Rejectory Circular Mall
ชุบชีวิตจตุจักรให้กลายเป็นห้างสรรพสินค้าหมุนเวียนที่สร้างค่านิยมใหม่ให้การบริโภคสินค้า

ยุคสมัยนี้แนวโน้มโลกและแฟชั่นเปลี่ยนไปไวจนแทบไม่ทันตั้งตัว เป็นการบีบบังคับทางอ้อมให้เราต้องออกไปซื้อหาสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งในขณะเดียวกัน สิ่งของเก่าๆ ในบ้านที่เรามีนั้นก็มากเกินความต้องการ การทิ้ง การให้ การขาย หรือบริจาค จึงเป็นทางออกหนึ่งที่มาจัดการกับสิ่งของเหล่านี้  และในปัจจุบันกระแสสังคมที่ให้ความสำคัญกับการแบ่งปันก็มีมากขึ้น เพิ่มโอกาสการก้าวสู่การแบ่งปันกันในสังคมอย่างยั่งยืน

“เริ่มต้นจากตนเองและครอบครัวให้ความสำคัญกับการทิ้งสิ่งของให้มีประโยชน์สูงสุดเสมอ เด็ก ๆ ผมได้มีโอกาสไปที่โรงงานรีไซเคิล และมูลนิธิหลายแห่งเพื่อบริจาคสิ่งของ พอโตขึ้นมาจึงมีความสนใจในเรื่องการรักษ์สิ่งแวดล้อม เรามองเห็นแพล็ตฟอร์มห้างรีไซเคิลในประเทศที่เจริญแล้ว มันสะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม เราจึงกลับมามองว่าโครงการรูปแบบนี้ก็น่าจะสามารถปรับให้เข้ากับบริบทของประเทศไทยได้  จึงเป็นที่มาของโครงการวิทยานิพนธ์ Rejectory Circular Mall (ห้างสรรพสินค้าหมุนเวียน) ที่หวังจะเป็นแรงบันดาลใจเล็กๆ ในการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลง เพื่อให้สังคมไทยตระหนักถึงพฤติกรรมการบริโภคที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น” ตรัยวิศว์  พงษ์บูรณกิจ นักศึกษาเจ้าของผลงานวิทยานิพนธ์

ห้างสรรพสินค้าหมุนเวียนคืออะไร ?

แล้วห้างสรรพสินค้าหมุนเวียนคืออะไร?
อธิบายง่ายๆ ก็คือ ศูนย์รวมสรรพสินค้าที่ปฏิวัติการช้อปปิงสู่ยุคเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยพลิกจากบทบาทเดิมของผู้บริโภค ที่เป็นผู้ซื้อเพียงอย่างเดียวเปลี่ยนมาเป็นได้ทั้งผู้ให้และผู้ซื้อ หรือผู้ปรับปรุงสิ่งของ เพื่อให้เกิดห่วงโซ่ที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมตามระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (ซึ่งตรงกับ Sustainable Development Goals ที่มีเป้าหมายเพื่อขจัดความยากจนให้หมดไป พร้อม กับดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของสิ่งมีชีวิตทุกคนและทุกที่บนโลก)

“ผู้คนที่มา Rejectory จะไม่ใช่เพียงซื้อสิ่งของแล้วนำกลับไปเท่านั้น แต่เราพยายามสร้างค่านิยมให้ผู้คนที่มามีส่วนร่วมในการปรับปรุงสิ่งของต่างๆ และได้เห็นคุณค่าของทุกๆ วัสดุ ผูกพันกับสิ่งที่ตนเองได้มีส่วนร่วมในการชุบชีวิตกลับขึ้นมา ทำให้สิ่งของที่เสร็จกลับไปมีความหมาย”

(ทิ้งแล้วไปไหน? กลไกของ Rejectory)
(Corporate Identity หรืออัตลักษณ์ขององค์กร)

Rejectory Circular Mall ( Reject + Factory )

Rejectory ไม่ได้มองตัวเองเป็นแค่สถานที่ แต่เป็นทั้งความเชื่อ และพฤติกรรมในการสร้างค่านิยมใหม่ให้การบริโภคสินค้าและบริการต่างๆ โดยจะมีแต้มสำหรับใช้ภายในโครงการหลังจากที่ได้ทิ้งอะไรบางอย่าง โดยมีวัฒนธรรมในการบริโภคที่ต่างออกไปผู้คนไม่ได้เข้ามาเพื่อซื้อสิ่งของและกลับออกไป แต่มาเพื่อทิ้งหรือ ซ่อมอะไรบางอย่าง และสร้างสังคมของเศรษฐกิจหมุนเวียนไปด้วยกัน

