เชื่อว่าสถาปนิกหลายคนต้องเคยอยากเข้าสถาปัตย์เพราะคณะนี้ดูเท่ ได้วาดรูปเล่นอย่างสบายใจ และแทบจะไม่ต้องอ่านหนังสือสอบเลย แต่บางทีเหล่านั้นอาจเป็นสิ่งที่เข้าใจผิด เพราะสถาปนิกที่ดีต้องอาศัยความรับผิดชอบต่องานอย่างหนัก เพราะงานมีผลกับความสบายกายใจและความปลอดภัยของผู้ใช้งานโดยตรง นอกจากนั้นยังต้องอาศัยไอเดียในการออกแบบจากการอ่านหนังสือ ท่องเที่ยว หาแรงบันดาลใจในทุกๆ วัน คณะนี้จึงมีอะไรที่น่าค้นหาอีกมากมาย ซึ่งเริ่มบันได้ขึ้นแรกจากการเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อเป็นนักเรียนสถาปัตยกรรม!
เริ่มต้นจากการเข้าใจตนเองก่อน โดยพิจารณาว่าเราชอบสถาปัตยกรรมด้านไหนเป็นพิเศษ เช่น ชื่นชอบการออกแบบ จัดวางสวน สนใจในต้นไม้เป็นพิเศษ อาจจะแสดงว่าเราเหมาะสำหรับสาขาภูมิสถาปัตยกรรม เมื่อเริ่มรู้ตัวว่าชอบสาขาไหน ก็จะทำให้เราวางแผนการสอบได้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น
เฟ้นหา work shop ที่เป็นประโยชน์ เมื่อรู้ว่าเราชื่นชอบสาขาไหนของสถาปัตยกรรมแล้ว อาจหาเวลาว่างในการไปเข้าค่าย หรือ work shop ทางด้านสาขาที่ต้องการจะสอบเข้า การเข้าค่ายจะทำให้ได้เรียนรู้ และเพิ่มทักษะทั้งการวาดภาพ การออกแบบ อีกทั้งยังได้ประสบการณ์จากรุ่นพี่ซึ่งเราจะได้นำมาชั่งน้ำหนักว่าการเรียนแบบนี้เหมาะกับความชอบของเราหรือไม่
หาความรู้เพิ่มเติมจาก open house นอกจากการเข้าค่ายที่ควรจะไปหาประสบการณ์แล้ว การไป open house ยังถือว่าเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีประโยชน์เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะกับการไปคณะ มหาวิทยาลัยที่ชื่นชอบ เพื่อดูสภาพแวดล้อม การเรียนการสอน อีกทั้งยังได้ข้อมูลเพิ่มเติมต่างๆ ที่เป็นประสบการณ์เฉพาะตัวอีกด้วย
ลองวาดรูป ออกแบบงานบ่อยๆ การฝึกฝนบ่อยๆ จะทำให้เรารู้ว่าภาพรวมของงานเป็นอย่างไร แล้วให้ลองดูว่าเราสามารถทำมันได้ดี และ ชอบมันจริงๆหรือไม่
สิ่งที่คนทั่วไปมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับการการเรียนสถาปัตย์คือคณะนี้เรียนวาดรูปอย่างเดียว แท้จริงแล้วการเรียนสถาปัตย์เป็นการออกแบบที่ใช้ทักษะทั้งศาสตร์ (การจัดการวางผัง การศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ กฎหมายอาคาร การคำนวณโครงสร้าง ทฤษฎีการออกแบบ) และศิลป์ (ใช้ทักษะการวาดทัศนียภาพเพื่อแสดงบรรยาการรูปลักษณ์ของอาคาร เขียนภาพไอโซเมตริก เขียนแบบทางสถาปัตย์) ดังนั้นการออกแบบสถาปัตยกรรมต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ และการวาดรูปเป็นเพียงการแสดงภาพสิ่งที่เราออกแบบให้คนอื่นเห็นภาพเข้าใจตรงกันเท่านั้น
ผู้ที่ตัดสินใจจะสอบเข้าจึงควรรู้เนื้อหาคร่าวๆ โดยการเข้าไปยังเว็บไซต์ของคณะสถาปัตยกรรมและศึกษาหลักสูตรที่ต้องการจะเรียนว่าโดยภาพรวมแล้วมีวิชาอะไรบ้าง แล้วประเมินว่าเข้ากับศักยภาพและความชอบของเราหรือไม่
