Dsign Something มีโอกาสได้สัมภาษณ์สถาปนิกมากมาย และหนึ่งในแนวคิดที่มักได้ยินบ่อยๆ คือ การเบลนสถาปัตยกรรมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เพราะความที่เราไม่อาจฝืนธรรมชาตินี้เอง การอยู่ร่วมกันจึงอาจเป็นหนทางคำตอบที่ดีที่สุด
Hiroshi Nakamura เป็นสถาปนิกจากแดนอาทิตย์อุทัยที่เชื่อในพลังของธรรมชาติเหล่านั้นเช่นกัน ส่งผลให้งานสถาปัตยกรรมของเขามักแทรกตัวเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ หรือถึงแม้จะตั้งตัวโดดเด่นแต่ในทุกๆ elements ก็มีการคิดเผื่อธรรมชาติเอาไว้เป็นที่เรียบร้อย มากกว่าสไตล์และความสวยงาม เราจึงได้เห็นแก่นของผลงานออกแบบที่กลายเป็นจิตวิญญาณซ่อนอยู่ในเนื้องานสถาปัตยกรรมของเขา และเราขอนำมาบอกเล่าเป็น 5 เรื่องราวที่อาจทำให้คุณรู้จัก Hiroshi Nakamura คนนี้ได้ดียิ่งขึ้น
01 Why Nature rather than the metropolis?
อ่อนไหวและทำความเข้าใจกับธรรรมชาติ
ในกระบวนการออกแบบ นากามูระเล่าว่า เขามักจะเริ่มต้นด้วยการเข้าไปยืนที่ตัวไซต์อยู่เป็นเวลาเนิ่นนาน เก็บข้อมูลและดื่มด่ำบรรยากาศเหล่านั้นจากทุกมุมมอง ทุกมิติที่สามารถเป็นไปได้ เพื่อทำความเข้าใจกับธรรมชาติและบริบทดั้งเดิมก่อนจะทำการเพิ่มเติมงานออกแบบของตนเองลงไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือโครงการ Dancing Trees, Singing Birds บ้านใจกลางกรุงโตเกียวที่ล้อมรอบไปด้วยต้นไม้ ซึ่งมีโจทย์ของการออกแบบ คือการพยายามให้ได้พื้นที่ใช้สอยขนาดใหญ่ที่สุด ในขณะที่ต้องตัดต้นไม้ให้น้อยที่สุด โดยขั้นแรกเขาทำงานกับผู้ปลูกต้นไม้ เพื่อค้นหารากของต้นไม้ และสร้างกำแพงฐานรากให้ใกล้กับต้นไม้มากที่สุดโดยไม่ต้องตัดรากเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายต่อต้นไม้
(ที่มา https://www.nakam.info/en/works/dancing-trees-singing-birds/ และ www.archdaily.com)
ส่วนต่อไป จึงเริ่มทำการสำรวจกิ่งไม้ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 15 ซม. ขึ้นไป โดยมีการจำลองการเจริญเติบโตของต้นไม้และการแกว่งของกิ่งในช่วงที่มีลมแรง รวมถึงคำนวณพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากต้นไม้ นำมาสู่สเปซที่ยื่น เข้าออกในพื้นที่เหล่านั้น ซึ่งถึงแม้จะมีรูปร่างที่แปลกตา แต่นัยหนึ่งอาจแสดงถึงความเต็มใจที่จะปรับตัวเข้ากับธรรมชาติดั้งเดิมในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
02 ก่อตั้งสตูดิโอออกแบบของตนเองในวัย 28 ปี
ถ้าเล่าถึงประวัติของสถาปนิกผู้มีชื่อเสียงคนนี้ ก็เรียกได้ว่าไม่ธรรมดา
นากามูระเกิดที่เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในปี ค.ศ. 1974 เขาสำเร็จการศึกษาปริญโทด้านสถาปัตยกรรมจาก School of Science and Technology, Meiji University หลังจากนั้นก็มีโอกาสทำงานเป็นหัวหน้าวิศวกรของ Kengo Kuma & Associates และต่อจากนั้นไม่นานเขาก็ตัดสินใจก่อตั้งสตูดิโอออกแบบของตัวเองในนาม Hiroshi Nakamura & NAP Architects ในวัยเพียง 28 ปี ก่อนจะสั่งสมประสบการณ์มาจวบจนปัจจุบัน และการันตีด้วยรางวัลด้านการออกแบบนับไม่ถ้วน
03 สถาปัตยกรรมไม่ต่างจาก ‘Communication Design’
