิทธิพลในการมองเห็น และในการออกแบบงานมาจนถึงทุกวันนี้”
กุลธิดา ทรงกิตติภักดี
HAS design and research
“Renzo Piano” “Kengo Kuma”
“การได้ทำงานกับเรนโซ เปียโน (Renzo Piano) ในช่วงเริ่มต้นวิชาชีพสถาปนิกนั้น แน่นอนว่าแนวทางการทำงานของเรนโซ ได้ส่งผลต่อแนวคิดการออกแบบของเราในหลาย ๆ ส่วน โดยเฉพาะการออกแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นภาพสะท้อนแสดงถึงภาพลักษณ์ของเมือง ซึ่งทาง HAS ยึดเป็นแนวทางในการออกแบบที่สามารถพบเห็นได้ในทุกสเกลของโครงการ ขณะที่การสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมผ่านรูปแบบอาคารที่เรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยความพิถีพิถันในการใช้วัสดุก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ HAS ได้เรียนรู้มาจากการทำงานกับเคนโกะ คุมะ (Kengo Kuma) เป็นระยะเวลาหลายปี ทั้ง 2 แนวคิดที่มาจาก Great Architects ทั้ง 2 ท่านนั้นได้ถูกซึมซับและประยุกต์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบของพวกเราจนถึงปัจจุบัน”
มนัสพงษ์ สงวนวุฒิโรจนา
Hypothesis
“Rem Koolhaas”
“สถาปนิกที่มีอิทธิพลต่อความคิดในการออกแบบของผม คือ Rem Koolhaas เพราะ Rem ไม่ได้เป็นเพียงสถาปนิกที่มีชื่อเสียง แต่เป็นนักคิด นักเขียน และนักทฤษฏี ที่มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล (อาจพูดได้ว่าเป็น Le Corbusier ของยุคปัจจุบัน) สถาปัตยกรรมของเขาเกิดจากการผสมผสานกระบวนการคิดในรูปแบบต่าง ๆ เป็นสถาปนิกที่ให้ความสำคัญกับโปรแกรม และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างฟังก์ชันกับที่ว่าง มากกว่ารูปแบบและสไตล์”
นัฐพงษ์ พัฒนโกศัย
Cloud-Floor
“Sou Fujimoto” “Tadao Ando” “Junya Ishigami”
“มันมีหลากหลายเหตุผลนะ เราจะแบ่งแยกว่าถ้าเรื่องดีไซน์จะเป็นคนนี้ เรื่องการจัดการก็เป็นอีกคน แต่ปัจจุบัน ถ้ามองถึงสถาปนิกที่เราเชื่อในความคิดเขา และรู้สึกว่าเรียนรู้จากเขาได้มาก ส่วนมากจะเป็นสถาปนิกจากประเทศญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เราไม่ได้มีเบอร์หนึ่ง แต่รู้สึกว่าทั้งหมดของประเทศเขา คือแบบเรียนของเรา เพราะตอนเราเรียนที่เยอรมัน เราเห็นความหลากหลายพอสมควร เขาจะเน้นเรื่องนวัตกรรม การออกแบบและก่อสร้างค่อนข้างสูง อันนั้นเป็นจุดเด่น แต่พอเป็นญี่ปุ่น เขามี DNA ในการออกแบบของเขาที่มันสะท้อนออกมาในทุกชิ้นงาน คนเกือบทั้งประเทศมี DNA แบบเดียวกัน มันฝังรากลึกลงไปในวัฒนธรรมและจิตวิญญาณ ในความคิดและส่งผลต่อการออกแบบ ที่ยากที่จะเลียนแบบ”
บี วิทยถาวรวงศ์
Beautbureau Co., Ltd.
