เป็นที่น่าใจหายทุกครั้งเมื่อสถาปัตยกรรมยุคเก่าแก่จะต้องถูกทุบทิ้ง และปล่อยให้เหลือเพียงรูปถ่ายและแบบก่อสร้างของอาคารให้เราได้รำลึกกัน แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องน่ายินดีสะเท่าไหร่ เพราะความสำคัญของอาคารเหล่านี้ไม่สามารถประเมินเป็นมูลค่าได้ อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์การวิวัฒนาการทางสถาปัตยกรรมในยุคสมัยนั้นๆ ด้วย ซึ่งแน่นอนว่าอาคารทุกหลังในยุคสมัยใหม่นี้ต่างก็ต้องได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมยุคก่อนไม่มากก็น้อย
และอาคารเก่าแก่อย่าง Nakagin Capsule Tower ผลงานชิ้นเอกของ Kisho Kurokawa ในย่านกินซะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ก็เป็นอีกหนึ่งอาคารที่มีคุณค่า และกำลังจะโดนทุบทิ้งในเร็วๆ นี้ ซึ่งเหตุผลนั้นมากจากด้วยตัวอาคารสร้างมานานกว่า 50 ปี ซึ่งทำให้อาคารหลังมีสภาพทรุดโทรม และยากที่จะดำเนินการแก้ไข
จากแนวคิดที่จัดแสดงในงาน Expo สู่การออกแบบจริง
สถาปนิก Kisho Kurokawa หนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม Metabolism ได้จัดแสดง Takara Beautilion ในงาน Expo เมื่อปี 1970 สถาปนิกได้นำเสนอ installation โครงเหล็กสี่เหลี่ยมที่สามารถนำกล่องโมดูลาร์มาต่อขึ้นไปได้เรื่อย ๆ จนสามารถสร้างความฮือฮาให้กับคนในงานได้ไม่น้อย งานนี้จึงเป็นแรงบัลดาลใจให้กับบริษัท Nakagin Co ที่กำลังจะพัฒนาแหล่งที่อยู่อาศัยใหม่ในย่านกินซะ Kisho Kurokawa จึงได้เข้ามาทำหน้าที่ในการออกแบบ Nakagin Tower ซึ่งได้นำไอเดียจากงาน Expo ในคราวนั้นมาใช้เป็นไอเดียในการออกแบบ โดยตัวอาคารแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ ส่วนโครงสร้างหลัก ยูนิตห้องพัก และส่วนของงานระบบ ซึ่งสามส่วนนี้สามารถแยกชิ้นส่วนเพื่อซ่อมบำรุงได้
แคปซูลในอาคารแห่งนี้มีทั้งหมด 140 ยูนิต ขนาด 4 x 2.5 x 2.5 เมตร ประกอบแบบไม่สมมาตรเข้ากับช่องชาฟท์ปล่องลิฟต์ และทำหน้าที่เป็นโครงสร้างอาคารทั้ง 2 ฝั่ง ซึ่งฝั่งด้านซ้ายจะสูงที่ 11 ชั้น และด้านขวา สูง 13 ชั้น มีเส้นทางเดินคอนกรีตเชื่อมต่อกันได้ในทุกๆ 3 ชั้น และยังทำหน้าที่เป็นส่วนประกอบของงานระบบด้วย
สถาปนิกออกแบบให้ภายในแคปซูล มีขนาดเท่ากับเสื่อตาตามิ 4 ผืน มีขนาดรวมคือ 3.1 x 2.3 เมตร ภายในแคปซูลประกอบไปด้วย ห้องนอน เตียง ตู้เย็น โต๊ะทำงาน ทีวี เครื่องปรับอากาศ เครื่องฟอกอากาศ และห้องน้ำสำเร็จรูป ด้วยขนาดพื้นที่ที่เล็กภายในจึงต้องติดตั้งไปกับตัวแคปซูล และนำประกอบเข้าด้วยกันเป็น 1 ยูนิต
การซ่อมบำรุงมีค่าใช้จ่ายที่สูง
กว่า 40 ปีมาแล้วที่ตัวอาคารยังไม่เคยได้เกิดการถอดประกอบ หรือนำออกมาดูแลรักษาเลย ที่ถึงแม้จะเป็นอาคารที่ยืนอยู่บนแนวคิดการถอดประกอบในการซ่อมแซม เนื่องจากมูลค่าการซ่อมบำรุงมีราคาที่สูง และสิทธิในการซ่อมนั้นตกไปอยู่ที่ตัวเจ้าของในแต่ละแคปซูลเอง ทำให้การดูแลรักษาทั้งอาคารกลายเป็นเรื่องยุ่งยาก และไม่ได้รับการดูแลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
จนครั้งหนึ่งเคยมีไอเดียการเก็บช่องชาฟท์หลักทั้งสองฝั่งไว้ และทำการซ่อมบำรุงตัวแคปซูลใหม่ แต่นั่นก็ยังไม่สามารถทำให้คุ้มทุนไปกว่าการสร้างอาคารขึ้นมาใหม่ได้ จึงทำให้แผนที่กำลังศึกษาหาความเป็นไปได้ในการซ่อมแซมของ Kurokawa เมื่อปี 1988 ต้องยุติลงไป
ในปี 2007 ได้เกิดกระแส “Save Nakagin Capsule Tower”เพราะผู้อยู่อาศัยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ได้ทำมติให้รื้อถอนอาคารเกิดขึ้น ทางองค์กร Japan Institute of Architects, the Japan Federation of Architect and Building Engineer Associations และ DoCoMoMo Japan และนานาชาติได้สนับสนุน และเก็บอาคารเก่าหลังนี้ไว้เพื่อทำการซ่อมบำรุงอาคารตามแนวคิดของ Kurokawa
แก้ไขด้วยการรื้อถอน
และปัจจุบันนี้ ในหลายๆ ยูนิตถูกทิ้งร้าง โดยที่ไม่มีคนอยู่อาศัย เนื่องจากตัวอาคารประสบปัญหาเกี่ยวกับการงานระบบภายใน เช่นการสึกกร่อนของท่อ และทำให้เกิดน้ำรั่วซึม ผู้อยู่ในแคปซูลบางหลังไม่ต้องการซ่อมบำรุงเพราะมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาที่ค่อนสูง นอกจากนี้ยังมีผู้อาศัยที่กำลังวางแผนรื้อถอนแคปซูลของพวกเขาเพื่อเก็บรักษาไว้ และวางแผนที่จะซ่อมบำรุงบางแคปซูลเพื่อส่งมอบให้กับพิพิธภัณฑ์ต่อไป
ผู้ที่ชื่นชอบอาคารหลังนี้ได้แสดงความเสียใจผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค ถึงการรื้อถอนอาคารแห่งนี้ที่เป็นตัวแทนสถาปัตยกรรมในยุค 1970 ซึ่งในวันที่ 12 เมษายน 2022 ที่จะถึงนี้ก็จะได้ฤกษ์ในการรื้อถอนแล้ว หากใครสนใจสถาปัตยกรรม Nakagin Capsule Tower ในเชิงลึกมากขึ้นก็สามารถเข้าไปอ่านบทความเกี่ยวกับอาคารหลังนี้เต็มๆ ได้ที่ https://bit.ly/3wRBZSR หรือถ้าใครอยากรู้จักสถาปนิก Kisho Kurokawa ให้ยิ่งมากขึ้นก็สามารถเข้าไปอ่านได้ที่ https://bit.ly/3uAZPQ4
อ้างอิงข้อมูลและรูปภาพ
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!