นำเสนอผ่านตลาดนัดจตุจักร ซึ่งเป็นแหล่งสินค้าทั้งมือหนึ่งและมือสองที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของกรุงเทพฯ เสน่ห์ของจตุจักร คือ การเป็นตลาดกลางแจ้งขนาดใหญ่ที่มีสินค้าหลากหลาย ตอบโจทย์ตั้งแต่วัยรุ่นอายุ 15-16 ปี ไปจนถึงวัย 60 ปีขึ้นไป ราคาสินค้าก็มีตั้งแต่หลักสิบไปจนถึงหลักหมื่น ที่สำคัญสินค้าในแต่ละประเภทมีมากมายให้เลือกแถมราคายังต่อรองได้ ดึงดูดกลุ่มคนที่ชื่นชอบการช้อปปิงเพื่อสร้างวัฒนธรรมการให้สิ่งของเหลือใช้และการนำกลับมาใช้ใหม่

Rejectory จึงเป็นห้างสรรพสินค้าที่ดึงอัตลักษณ์จากบริบทต่างๆ ของพื้นที่ออกมาเป็น 3 องค์ประกอบ คือ Factory , Circular และ Jatujak ผสมผสานเป็นเอกลักษณ์ของโครงการที่ดึงความพิเศษมาจากพื้นที่จตุจักรซึ่งมีความเฉพาะตัวสูง

(Jatujak Elements ลักษณะเด่นที่พบเห็นในตลาดนัดจตุจักร)

โดย Circular Mall มีบทบาทที่จะช่วยหมุนเวียนทรัพยากรต่าง ๆ ระหว่างผู้ประกอบการ และ ผู้บริโภค โดยที่เป็นตัวกลางในการนำเศรษฐกิจหมุนเวียนเข้ามาทำให้การซื้อขายสินค้าของจตุจักรกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ยั่งยืน และยังสะท้อนถึงวิสัยทัศน์การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยอีกด้วย

(เปลี่ยนจตุจักรให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับโลกที่ยั่งยืน)

ชุบชีวิตพื้นที่จตุจักร

เดิม ตัวอาคารคือ JJ OUTLET ที่มีโครงสร้างอาคารเป็นระบบเสาและคานเหล็ก สูงทั้งหมด 4 ชั้น และมีพื้นที่ต่อชั้นประมาณ 8,322 ตรม. ตั้งอยู่บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับตลาดนัดจตุจักร โดยตัวอาคารเป็นลักษณะยาว ตั้งเลียบขนานไปกับถนนกำแพงเพชร 2 ในทิศขวางตะวัน

(ภาพอาคารเก่า JJ OUTLET)
(JJ OUTLET Analysis)

การออกแบบภายนอกอาคารได้แรงบันดาลใจมาจากหอนาฬิกาของจตุจักรที่เปรียบเสมือนแลนด์มาร์ค เป็นอีกหนึ่งเสน่ห์และเป็นจุดถ่ายรูป อีกทั้งยังเป็นจุดนัดพบของใครหลาย ๆ คน ด้วยความที่หอนาฬิกาตั้งอยู่ใจกลางของตลาด

(หอนาฬิกาเก่าและใหม่)
(โครงสร้างของหอนาฬิกา)

ตัวอาคารเดิมมีทั้งหมด 4 ชั้น ซึ่งโครงการเปิดให้ลูกค้าเข้าได้เพียง 3 ชั้น ส่วนชั้น 4 เป็นพื้นที่สำหรับ STAFF และบริเวณชั้น 1-2 เป็นพื้นที่การขาย ส่วนชั้น 3 เป็นโซนสำหรับทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยชั้น 1 -2 จะเชื่อมต่อกันในลักษณะ Open Plan ที่มีบันไดวนหลักอยู่บริเวณใจกลางเชื่อมต่อกันทั้ง 3 ชั้น และมีบันไดย่อยอยู่ทางปีกซ้ายและปีกขวา โดยชั้นล่างแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ปีก และมีพื้นที่ตรงกลางเชื่อมต่อผ่านโถงทางเดิน ซึ่งบริเวณปีกซ้ายจะเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีชั้นบนเป็นคาเฟ่ ส่วนบริเวณปีกขวาเป็นโชว์เคสที่มีพื้นที่ด้านบนเป็นโชว์รูม ส่วนพื้นที่ตรงกลางที่เหลือสามารถมานั่งพักคอยหรือจัดแสดงสินค้าได้  ส่วนชั้น 3 มีใจกลางเป็นพื้นที่จัดนิทรรศการหมุนเวียน ก่อนจะแยกไปที่ฝั่งซ้ายซึ่งเป็น Co-Working และห้องสมุด ในขณะที่ฝั่งขวาเป็น Workshop Studio และ Material Room

(กลไกของนาฬิกาใจกลางอาคาร และการจัดสรรพื้นที่)

พลาซาบริเวณใจกลางได้แนวคิดมาจากกลไกของนาฬิกาที่เก็บพลังงานจากการเคลื่อนไหวมาขับเคลื่อนเข็มนาฬิกา จึงออกแบบให้มีบันไดหลักเพียงอันเดียวอยู่ตรงกลาง ก่อนจะกระจายผู้คนออกจากศูนย์กลางบริเวณชั้น 2 ในลักษณะการเดินเป็นวงกลม