สำหรับน้องๆ Dek66 ที่กำลังมีข้อสงสัยกันว่า TCAS66 ต้องสอบอะไรบ้าง มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจาก TCAS65 บ้าง การเปลี่ยนแปลงมีดังต่อไปนี้
-ลดความซ้ำซ้อนของรายวิชาสอบโดยการรวมบางวิชาเข้าด้วยกัน
-เน้นการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้งาน
-GAT/PAT ไม่มีการสอบแล้ว แต่ปรับเปลี่ยนข้อสอบเป็น TGAT/TPAT (จาก GAT เปลี่ยนเป็น TGAT และ PAT เปลี่ยนเป็น TPAT)
-สอบผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ ณ สนามสอบที่จัดให้
TGAT (Thai General Aptitude Test) เป็นการสอบวัดสมรรถนะทั่วไป คะแนนเต็ม 300 คะแนน โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
– ENGLISH COMMUNICATION ทักษะภาษาอังกฤษ
– CRITICAL AND LOGICAL THINKING การใช้เหตุผลเชิงปริมาณและการคิดอย่างมีตรรกะ
– FUTURE WORKFORCE COMPETENCIES สมรรถนะในการทำงานในอนาคต
Value Creation & Innovation : การสร้างคุณค่าและวัฒนธรรม
Complex Problem Solving : การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน
Emotional Governance : การบริการจัดการอารมณ์
Civic Engagement : การมีส่วนร่วมและรับผิดชอบต่อสังคม
TPAT (Thai Professional Aptitude Test) เป็นการสอบความถนัดวิชาชีพ คะแนนเต็ม 100 คะแนน ต้องใช้คะแนน ความถนัดด้านสถาปัตยกรรม (คาดเดาแนวทางจาก PAT4)
วิชาสามัญ คะแนนเต็ม 100 คะแนน
คณิตศาสตร์ประยุกต์ เป็นการรวมกันระหว่างคณิตศาสตร์ 1 และ PAT1 โดยโจทย์จะมีการออกแบบประยุกต์ให้ Advance มากยิ่งขึ้น ต่างจากข้อสอบปีก่อนๆ ที่โจทย์ถามอย่างไร ตอบอย่างนั้น แบบตรงๆเลย มี 2 ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ 1 : คณิตศาสตร์พื้นฐาน
ส่วนที่ 2 : คณิตศาสตร์เพิ่มเติม
**สามารถเลือกสอบเพียง คณิตศาสตร์พื้นฐาน หรือ คณิตศาสตร์เพิ่มเติม และสามารถสอบ ทั้ง 2 ส่วนเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับคณะ/สาขาวิชากำหนด
ฟิสิกส์
ภาษาอังกฤษ
เรื่องการเตรียมสอบที่เน้นมากๆ คือ GAT PAT4 และวิชาสามัญ 3 ตัวหลักคือภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ถ้าใจจะมุ่งมาทางนี้แล้วก็เน้นเฉพาะทางไปเลย จะประหยัดเวลาในการอ่านหนังสือมากขึ้น
Something More :
TGAT : สอบได้ 2 ครั้ง เดือนตุลาคม และ เดือนธันวาคม ปี 2565
TPAT : สอบได้ 1 ครั้ง เดือนธันวาคม ปี 2565
วิชาสามัญ : สอบได้ 1 ครั้ง เดือนมีนาคม ปี 2566
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย / มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ /มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ / มหาวิทยาลัยศิลปากร / มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี / มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ /สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง / มหาวิทยาลัยขอนแก่น / มหาวิทยาลัยมหาสารคาม /มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี /มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ / มหาวิทยาลัยนเรศวร / มหาวิทยาลัยแม่โจ้ / มหาวิทยาลัยพะเยา / มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ / มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ / กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ เช่น มรภ.