“บีเชื่อว่าสถาปนิกแต่ละคนมีลิสต์ส่วนตัวที่เก็บเล็กผสมน้อยมาตามประสบการณ์ชีวิตและส่งผลต่องานออกแบบ เราจะ Reference งานแทนการ Idolize ตัวบุคคล (เว้นแต่ที่นับเป็น Architect Gods ไปแล้วอย่าง Le Corbusier, Mies van der Rohe, Louis Kahn และสถาปนิกท่านอื่นๆ)
งานเหล่านี้ทั้งหมดยกเว้น Gelbe Haus เป็นงานที่เคยสัมผัสด้วยตนเอง และสร้างแรงสั่นสะเทือนที่จำติดตาติดใจเรา (จริง ๆ มีงานสถาปัตยกรรมที่น่าประทับใจอีกล้านแปดในภาพถ่ายและสื่อสารพัด แต่เชื่อว่าสถาปัตยกรรมที่ได้รับรู้สัมผัสด้วยประสบการณ์จริงกับสถาปัตยกรรมในภาพถ่ายแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง)
—Gordon Bunshaft’s Beinecke Rare Book & Manuscript Library : Translucent marble facade ทำหน้าที่ได้ฉลาดสมบูรณ์แบบเหมาะเจาะกับหน้าที่ (กรองแสงที่ผ่านเข้าอาคารเพื่อถนอมรักษาหนังสือโบราณ) งามทั้งข้างนอกข้างในจำได้แม่นว่าเดินผ่านประตูขึ้นบันได มองขึ้นไปเห็นแสงเรือง ๆ ที่ผ่าน facade เข้ามาภายใน สายตาปะทะกับสเกลของ Book Tower สูงหกชั้นตรงหน้า ผลคือตะลึงจนต้องนั่งตั้งสติ มองไปรอบ ๆ แล้วเริ่มยิ้มไม่หุบ ประสบการณ์ส่วนตัวนี้ทำให้เข้าใจในพลังของสถาปัตยกรรมต่อการรับรู้ของมนุษย์
—Carlo Scarpa’s Castelvecchio, Tomba Brion, Olivetti Showroom : ดีเทล และงานวัสดุมหัศจรรย์ ละเอียดละออ ล้นทั้งปริมาณและคุณภาพ มองไปทางไหนก็เหมือนเราอยู่ใน Architecture Wonderland ใช้เวลาเดินดู สัมผัส ได้เป็นวันๆ
—Studio Mumbai’s Office & Workshop : ชื่นชม Architectural Craftsmanship ของ Studio Mumbai อย่างมากจนต้องหาโอกาสไปเยือน เป็นสถานที่ที่ได้เห็นวิถีปฏิบัติที่สถาปนิก ศิลปิน และ Craftsmen ทำงาน ทำการทดลองต่าง ๆ ร่วมกันแบบ seamless
—Valerio Olgiati’s Gelbe Haus : งานแปลงบ้านเก่าสีเหลืองเป็นพิพิธภัณฑ์สีขาว เป็น Renovation Project ใหม่ในเก่าที่ชอบมากในแง่ Aesthetics และการจัดการกับพื้นที่ภายใน
—Le Corbusier’s Carpenter Center for the Visual Arts : งานเล็ก ๆ งานเดียวของ Corbusier ที่สร้างในอเมริกา เผอิญอยู่ถัดจากบ้านไปถนนเดียวสมัยเรียนหนังสือ นอกจากจะเป็นตัวอย่างของ Corbusian Modernism ให้ศึกษาในชีวิตจริงแล้วก็ยังเป็นสถานที่ที่มีความผูกพันส่วนตัว นับครั้งไม่ถ้วนที่เดินทะลุกลางตึกขึ้นไปนั่งพักกินข้าวเวลาคิดงานส่งครูไม่ออกหรือทำงานจนเบลอที่โรงเรียน ”
รักศักดิ์ สุคนธะตามร์
GreenDwell
“Richard Neutra”
“เป็นสถาปนิกที่ออกแบบบ้านซะเป็นส่วนใหญ่ และเราเห็นผลงานของสถาปนิกท่านนี้ในสื่อต่าง ๆ มานาน เห็นเป็นบรรยากาศในแต่ละรูป ต่างที่ต่างเวลา กดเข้าไปดูทีไรก็เป็นงานของสถาปนิกท่านนี้ทุกที พออ่านเรื่องราวก็พบว่า Neutra มีความคิดในการออกแบบบ้านที่ใช้ Person-Centered Design ผู้อยู่อาศัยเป็นจุดศูนย์กลางในการออกแบบ ชอบในมุมมองและทัศนคติในการออกแบบที่เน้นมุมมอง ความรู้สึกของผู้อยู่อาศัยจากภายในออกไปภายนอก ทำให้เกิด Well- being ของผู้อยู่อาศัยโดย Biological Sciences in Architecture และใช้เทคโนโลยีมาทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์อย่างกลมกลืนระหว่างคนและธรรมชาติ”
จีรเวช หงสกุล
IDIN Architects
“Le Corbusier” “Frank Lloyd Wright ”
“เราโตมากับยุคที่อาจารย์สอนพวก Modern Architecture ยุคนั้นยังไม่มีอินเทอร์เน็ต หนังสือในห้องสมุดก็ไม่ได้เยอะมาก เราจะเห็นแต่งานยุค Modernism แล้วก็รู้สึกว่ามันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างจะยิ่งใหญ่มาก เราว่ามันเป็นการปฏิวัติวิธีคิด แล้วการเปลี่ยนแปลงนั้นก็ส่งผลมาอีกเป็นร้อยปีเลยด้วยซ้ำ งานทุกวันนี้ก็ได้รากฐานมากมาย เรียกได้ว่าเราก็ยังทำงานในระบบวิธีคิดจากยุค Modernism อยู่ จริง ๆ เราชอบทุกคนเลย Le Corbusier, Mies van der Rohe, Walter Gropius, Louis Kahn หรือ Frank Lloyd Wright จริง ๆ มาเรียนสถาปัตย์นี่ก็เพราะ Frank Lloyd Wright เพราะตอน ม.2 เราไปเห็นภาพ Fallingwater House ในหนังสือ แล้วเรารู้สึกว่า เห้ย บ้านอะไร…โคตรเท่เลย เลยหยิบไปหาครูแนะแนว แล้วถามว่า ถ้าผมอยากมีบ้านอย่างนี้ ผมต้องเรียนอะไร พอครูบอกว่าสถาปัตย์ เราเลยตั้งเป้าไว้ตั้งแต่วันนั้นเลยว่าเราจะเป็นสถาปนิก”
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!