Dsign Something พาเดินทางข้ามประเทศมาส่องอีกหนึ่งสตูดิโอสถาปัตยกรรมที่เราหลงรักอย่าง Studio Mumbai จากประเทศอินเดียกับรูปลักษณ์ของสถาปัตยกรรมร่วมสมัยที่โดดเด่นในแก่นแท้ การผสมผสานวัฒนธรรมซีกโลกตะวันออกและตะวันตก การปรุงแต่งความเป็นพื้นถิ่น แบบงาน Craftmanship เข้ากับสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ สู่รายละเอียดของผลงานที่ซ่อนความพิถีพิถันในทุก ๆ องค์ประกอบ เราชวนมาดูเบื้องหลังงานออกแบบของ บีจอย เจน (Bijoy Jain) สถาปนิกและศิลปินแห่ง Studio Mumbai กันเลย!
จากนักว่ายน้ำมืออาชีพสู่นักออกแบบระดับโลก
บีจอย เจน (Bijoy Jain) เกิดที่เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย เขารักในสถาปัตยกรรมจึงตัดสินใจเริ่มศึกษาด้านนี้อย่างจริงจังและสำเร็จการศึกษาในเมืองมุมไบ ทุกอย่างกำลังไปได้ดีจนกระทั่งต้องเจอกับเรื่องเศร้าจากการสูญเสียคนในครอบครัว ทั้งคุณพ่อคุณแม่และพี่ชายในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน ปัญหาหนักหนาเปลี่ยนชีวิตของเขาไปอย่างสิ้นเชิง ทำให้ต้องโยกย้ายและถูกส่งตัวไปเรียนว่ายน้ำที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจนกลายเป็นนักว่ายน้ำมืออาชีพ
แต่ในท้ายที่สุดเขาก็ตัดสินใจกลับมาเรียนปริญญาโทด้านสถาปัตยกรรมที่ตนเองรักอีกครั้ง ณ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน มลรัฐเซนต์หลุยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา และหลังจากเรียนจบได้ไม่นานก็มีโอกาสได้เข้าทำงานที่สตูดิโอออกแบบของสถาปนิกระดับโลกอย่างริชาร์ด มายเออร์ (Richard Meier) ในช่วงปีค.ศ. 1989-1995 ก่อนจะตัดสินใจกลับมายังประเทศอินเดียเพื่อค้นหาแนวทางปฏิบัติทางด้านสถาปัตยกรรมเป็นของตนเอง จนเริ่มต้นก่อตั้ง Studio Mumbai ตามชื่อบ้านเกิด ด้วยรูปแบบการผลิตผลงานใหม่ที่มีทีมเล็ก ๆ รวมถึงช่างไม้และช่างสกัดรับผิดชอบทั้งการออกแบบและการก่อสร้าง
Studio Mumbai และความรักใน Craftmanship
บ้านหลังแรกที่บีจอย เจนออกแบบหลังจบการศึกษาจากโรงเรียน ตั้งอยู่ที่เมือง Alibag ในพื้นที่ชนบทนอกมุมไบอีกฟากหนึ่งของอ่าว เขาสเก็ตช์แบบบ้านหลังนั้นอยู่เป็นเวลาหกเดือน แต่เมื่อถึงเวลาเริ่มก่อสร้าง เมื่อแสดงภาพสเก็ตช์ให้ช่างก่อสร้างท้องถิ่นดู บีจอยเล่าว่าเหล่าช่างต่างมองมาที่เขาเหมือนเป็นคนบ้า และปรากฎว่าภาพสเก็ตช์หกเดือนของเขาก็ไร้ประโยชน์ เพราะเขาไม่รู้ถึงวิธีสร้างต่างจากช่างที่มีเทคนิคต่าง ๆ มากมายที่น่าเหลือเชื่อ หลังจากนั้นเป็นต้นมาเขาจึงเรียนรู้ร่วมไปกับช่างก่อสร้าง เข้าไปคลุกคลีและสอบถามถึงกระบวนการ
“คนเหล่านี้รู้วิธีสร้าง พวกเขารู้ว่าต้องลงไปที่พื้นลึกแค่ไหน วัสดุควรเป็นอย่างไร หรือควรวางอย่างไร ซึ่งสำหรับผม มันเป็นช่วงแห่งการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ในการทำความคุ้นเคยกับกระบวนการออกแบบและก่อสร้างสถาปัตยกรรมอีกทางหนึ่ง”
กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ Studio Mumbai ทำงานออกแบบร่วมกับ Craftmanship จนเกิดเป็นเอกลักษณ์และกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นเป็นตัวของตัวเอง ความเป็นธรรมชาติมาก ๆ และขึ้นตรงกับบริบทนั้น ๆ จึงเรียกได้ว่าเป็นลายเซ็นในแก่นแท้ของแนวคิดที่ยากจะลอกเลียนแบบ
(Studio Mumbai By Iwan Baan)
Palmyra House บ้านใน Alibag เมืองชายทะเลใกล้กับมุมไบซึ่งเป็นเมืองหลวงที่คึกคักของอินเดีย บ้านหลังนี้เรียกได้ว่าเป็นแนวทางสถาปัตยกรรมของ Studio Mumbai ที่ผสานงานสถาปัตยกรรมเข้ากับภูมิทัศน์อย่างเต็มที่ บ้านพักตากอากาศนี้ซ่อนตัวอยู่ในสวนมะพร้าวออกแบบด้วยด้วยโครงสร้างไม้ 2 ชั้น ซึ่งฟาซาดของอาคารส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยบานเกล็ดที่ทำจากลำต้นของต้นปาล์มไมราที่หาได้ในท้องถิ่น รวมถึงได้รับความร่วมมือในการก่อสร้างจากทีมช่างฝีมือท้องถิ่นเช่นเดียวกัน
(Palmyra House https://www.filt3rs.net/case/airshadow-studio-mumbai-495)
การผสมผสานระหว่างวัฒนธรรม
ด้วยความที่เกิดและเติบโตในซีกโลกตะวันออกที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรม ศิลปะ วิทยาการและเรื่องราวทางสังคมมากมาย บีจอย เจน แห่ง Studio Mumbai จึงยึดหลักการออกแบบและการก่อสร้างที่รวมงานฝีมือท้องถิ่นและงานฝีมือแบบดั้งเดิม (Local) ผสมผสานกับศาสตร์ของการออกแบบรวมถึงประสบการณ์จากซีกโลกตะวันตกที่ได้เรียนรู้มา
เรียกได้ว่า Studio Mumbai ในตอนแรกเริ่มเป็นกลุ่มของมนุษย์ของช่างฝีมือและสถาปนิกผู้มีทักษะในการออกแบบและสร้างงานโดยตรง เมื่อรวมตัวกัน กลุ่มนี้จะมีการสำรวจแนวคิดผ่านการผลิตแบบจำลองขนาดใหญ่ การศึกษาวัสดุ ภาพร่าง ภาพวาด โดยให้ความสำคัญไปที่บริบทและไซต์ เพื่อดึงทักษะดั้งเดิม อย่างเทคนิคการก่อสร้างในท้องถิ่น งานวัสดุต่าง ๆ การเลือกใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด และนำแรงบันดาลใจมาจากสภาพชีวิตจริง โดยพวกเขาจะสังเกตถึงความซับซ้อนของความสัมพันธ์ภายในแต่ละโครงการโดยไม่มี ‘อคติ’ และมีแก่นแท้ของงานอยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่และสถาปัตยกรรม ซึ่งต้องสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมตลอดฤดูกาล ทั้งหมดที่เรากล่าวมาเปรียบดังปรัชการการออกแบบของ Studio Mumbai ที่ยังแข็งแกร่งมาจวบจนปัจจุบัน
“แนวคิดที่ผมทำงานร่วมกับช่างฝีมือและงานฝีมือเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดที่เรียกว่า ‘ความยั่งยืน’ ในภาพที่ใหญ่กว่า ผมพยายามใช้สิ่งที่มีในสภาพที่เข้าถึงได้ ประหยัดและคล่องตัวที่สุด”- Bijoy Jain
(Studio Mumbai https://www.anniversary-magazine.com/all/2019/5/15/qa-with-bijoy-jain-mumbai-studio)
