รู้จักแบรนด์ GQ มาก่อนไหมครับ?
เมื่อสถาปนิกถาม เราถึงได้โอกาสมาย้อนนึกภาพหน้ากากอนามัย เสื้อยืดสะท้อนน้ำที่มีขายใน 7 -11 นั่นคือ ภาพ GQ ที่เรารู้จัก ซึ่งทั้งหมดนั้นคือ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสินค้ายุคใหม่ของแบรนด์ GQ ที่เปลี่ยนตัวเองไปโดดเด่นในเรื่องของการนำนวัตกรรมเข้ามาผสมผสานกับแฟชั่น แต่คนรุ่นใหม่น้อยคนนักที่จะรู้จักกับต้นแบบของเสื้อลายสก๊อตสุดเก๋า แฟชั่นดั้งเดิมจาก GQ ที่เป็นเทรนด์ยอดฮิตในตำนานของคุณปู่ คุณลุง หรือคุณพ่อ
เมื่อถึงเวลารีแบรนด์ สู่โฉมหน้าใหม่ของร้าน Retail Design For Business จึงขอพาทุกคนไปเยี่ยม GQ Shop ทั้ง 4 สาขา Fashion Island, MBK, Future Park Rangsit และสาขาล่าสุดอย่างเซนทรัลปิ่นเกล้า ที่ได้ทีมดีไซน์เนอร์รุ่นใหม่ Nana Johnny co studio มารับหน้าที่ออกแบบพื้นที่สำหรับสินค้าสองเจนเนอเรชันที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงให้อยู่ด้วยกันได้อย่างลงตัว
คงเอกลักษณ์ของแบรนด์ แต่มีคาแร็กเตอร์เฉพาะตัวในแต่ละสาขา
“GQ เขาตั้งธงว่าอยากให้ Innovation เป็นโจทย์ของการออกแบบและอยากให้แต่ละโปรเจ็กต์สอดคล้องกับคำนี้ทั้งหมด ซึ่งเขาแบ่งโปรดักต์เป็นสองส่วนที่เรียกว่า Non-hero โปรดักต์ทั่วไปที่ขายมานานกว่าสิบปี กับ Superhero โปรดักต์ที่มีนวัตกรรม ซึ่งในตอนนี้การผสานสองกลุ่มนี้เข้าหากัน มันยังไม่สมูท มี Generation Gap ที่คนรุ่นเก่าก็อาจจะงงว่า GQ เปลี่ยนไปแล้วหรือเปล่า หรือคนรุ่นใหม่จะรู้ได้ไงว่ามีเสื้อผ้านวัตกรรมอยู่นะ งานของเราจึงเป็นการผสานสองสิ่งนี้เข้าด้วยกัน เพื่อให้คนเข้าใจถึงสินค้านวัตกรรม ในขณะที่ลูกค้าเก่าก็ยังเข้าใจง่าย ๆ ว่า นี่คือ GQ เดิมของคุณอยู่นะ” สถาปนิกเล่า
คุณแก๊กยังเสริมว่า ความยากในการออกแบบ GQ แต่ละสาขา คือ การเก็บเอกลักษณ์ของแบรนด์หลัก ในขณะที่ต้องสร้างคาแร็กเตอร์ให้แต่ละสาขามีเรื่องราวและความเป็นตัวของตัวเอง “ปกติแบรนด์อื่น เขามักจะเก็บดีไซน์หลักไว้ทั้งหมด แล้วนำองค์ประกอบไปใช้ซ้ำในสาขาอื่น แต่สำหรับ GQ เขาไม่ต้องการเหมือนเดิมเลยสักที่นึง ความยากมันเลยเป็นการทำให้แต่ละสาขามันไม่เหมือนเดิม ในขณะที่ยังต้องเหมือนเดิมด้วย มันเลยต้องมีคีย์เวิร์ดในทุกที่ เรามองว่าการทำ GQ มันเหมือนนิยายเลย เพราะเวลาแบรนด์เขาทำอะไร หรือคิดอะไรได้ เขาก็จะเอามาใส่ในร้านที่จะเกิดขึ้น ในร้านหนึ่งร้านมันเลยบอกได้ว่าตอนนั้น GQ กำลังคิดอะไรหรือทำอะไรอยู่”
GQ Fashion Island – Path of the Train Tunnel
ชัดเจนน่าจดจำ และเข้าใจถึงพฤติกรรมคน
แต่ละสถานที่ แต่ละแบรนด์ของห้างสรรพสินค้าก็แตกต่างกันไปด้วยข้อจำกัด ซึ่งสำหรับ Fashion Island มีข้อกำหนดที่การออกแบบจะต้องเกี่ยวข้องกับรถไฟ ซึ่งเป็นธีมหลักของห้างสรรพสินค้า เพราะฉะนั้นสัดส่วนของ CI สีแดงจึงมีให้เห็นไม่มากเท่าสาขาอื่น ๆ