พระนคร มรภ.สวนสุนันทา มรภ.ภูเก็ต เป็นต้น / กลุ่มมหาวิทยาลัยราชมงคล เช่น มทร.ธัญบุรี มทร.พระนคร มทร.ตะวันออก มทร.ล้านนา มทร.ศรีวิชัย มทร.อีสาน เป็นต้น / กลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชน เช่น ม.กรุงเทพ ม.รังสิต ม.ศรีปทุม ม.อัสสัมชัญ ม.เกษมบัณฑิต ม.วงษ์ชวลิตกุล เป็นต้น
ส่วนมากนักเรียนที่จะสอบเข้ามักจะหาอ่านและทำข้อสอบจากหนังสือความถนัดทางสถาปัตยกรรมต่างๆ ที่ขายตามร้านหนังสือทั่วไป แต่ก็มีอีกส่วนใหญ่ที่จะติวสอบความถนัดและทำPortfolioกับติวเตอร์อย่างเข้มข้น
ในยุคนี้การติวออนไลน์ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ อย่างเช่นคลิปสอนวาด Perspectiveบนเว็บไซต์ YouTube ซึ่งเป็นช่องทางที่ประหยัดและปลอดภัยในการแพ่ระบาดของโรคโควิด19ด้วย ข้อสอบหลักๆ ที่จะออกจะแบ่งเป็น 4 ส่วนดังนี้
ปรนัยเพื่อวัดความรู้ ที่เป็นเรื่องความรู้ทางศิลปะ แสง เสียง ลม ความร้อน การจัดวางพื้นที่ กฎหมายอาคาร การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มิติสัมพันธ์ เรขาคณิต ความเชื่อมโยงต่างๆ
ข้อสอบมิติสัมพันธ์แสงเงา (Isometric) ที่จะเป็นเรื่องของมิติ 2-3 มิติ การหาพื้นที่แรงเงา
ข้อสอบการออกแบบ2มิติ (Graphic design) เป็นการให้ออกแบบสัญลักษณ์ รูป ตามโจทย์ที่กำหนดไว้
ข้อสอบการออกแบบ3มิติ (Sketch design) ส่วนใหญ่จะเป็นการให้ออกแบบสิ่งใช้สอย ของใช้ เฟอร์นิเจอร์ ตามโจทย์ที่กำหนดไว้
ข้อสอบแบบ Perspective ที่โจทย์จะระบุสถานที่ เหตุการณ์ ให้วาดออกมา ต้องวาดให้หมดตามที่โจทย์กำหนดเอาไว้
เชื่อว่าหลายๆ คนต้องรู้จักคุ้นเคยกับ Portfolio หรือแฟ้มสะสมผลงาน ซึ่งการจะยื่นพอร์ตสู่มหาวิทยาลัยต่างๆ นั้นต้องดูเกณฑ์การคัดเลือกให้ดี เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีเกณฑ์ที่ค่อนข้างแตกต่างกัน พอร์ตของคณะสถาปัตย์จะแตกต่างกับคณะอื่นตรงที่จำเป็นต้องสะสมผลงานที่เกี่ยวข้องกับการวาดรูปเช่น Perspective , Isometric , Sketch Design เป็นต้น เพื่อจะได้เป็นเครื่องการันตีว่าสามารถผ่านเข้ามาเรียนได้ และเข้าใจรูปทรงสามมิติของอาคารเป็นอย่างดี โดยมีเทคนิคมาแนะนำดังนี้
-จัดองค์ประกอบหน้ากระดาษให้สามารถอ่านได้ง่าย เป็นระเบียบ แต่แฝงด้วยความคิดสร้างสรรค์
-ใช้โทนสีที่เข้ากัน ไม่ใช้หลากหลายสี
-ใช้ฟ้อนต์เดียวกันในหนึ่งภาษา–เรียงลำดับผลงานโดยเลือกงานที่สมบูรณ์ที่สุดขึ้นก่อน แล้วปิดด้วยรูปที่สมบูรณ์เช่นกัน
-แสดงความเป็นตัวของตัวเองลงไปในแฟ้มสะสมผลงานอย่างเหมาะสม
