7 ไฮไลท์ที่ไม่ควรพลาดในงานสถาปนิก’65
ภายใต้แนวคิด ‘CO-WITH CREATORS’

เข้าสู่ช่วงเดือนเมษายนของปี นอกจากเทศกาลสงกรานต์แล้ว ก็ยังเป็นสัญญาณของ งานสถาปนิก หรือ Architect Expo งานจัดแสดงนิทรรศการที่ชวนสถาปนิกและนักออกแบบทั่วไทยไปอัพเดทเรื่องราว รวมถึงวัสดุใหม่ๆ ผลิตภัณฑ์ นวัตกรรม และเทคโนโลยีในการก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับวงการออกแบบ ซึ่งในแต่ละปี ทางสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์และผู้จัดงาน ก็มักจะครีเอทธีมใหม่ ๆ เพื่อนำเสนอแนวทางและแนวคิดใหม่ให้กับวงการ

ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 เมษายน – 1 พฤษภาคม 2565ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ภายใต้แนวคิด ‘CO – WITH CREATORS: พึ่งพา – อาศัย เรียกได้ว่าเป็นการกลับมาหลังจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างสมบูรณ์แบบด้วยธีมที่ชวนเหล่าครีเอเตอร์หลากหลายแวดวงมาร่วมสร้างสรรค์ผลงานการออกแบบได้อย่างน่าสนใจ

พึ่งพา – อาศัย : CO– WITH CREATORS
12 Architects x 12 Creators

ก่อนจะเข้าสู่ 7 ไฮท์ไลท์ที่เราอยากพาทุกคนไปเตรียมตัวชมงาน เราขอพูดถึงความน่าสนใจของธีมงานสถาปนิก’65 ซึ่งหยิบยกเอางานสถาปัตยกรรมที่ใช้กระบวนการออกแบบในลักษณะ พึ่งพา อาศัย ส่วนหนึ่งเป็นความน่าสนใจของกระบวนการทำงานออกแบบที่ “เกิดการสร้างสรรค์ร่วมกัน” (Co-Create) ของเพื่อน ๆ ต่างสาขาอาชีพมากขึ้นเรื่อย ๆ  ไม่ว่าจะเป็น การทำงานร่วมกันระหว่างสถาปนิกและภูมิสถาปนิก ศิลปิน นักออกแบบแสง แฟชั่นดีไซน์เนอร์ ช่างภาพ หรือสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ผลลัพธ์ของงานมีมุมมองที่หลากหลาย สดใหม่จากไอเดียที่แตกต่าง 

ไม่ใช่แค่นั้น งานสถาปนิก’65 ยังทำหน้าที่เป็นเวทีในการตั้งคำถามและการหาคำตอบ ถึงการ พึ่งพา อาศัย ระหว่างสถาปนิกและนักสร้างสรรค์สาขาอื่น ๆ ที่ไม่ได้จำกัดแค่นักออกแบบ เพื่อแสดงให้ทุกคนเห็นว่าการออกแบบร่วมกันโดยปรับเปลี่ยน แชร์วิธีการทำงานบางอย่างของแต่ละสายอาชีพ จะสร้างประโยชน์และเพิ่มความสร้างสรรค์ได้อย่างไรบ้าง? ซึ่งอย่างน้อย วิธีการดังกล่าวก็อาจเป็นพลังส่วนหนึ่งที่ทำให้ทุกคนตระหนักเห็นความสำคัญของงานออกแบบในหลากหลายสาขาได้มากยิ่งขึ้นไปอีก

01 Co-with Covid Pavilion
D KWA Design Studio x Patani Artspace

เริ่มต้นด้วยนิทรรศการหลักอย่าง Co – with Covid Pavilion ซึ่งนำเสนอการออกแบบพื้นที่เพื่อรองรับวิกฤตการณ์ Covid-19 ในการช่วยจัดการพื้นที่ปลอดภัยสำหรับคนไทย โดยได้คุณสาริน นิลสนธิ จาก D KWA Design Studio จับมือกับ ผศ.เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ จาก Patani Artspace มารับหน้าที่ในการออกแบบพาวิลเลียน