เมื่อถามว่า การออกแบบที่ดี คืออะไร? คำตอบนั้นย่อมต่างไปตามความคิดของสถาปนิกและนักออกแบบแต่ละคน แต่ละสาขา ซึ่งสำหรับนากามูระ เขาเชื่อว่าสถาปัตยกรรม ไม่ต่างจากการออกแบบการสื่อสารหรือ ‘Communication Design’ ดังนั้นการออกแบบที่ดี (ของเขา) จึงเป็นเรื่องความสัมพันธ์ที่สร้างขึ้นระหว่างผู้คนและอาคาร หรือในบางครั้งสถาปัตยกรรมของเขาก็ทำหน้าที่เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับธรรมชาติเช่นกัน
นากามูระทำงานโดยยึดมั่นในแนวคิดที่ว่า การวางแผนคือการออกแบบพฤติกรรมของมนุษย์ ผู้คนเคลื่อนที่ไปมาภายในที่ว่าง ซึ่งพวกเขาก็มีส่วนร่วมในการกระทำที่ตอบสนองความต้องการและได้รับความรู้สึกบางอย่างจากการกระทำเหล่านี้ สถาปนิกอย่างนากามูระจึงมุ่งเน้นไปที่พฤติกรรมของมนุษย์ โดยคาดหวังว่าจะสามารถเสริมสร้างประสบการณ์ และทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมมากกว่าเพียงความสวยงามที่อาจไม่ยั่งยืน
ยกตัวอย่างเช่น Sayama Lakeside Cemetery Community Hall หอประชุมสวนสาธารณะสุสานริมทะเลสาบซายามะ ซึ่งนากามูระออกแบบเป็นอาคารที่มีลักษณะคล้ายร่มขนาดใหญ่ รายล้อมด้วยหน้าต่างหลายบานรอบพื้นที่แบบ 360 องศาใต้โครงสร้างหลังคาสูง 1.35 เมตร ทำให้ผู้มาเยือนไม่สามารถมองเห็นภูมิทัศน์ภายนอกได้เมื่อยืน กลายเป็นพื้นที่ครุ่นคิดที่ถูกปิดโดยเจตนา เพื่อให้ผู้มาเยือนสุสานรู้สึกปลอดภัยและสบายใจเสมือนอยู่ใต้ร่ม นอกจากนั้นพื้นที่หลังคาขนาดใหญ่ที่แผ่กว้างจะทำให้ผู้ใช้งานถูกดึงดูดเข้าไปใกล้หน้าต่างโดยไม่รู้ตัว ซึ่งบริเวณนี้จะมองเห็นภูมิทัศน์ที่กว้างไกลได้ทันทีที่นั่งลง สถาปัตยกรรมของนากามูระจึงกำลังบอกให้คุณได้ใช้เวลาพักผ่อน นั่งลงช้าๆ มองวิวทิวทัศน์ระยะไกล และใช้เวลาคิดถึงความทรงจำของผู้ที่จากไปในอดีต
ส่วน Sayama Forest Chapel ถัดไปไม่ไกลเป็นโบสถ์ที่อยู่ในสุสานเดียวกัน ซึ่งนากามูระออกแบบอ้างอิงมาจากการอธิษฐาน โดยปลูกต้นไม้บนพื้นที่สามเหลี่ยมรายล้อมอาคาร เพื่อสร้างความรู้สึกเสมือนถูกโอบล้อมไปด้วยป่า และเอียงผนังของโบสถ์ในรูปแบบของกัสโชสึคุริ หรือรูปแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่เรียกอย่างอ่อนโยนว่า บ้านทรงพนมมือเพื่อหลบกิ่งก้านของต้นไม้ นอกจากนั้นเขายังออกแบบกัสโชสึคุริ โดยตีความใหม่ให้เป็นโครงสร้างสามมิติที่ทันสมัยและสามารถทนต่อแรงแผ่นดินไหวจากทิศทางต่าง ๆ ได้ดี ไม่ใช่แค่ผู้คนที่เข้ามาเคารพและสงบจิตใจภายในโบสถ์ แต่สถาปัตยกรรมเองก็ยังเป็นตัวแทนที่กำลังเคารพ นอบน้อมต่อธรรมชาติและสิ่งรอบตัว
04 ธรรมชาติคือวัตถุดิบฟรีๆ ที่ไม่ควรพลาด
สิ่งหนึ่งที่นากามูระเชื่อมาเสมอ คือพลังงานของธรรมชาติ ซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นที่เราได้มาฟรีๆ
“ผมรู้สึกว่าสถาปนิกควรคิดให้รอบคอบมากขึ้นเกี่ยวกับวิธีนำลมธรรมชาติเข้ามาภายในอาคารในวันที่อากาศดีแทนที่จะควบคุมสภาพแวดล้อมภายในโดยการปิดอาคารและใช้เครื่องปรับอากาศ ในการออกแบบผมมักจะให้ความสำคัญกับปรากฏการณ์ธรรมชาติดังกล่าว ซึ่งอาจเป็นอะไรที่ไม่สามารถสัมผัสได้ด้วยตา ไม่สามารถมองเห็นได้ในภาพถ่ายแต่ทำให้ผู้คนและผู้ใช้อาคารรู้สึกสบายใจและอิ่มเอิบไปกับมัน”