(แนวคิดการออกแบบพลาซาบริเวณใจกลาง)

เมื่อเป็นการออกแบบอาคารใหญ่ ส่วนมากเรามักจะเห็นเอกลักษณ์บางอย่างของการออกแบบเพื่อให้สถานที่แห่งนั้นเป็นที่จดจำได้ สำหรับ Rejectory เองก็มี Kinetic Art วงกลมขนาดใหญ่ที่ใช้พลังงานจากการเดินมาเปลี่ยนเป็นพลังงานที่ใช้ในการหมุนงานศิลปะชิ้นนี้ ซึ่งการหมุนยังสะท้อนไปถึงแนวคิดหลักของแบรนด์ ซึ่งเป็นการทำซ้ำหรือการรีไซเคิลนั่นเอง

(แนวคิดการออกแบบ Kinetic Art)

ในส่วนต่าง ๆ ยังมีการนำเอกลักษณ์ของตลาดจตุจักรเดิมมาใช้ในการออกแบบ โดยดึงเอา Sense of Place จากทางเดินในตลาดนัดจตุจักรออกมา ไม่ว่าจะเป็นหลังคาที่แสงแดดทอดตัวลงมาและมีสองข้างทางเป็นร้านค้า ร่ม เต้นท์ ป้ายร้าน ป้ายบอกโซน และ KIOSK ต่างๆ ที่สามารถพบเห็นได้ในตลาดนัดจตุจักร

(องค์ประกอบที่มักพบเห็นได้ในตลาดจตุจักร)

Market Corridor ถูกออกแบบให้มีจุดรับทิ้งสิ่งของใช้แล้วซึ่งจะนำไปส่งกระบวนการรีไซเคิลทั้งหมด 5 ประเภท คือ กระดาษ พลาสติก โลหะ แก้ว และขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งผู้ใช้งานจะได้รับคะแนนในการนำไปซื้อสินค้า และบริการต่างๆ ได้ในโครงการ

สำหรับของชิ้นใหญ่อย่างเฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่าต่าง ๆ ก็มีจุดรับทิ้งสิ่งของเหลือใช้จากทางรถเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับผู้ที่ขับรถมา

(Rejectory Canteen)
(Rejectory Cafe)
(Rejectory Showroom)

การออกแบบเชิงหมุนเวียน (Circular Design) และเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ทั้ง 2 อย่างนี้ต่างก็เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เราไม่สามารถพูดถึงเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยปราศจากการพูดถึงงานดีไซน์ได้ ด้วยเหตุนี้ วัสดุที่ใช้ในโครงการจึงแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม หนึ่งคือ JATUJAK MATERIALS ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจตุจักร สอง คือ SCRAP MATERIALS หรือเศษวัสดุต่าง ๆ เช่น เศษเหล็กจากการก่อสร้าง เศษไม้พาเลท ตอบโจทย์แนวคิดการออกแบบเชิงหมุนเวียน เพื่อให้ทรัพยากรเหลือใช้ไม่กลายเป็นขยะ ตรงกันข้าม อาจกลายมาเป็นสมบัติอันมีค่าสำหรับใครบางคนก็เป็นได้

ภายในอาคารยังมีพื้นที่สำหรับผู้ประกอบการในจตุจักรที่จะสามารถมานั่งคุยงาน หาข้อมูลในการพัฒนาสินค้าของตนเอง เพื่อ สนับสนุนการขยายตลาดออนไลน์ และยังสามารถนำวัสดุต่างๆ ที่เหลือใช้มาแลกเปลี่ยนเป็นวัสดุที่สามารถนำไปใช้ได้ใหม่

(Rejectory Co-Working)
(Rejectory Library)

รวมถึงมีพื้นที่แสดงความคิดสร้างสรรค์จากสิ่งของเหลือใช้ต่างๆ เริ่มจากห้องเก็บเศษวัสดุของเหลือใช้ และพื้นที่สตูดิโอซึ่งเปิดให้ผู้คนสามารถมาใช้งานเพื่อสร้างสรรค์งานศิลปะต่างๆ และยังนำไปวางแสดงโชว์ในพื้นที่แสดงนิทรรศการได้อีกด้วย

(Rejectory Library)
(Sharing Resources)
(Upcycle Studio)
(Upcycle Showcase)
(ตรัยวิศว์ พงษ์บูรณกิจ นักศึกษาเจ้าของผลงานวิทยานิพนธ์)

วิทยานิพนธ์โดย
ตรัยวิศว์  พงษ์บูรณกิจ
คณะมัณฑนศิลป์ สาขาออกแบบตกแต่งภายใน
หลักสูตรศิลปบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร
มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา 2564
(รางวัลรองชนะเลิศ TIDA Thesis Awards 2021 สาขา Interior Design)
Email : traivisiii@gmail.com

อาจารย์ที่ปรึกษา : ผศ.ชัยณรงค์ อริยะประเสริฐ

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้