เมื่อพูดถึงอยุธยา นอกจากภาพกรุงเก่าที่เรียงรายไปด้วยโบราณสถาน ล่าสุดเมืองเก่าแห่งนี้ยังมี Central Ayutthaya เป็นแลนด์มาร์คใหม่ที่เพิ่งจะเปิดตัวหมาด ๆ ไปเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
ด้วยความที่เป็นเมืองโดดเด่นทั้งด้านการท่องเที่ยว วัฒนธรรม เกษตรกรรม หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น บริษัท เซ็นทรัลพัฒนาจึงตั้งใจปลุกปั้นโครงการแห่งใหม่ให้กลายเป็น Mixed-Use Development บนถนนสายเอเชีย ที่มีฟังก์ชันครบครันทั้งโรงแรม ห้างสรรพสินค้า และ Cultural Centre โดยสิ่งที่น่าสนใจคือ แนวคิด ‘Thai Twist’ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากผู้คนท้องถิ่น นำบริบทความเป็นอยุธยามานำเสนอในแบบฉบับร่วมสมัย โดยได้สถาปนิกผู้คุ้นเคยบริบท เจ้าของผลงานศาลาอยุธยา และบ้านป้อมเพชรอย่าง onion รับหน้าที่ออกแบบฟาซาดอาคาร
เมื่อเรื่องราวท้องถิ่น เรียงร้อยเป็นองค์ประกอบของสถาปัตยกรรม
ก่อนลงมือออกแบบ ทางทีมสถาปนิกได้มีโอกาสได้พูดคุยและสอบถามข้อมูล Insight โดยตรงกับคนท้องที่ ซึ่งได้ความว่า คนท้องถิ่นต่างภาคภูมิใจที่จังหวัดอยุธยาเป็นเมืองมรดกโลกและเป็นเมืองหลวงเก่าแก่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องการความทันสมัย เพื่อชูความน่าสนใจและสร้างภาพลักษณ์ใหม่ ๆ ให้กับเมือง
ภายนอกอาคาร จึงสร้างคาแร็กเตอร์ด้วยการออกแบบฟาซาดให้มีความผสมผสานระหว่างความโมเดิร์น และเอกลักษณ์ในแบบไทยในโทนสีเรียบง่ายอย่างสีขาวและสีทอง เติมลูกเล่นบริเวณด้านหน้าฟาซาดด้วย ‘ย่อมุมไม้สิบสอง’ ซึ่งเป็นแนวคิดดั้งเดิมของช่างฝีมือในสมัยอยุธยา โดยเราสามารถพบได้ในส่วนฐานของเจดีย์ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมไทยโบราณ ทำขึ้นจากแผ่นอลูมิเนียมสีทอง นำมาพับและขึ้นรูปเป็นโมดูลาร์ สร้างภาพจำกับอาคารและยังเกิดการตกกระทบของแสงเงาที่สร้างมิติและความเคลื่อนไหวให้กับงานสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่
บริเวณด้านหน้าอาคารยังเชื่อมสู่ลานกว้าง ที่ตั้งใจให้เกิดบรรยากาศโอ่โถงเสมือนพระราชวังในสมัยโบราณ แต่ก็ยังคงใช้พื้นที่นี้เป็นลานกิจกรรมในยามที่มีอีเวนท์หรืองานเอาท์ดอร์ต่าง ๆ ได้เช่นกัน
อีกด้านหนึ่งของทางเข้า สร้างคาแร็กเตอร์ที่ต่างไปด้วยการออกแบบผนังอิฐ ซึ่งเป็นวัสดุหลักที่พบได้บ่อยในจังหวัดอยุธยา แต่สถาปนิกเพิ่มลูกเล่นเป็นเอกลักษณ์ด้วยการใช้อิฐโค้งครึ่งวงกลมเพื่อลดทอนเหลี่ยมมุม โดยอิฐทุกก้อนมาจากการเผาของช่างท้องถิ่นในจังหวัดอยุธยา เป็นแนวคิดเล็ก ๆ ที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับคนท้องถิ่น
ประตูทางเข้าฝั่งผนังอิฐเชื่อมสู่ ‘ลานพระนคร’ ซึ่งอ้างอิงมาจากบริบทความเป็นเมืองในสมัยอยุธยาที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งการค้าขาย การละเล่นพักผ่อน รวมถึงบรรยากาศความเป็นเมืองที่ใกล้ชิดกับน้ำ บริเวณนี้เราจะเห็นบรรยากาศคึกครื้นของการจัดตลาดเล็ก ๆ ที่แวะเวียนนำสินค้าทำมือมาจำหน่าย รวมถึงเป็นลานจัดแสดงโชว์ได้ในบางเวลา ถัดไปอีกนิด บริเวณด้านหน้าเป็น Cultural Centre หรือศูนย์วัฒนธรรมที่ร่วมมือกับคนท้องถิ่นในการสนับสนุนสินค้าไทย ๆ หรือการท่องเที่ยวแบบ Local Tourism ที่จะนำเสนอวิถีชีวิตและของดีท้องที่ในแบบดั้งเดิมจริงๆ
