ภาพของท่าเตียนซึ่งเต็มไปด้วยร้านค้าคู่กับความจอแจของผู้คนที่สัญจรไปมาและการค้าขายนั้น ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในยุคสมัยนี้แต่เป็นภาพที่คุ้นตาสำหรับคนกรุงเทพมาตั้งแต่สมัยก่อน เนื่องจากบริเวณนี้เป็นย่านค้าขายที่สำคัญของทั้งชาวไทยและพ่อค้าแม่ค้าชาวต่างชาติ ทำให้ท่าเตียนนับว่าเป็นชุมชนที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทั้งในด้านความหลากหลายของเชื้อชาติที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานทำการค้า และร่องรอยทางประวัติศาสตร์ของการพัฒนาจัดระเบียบเมืองอีกด้วย
วัด วัง ‘ตลาด’
ท่าเตียนเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรียังเป็นราชธานีและป็นย่านการค้ามาตั้งแต่สมัยนั้นจึงมีชาวจีนและญวณอาศัยกันมาแต่เดิม เนื่องจากเมื่อก่อนการคมนาคมหลักของกรุงเทพเป็นทางน้ำ ท่าเตียนจึงนับเป็นตลาดน้ำริมฝั่งเจ้าพระยาที่เต็มไปด้วยเรือนแพของชาวบ้านและเรือเร่ของเหล่าพ่อค้า โดยมีการค้าขายสินค้าหลากหลายชนิด เช่น อาหาร และผักผลไม้จากภูมิภาคต่างๆ
ในบรรดาองค์ประกอบสามอย่างที่เป็นปัจจัยสำคัญของความเป็นเมือง คือ วัด วัง และตลาด นั้น ย่านท่าเตียนนับว่าเป็น ‘ตลาด’ ที่สำคัญในยุคแรกของกรุงเทพคู่กับปากคลองตลาด รวมถึงทำหน้าที่เป็นตลาดท้ายวังสำหรับชาววังด้วย ท่าเตียนจึงเหมือนเป็นแหล่งรวบรวมสินค้าจากท่าน้ำสำคัญต่างๆ สำหรับทั้งชาวบ้าน ชาววัง และยังเป็นศูนย์กลางการคมนาคมสำหรับคนที่สัญจรไปมาอีกด้วย โดยในบริเวณท่าเตียนมีท่าเรือหลักอยู่หลายท่า คือท่าเรือขาว เขียว ท่าเรือสุพรรณ ท่าเรือแดง ท่าขาวโพด และท่าโรงโม่ ซึ่งแต่ละที่จะมีประเภทของสินค้าที่มาลงต่างกัน รวมถึงมีท่าเรือสำหรับใช้ในการเดินทางเช่นกัน
จากทำเลที่อยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นทางสัญจรหลักในอดีต เมื่อมีการตัดถนนก็สามารถเข้าถึงได้โดยการคมนาคมทางบก ทำให้การค้าบริเวณท่าเตียนเติบโตจนกลายเป็นย่านเศรษฐกิจที่สำคัญ จากความรุ่งเรื่องนี้ผู้คนจากหลายย่าน ชาวต่างชาติ รวมถึงพ่อค้าชาวจีน ย้ายถิ่นฐานมากจากบ้านเกิดเพื่อมาทำการค้าในท่าเตียน โดยมีประชากรชาวจีนเป็นจำนวนมาก ทำให้ท่าเตียนนั้นกลายเป็น ‘ยี่ปั๊ว’ หรือแหล่งค้าส่ง จากความหลากหลายของสินค้า เช่น ปลาสลิด อาหารทะเล น้ำตาล และ ไข่เค็ม
จากตลาดสู่ตึกแถว
