สวนป่าเบญจกิติ และการสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง คน สัตว์ น้ำ ป่า

ทุกวันนี้สวนสาธารณะนับเป็นสิ่งที่ผู้คนต้องการอยู่เสมอ เนื่องจากการอยู่อาศัยในเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยตึกสูงระฟ้า บ้านเรือนที่แน่นขนัด การมีพื้นที่ว่างให้ได้ทำกิจกรรม และพักผ่อนในสภาพแวดล้อมธรรมชาติ จึงช่วยทำให้ผู้คนมีความสุขทั้งทางกาย และจิตใจมากขึ้น นอกจากนี้ยังรวมไปถึงสภาวะโลกร้อนที่เกิดจากปัญหาพื้นที่สีเขียวลดน้อยลง ซึ่งในเมืองใหญ่หลายๆ ประเทศ ต่างก็ให้สำคัญกับพื้นที่เหล่านี้ไม่น้อยเลยทีเดียว

สำหรับกรุงเทพฯ เมืองหลวงของบ้านเราก็ไม่น้อยหน้า ได้เปิดตัว สวนป่าเบญจกิติ’ ไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งเชื่อว่าหลาย ๆ คนคงได้เข้าไปใช้งานกันมาบ้างแล้ว แต่กว่าจะเป็นสวนสาธารณะแห่งนี้ มีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร? ทาง Dsign Something ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ทิป-ชัชนิล ซัง ภูมิสถาปนิก และ เป้ง-พรหมมนัส อมาตยกุล สถาปนิก  ตัวแทนของทีมออกแบบจากบริษัท สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ โดยทั้งสองได้เล่าถึงกระบวนการออกแบบ ไปจนถึงรายละเอียดต่างๆ จนเกิดเป็นสวนป่าสาธารณะใจกลางเมืองขนาดใหญ่ที่เปิดให้ธรรมชาติ และสิ่งมีชีวิตทุกสรรพสิ่งได้เกื้อกูลซึ่งกันและกัน  

จากพื้นที่เก่าของโรงงานยาสูบสู่สวนสาธารณะแห่งใหม่

เริ่มต้นจากนโยบายของภาครัฐบาลในสมัยของคุณ อานันท์ ปันยารชุน เมื่อปี พ.ศ. 2534 ที่ต้องการคืนพื้นที่โรงงานยาสูบ ให้กับกรมธนารักษ์เพื่อดูแลต่อ และเปลี่ยนพื้นที่ตรงนี้กว่า 450 ไร่ ให้กลายเป็นสวนสาธารณะ ซึ่งในระยะแรกที่ได้เริ่มก่อสร้างคือ สวนน้ำบึงยาสูบ จากนั้นจึงรอระยะเวลาให้โรงงานยาสูบคืนพื้นที่จนครบ ทางโครงการจึงเริ่มก่อสร้างสวนป่าระยะที่ 1 ขนาด 61 ไร่ ก่อนที่จะมีการจัดประกวดแบบขึ้นในระยะที่ 2 และระยะที่ 3 เมื่อปี พ.ศ. 2562 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และให้เป็นพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ให้กับคนกรุงเทพฯ  โดยสวนป่าเบญจกิติแห่งนี้เป็นโครงการของกรมธนารักษ์  กระทรวงการคลัง โดยมีการยาสูบแห่งประเทศไทยเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ

“การประกวดแบบในระยะที่ 2 และ 3 ทางโครงการได้กำหนดไว้ว่าสวนแห่งนี้เป็น สวนป่าในเมือง เน้นประหยัด ประโยชน์ เรียบง่าย  ซึ่งมีขนาดใหญ่ และรายละเอียดต่างๆ ที่ซับซ้อนมาก เราจึงได้ระดมทีมผู้เชี่ยวชาญทั้ง ภูมิสถาปนิก สถาปนิก สถาปนิกชุมชน อาจารย์ นักผังเมือง วนเกษตร และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง  เข้ามาช่วยระดมสมองกันว่า นิยามของสวนป่าหมายถึงมิติทางใดได้บ้าง หรือการสร้างสวนแบบนี้ผู้คนมีความต้องการกิจกรรมการใช้งานรูปแบบใดบ้าง แนวคิดของการออกแบบสวนแห่งนี้ที่เน้นให้สวนเป็นมากกว่าสวน โดยให้ผู้คน และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ สามารถเข้ามาใช้พื้นที่ได้ รวมไปถึงสามารถแก้ปัญหาเรื่องสภาพแวดล้อม และเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการน้ำของเมืองได้ เพราะสวนใจกลางเมืองกรุงเทพฯ แบบนี้มีมูลค่าสูงมาก การตอบโจทย์ให้ครบทุกด้านจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก”

เลือกเก็บและรื้อถอน

ด้วยโรงงานยาสูบมีอายุมากถึง 60 ปี จึงมีต้นไม้ขนาดใหญ่ และมีอาคารโมเดิร์นในยุคแรกๆ ของประเทศไทย การเลือกเก็บหรือการรื้อถอนจึงต้องดูปัจจัยหลายอย่าง ทั้งเรื่องความปลอดภัย เรื่องของคุณค่า และการอนุรักษ์ เพื่อนำประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ดั้งเดิมมาปรับปรุงใหม่ให้ดียิ่งขึ้น

“แนวคิดเริ่มแรกเราพยายามเก็บต้นไม้ทุกต้นในพื้นที่ แต่เมื่อเข้าไปสำรวจก็จะเห็นต้นไม้บางต้นที่ผุ มีโอกาสโค่นลงมาและสร้างความอันตรายกับผู้คนได้ เราจึงต้องรื้อต้นไม้เหล่านี้ออก และเก็บต้นไม้ที่ดีไว้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะเห็นว่าต้นไม้ใหญ่ ให้ความร่มรื่นอยู่ในพื้นที่คือเป็นต้นไม้จากโรงงานยาสูบเดิมทั้งหมด”

“โครงการต้องการให้เราเก็บอาคารโกดังเก่า 3 หลัง และโรงงานยาสูบ 5 ซึ่งเป็นอาคารโมเดิร์นยุคแรกๆ ที่ใช้โครงสร้างพาดช่วงกว้าง ออกแบบโดยอาจารย์ระดับตำนาน 4 ท่าน คือ อาจารย์ กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา, อาจารย์ ศ.ม.ร.ว.แหลมฉาน หัสดินทร อาจารย์ รศ.ทรงคุณ อัตถากร และอาจารย์ รังสรรค์ ต่อสุวรรณ ซึ่งอาคารเหล่านี้นับเป็นคุณค่าอย่างมาก ซึ่งมีไม่กี่หลังในประเทศไทย”

การออกแบบพื้นที่รับน้ำ และชนิดพืชพันธุ์

จากการระดมสมองจากผู้เชี่ยวชาญ จึงเกิดแนวคิดที่ว่า ‘urban forest park’ สวนป่าชุ่มน้ำในเมืองกรุงเทพฯ ที่หยิบเอาภูมิทัศน์วัฒนธรรมดั้งเดิมของพื้นที่อย่างร่องสวนผัก ผลไม้ และนา นำกลับมาพัฒนาออกแบบใหม่ให้กลายเป็นสวนป่าสาธารณะ พร้อมกับเป็นพื้นที่ซึมซับน้ำ รับน้ำบริเวณรอบพื้นที่ บำบัดน้ำ รวมไปถึงเป็นพื้นที่ให้สิ่งมีชีวิตทุกสรรพสิ่งสามารถเข้ามาใช้พื้นที่ได้ ซึ่งการออกแบบสวนได้ที่ปรึกษาอย่าง Prof. Kongjian Yu จาก Turenscape และ อาจารย์ผู้ก่อตั้งคณะสถาปัตยกรรม และภูมิสถาปัตยกรรม ของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง (Peking University) ที่เชี่ยวชาญในเรื่องการออกแบบพื้นที่ชุ่มน้ำหรือ Wetland ที่เลื่องชื่อในระดับโลก  นอกจากนี้มีทีมอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญอีกมากมาย อาทิเช่น

อาจารย์ขวัญสรวง อติโพธิ อาจารย์เชี่ยวชาญเรื่องเมืองละสังคม , อาจารย์ วิวัฒน์ ศัลยกำธร (อ.ยักษ์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโคกหนองนา กสิกรรมธรรมชาติ), ผศ.ธิติพันธุ์ ตริตระการ  อาจารย์ภูมิสถาปนิกที่ดูเรื่องผัง ภาพรวมสวน, ทีมสถาปนิกชุมชนของสถาบันอาศรมศิลป์ เป็นต้น

“เราตั้งใจออกแบบพื้นที่สวนให้มีความเป็นเรามากที่สุด ความหมายก็คือ กรุงเทพฯ มีภูมิประเทศเป็นที่ลุ่มต่ำ อยู่กับน้ำมาโดยตลอด ซึ่งในอดีตเราใช้ประโยชน์จากคลองเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการกินดื่ม ทำเกษตรกรรม และสัญจร แต่ในทุกวันนี้เราหันหลังให้กับคลอง เพราะคลองในปัจจุบันกลายเป็นท่อระบายน้ำของเมือง จนนำไปสู่ความเน่าเสียและใช้งานไม่ได้ในสุด ซึ่งถ้าหากเราฟื้นฟูสภาพแวดล้อมเหล่านี้ให้ดีขึ้น คุณภาพชีวิตของผู้คนก็จะดีตามไปด้วย”

ซึ่งต้องขอบคุณทีมธนารักษ์และทีมอาจารย์ตรวจแบบทุกท่าน อาจารย์วีระพันธ์  ไพศาลนันท์, รองศาสตราจารย์นิลุบล คล่องเวสสะ, รองศาสตราจารย์เอนก ศิริพานิชกร, ศาสตราจารย์ ดร. ชัยยุทธ ชินณะราศรี ที่สนับสนุนแนวคิดของสวน ทั้งยังช่วยให้ความคิดเห็นเพิ่มเติม และทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง  เพื่อให้โครงการเป็นประโยชน์ที่สุด   

“เริ่มแรกเราได้ทำงานตรวจสอบคุณภาพดินในพื้นที่โรงงานยาสูบเก่าซึ่งคุณภาพของดินไม่ได้ดีนัก เนื่องจากในพื้นเดิมมีอาคารค่อนข้างเยอะถูกวางทับดินมานานกว่า 60 ปี เมื่อรื้อถอนอาคารออกไป จึงต้องปรับปรุงดินเพื่อให้มีอากาศเข้าไปทำให้ผืนดินได้หายใจสะดวกอีกครั้ง”

การออกแบบอีกอย่างหนึ่งที่ทีมเราให้ความสำคัญคือการบริหารจัดการทรัพยากรณ์ในพื้นที่  อย่างเช่น  ดิน  สวนป่าแห่งนี้พูดว่า เป็นสวนป่าที่เราไม่นำดินเข้าและไม่นำดินออกนอกพื้นที่โครงการ  นั่นก็คือจัดการกับปริมาณดินในการก่อสร้างให้เพียงพอสำหรับการขุดบ่อรับน้ำและการถมเนินในพื้นที่ต่างๆ

“เราใช้วิธีคิดในการออกแบบสวนนี้ให้เป็นส่วนหนึ่งในการบำบัดน้ำเสียแบบธรรมชาติ ทุกคนจะมองเห็นว่าสภาพของน้ำเสีย เป็นอย่างไร โดยเริ่มบำบัดจากการนำน้ำเข้ามาจากคลองไผ่สิ่งโต ซึ่งเป็นคลองนอกพื้นที่ โดยผ่านการบำบัดผ่าน Constructed wetland บึงบำบัดน้ำบึงประดิษฐ์  โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาอาจารย์จากโครงการตามแนวพระราชดำริเเหลมผักเบี้ยซึ่งทำงานร่วมกับทีมของคุณทวี  เตชสิทธิ์สืบพงศ์ (วิศวกรเชี่ยวชาญเรื่องน้ำ) โดยบึงบำบัดน้ำประดิษฐ์จะขนานเป็นแนวยาวไปกับคลองไผ่สิงโต เป็นระยะทางยาวกว่า 2 km  นี้จะนำน้ำที่บำบัดจะส่งผ่านไปสู่ บึงทั้ง 4 บึง ซึ่งบึงแรกเราพยายามใช้พืชพันธุ์ป่าชายเลนอย่างลำภู ลำแพน ที่มีความทนทานเพราะเป็นด่านแรกที่ต้องเจอน้ำที่ผ่านการบำบัดมาแต่มีโอกาสที่น้ำจะยังมีความกร่อยความเค็ม  และส่งต่อมายังบึงที่สองที่ใช้พืชพันธุ์บึงนำจืดอย่าง ต้น กระทุ่มน้ำ กระทุมนา ไคร้ย้อย กุ่มน้ำ แดงน้ำ ตะขบน้ำ เต้าหลวง ทองหลาง ฯลฯ จนมาถึงบ่อที่ใหญ่ที่สุดที่เราใช้ต้น โพธิ์ ไทร ไกร กร่าง รวมทั้งไม้อื่นๆ เช่น ตะขบป่า เขลง คงคาเดือด  ยางนา ตะเคียนทอง ฯลฯ  ที่เริ่มใช้ต้นไม้ขนาดใหญ่ เพราะจะได้มีสิ่งมีชีวิตพวก นก และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เข้ามาอยู่อาศัยได้ และในบ่อสุดท้ายเราออกแบบให้เป็นวนเกษตร เช่น ต้นมะกอกน้ำ มะกอกป่า หว้า อัมพวา ฯลฯ  พืชผัก นาขั้นบันได ซึ่งเป็นส่วนที่ให้ทุกคนสามารถมาทำกิจกรรมดำนาในพื้นที่โซนนี้ได้”

“โดยบ่อที่ 4 บ่อ น้ำจะเชื่อมต่อถึงกัน และในบ่อเองจะมีพื้นที่ส่วนน้ำตื้นและน้ำลึก ในช่วงฤดูแล้งเราจะใช้การสูบน้ำจากบ่อลึกที่เป็นเกาะวงกลม มาใช้รดน้ำต้นไม้ ส่วนบ่อตื้นเราจะให้น้ำอยู่ในระดับ 20-40 เซนติเมตร เพื่อหล่อเลี้ยงต้นไม้น้ำให้เจริญเติบโตและยังเขียวสดชื่น เพื่อให้ผู้คนที่มาเยือนสวนยังได้รับบรรยากาศที่สดชื่นจากไม้น้ำในขณะเดียวกันพื้นที่บ่อทั้งหมดยังรองรับน้ำจากภายนอกในช่วงฤดูฝนให้สามารถท่วมได้ไปถึงลานสนามหญ้าบริเวณ อัฒจันทร์ซึ่งคนก็ยังสามารถทำกิจกรรมบนสกายวอล์ค หรือ ตามขอบถนนของสวนได้อยู่ คือสวนสามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ตามสภาพของธรรมชาติของช่วงฤดูกาลต่างๆ ”

“เพื่อให้เป็นจุดไฮไลท์และดูน่าสนใจ เราเลยออกแบบให้บ่อใหญ่ และลึกที่สุด มีเนินเกาะทรงกลมที่มองได้ทุกมุม 360 องศา ที่ได้ไอเดียมาจากพื้นที่ร่องสวนในอดีต มาปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เป็นแลนด์ฟอร์มทรงกลมขนาดเล็ก-ใหญ่ ไม่ใช่แค่ให้ดูแปลกตาเพียงอย่างเดียว แต่เกาะเหล่านี้ยังทำให้น้ำสามารถไหลเวียนได้ดี ซึ่งคนไม่สามารถเดินเข้าไปได้ เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด  เนื่องจากน้ำใต้ดินของกรุงเทพที่ค่อนข้างสูงการยกร่องสวนเป็นภูมิปัญญาของคุณลุงคุณป้าที่มียาวนาน เพื่อช่วยให้ต้นไม้เติบโตได้ โดยการทำให้รากต้นไม้มีพื้นที่ และในหน้าแล้งรากต้นไม้สามารถที่จะได้รับความชุ่มชื่นจากร่องน้ำร่องสวน เป็นการลดภาระในการดูแลรักษาอีกทางหนึ่ง  นอกจากนี้บริเวณนี้ใช้เมล็ด และต้นกล้า ทำให้มีร่มเงาที่ค่อนข้างน้อย แต่ด้วยความเป็นเกาะหญ้าสีเขียวและมีน้ำอยู่ตลอด ก็ช่วยทำให้รู้สึกผู้คนลืมความร้อนไปชั่วขณะได้”

การใช้พืชพันธุ์หายากเป็นหลัก

“การเลือกพืชพันธุ์ เรามีทีมอาจารย์ที่ปรึกษาในการเลือกชนิดพืชพันธุ์ อาทิเช่น อาจารย์อาจารย์วีรชัย ณ นคร  (ผู้เชี่ยวชาญเริ่องสวนพฤกษศาสตร์), อาจารย์มณฑาทิพย์  โสมมีชัย, อาจารย์นพรัตน์  นาคสถิตย์, อาจารย์บุญฤทธิ์ ภูริยากร, อาจารย์จุลพร นันทพานิช  พืชพันธุ์หลักที่เราเลือกใช้ทั้งหมดมาจากต้นกล้า และเมล็ดถึง 360 ชนิด 5,600 ต้น ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้หายาก และไม่มีขายในท้องตลาดทั่วไป เพราะพื้นที่ในอดีตก่อนจะเป็นโรงงานยาสูบ และร่องสวน ก็เคยเป็นป่ามีความหลากหลายชนิดพันธุ์ และสัตว์ต่างๆ ในอีกความสำคัญก็คือเมื่อต้นไม้โตจะมีความแข็งแรงมากกว่าต้นไม้ล้อม และอีก 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้นไม้ล้อม ที่สามารถหาได้ตามท้องตลอดทั่วไป เพื่อให้เป็นต้นพี่เลี้ยง คือสวนแห่งนี้เราไม่ต้องการให้เป็นป่ารกทึบแบบป่าจริงๆ แต่โดยธรรมชาติก็จะมีกลุ่มพืชที่ทั้งรก และไม่รกเป็นปกติของพวกเขาอยู่แล้ว ซึ่งสิ่งสำคัญที่เราคำนึงคือเรื่องความอุดมสมบูรณ์ และการใช้งานที่ปลอดภัยของมนุษย์เป็นสำคัญ การดูแลสวนทางสำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานครก็ได้เข้ามาช่วยในส่วนตรงนี้ ซึ่งทางทีมของ กทม. เองมีความมุ่งมั้น ตั้งใจ ในการดูแลสวนเป็นอย่างมาก แต่เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มต้น ต้องใช้เวลาในการปรับตัวเข้าหากัน ของคนและสวน เพราะไม่เคยมีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ และมีความหลากหลายขนาดนี้มาก่อน แต่ในอนาคตต้นไม้เหล่านี้ก็จะจัดสรรตัวเองให้เกื้อกูลกันและอยู่ได้ด้วยตัวเองตามธรรมชาติ”

มุมมองที่แตกต่างผ่านเส้นทางการเดิน

ในบริเวณทางเดินของสวนเบญจกิติ แบ่งออกเป็น 3 เส้นทางด้วยกัน คือ เส้นทางเดิน-วิ่งและจักรยานอยู่บริเวณขอบของพื้นที่สวน ถัดมาจะเป็นบอร์ดวอล์คที่อยู่บริเวณเกาะทรงกลมตรงกลางของพื้นที่สวน และมีสกายวอรล์คที่สามารถมองเห็นมุมมองในระยะสูง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดไฮไลท์ของสวนที่สามารถให้ทุกๆ คน เดินเชื่อมไปยังส่วนอื่นๆ ของพื้นที่ได้  

“บริเวณขอบของสวนจะเป็นพื้นที่สำหรับการเดิน วิ่ง และขี่จักรยาน ซึ่งเดิมเป็นถนนของโรงงานยาสูบและมีท่อน้ำเดิมอยู่แล้ว ทีมเพียงแค่ออกแบบเพิ่มเติมให้เป็นทางระบายน้ำระบบนิเวศที่ใช้วัสดุรีไซเคิลจากการรื้อถอนวัสดุอาคาร ในขณะเดียวกันก็เป็นตัวแบ่งพื้นที่ระหว่างทางเดิน-วิ่งกับจักรยานให้แยกออกจากกัน ซึ่งถนนเหล่านี้ยังเชื่อมต่อไปยังบอร์ดวอล์ค ขนาด 1.50 เมตร บริเวณบึงน้ำขนาดใหญ่ที่ออกแบบให้หักเลี้ยวค่อนข้างเยอะ เพราะต้องการให้เป็นเพียงแค่ทางเดิน ไม่สามารถทำความเร็วและทำกิจกรรมแบบหนักได้ ซึ่งอาจจะก่อการรบกวนสัตว์ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีศาลาที่เป็นทั้งที่นั่ง ทำกิจกรรม และจุดชมวิวที่สามารถเดินขึ้นไปบนหลังคาได้อีกด้วย” 

“แน่นอนว่าเราต้องเสียพื้นที่ในส่วนของพื้นที่ด้านล่างไป เราเลยเพิ่มเติมพื้นที่ในอากาศอย่างสกายวอล์คให้มีระดับองศาทางลาดเอียงที่ 1:20  มีความสูงต่ำตั้งแต่ 3 เมตร 5 เมตร และ 8 เมตร และองศาทางลงลาดชันที่ 1 :12 เพื่อแยกชั้นระหว่างคนกับสัตว์ ให้ผู้คนสามารถมองเห็นระบบนิเวศของสวน หรือวิวได้ในมุมมองหลายระดับ รวมไปถึงใช้เป็นที่ทำกิจกรรม เดิน หรือ วิ่ง ได้ทุกช่วงเวลา นอกจากนี้หากพื้นที่ของสวนเกิดน้ำท่วมในฤดูฝนก็ยังสามารถใช้ทางบนสกายวอล์คแทนได้”

“สวนแห่งนี้ในแง่ของการเป็นสวนสาธารณะ ยังคงต้องทำหน้าที่ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง การมีพื้นที่กิจกรรมของคน ของเมืองจึงยังเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญ สวนจึงมีพื้นที่โซนเปิดโล่งสำหรับรองรับกิจกรรม ถูกออกแบบให้เป็นอัฒจันทร์ขนาดใหญ่ และสนามหญ้าสำหรับรองรับคนจำนวนมากเพื่อจัดงานในเทศกาลต่างๆ นอกจากนี้พื้นที่สนามหญ้ายังเป็นพื้นที่สำหรับรองรับน้ำในฤดูฝนที่มาจากโดยรอบพื้นที่ของสวนสาธารณะแห่งนี้”

“พื้นที่ในสวนทั้งหมดเราใช้หลักการออกแบบ Universal Design เข้ามาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการออกแบบ ทั้งราวจับ ทางเดิน ลูกตั้ง-ลูกนอนบันได ทางลาด รวมไปถึงห้องน้ำ ให้คนทุกกลุ่มของสังคมสามารถเข้ามาใช้งานพื้นที่ได้อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเราได้อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ คุณสุจิตรา จิระวาณิชย์กุล เข้ามาเป็นที่ปรึกษาในเรื่องนี้โดยเฉพาะ หลังจากที่เปิดสวนได้ไม่นานเราก็ได้เข้าไปสอบถามการใช้งาน กับคุณน้า คุณป้า หรือ ผู้ทุพพลภาพ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับว่าใช้งานง่ายมีความสะดวกสบาย”

การรีโนเวทอาคาร

เมื่อสวนป่าเบญจกิติเปิดครบทุกระยะในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ ตัวอาคารโรงงานยาสูบ 5 ที่หลายคนเห็นว่ากำลังถูกปรับปรุงอยู่ก็จะกลายเป็นทางเข้าหลักของสวน เช่นเดียวกับ โกดังโรงงานยาสูบอีก 3 หลัง แต่แตกต่างกันที่เป็นพื้นที่ร้านอาหาร คาเฟ่ สนามกีฬาในร่ม และพื้นที่เช่า-ขายจักรยาน สวนแห่งนี้จึงตอบโจทย์การใช้งานได้หลายรูปแบบ

“สิ่งแรกที่เราเข้าไปสำรวจความแข็งแรงอาคารโดยทีมของอาจารย์เกษม เพชรเกตุ ซึ่งเป็นวิศวกรงานโครงสร้างที่เข้ามาดูโครงสร้างทั้งหมดในโครงการ  โรงงานยาสูบ 5 ขนาดกว่า 4 หมื่นตารางเมตร ซึงเราพยายามเก็บโครงสร้างเดิมของยุคโมเดิร์น 70-80 ไว้ให้ได้มากที่สุด เนื่องจากระยะเวลาในการก่อสร้างที่สั้น จึงต้องเลือกเก็บสิ่งที่ใช้งานได้ และมีประวัติศาสตร์ เช่น ผนังอิฐโชว์แนว คานรางน้ำ และออกแบบช่องแสงบนหลังคาใหม่ ซึ่งเดิมมีความมืดทึบ เพื่อเพิ่มแสงเข้าไปภายในอาคาร ให้ส่องสว่างลงไปยังพื้นที่ที่เราได้ออกแบบให้เป็นส่วนป่าขนาดย่อม ที่มีทั้งการเรียนรู้ และทำกิจกรรม โดยเราออกแบบให้มีที่นั่งอัศจรรย์โครงสร้างสำเร็จรูป เชื่อมโยงเข้ากับสกายวอล์คบนชั้นลอยของโรงงานที่เป็นโครงสร้างพื้นรังผึ้งดั้งเดิมของออฟฟิศโรงงานเก่า และใช้สำหรับเดินสำรวจการทำงานในอดีต ในส่วนของการรื้อถอนเราได้นำวัสดุปิดผิวเก่า และที่กำลังผุพังออก”

“อาคารหลังนี้ออกแบบให้เป็นประตูสำหรับต้อนรับผู้คนก่อนเข้าไปยังสวนป่าเบญจกิติ เนื่องจากโจทย์ของโครงการต้องการให้อาคารหลังนี้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อเสริมจินตนาการภาพในอดีต เราจึงเก็บเครื่องจักรบางส่วนของโรงงานเอาไว้ แต่เราไม่อยากให้เป็นแค่ที่โชว์ของเฉยๆ เลยเพิ่มเติมกิจกรรมเข้าไป และเชื่อมต่อเข้ากับพื้นที่สวนบึงที่ 4 เพื่อให้อาคารหลังนี้ดูกลมกลืน และเป็นส่วนหนึ่งไปกับสวนป่าได้อย่างแนบเนียน”

“ในส่วนของโกดังอีก 3 หลัง ก็เป็นอีกหนึ่งทางเข้า ซึ่งรีโนเวทใหม่ด้วยการเปิดพื้นที่บางส่วน ให้สวน และกิจกรรมไหลเข้าไปยังภายในได้ โดยในพื้นที่นี้จะเป็นทั้ง พื้นที่เช่า-ขายจักรยาน นิทรรศการ ร้านอาหาร คาเฟ่ พื้นที่กีฬาในร่ม และเป็นอาคารที่สามารถเชื่อมไปยังสะพานเขียว ซึ่งเชื่อมโยงไปยังสวนลุมพินีได้อีกด้วย”

“ถึงแม้งบประมาณในการรีโนเวทอาคารจะมีอยู่จำกัดก็ตาม แต่การเราเก็บโครงสร้างเดิมเอาไว้ และใช้แลนด์สเคปเข้าเป็นไปเป็นส่วนหนึ่งกับอาคารก็เป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้ช่วยประหยัดงบประมาณได้ ในขณะเดียวกันการมีต้นไม้ภายในอาคารก็ต้องออกแบบให้อาคารเปิดโล่ง มีแสงลงมายังในพื้นที่ มีลมพัดผ่านตลอด เมื่อผู้คนเข้ามาใช้งานภายในอาคารก็เกิดสภาวะความน่าสบาย”

“งานนี้เราต้องเข้าไซต์งานบ่อยมาก  ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบไปจนถึงการก่อสร้าง เพราะมีอะไรให้เราต้องปรับเปลี่ยนตลอด เช่น แบบก่อสร้างใหม่ กับแบบของเก่าไม่ตรงกัน บางครั้งเราก็ต้องออกแบบใหม่ตรงหน้างานนั้นเลย อ. ธีรพล นิยม พี่ใหญ่ของ สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ บอกกับเราเสมอว่า งานออกแบบที่อยู่บนกระดาษเป็นแค่ครึ่งเดียว ส่วนอีกครึ่งหนึ่งอยู่ที่หน้างาน ซึ่งนับว่าเป็นส่วนสำคัญมากๆ ในการออกแบบอาคาร” พรหมมนัส เล่า

วัสดุเรียบง่าย หาง่าย และทนทาน

เนื่องจากมีงบประมาณที่จำกัด ทีมสถาปนิกจึงเลือกใช้วัสดุที่เรียบง่ายที่สุด หาง่าย และทนทาน หรือการเสริมโครงสร้างอาคารที่ไม่ได้สร้างภาระให้กับพื้นที่ เช่น วัสดุสำเร็จรูปที่สามารถติดตั้งได้ง่าย หรือเป็นระบบโครงสร้างเหล็กเสริมเข้าไปโดยไม่ต้องใช้คอนกรีตหล่อในที่ ซึ่งก็ต้องเลือกใช้วัสดุตามความเหมาะสมของพื้นที่   นอกจากนี้เรายังนำวัสดุที่ได้จากการรีไซเคิลของอาคาร นำมาทำเป็นเขื่อนกันดิน ซึ่งช่วยทำให้ภาพแนวคิดของสวนป่าชัดเจนขึ้น จะเห็นได้ว่าการออกแบบในทุกๆ ส่วนนั้นมีความสัมพันธ์กันทั้งหมด

“การก่อสร้างที่ต้องมีการใช้วัสดุ Recycle เป็นการก่อสร้างที่ต้องใช้ความใส่ใจและทำงานเหนื่อยเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับการก่อสร้างจากวัสดุใหม่มาสร้างได้เลย  สวนป่าเบญตจกิติโชคดีที่ได้ทหาร กองพลพัฒนาที่ 1 กองทัพบกภายใต้การดูแลของ พลตรี ไพรัช  โอฬารไพบูลย์  จนมาถึงภายใต้การดูเลของพลตรี มนิต ศิริรัตนากูล ที่มาเป็นทีมก่อสร้างสวนป่านี้  ทหารเขากินนอนที่นี่ ทำงานทุกวันไม่มีวันหยุด ตั้งแต่เช้าจนเย็น มาตลอดเป็นเวลาปีกว่าๆ แล้ว  ต้องขอบคุณที่เขาตั้งใจทำสวนแห่งนี้”

กว่าจะเป็นสวนสาธารณะที่เป็นประโยชน์กับทุกคน

“เราไม่ได้คาดหวังว่าสวนแห่งนี้จะเป็นสวนที่ยิ่งใหญ่ หรือเปลี่ยนประเทศไปเลย  ทีมเราโชคดีมากๆที่ได้มีโอกาสออกแบบสวนป่าเบญจกิติแห่งนี้ เราอยากให้คนได้ตระหนักถึงทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน เรายังหวังไปว่าอยากให้สวนนี้เป็นแรงบัลดาลใจให้กับเด็กๆ คนรุ่นใหม่ หรือคนทั่วไป เพื่อที่จะต่อยอดนำไปสู่สวนสาธารณะอื่นๆ ในอนาคตได้ ซึ่งประโยชน์ของพื้นที่สีเขียวของเมืองจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คน”

“ขอพูดแทนทีมทำงานทุกคนไม่เฉพาะทีมผู้ออกแบบ การสร้างสวนแห่งนี้ก็ทำให้เราได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ ได้เจอข้อจัดกัดที่นำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ทั้งเรื่อง โควิด-19 เรื่องการแก้ปัญหาหน้างาน  ซึ่งแน่นอนว่าการทำงานนี้ก็มีทั้งความสนุก เบื่อ เครียด วนเวียนไปตลอด แต่เราได้เรียนรู้ทุกวัน เรารู้ว่างานที่เราทำอยู่เพราะมันมีประโยชน์ มีคุณค่ากับเราเอง กับคน สังคม และสิ่งแวดล้อม  เราเชื่อว่าทีมทำงานทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการเวลาเเห็นงานเสร็จแล้วมีผู้คนเข้ามาใช้งานน่ารู้สึกดีใจแน่นอน  และไม่ใช่ว่าสวนนี้จะไม่มีข้อบกพร่องเลย คอมเม้นต่างๆที่ทั้งชื่นชมและเสนอแนะ ทีมก็เก็บเอาความคิดเห็นเหล่านั้นไปพัฒนาต่อในการทำงานในอนาคต  เพื่อทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกคนได้จริงๆ” ทีมสถาปนิกกล่าวทิ้งท้าย

Writer
Watsapon Vijitsarn

Watsapon Vijitsarn