เข้าสู่พื้นที่ด้านใน แต่ละโซนของห้างสรรพสินค้าต่างอัดแน่นไปด้วยดีเทลเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่นำความเป็นอยุธยาตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบันมาบอกเล่าในรูปแบบที่แตกต่าง เริ่มตั้งแต่ ‘ตลาดเพลินนคร’ ที่หยิบเรือนไทยยกใต้ถุนมาสร้างเป็นจุดเด่นของพื้นที่ โดยใจกลางของโซนจะเป็นพื้นที่นั่งพักผ่อนในอาคารเรือนไทยขนาดใหญ่ที่ลดทอนให้เหลือเพียงโครงสร้าง จะมานั่งพักผ่อน เดินหาขนมหรืออาหารไทยโบราณรับประทานก็เพลินใจไม่น้อย
โซนต่าง ๆ คุมธีมเรื่องราวบริบท ด้วยการออกแบบกิมมิคเล็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นซุ้มอาคารบานเรือน หรือผนังซ้อนเกล็ด ที่นั่งรูปทรงเกวียน หรือแม้แต่หลังคาหน้าจั่ว ดีเทลทั้งหมดที่เห็น จึงบ่งบอกเอกลักษณ์ได้อย่างกลมกล่อม ทำให้เพียงแค่เห็นแว่บแรก ไม่ต้องบอกก็รู้จากการออกแบบได้ทันที ว่าสถานที่แห่งนี้คือเมืองหรือจังหวัดใด
(Food Park ที่ได้แรงบันดาลใจจากตู้กับข้าว เครื่องครัวไทยและถ้วยชามเบญจรงค์ที่มีลวดลายเอกลักษณ์)
บริบทของพื้นที่สู่การวางผังอาคาร
เนื่องจากความตั้งใจให้สถานที่แห่งนี้เป็นแลนมาร์คและฮับใหม่ของนักท่องเที่ยว การวางผังส่วนต่าง ๆ จึงเอื้อต่อแนวคิดที่ว่า โดยมีโซน Transportation Hub เชื่อมบริเวณลานพระนครหน้าห้าง และร่วมมือกับชุมชนกลายเป็นฮับการสัญจรเล็ก ๆ ที่มีรถรับจ้างท้องถิ่นบริการนักท่องเที่ยวไปสู่วัดต่าง ๆ หรือเกาะเมืองเก่าได้อย่างสะดวก
แนวคิดที่เราชอบสำหรับการออกแบบห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่นี้ คือการให้ความสำคัญกับ ‘ลาน’ หรือพื้นที่เอาท์ดอร์พอ ๆ กับการออกแบบพื้นที่การขายภายใน บรรยากาศที่แตกต่างทำให้ผู้คนส่วนมากพักขาจากการเดินช้อปปิ้งในห้าง มาจับจ่ายบริเวณตลาดสินค้าท้องถิ่น หรือหาของว่างนั่งรับประทานชิล ๆ ได้อย่างไม่รู้สึกเขอะเขิน ต่างจากห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ ที่มักจะเน้นพื้นที่ Enclosed Space และติดเครื่องปรับอากาศเสียมากกว่า
ในส่วนของพื้นที่การขายภายใน Central Ayutthaya ก็มีการทดลองวางผังรูปแบบใหม่ โดยนำพื้นที่การขายส่วนหลักของห้างวางไว้ใจกลางอาคาร ต่างจากโมเดลของเซ็นทรัลสาขาอื่นที่มักจะนำส่วนห้างชิดริมของอาคารฝั่งใดฝั่งหนึ่ง เป็นข้อดีที่ทำให้ผู้คนสามารถเดินชื่นชมสินค้าทั้งหมดได้อย่างอิสระ โดยไม่รู้สึกว่าถูกแบ่งแยกเป็นโซนอย่างชัดเจน ความเพลิดเพลินใจจากทางสัญจรและการออกแบบที่ผสานโซนต่าง ๆ อย่างกลมกลืน จึงทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกเข้าถึงพื้นที่การขายสินค้าหลักได้ง่ายกว่า
มากกว่างานสถาปัตยกรรม คือการออกแบบเรื่องราวการใช้งานภายในพื้นที่ทั้งหมดให้ลงตัวเป็นเนื้อเดียวกัน ทั้งงานสถาปัตยกรรม งานออกแบบภายใน งานออกแบบภูมิทัศน์ ประติมากรรมหรือแม้แต่งานช่างฝีมือท้องถิ่น ทั้งหมดนี้ล้วนประกอบร่างเป็นงานออกแบบที่สะท้อนเรื่องราววิถีชีวิต และเอกลักษณ์บริบทในแบบฉบับอยุธยาได้อย่างลงตัว เป็นอีกหนึ่งโปรเจกต์เชิงพาณิชย์ที่เคารพบริบทและอยู่ร่วมกับความเป็นท้องถิ่นได้อย่างน่าสนใจ
Architect : M.A.A.R. Co., Ltd.
Façade Architect : Onion
Interior Designer : พาโนราม่า เดคอร์
Landscape : TK Studio Co.,Ltd.
Lighting Designer : วีร์ไซน์ ไลท์ติ้ง
Graphic Designer : คุกกี้ส์ไดนาโม
Structure engineer : วี เอส ดี คอนซ์แต้นท์
M&E Designer : อี เอ็ม ไซน์ จำกัด
Sculpture Designer : Dong Company Limited , THINKK Studio
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!