Copper House II บ้านทรงกล่องสี่เหลี่ยมหน้าตาธรรมดา มุมมองจากเปลือกภายนอกปิดบังไม่ให้คนทั่วไปมองเห็นพื้นที่ภายในได้ชัดเจนนัก ผังอาคารรูปตัว O แยกระดับพื้นบ้านออกเป็น 2 ระดับ โดยพื้นคอนกรีตเปลือยสำหรับพื้นที่ใช้สอยภายในบ้าน และลานแผ่นหินปูทับบนพื้นดินสำหรับพื้นที่คอร์ทยาร์ดหินกลางแจ้ง ซึ่งกลายเป็นศูนย์กลางของบ้านที่จัดวางก้อนหินธรรมชาติเอาไว้แบบเรียบง่าย นิ่งสงบ ไร้ซึ่งหลังคาปกคลุม ช่วยให้ผู้อยู่อาศัยได้เปิดประสบการณ์รับรู้สภาพภูมิอากาศในเวลานั้น ๆ อย่างใกล้ชิด มองเห็นท้องฟ้าผืนกว้างพร้อมแสงอาทิตย์สอดส่องได้โดยไม่ต้องก้าวเท้าออกไปไหน สัมผัสไอละอองความชื้น รับฟังเสียงน้ำไหลในเวลาฝนพรำ ทดลองเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับฤดูกาลของธรรมชาติมากขึ้น
บทบาทของการเป็นนักออกแบบที่มากกว่าการเป็นสถาปนิก
ตั้งแต่สเกลของงานสถาปัตยกรรม งานออกแบบภายใน งานเฟอร์นิเจอร์ ไปจนถึงการออกแบบนิทรรศการ การเรียก บีจอย เจน ว่าเป็นศิลปินควบคู่ไปกับการเป็นสถาปนิกจึงไม่ผิดนัก โดยตัวเขาเองเชื่อว่า งานสถาปัตยกรรม ศิลปะ ศิลปิน หรือสถาปนิก ต่างเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งเดียวกัน โดยมีแนวคิดสำคัญคือการ ‘ปล่อยวาง’ และการลดอคติทางความคิดลง ศิลปะแสดงถึงความคิดของมนุษย์ ชีวิต และสิ่งแวดล้อม ในขณะที่สถาปัตยกรรมเป็นเรื่องของการสร้างสรรค์พื้นที่ แต่สิ่งที่ทั้งสองสิ่งนี้มีร่วมกัน คือ ‘การรักษาคุณภาพหรือแนวคิดดั้งเดิมผ่านการทดลอง’ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเป็นวิธีการฝึกฝน (Practice) ทางสถาปัตยกรรมและศิลปะของเขาเรื่อยมา
Lounge Chair III Bijoy Jain x Maniera สิ่งที่โดดเด่นและแสดงออกอย่างชัดเจนคือ ‘ความเบา’ ของเก้าอี้ตัวดังกล่าว ด้วยความละเอียดอ่อนจากการเลือกใช้เทคนิคการทอจากเชือก และการใช้ไม้สัก ไม้พยูงบ่งบอกถึงความทันสมัยและแสดงถึงความประณีตในงานฝีมืออินเดียแบบดั้งเดิม
BRICK STUDY III bench การออกแบบม้านั่งอิฐตัวนี้ เกิดจากการสำรวจว่าวัสดุสเกลสถาปัตยกรรมที่ใช้กันทั่วไปอย่างอิฐ จะสามารถนำมาออกแบบเป็นงานสเกลใกล้ชิดอย่างเฟอร์นิเจอร์ได้อย่างไร? ทีมงานของบีจอย เจนได้ผลิตอิฐเล็กขนาดจริงที่ติดกาวเข้าด้วยกันเพื่อสร้างพนักพิงที่นั่ง โดยศึกษามาจากเทคนิคการหล่ออิฐซ้อนแห้งในแบบดั้งเดิม
ผลงานที่อยู่กึ่งกลางระหว่างบริบทและความเป็นสากล
ถึงแม้เราจะบอกว่างานสถาปัตยกรรมของ Studio Mumbai ขึ้นตรงกับบริบทนั้น ๆ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าบริบทเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของการออกแบบเสมอไป เพราะบีจอย เจน มองว่าความสำเร็จของโครงการนั้น ๆ คือ การที่เราสามารถสะท้อนเรื่องราวของบริบทให้เข้ามาอยู่ในผลงาน แต่ในขณะเดียวกันผลงานชิ้นนั้นควรจะกลายเป็นสากล และสามารถมีอยู่ได้ทุกที่ ไม่ใช่เพียงบริบทที่สะท้อนถึงสถานที่นั้น ๆ เพียงอย่างเดียว
ยกตัวอย่าง ผลงานปรับปรุงโรงกลั่นไวน์ Beaucastel ที่ Chateauneuf-du-Pape ในช่วงฤดูร้อนปี 2018 ซึ่งมีสถาปนิกชื่อดังเข้าร่วมโครงการหลายคนอย่าง Shigeru Ban และ John Pawson แต่ Studio Mumbai ชนะการแข่งขันอันทรงเกียรติด้วยแนวคิดที่ได้รับขนานนามว่าเป็นการออกแบบเชิงนิเวศวิทยาอย่างลึกซึ้ง พร้อมแสดงออกถึงวิสัยทัศน์ทางสถาปัตยกรรมที่สื่อถึงทั้งภาษาพื้นถิ่นและความร่วมสมัยด้วยแนวทางที่เป็นนวัตกรรมสมัยใหม่ แต่สร้างจากกระบวนการก่อสร้างที่ได้รับแรงบันดาลใจจากความรู้ของเหล่าบรรพบุรุษ
‘Work-Place’ และ ‘In between Architecture’ ผลงานสร้างชื่อ
แม้ว่าโครงการส่วนใหญ่ของ Studio Mumbai จะเป็นบ้านที่ตั้งอยู่ทั่วประเทศอินเดีย แต่โครงการจำนวนหนึ่งของพวกเขาก็ประสบความสำเร็จและเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ ผลงานสร้างชื่อของเขาคือ ‘Work-Place’ ที่งาน Venice Architecture Biennale ปี 2010 โดยเป็นการนำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ผ่านการทำและการออกแบบที่ไม่เหมือนใคร อีกหนึ่งผลงานสร้างชื่อที่ช่วยเสริมชื่อเสียงของสตูดิโอ คือนิทรรศการ ‘In between Architecture’ ณ พิพิธภัณฑ์ Victoria and Albert ในกรุงลอนดอน โดยได้รับแรงบันดาลใจจาก Parasitic Architecture (สถาปัตยกรรมกาฝาก) ที่เกิดขึ้นระหว่างอาคารที่มีอยู่ในใจกลางเมืองหนาแน่นสูง อย่างเช่น มุมไบ
Work-Place Exhibition สร้างขึ้นครั้งแรกสำหรับงาน Venice Architecture Biennale ครั้งที่ 12 โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมสถาปัตยกรรมขึ้นใหม่ เป็นวิธีการทำงานที่อ้างอิงจาก “การเรียนรู้ผ่านการทำ” ของ Studio Mumbai ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของวิธีการที่สถาปัตยกรรมถูกดึงมาจากการสังเกตธรรมชาติ บรรยากาศ โครงสร้าง และธรรมชาติที่หลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียว
‘In between Architecture’ Installation Architecture จัดแสดงขึ้นที่พิพิธภัณฑ์ V&A ในลอนดอน โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ ‘1:1 – architects build small spaces’ โดยอ้างอิงจากที่อยู่อาศัยหนาแน่นในเขตเมืองแคบ ๆ ของประเทศอินเดีย แม้ว่าโครงสร้างจะค่อนข้างเล็ก แต่บ้านเหล่านั้นนำเสนอทางเลือกในการออกแบบที่ชาญฉลาดสำหรับเมืองที่มีพื้นที่จำกัด ‘In between Architecture’ จึงสะท้อนแนวคิดพื้นที่ว่างในเมืองมุมไบ แต่อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของสถาปนิกไม่ใช่การพยายามสร้างอาคารให้เหมือนจริง แต่มีเป้าหมายที่จะเติมสุนทรียะ และความสวยงามเข้าไปในพื้นที่ลักษณะนี้มากขึ้น
ที่มา
https://www.domusweb.it/en/interviews/2017/07/13/interview_with_bijoy_jain.html
https://www.maniera.be/creators/8/studio-mumbai-bijoy-jain
https://pinupmagazine.org/articles/interview-2020-bijoy-jain-studio-mumbai
http://architectuul.com/architect/studio-mumbai
https://www.scandinaviandesign.com/alvar-aalto-medal-2020-awarded-to-bijoy-jain-of-studio-mumbai-in-india/
ภาพ
https://www.scandinaviandesign.com/alvar-aalto-medal-2020-awarded-to-bijoy-jain-of-studio-mumbai-in-india/
https://www.filt3rs.net/case/airshadow-studio-mumbai-495
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!