Search
Close this search box.

Forest-Wood Archi-Tect. NK
สตูดิโอออกแบบจากไต้หวัน ที่ปรุงแต่งสถาปัตยกรรมด้วยการใช้วัสดุไม้ให้คุ้มค่าที่สุด

หลายคนอาจเคยสงสัยว่า ทำไมการออกแบบสถาปัตยกรรมของประเทศไต้หวันในยุคหลัง จึงก่อสร้างด้วยวัสดุไม้น้อยมาก! เดิมไต้หวันมีทรัพยากรป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์อย่างยิ่ง ในช่วงที่ประเทศยังตกเป็นจักรวรรดิอาณานิคมญี่ปุ่นมีอัตราการส่งออกร้อยละ 70 เป็นสินค้าอย่างไม้ฮิโนกิและการบูร แต่เมื่อเวลาผ่านไป การตัดไม้ก็เริ่มหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อ 30 ปีก่อน ไต้หวันจึงสั่งห้ามการลักลอบตัดป่าไม้ดั้งเดิมทั้งหมด ส่งผลให้อุตสาหกรรมไม้ทยอยถอยลง ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะรณรงค์ให้สามารถตัดป่าไม้เพาะปลูกได้ แต่อัตราส่วนการใช้แหล่งไม้ที่เพาะปลูกในไต้หวันก็ยังคงน้อยเกินไป และส่วนมากยังคงพึ่งการนำเข้าจากต่างประเทศ

เอินข่าย (En-Kai Kuo) สถาปนิกชาวไต้หวันผู้กำลังศึกษาต่อปริญญาโท “Design and Make” เอกการออกแบบโครงสร้างไม้และการใช้งานที่ Architectural Association School of Architecture  ประเทศอังกฤษ เขาได้กลับมายังไต้หวัน และเก็บตัวอยู่ใน Hooke Park ที่มีพื้นที่กว้างประมาณ 6 ไร่ เพื่อศึกษาวัสดุโครงสร้างไม้อย่างจริงจัง  และต่อมาก็ได้ก่อตั้ง Forest-Wood Archi-Tect. NK และ Curvink Architects ที่นำประสบการณ์การเรียนรู้จากต่างประเทศ ต่อยอดประยุกต์ใช้วัสดุไม้จากไต้หวันในงานสถาปัตยกรรมและการตกแต่งภายใน เพื่อต่อชีวิตป่าไม้ และนำเสนอให้ผู้คนได้เห็นถึงความสำคัญและความเป็นไปได้ของวัสดุนี้มากขึ้น

(“Design and Make” วิชาเอกการออกแบบโครงสร้างไม้และการใช้งานในอังกฤษ ภาพจาก : Forest-Wood Archi-Tect. NK)

EMBERS บาร์ไม้โค้งงอที่เติมชีวิตให้พื้นที่ผ่านวัสดุธรรมชาติ

เอินข่ายทำความเข้าใจถึงวัสดุโครงไม้สน โดยนำต้นสนซีดาร์ญี่ปุ่นพันธ์ไต้หวัน 3 ต้นที่มีความสูงถึง 25 เมตร มารื้อคลายออกมาเป็นโครงสร้างใหม่ และนำเนื้อไม้ทั้งต้นออกมาตัดแบ่งและอบแห้ง จากนั้นใช้ความดันไอน้ำอุณหภูมิสูงตามธรรมชาติทำให้วัสดุไม้อ่อนตัวลงและสามารถดัดงอได้ เมื่อไม้มีรูปร่างคงที่ จึงนำมาประกอบเป็นแนวเส้นไดนามิกภายพื้นที่บาร์ ผสมผสานกับแผ่นไม้จำนวน 50 แผ่นที่ถูกประกอบเป็นรังไม้โคมระย้าที่ประดับลอยอยู่ด้านบน

การออกแบบนี้เปลี่ยนโฉมใหม่ให้กับวัสดุไม้ไปอย่างสิ้นเชิงด้วยเทคนิคของงานประดิษฐ์ที่ละเอียดละออ ส่งเสริมแหล่งไม้ในประเทศ และยังสื่อให้เห็นถึงคุณค่าด้านความยั่งยืนของการป่าไม้ในทางธุรกิจ โดยสถาปนิกยังสอดแทรกเรื่องราวสื่อถึงเชฟที่นำความรู้ต่อวัตถุดิบมาแปรรูปเป็นอาหาร เช่นเดียวกับแนวเส้นไดนามิกของไม้สนที่ลื่นไหล คล้ายการเคลื่อนไหวของเชฟที่คล่องแคล่วในการจัดทำอาหารนั่นเอง