ความน่าสนใจของสถาปัตยกรรมภายในชุมชนท่าเตียนนั้นคงหนีไม่พ้น ‘ตึกแถวตลาดท่าเตียน’ ที่เราอาจได้เห็นกันจนคุ้นชินและนับเป็นภาพจำหนึ่งของชุมชน โดยบริเวณที่ตั้งของตึกแถวชุดนี้นั้นเดิมเคยมีกำแพงเมืองเดิมที่ถูกรื้อออกไป นอกจากความสวยงามแล้วตึกชุดนี้ยังเป็นหลักฐานอย่างหนึ่งของการพัฒนาและจัดระเบียบเมืองให้ดูเรียบร้อยในสมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากสมัยนั้นพื้นที่บริเวณรอบพระบรมหาราชวังในยุคนั้นยังคงไม่เป็นระเบียบนัก จึงได้มีการเสนอให้มีการตึกแถวล้อมตลาดไว้ สำหรับตึกแถวท่าเตียนนั้นเป็นลักษณะของตึกแถวล้อมตลาด คือการที่สร้างเป็นแนวล้อมตลาดเอาไว้ด้านใน โดยหน้าตึกแถวหันออกสู่ถนน และมีการเว้นซุ้มประตูเป็นทางเข้าไปตลาด
ด้วยลักษณะของการล้อมตลาด ทำให้เมื่อเดินผ่านตึกแถวเข้าไปแล้วจะได้พบกับโรงตลาดที่สร้างขึ้นจากโครงสร้างไม้และโครงสร้างปูนบางส่วน โดยตึกแถวที่เรียงรายเป็นระเบียบอยู่รอบนอกนั้น ตัดกับบรรยากาศของโรงตลาดไม้ที่เต็มไปด้วยคนสัญจรทั้งฝั่งพ่อค้าแม่ค้าและผู้คนที่มาจับจ่าย ทำให้เราสามารถเข้าใจถึงบริบทและบรรยากาศของการใช้งานอาคารที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยได้ และนับเป็นความคอนทราสต์ระหว่างภายนอกภายในที่เป็นอีกหนึ่งสเน่ห์ของชุดตึกแถวท่าเตียน
สถาปัตยกรรมท่าเตียน
ลักษณะตึกแถวชุดนี้เป็นอาคารอนุรักษ์สูง 2 ชั้น หลังคามุงกระเบื้องว่าว โดยที่ชั้นสองมีการตกแต่งช่องหน้าต่างเป็นซุ้มโคงเต็มช่วงเสา ซึ่งเป็นลักษณะของตึกแถวที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 และประดับลวดลายปูนปั้นตามอิทธิพลเรเนซองส์ นอกจากนี้เราจะได้แนวผนังกันไฟเป็นผนังครีบที่่ยื่นเป็นสันขึ้นมาจากหลังคาเป็นช่วงๆ ทุก 2-3 คูหา เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการออกกฎหมายเรื่องผนังกันไฟขึ้นเพื่อป้องกันอัคคีภัย ทำให้ตึกแถวหลังยุคนี้เป็นต้นไปจะมีการทำผนังกันไฟทั้งหมด
จากผังอาคารที่เป็นรูปตัว U จะมีส่วนที่เว้นเอาไว้เป็นทางเข้าตลาดอยู่ 3 จุด คือ ทิศเหนือ ตะวันออก และใต้ โดยมีการเน้นส่วนประตูเป็นมุกพร้อมระเบียงยื่นออกมาเนื่องจากยุคนั้นมีการใช้โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กแล้วจึงสามารถทำส่วนยื่นของอาคารออกมาได้ ส่วนบริเวณหน้าจั่วมีการประดับปูนปั้นเป็นลวดลายวงกลมและใบไม้ที่แตกต่างไปจากส่วนอื่นๆ ของอาคาร และบริเวณช่องทางเข้าเป็นประตูทรงโค้ง รวมถึงมีเสาลอยขนาบรับทำให้แกนของประตูทางเข้าตลาดดูโดดเด่นขึ้น
ซอยประตูนกยูง
ถัดจากชุดตึกแถวล้อมตลาดท่าเตียน ในบริเวณตลาดยังมีตึกแถวบริเวณซอยประตูนกยูง ซึ่งเป็นตึกแถวที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยมีการทำโครงสร้างหลังคาแบนใช้เป็นดาดฟ้าและมีรูปแบบที่เรียบง่าย ซึ่งเป็นลักษณะของตึกแถวในสมัยนั้น นอกจากเราจะได้เห็นความแตกต่างในรูปแบบสถาปัตยกรรมของตึกแถวสองยุคแล้ว ภายในซอยประตูนกยูงยังมีท่าเรือเขียว ซึ่งเป็นท่าเทียบของเรือเมล์สีเขียวที่สามารถเดินทางไปยัง บ้านแพน ลาดบัวหลวง อยุธยา สุดทาง คือ ชัยนาท สิงห์บุรี ในปัจจุบันคนในชุมชนท่าเตียงบางคนยังคงเรียกซอยประตูนกยูงนี้ว่า ‘ซอยท่าเรือเขียว’