สาขาสถาปัตยกรรมหลัก ประกอบอาชีพเป็นสถาปนิก นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ผู้รับเหมาก่อสร้างอิสระ ที่ปรึกษาโครงการและบริษัทบริหารงานโครงการก่อสร้าง บุคลากรทางการศึกษาและหน่วยงานราชการด้านสถาปัตยกรรมและงานโยธา ผู้ประกอบการด้านออกแบบต่างๆ
สาขาสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ ประกอบอาชีพเป็นสถาปนิกสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑณศิลป์ ผู้บริหารโครงการออกแบบและก่อสร้างทางสถาปัตยกรรมภายใน ผู้ก่อสร้างทางสถาปัตยกรรมภายใน นักออกแบบในสาขาอาชีพอื่นๆ
สาขาสถาปัตยกรรมผังเมือง ประกอบอาชีพเป็นนักผังเมือง นักวิเคราะห์โครงการและวางแผน นักวิชาการและที่ปรึกษาด้านผังเมือง นักวิจัย และอาจารย์ประจำสถาบันอุดมศึกษา
สาขาภูมิสถาปัตยกรรม ประกอบอาชีพเป็นภูมิสถาปนิกในหน่วยงานข้าราชการ หน่วยงานในกำกับของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ผู้ควบคุมงานก่อสร้างทางภูมิสถาปัตยกรรม ที่ปรึกษาด้านงานพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาสภาพแวดล้อมหน่วยงานเอกชนหรือองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร
อาชีพหลังจบการศึกษาอาจไม่จำเป็นต้องมีแค่ที่เรายกตัวอย่างมา การเรียนสถาปัตยกรรมนั้นสามารถนำทักษะที่ได้ไปใช้ในการประกอบอาชีพอื่นๆ ก็ได้เช่นเดียวกัน โดยขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน
เมื่อจบหลักสูตร ปวช./ปวส. สามารถต่อคณะสถาปัตยกรรมในมหาวิทยาลัยที่รับ ปวช. เข้าศึกษา เช่น กลุ่มมหาวิทยาลัยราชมงคล มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือได้ หรือบางคนอาจไปเรียนต่อด้านการออกแบบต่างๆ อย่างออกแบบภายใน ออกแบบบรรจุภัณฑ์ หรือแม้กระทั่งออกแบบกราฟฟิกได้อีกด้วยและยังสามารถหางานทำได้เลย ไม่ว่าจะเป็นช่างเขียนแบบ ช่างควบคุมงานก่อสร้าง ช่างเทคนิคทางสถาปัตยกรรมก็ได้ แต่โดยหลักการแล้วยังรับงานออกแบบก่อสร้างอาคารจริงเองไม่ได้เพราะยังไม่ใช่สถาปนิก ดังนั้นจึงยังต้องทำงานภายใต้การควบคุมจากสถาปนิกหรือวิศวกร
ทุกคน ทุกแผนการเรียนมีสิทธิ์สอบผ่านเข้าไปเรียนในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ได้ ถ้าคะแนนสอบและคุณสมบัติโดยรวมถึงเกณฑ์ที่สาขาหรือมหาวิทยาลัยนั้นๆ กำหนด แต่บางทีมหาวิทยาลัยอาจมีระบุเพิ่มเติมไว้ในคู่มือการรับว่าต้องเรียนสายวิทย์-คณิต เท่านั้น จึงต้องติดตามดูรายละเอียดเกณฑ์การรับของแต่ละโครงการแต่ละปีให้ดี
ส่วนถ้านักเรียนม.ต้นคนไหนต้องการความมั่นใจว่าจะมีคุณสมบัติด้านแผนการเรียน สามารถเข้าคณะสถาปัตย์จริงๆ ก็สามารถเลือกเรียนแผนวิทย์-คณิต หรือศิลป์คำนวณ ไว้ก่อนเพื่อความสบายใจก็ได้เช่นกัน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.smartmathpro.com/tcas66/
https://www.dek-d.com/tcas/58428/
https://viridian-academy.com/architecture/
https://nutdesignstudio.com/th/
https://www.dek-d.com/education/32574/
https://www.admissionpremium.com/arch/news/3476
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!