บริเวณด้านหน้าของตัวร้านออกแบบด้วยโทนสีแดงในรูปทรงสามเหลี่ยมที่สื่อสารชัดเจนตั้งแต่บริเวณด้านหน้าประกอบกับทีวีที่นำเสนอสินค้าผ่านจอมินิเตอร์ เมื่อเข้าสู่ด้านใน ผนังด้านหนึ่งถูกออกแบบโค้งโดยได้แรงบันดาลใจจากแพลทฟอร์มรถไฟ ซึ่งส่วนนี้ยังสามารถพรีเซนท์สินค้าได้เมื่อปิดไฟด้านหลัง “Fashion Island มันกว้างมาก ผมเลยรู้สึกว่านอกจากโลโก้แล้ว โมชั่นการเคลื่อนไหวมันจะทำให้คนสังเกตได้ง่ายขึ้น สร้างภาพจำได้เร็วกว่า และอะไรที่อยู่เหนือระดับสายตาคน จะสามารถเห็นได้จากระยะไกล”
นอกจากนั้นทีมสถาปนิกออกแบบทางเข้าเป็นสองทาง และทำผนังดิสเพลย์กั้นตรงกลาง หากต้องการนำสินค้ามาจัดแสดงก็ยังคงมีพื้นที่รองรับ แต่ถ้าช่วงไหนที่ไม่มี ร้านก็ยังสามารถปรับให้เปิดโล่งต่อไปได้
GQ MBK – Innovation w/ real SuperHero
เข้าถึงบริบทและกลุ่มผู้ใช้งาน
สำหรับ GQ สาขา MBK กลุ่มเป้าหมายเน้นไปที่วัยรุ่นสยามเป็นหลัก และเป็นสาขาแรกที่ GQ เริ่มนำคีย์เวิร์ดของสินค้ากลุ่ม Superhero มาใช้ ทีมสถาปนิกจึงตั้งใจให้ร้านเข้าถึงง่ายโดยสะท้อนความเป็น Super Hero ออกมาผ่านการออกแบบ แต่อะไรล่ะคือ Superhero ที่ทุกคนเข้าใจ?
“เรากลับไปดูว่า Superhero ที่แมส ๆ เลยคืออะไร เราไปนึกถึงพวก Super Sentai ในอดีตที่เราเคยดูกัน ซึ่งคัลเจอร์ความเป็นญี่ปุ่นมันก็บูมพอดี ในช่วงปี 60 70s ซึ่ง MBK ก็อยู่มาในยุคนั้นพอดี เราเลยตัดสินใจใช้ความเป็นญี่ปุ่น ความเป็น Superhero เป็นคีย์เวิร์ดในการออกแบบสาขานี้”
เริ่มตั้งบริเวณหน้าร้านที่ทีมสถาปนิกเลือกใช้เทคนิคการพรีเซนท์โลโก้ที่ดูโดดเด่นในธีมของภาพยนต์ หรือการ์ตูน Superhero ในยุคนั้น อีกทั้งออกแบบพื้นด้วยคอนกรีต แต่งแต้มสีแดงและสีขาวจากกราฟฟิกที่พบเจอได้ในชีวิตประจำวัน โดยได้แรงบันดาลใจมาจากถนนย่านชิบูย่าในญี่ปุ่น เนื่องจาก MBK หรือสยามมีบางอย่างที่คล้ายคลึงชิบูย่า อย่างถนนที่มีผู้คนเดินหลุกพล่าน หรือย่านที่มีการเชื่อมไปยังสถานที่สำคัญต่างๆ
ด้วยโปรดักต์ที่มีทั้งเสื้อ และกางเกงครบชุด ทีมสถาปนิกนึกถึงหุ่นยนต์ประกอบร่าง ก่อนจะออกแบบฟิกเจอร์ลอยตัวที่สามารถดิสเพลย์สินค้า และที่สำคัญคือสามารถปรับเปลี่ยน ประกอบร่างได้หลากหลายรูปแบบ สร้างความแตกต่างในการจัดแสดงสินค้าที่อาจเปลี่ยนไปในแต่ละคอลเล็กชัน ซึ่งกราฟฟิกและฟิกเจอร์เหล่านี้ยังเป็นต้นแบบที่ถูกนำมาใช้ในสาขาอื่น ๆ เพื่อสร้างภาพจำให้กับแบรนด์ GQ
Something More: ในส่วนของ CI (Corporate Identity) หรืออัตลักษณ์องค์กร ทาง GQ จะเป็นผู้กำหนดว่าแต่ละสาขาต้องการสีแดงกี่ % ซึ่งอย่างน้อยจะอยู่ที่ประมาณ 25-30% ทีมสถาปนิกจึงมองว่าสิ่งนั้นต้องโดดเด่นและสื่อสารชัดเจน เป็นที่มาของการใช้โลโก้ ฟิกเจอร์ และพื้นด้านหน้าในโทนสีแดงสด