บาร์เบนท์วูด EMBERS รางวัล Golden Pin Design Award สาขาการออกแบบพื้นที่ประจำปี 2020 (ภาพจาก : Golden Pin Design Award)

(ต้นส้นชีดาร์ญี่ปุ่นพันธุ์ไต้หวันทำเป็นเคาน์เตอร์กลางบาร์ในพื้นที่ อีกทั้งยังมีช่องแช่ที่เก็บไวน์ และฟังก์ชันซิงค์ล้างน้ำพร้อม)

Maker Space โชว์ความหลากหลายที่เป็นไปได้จากไม้

ด้วยการคำนึงถึงความคิดสร้างสรรค์ และการประดิษฐ์ของ Maker Space เอินข่ายนำต้นสนซีดาร์ญี่ปุ่นพันธุ์ไต้หวันที่ไม่นิยมใช้ในการก่อสร้าง โดยเลือกต้นที่มีความยาวถึง 25 เมตรมาประยุกต์ใช้สอยให้หมดทั้งลำต้น ด้วยการถูกแปลงมาเป็นเคาน์เตอร์บริการที่โชว์สินค้า โคมไฟ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายจากการประดิษฐ์ผ่านวัสดุจากป่าไม้

เมื่อเข้ามาถึงพื้นที่ภายใน Maker Space เริ่มแรกเราจะได้เห็นชั้นแขวนสาธิตสินค้าซึ่งทำมาจากลำต้นของต้นซีดาร์ญี่ปุ่นพันธุ์ไต้หวัน ต่อมาคือเฟอร์นิเจอร์ และเคาน์เตอร์ที่โชว์การดัดแปลงมาจากวัสดุไม้แบบดั้งเดิม และเฟอร์นิเจอร์เหล่านี้ได้ติดล้ออันใหญ่-เล็กที่แตกต่างกันไป เพื่อสะดวกในการใช้เมื่อทำกิจกรรมในอนาคต ส่วนปลายกิ่งไม้ที่เหลือของต้นทั้งหมดนั้นนำมามัดรวมกันมาเป็นเคาน์เตอร์บริการ

อุตสาหกรรมการผลิตโรงงานฝาครอบไทเป Maker Space ได้รับรางวัล Golden Pin Design Award สาขาการออกแบบพื้นที่ประจำปี 2021
(ภาพจาก : Golden Pin Design Award)

กิ่งไม้ต้นซีดาร์ญี่ปุ่นพันธุ์ไต้หวันที่ถูกมัดรวมกันเป็นเคาน์เตอร์บริการ และเปลือกไม้ที่ตัดเหลือจากโต๊ะดัดแปลงเป็นโคมไฟด้านบน
โต๊ะไม้ป่าสามตัวที่สามารถปรับใช้ได้อย่างอิสระตามกิจกรรม โดยยาว 18 เมตรเพื่อสะดวกต่อผู้เข้าคอร์สงานประดิษฐ์ (ภาพจาก : Golden Pin Design Award)

ต้นไม้หนึ่งต้นต้องใช้เวลาเติบโตภายในป่า 25 – 30 ปี จึงจะกลายเป็นวัสดุไม้เพื่อให้คนนำมาใช้ได้  สิ่งที่เอนข่ายยึดเป็นแนวคิดจึงเป็นการเคารพต่อผืนป่าและไม้ โดยเน้นการใช้วัสดุให้หมดลำต้นอย่างเต็มที่เท่าที่จะเป็นไปได้ รวมถึงการนำวัสดุไม้มาต่อประกอบกันโดยไม่ใช้ตะปูแรงดันสูงตามวิธีที่เป็นมิตรเพื่อให้วัสดุไม้ทั้งหมดสามารถรีไซเคิลกลับมาสร้างใหม่ได้

เมื่ออุตสาหกรรมป่าไม้ในไต้หวันกลายเป็นธุรกิจที่ทยอยเสื่อมสลายไปตามเวลา เหล่าอาจารย์ช่างไม้ที่มีอายุมากก็ยังคงไร้ทายาทสืบทอดงานประดิษฐ์ Forest-Wood Archi-Tect. NK จึงนำความเข้าใจที่มีต่อลักษณะเฉพาะตัวของวัสดุไม้ มาสร้างปรับโฉมในรูปแบบใหม่ๆ ที่ไร้ขีดจำกัด และยังตั้งใจปลูกฝังให้คนทั่วไป รวมถึงเหล่าดีไซน์เนอร์ในไต้หวันได้ตระหนักรู้ถึงประโยชน์การใช้ของวัสดุไม้และป่าได้อย่างสูงสุด

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading