รวม 8 สถาปัตยกรรมดีเด่นที่ได้รับเหรียญทอง จากงาน ASA ARCHITECTURAL DESIGN AWARDS 2022 ’

สถาปัตยกรรมที่ออกแบบโดยสถาปนิกไทยนั้น เรียกได้ว่ามีฝือมือ และมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นไม่เป็นรองใคร จนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เห็นได้จากผลงานที่ผ่านมาของหลายๆ ออฟฟิศที่พยายามแสดงศักยภาพลงไปบนสถาปัตยกรรม จนเรียกเสียงฮือฮาได้อยู่เสมอ ทำให้ทางสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์เล็งเห็นถึงคุณค่า และได้จัดมอบรางวัลสถาปัตยกรรมขึ้นในทุกๆ ปี

และในปีนี้ ASA ARCHITECTURAL DESIGN AWARDS 2022 ก็ได้มอบรางวัล 8 ประเภทสถาปัตยกรรมให้กับเหล่าสถาปนิกที่มีผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมดีเด่น เพื่อส่งเสริมผลงานสถาปัตยกรรมของสถาปนิกไทยให้เผยแพร่ออกไปสู่สาธารณะชนให้เป็นที่รู้จักกันมากขึ้น วันนี้ Dsign Something จึงขอพาทุกคนไปดูผลงานที่ได้รับรางวัลเหรียญทองในแต่ละประเภทสถาปัตยกรรมที่ดีเด่น มีคุณค่าต่อผู้คน สภาพแวดล้อม และสังคม

ประเภทอาคารพักอาศัย
บ้านคน บ้านหมา’ ออกแบบโดย EKAR Architects

บ้านที่เกิดจากความสัมพันธ์ของคน สุนัข ธรรมชาติ ผ่านสถาปัตยกรรมที่มีรูปทรงหลังคายื่นยาวออกมาจากตัวอาคารที่ทำหน้าที่กันแดด กันฝน และยังเป็นช่องแสงให้กับภายในอาคารเพื่อหล่อเลี้ยงผู้คน และต้นไม้ อาคารแห่งนี้จึงมีความโดดเด่น ให้บรรยากาศผ่อนคลาย สบาย และตอบโจทย์กับการอยู่อาศัยกับทุกสิ่งมีชีวิต

ประเภทอาคารพักอาศัย
นวราชูปถัมภ์’ ออกแบบโดย Plan Architect

อาคารหอพักพยาบาล ที่ออกแบบให้ลมสามารถเข้าพัดผ่านเข้าไปยังภายในอาคารได้ซึ่งช่วยทำให้ประหยัดในเรื่องของเครื่องปรับอากาศได้ ประกอบกับภายในห้องต้องอยู่ร่วมกันสองคน สถาปนิกจึงออกแบบให้พื้นภายในสามารถอยู่เป็นส่วนตัวได้โดยที่ไม่รบกวนกัน ทำให้ความเหนื่อยล้าจากการทำงานหนักของพยาบาลเมื่อกลับมาถึงห้องแล้วได้พักผ่อนอย่างเต็มที่

Photographs: MQDC - Magnolia Quality Development Corporation

ประเภทอาคารสำนักงาน และพาณิชยกรรม
Forest Pavilion at The Forestiers ออกแบบโดย  Foster + Partners

โครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ใจกลางย่านบางนา ที่ต้องการสร้างชุมชนท่ามกลางพื้นที่สีเขียว โดยภายในโครงนี้จะมีทั้งสถาปัตยกรรม และเทคโนโลยี ที่ผสมผสานกันเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยมีคุณภาพชีวิตที่ดี และตอบโจทย์ได้ในทุกๆ การอยู่อาศัยของทุกคน

ประเภทโรงแรมและการพักผ่อน
‘อทิตา เดอะฮิดเดนคอร์ท’ ออกแบบโดย Studio Miti

โรงแรมในจังหวัดเชียงราย ที่พยายามออกแบบให้มีความร่วมสมัยด้วยการให้อาคารกลมกลืนไปกับบริบท ที่มีทั้งบ้านเรือนและวัดวาอารามอันเก่าแก่ ออกแบบด้วยการใช้วัสดุ อิฐ ไม้ และวัสดุธรรมชาติอื่นๆ เพื่อทำให้กับโรงแรมแห่งนี้เหมือนกำลังซ่อนตัวอยู่แบบเงียบๆ แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างความโดดเด่นไปด้วยพร้อมๆ กัน