Optical Glass House บ้านพักอาศัยในเมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ตัวบ้านถูกออกแบบให้มีหน้าต่างหันหน้าออกสู่ถนนที่พลุกพล่านนำแสงและลมธรรมชาติเข้าสู่ภายใน ในขณะที่กันเสียงไปในตัว มีสวนเขียวขจีอยู่ด้านในของหน้าต่าง และมีหน้าต่างอีกบานทำหน้าที่เป็นฉากกั้นระหว่างภายในและภายนอก นอกจากนั้นระหว่างหน้าต่างภายนอกที่ทำหน้าที่เป็นฟาซาด สถาปนิกยังมีบ่อน้ำเป็นระนาบกั้นก่อนสู่หน้าต่างชั้นใน ตามรูปแบบของอุจิมิสึ (การสาดน้ำ) ที่มักใช้กับนางายะ (บ้านแถว) แบบดั้งเดิม ซึ่งน้ำเย็นจะทำให้อากาศภายนอกหน้าต่างเย็นลง และสร้างกระแสลมที่เกิดจากความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างสวนด้านหลังและสวนด้านหน้า
05 ‘ความรัก’ ในสถาปัตยกรรมของ Hiroshi Nakamura
นอกจากธรรมชาติ และพฤติกรรมของผู้ใช้งานที่นากามูระใส่ใจเป็นพิเศษ อีกหนึ่งประเด็นที่เขาตั้งใจปลุกปั้นลงไปในสถาปัตยกรรมคือ ‘ความรู้สึกรัก’ ระหว่างสถาปัตยกรรมและผู้ใช้งาน ด้วยการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางกายภาพระหว่างสถาปัตยกรรมและผู้ใช้เป็นอย่างแรกก่อนทำการออกแบบ และพยายามสร้างโอกาสให้ผู้คนได้สัมผัสสถาปัตยกรรมผ่านร่างกายของตนเอง เช่น การสัมผัส การนั่ง หรือการพิงสถาปัตยกรรม
ไม่เพียงเท่านั้น เขายังพยายามสร้างความรู้สึกให้ผู้คนอยากเฝ้าดูและอยู่เคียงข้างสถาปัตยกรรม ผ่านการสร้างปรากฏการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ซึ่งเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยเขาเล่าว่าการทำเช่นนี้จะทำให้ผู้คนไม่เบื่อและสามารถค้นพบเรื่องราวใหม่ๆ ของอาคารนั้นๆ ได้อยู่เสมอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะนำไปสู่ความรู้สึกรักและภูมิใจในสถาปัตยกรรม
ตัวอย่างเช่น House SH บ้านหน้าตาสุดยูนีคที่มีก้อนกลมๆ สีขาวยื่นออกมาจากหน้าอาคาร ส่วนที่ยื่นออกมานี้จะกลายเป็นที่นั่งสำหรับพื้นที่ภายในที่ช่วยให้ผู้ใช้อาคารรู้สึกเหมือนนั่งอยู่ในกระเป๋าจิงโจ้หรือนั่งอยู่บนตักแม่ และมีช่องรับแสงขนาดใหญ่ที่เปิดให้แสงธรรมชาติส่องลงมาสู่ตัวบ้านได้เต็มที่ เกิดการเปลี่ยนแปลงของแสงโดยจะเป็นสีน้ำเงิน-ขาวในตอนเช้า เป็นสีเหลืองในตอนเที่ยง และเป็นสีโทนแดงในตอนเย็น ทำให้ผู้อยู่อาศัยภายในสามารถสัมผัสกับบรรยากาศที่คาดเดาไม่ได้ตลอดเวลา
สถาปัตยกรรมของ Hiroshi Nakamura หากมองด้วยตาอาจเรียกได้ว่าไม่มีอะไรหวือหวา แต่การนำธรรมชาติและพฤติกรรมการใช้งานของผู้คนเข้ามาออกแบบสถาปัตยกรรมได้อย่างสมูทและกลมกล่อม รวมถึงสร้างเอกลักษณ์ให้งานออกแบบไปพร้อมกันนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย สิ่งที่เราชื่นชมในสถาปัตยกรรมของเขาจึงไม่ใช่แค่ความสวยงาม และความละเอียดเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของการนำวัตถุดิบธรรมชาติธรรมดาๆ แต่แสนวิเศษเหล่านี้ มาใช้เป็นตัวตั้งต้นในการออกแบบเพื่อส่งเสริมการใช้งาน และเพิ่มคุณภาพชีวิตมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
ที่มา
https://www.phaidon.com/agenda/architecture/articles/2010/october/12/the-10-x-10-3-interview-hiroshi-nakamura/
https://madoken.jp/en/interviews/974/
http://yknow-interviews.blogspot.com/2010/09/in-2009-i-contacted-office-of-rising.html
ภาพ
https://archello.com/brand/hiroshi-nakamura-nap
https://www.yatzer.com/sayama-forest-chapel
https://www.timeandstyle.com/hiroshi-nakamura-nap/
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!