“สาขานี้เล็กที่สุด เราเลยได้ทดลองอะไรเยอะเลย ห้องสต็อกของ GQ ที่อย่างน้อยต้องมี 20% ของร้าน เราดันขึ้นไปเป็นพื้นที่ชั้นลอยเพื่อประหยัดพื้นที่ และใช้วัสดุโปร่งแสงเพื่อซ่อนสิ่งที่อยู่ด้านหลังในขณะที่ไม่สร้างความทึบตัน และยังมีการออกแบบห้อง Fitting room ซึ่งเราคิดว่าน่าจะเป็นปัญหาของร้านขนาดเล็กทุกร้านที่ต้องการขายเร็ว ทำยังไงให้มีห้องลองเสื้อผ้าที่ใช้งานได้ แต่ในวันที่ไม่มีคนใช้มันสามารถเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น เราเลยออกแบบ Fitting room เป็นโครงสร้างที่สามารถเลื่อนมาปิดให้กลายเป็นห้อง และมีบานกระจกซ่อนอยู่ด้านในร่องระหว่างตู้สองตู้ สามารถเปิดเลื่อน เขาจะใช้เป็นโชว์เคสตอนเปิด หรือใช้เป็นกระจกเพื่อให้ร้านมันกว้างขึ้นก็ได้”
เมื่อร้านมีขนาดพื้นที่จำกัด และเป็นสี่เหลี่ยมที่เกิดมุมเยอะ ทางผู้ออกแบบจึงลดมุมเพื่อทำให้ร้านดูกว้างขึ้น ด้วยการทำให้ราวแขวนดูเชื่อมต่อยาวเป็นทรงโค้งติดตั้งบางส่วนด้วยตะแกรงเหล็กฉีก สามารถใช้แขวนสินค้าได้ ส่วนด้านหลังสกิมผิวด้วยคอนกรีต ช่วยประหยัดงบประมาณไปในตัว
GQ Future Park Rangsit – Mini Factory
สะท้อนเรื่องราวของแบรนด์ และพร้อมปรับเปลี่ยนในทุกสถานการณ์
เมื่อได้คุยสตอรี่พื้นเพที่มาของแบรนด์ เราก็ได้รู้ว่า GQ นั้นเริ่มต้นมาจากโรงงานผ้าเล็กๆ อีกทั้งกลุ่มเป้าหมายในย่านนั้นค่อนข้างจะเน้นไปที่บ้านพักอาศัยและกลุ่มครอบครัวเป็นหลัก ทางแบรนด์จึงต้องการให้สาขานี้สะท้อนถึงกลิ่นอายเก่าๆ ของโรงงานเล็กๆ เพื่อให้คนทั่วไปรู้สึกถึงความเป็นกันเองและเข้าถึงได้ง่าย
สาขานี้ค่อนข้างมีพื้นที่กว้างขวาง ผู้ออกแบบจึงยกระดับพื้นที่เพื่อให้สินค้าที่แตกต่างกันทั้งสองกลุ่มใหญ่ได้รับความสนใจอย่างเต็มที่ รวมถึงมีอ่างน้ำอยู่บริเวณกลางร้านเพื่อสาธิตการใช้งานของสินค้ากลุ่มนวัตกรรมอย่างเสื้อผ้าสะท้อนน้ำ เสื้อเปลี่ยนสี ส่วนจัดแสดงสินค้าโซนอื่นๆ ล้วน Flexible ยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้ ในทุกๆ สาขา ทุกๆ องค์ประกอบจะถูกออกแบบให้ลอยตัว มีล้อสามารถเคลื่อนย้าย หรือแม้แต่ผนังที่ใช้จัดแสดงสินค้าก็เป็นอุปกรณ์ที่สามารถถอด เปลี่ยนได้และย้ายได้หมด ตอบโจทย์แบรนด์ซึ่งค่อนข้างเน้นฟังก์ชันในการเปลี่ยนแปลง เพราะเป็นแบรนด์ที่มีสินค้าใหม่ๆ ออกมาตลอดเวลา
Something More: แพทเทิร์นที่พื้น ยังเป็นเสมือนการมาร์กตำแหน่ง เพื่อจัดร้านเอาไว้ประมาณหนึ่ง หากเกิดการเคลื่อนย้ายเข้าออกของสินค้า หรือชั้นวาง พนักงานก็ยังสามารถรู้ตำแหน่ง และสามารถจัดกลับคืนได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
“สิ่งที่เราคำนึงเป็นข้อแรก เวลาเราจัดวางฟิกเจอร์ คือ พื้นที่ที่เหลือจากทางสัญจรเราจะจัดสรรมันยังไง ตรงไหนจะเป็นที่นั่งใหญ่ๆ ถ้าคนนั่งก็ต้องเห็นสินค้า หรือถ้าใกล้เคาน์เตอร์ต่อคิว ตอนต่อคิวก็ต้องเห็นสินค้า ถ้ามือเขาถือสินค้าหลักพัน ตาต้องเห็นสินค้าหลักร้อย ทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันหมด การแบ่งประเภทโปรดักต์ก็เช่นกัน จากเสื้อไปต่อที่กางเกง ไปต่อที่สูท มันคือวิธีหนึ่งที่ดึงดูดคน”
GQ Central Pinklao – Innovation w/ spaceship
ใช้พื้นที่อย่างไรให้คุ้มค่าที่สุด
สำหรับสาขาล่าสุด วัสดุที่สร้างภาพจำอย่าง เหล็ก สแตนเลส ถูกนำมาใช้เพื่อคงคาแร็กเตอร์เช่นเดิม แต่ด้วยความที่สาขานี้เน้นกลุ่มลูกค้าครอบครัว การออกแบบจึงต้องขายให้ง่ายที่สุด เข้าใจง่ายที่สุด ลดทอนดีเทลการผลิตให้มากที่สุด ในขณะที่ภาพรวมยังคงเน้น Innovation หรือการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวที่เคลื่อนย้ายได้ทั้งหมด สามารถใช้งานได้มากกว่าการโชว์ และต้องโชว์สินค้ายังไงให้ได้คุ้มค่าที่สุด
ด้วยตำแหน่งของร้าน ซึ่งหากเดินเข้าจากหน้าห้างสรรสินค้า ขึ้นบันไดเลื่อนมาจะเจอ GQ ทางแบรนด์จึงต้องการให้หน้าร้านสว่าง เป็น light box ที่คนสังเกตได้ทันที มีทีวีที่นำเสนอสินค้าอยู่บริเวณด้านหน้า การออกแบบพื้นที่ขายจึงสอดคล้องไปกับเนื้อหาที่ทีวีกำลังนำเสนออยู่
“เราประกอบฟังก์ชัน แมททีเรียลให้มันกลมกลืนที่สุด โดยจะไม่มีพื้นที่ส่วนไหนที่ไม่มีประโยชน์ในการใช้งานเลย ตะแกรงเหล็กฉีกด้านหลังก็สามารถวางสินค้าโชว์ได้ โดยทั่วไปของร้าน ตั้งแต่พื้นจนถึงเพดาน อะไรก็ตามที่อยู่เหนือหัวหยิบไม่ได้ มักจะถูกตัดออกไป แต่เรามองว่า ถึงมันจะหยิบไม่ได้แต่ก็สามารถพรีเซนท์ได้ นำเสนอเรื่องกราฟฟิกได้ เครื่องเคาน์เตอร์ก็สามารถดิสเพลย์สินค้าด้านหน้าได้ ส่วนด้านหลังเป็นที่เก็บอุปกรณ์ ที่เราออกแบบให้กว้างขึ้นด้วยกระจกสีแดง”
นี่คือเรื่องราว 4 สาขาของ GQ ที่สอดแทรกไปด้วยแนวคิดการออกแบบเพื่อการค้าที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการออกแบบองค์ประกอบเล็กๆ ไปจนถึงการออกแบบพื้นที่ภาพใหญ่ที่สะท้อนเรื่องราวและแนวคิดแบรนด์ได้อย่างน่าจดจำ และคิดว่าในอีกสองปีข้างหน้า เราคงได้เห็นตัวตนของ GQ ที่โลดแล่นในรูปแบบของ Retail Shop อย่างเต็มตัว
Project: GQ Fashion Island
Year : 2020
Area : 68 sq.m
Design Team : สิรภพ พูลศรี, กิตติ วิชัย, ฆฤณา ตันติภิรมย์
Contractor : BUNJERD INFINITE CO., LTD
Project: GQ MBK
Year : 2021
Area : 77 sq.m
Design Team : สิรภพ พูลศรี, ธเนศวร ฉัฐมะวงศ์, สาริศา มานะบุญ,กิตติ วิชัย
Contractor : Gen-C Interior Solution
Project: Future Park Rangsit
Year : 2021
Area : 220 sq.m
Design Team : สิรภพ พูลศรี, ธเนศวร ฉัฐมะวงศ์, สาริศา มานะบุญ,กิตติ วิชัย
Contractor : Gen-C Interior Solution
Project: Central Pinklao
Year : 2021
Area : 88 sq.m
Design Team : สิรภพ พูลศรี, ธเนศวร ฉัฐมะวงศ์, สาริศา มานะบุญ,กิตติ วิชัย
Contractor : PCS
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!