ประเภทอาคารด้านวัฒนธรรม รางวัลเหรียญทอง และ ประเภทสถาบัน
‘อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’ ออกแบบโดย สถาบันอาศรมศิลป์

อาคารรูปทรงตัว H แฝงไปด้วยความหมายของคำว่า ‘Humanity’ ซึ่งหมายถึงความเท่าเทียม เสมอกันของทุกคน สวนแห่งนี้จึงเปิดให้บุคคลทั่วไปได้เข้ามาใช้งานโดยไม่จำเป็นต้องเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ซึ่งอีกหนึ่งจุดเด่นของพื้นที่แห่งนี้คือ พื้นที่สีเขียวบนหลังคาหรือ ‘Urban rooftop farm’ ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย โดยมี ‘ความยั่งยืน’ เป็นแนวคิดหลักในการออกแบบ

ประเภทการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอาคารเดิม
‘อาคารเคพลัส’ ออกแบบโดย pbm

โจทย์ในการออกแบบของ K+ Building คือการสร้างพื้นที่ทำงานให้เข้ากับกลุ่มคนรุ่นใหม่และสื่อสารความเป็นองค์กรที่มีความทันสมัย รวมถึงมีความคิดสร้างสรรค์ ที่อยากสื่อสารกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทางทีม pbm จึงได้หยิบคาแรกเต็อร์ของ KBTG ซึ่งก็คือ “ง่ายๆ และเป็นมิตรกับทุกคน” เขามาใช้เป็นวิธีคิดในการออกแบบอาคารหลังนี้

Photographs :Ketsiree Wongwan

ประเภทความยั่งยืน ชุมชน สิ่งแวดล้อม สังคม
‘ศูนย์การเรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณนา’ ออกแบบโดย Vin Varavarn Architects 

ศูนย์การเรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณนา อาคารแลนด์มาร์คเรียบง่ายโมเดิร์นแบบเขตร้อนชื้น ด้วยการเปิดให้โปร่งโล่ง และใช้วัสดุธรรมชาติเข้ามาใช้ในการออกแบบ เช่นไม้ไผ่ ที่สามารถซ่อมแซม และสามารถทดแทนได้ง่ายเนื่องจากโครงการปลูกไว้ในแปลงเกษตรกรรม นอกจากนี้หลังคาที่ใหญ่ยังเป็นพื้นที่รับน้ำโดยที่น้ำสามารถไหลลงไปยังคลองไส้ไก่เพื่อกักเก็บน้ำในแปลงเกษตรกรรมได้อีกด้วย  

Photographs :Ketsiree Wongwan

ประเภทอาคารขนาดเล็ก
อาคารห้องน้ำ ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณนา ออกแบบโดย Vin Varavarn Architects 

ในโครงการเดียวกันนี้สถาปนิกได้รับถึงสองรางวัลด้วยกัน ซึ่งนอกจากตัวอาคารแล้ว ทางสถาปนิกยังคำนึงถึงการทำเกษตรกรรมที่ต้องใช้ห้องน้ำอยู่ตลอดเวลาและเพื่อไม่ให้เกิดความอึดอัด จึงออกแบบให้ห้องน้ำเป็นอาคารวงกลมก่อด้วยอิฐ เพื่อให้แสง และลมพัดผ่านได้ตลอด และที่สำคัญยังให้ความรู้สึกปลอดภัย และเป็นส่วนตัวมากยิ่งขึ้นเมื่อทำธุระส่วนตัว

นอกจากนี้ยังมีอาคารที่ได้รับรางวัลเหรียญเงิน และที่ผ่านการคัดเลือก ซึ่งก็เป็นอาคารที่มีการออกแบบยอดเยี่ยม และน่าสนใจมากเช่นเดียวกัน สำหรับใครที่อยากเห็นรางวัลอื่นๆ ในหมวดเหล่านี้ก็สามารถเข้าไปดูได้ที่ https://asa.or.th/news/asa-architectural-design-awards-2022/

Writer
Watsapon Vijitsarn

Watsapon Vijitsarn