ตึกแถวที่สวยที่สุดในกรุงเทพ
นอกจากตึกแถวท่าเตียนแล้ว ในบริเวณใกล้กันยังมีตึกแถวรอบพระบรมหาราชวังที่มีการสร้างขึ้นจากการจัดระเบียบเมืองครั้งนั้น คือ ตึกแถวหน้าพระลาน และ ตึกแถวท่าช้างวังหลวง โดยเป็นตึกแถวสมัยปลายรัชกาลที่ 5 เช่นเดียวกับชุดตึกแถวตลาดท่าเตียน
สำหรับการตกแต่งนั้นตึกแถวท่าช้างวังหลวงนับว่ามีความโดดเด่นจากชุดอื่นๆ มีการทำมุขทั้งมุขกลางและมุขขนาบข้างทั้งสองฝั่งประดับด้วยปูนปั้นลายพืชพรรณที่ประณีตงดงาม สำหรับช่องเปิดบริเวณชั้นสองเป็นหน้าต่างคู่ประดับโค้งซึ่งแม้จะเป็นภาษาของกรอบที่มีความคล้ายคลึงกับชุดตึกแถวล้อมตลาดท่าเตียน แต่มีรายละเอียดมากกว่า มีการทำช่องลมฉลุลาย ระเบียง รวมถึงมีการตกแต่งปูนปั้นบริเวณกรอบโค้งที่เหมือนลักษณะการก่อสร้างด้วยหิน ด้วยดีเทลของการตกแต่งทั้งหมดนี้จึงทำให้ตึกแถวท่าช้างวังหลวงได้ชื่อว่าเป็นตึกแถวที่งดงามที่สุดชุดหนึ่งของกรุงเทพมาตั้งแต่สมัยก่อนจนถึงปัจจุบัน
ถึงแม้บทบาทและความสำคัญของย่านท่าเตียนและชุมชนโดยรอบจะลดลงตามการเติบโตของบ้านเมือง เศรษฐกิจ หรือจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นของตลาดและห้างสรรพสินค้า ทำให้ท่าเตียนอาจไม่ได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของการค้าขายและการคมนาคมอย่างเมื่อก่อนแล้ว แต่ในปัจจุบันท่าเตียนก็ยังคงเป็นย่านที่มีเอกลักษณ์จากการผสมผสานกลิ่นอายของอดีตและปัจจุบันที่ยังคงอยู่คู่กัน จากร้านค้าเป็นคาเฟ่ จากตลาดที่ขายของนับชนิดไม่ถ้วนเป็นแหล่งอาหารทะเลแห้ง กล่าวได้ว่าชุมชนแห่งนี้ได้เติบโตและเปลี่ยนแปลงตามบริบทสังคมมาในทุกยุคสมัยและเป็นชุมชนที่มีชีวิตโดยแท้จริง
References:
https://ispintwk.wixsite.com/inpete/about3
http://www.resource.lib.su.ac.th/rattanakosin/index.php/2014-10-27-08-52-32/2015-10-20-07-26-54
https://mgronline.com/travel/detail/9600000118845
https://www.posttoday.com/life/healthy/529731
สูจิบัตรท่าเตียน, สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (Museum Siam)
Cultural District Seminar 3 : ประมวลตึกเก่ารอบกรุง
https://m.facebook.com/watch/?extid=NS-UNK-UNK-UNK-IOS_GK0T-GK1C&v=428187145406662&ref=sharing&_rdr
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!