ทั้งคู่นำเสนอแนวคิดผ่านโครงสร้างที่ใช้ผ้าเป็นวัสดุหลักในการกำหนดขอบเขต และออกแบบพื้นที่ภายในโดยจัดแบ่งสเปซออกเป็นส่วน ๆ และใช้ลำดับการเข้าถึงเป็นตัวเล่าเรื่อง ส่วนเนื้อหาภายในจะประกอบไปด้วยการตอบคำถามในเรื่องการอยู่อาศัยและการอยู่ร่วมกันในสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งก็มีการหยิบเอาเทคนิคงานศิลปะที่มีความเฉพาะตัวอย่างลวดลาย สีสัน ความอ่อนช้อย หรือเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นของ ผศ.เจะอับดุลเลาะ มาร่วมรังสรรค์ให้ภาพรวมของพาวิลเลียนหลังนี้กลมกล่อม สื่อความหมายได้มากขึ้นผ่านการใช้เส้นสาย สุนทรียภาพ และแนวคิดทางศิลปะ

02  Co-breathing house’ Local Innovation Pavilion
Eco Architect x Joez19

สำหรับนิทรรศการหลักชิ้นที่สองเป็นของคุณคำรน สุทธิ จาก Eco Architect ร่วมมือกับคุณจีรศักดิ์ พานเพียรศิลป์ ช่างภาพสายครีเอทีฟในชื่อ Joez19 ซึ่งพาวิลเลียนหลังนี้มีจุดร่วมของแนวคิดมาจากวิถีชีวิตธรรมชาติที่ซ่อนอยู่ในกระบวนการทำงานของทั้งคู่เช่นเดียวกัน จนนำไปสู่ผลลัพธ์ของการออกแบบพาวิลเลียนในนาม  ‘Co-breathing house’ หลังนี้ 

ภายในของพาวิลเลียนเป็นการจำลองห้องต่าง ๆ ในบ้านของคุณจีรศักดิ์ ซึ่งแต่ละห้องจะมีฉากหลังเป็นภาพถ่ายสะท้อนให้เห็นถึงความงามของธรรมชาติ เสน่ห์ของแสงเงา ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ สอดคล้องไปกับการออกแบบสถาปัตยกรรมสีเขียวของ Eco Architect ซึ่งการออกแบบลำดับการเข้าถึงจะเป็นไปในลักษณะ Linear Circulation ที่แบ่งภายในเป็น 6 ห้องหลัก ๆ แต่ละห้องนำภูมิปัญญาวัสดุพื้นถิ่นไทยมาใช้ในเชิงทดลองจนเกิดเป็นฟาซาดอาคารในรูปแบบใหม่ และยังออกแบบผนังกั้นภายในห้องต่าง ๆ ให้กลมกลืนไปกับวัสดุพื้นถิ่น และเล่นไปกับประสาทสัมผัสของมนุษย์ผ่านภาพ เสียง การสัมผัส เพื่อให้ผู้ชมมีส่วนร่วมกับเนื้อหาที่สามารถจับต้องและเข้าถึงวัสดุพื้นถิ่นในแต่ละภาคได้จริง ๆ

03 Professional Collaboration Pavilion
INLY Studio x ทะเลจร

พาวิลเลียนหลังนี้ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สำหรับจัดแสดงแนวความคิดและการทำงานร่วมกันของสถาปนิกและนักสร้างสรรค์จากทั่วประเทศทั้ง 24 กลุ่ม ภายในงานสถาปนิก’65 รวมถึงผลงานในรูปแบบ Model ภาพถ่ายแนวความคิด และสื่อวิดีทัศน์ โจทย์ดังกล่าวส่งต่อสู่คุณปกรณ์ และ วิภาดา อยู่ดี สถาปนิกจาก INLY Studio ร่วมกับ ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย ผู้ก่อตั้งธุรกิจเพื่อสังคม ‘ทะเลจร’

ด้วยความตั้งใจในการสร้างพื้นที่และความรู้สึกเสมือนอยู่ท่ามกลางเกลียวคลื่นที่ถูกปกคลุมด้วยขยะรีไซเคิลของทะเลจร INLY Studio จึงออกแบบรูปทรงอันเรียบง่าย แต่มีความเคลื่อนไหวในลักษณะ Dynamic เพื่อสร้างความน่าสนใจจากระยะไกลเพื่อดึงดูดผู้ชม โดยตัวโครงสร้างจะขึ้นรูปจากตะแกรงเหล็ก ซึ่งเอื้อให้สามารถสร้างสรรค์รูปทรงอ่อนช้อยของเกลียวคลื่นได้อย่างสมบูรณ์ คล้ายกับผลงานประติมากรรมที่สามารถสร้างการรับรู้ได้มากถึง 360 องศา ทำให้ผู้เข้าชมสามารถมีมุมมองที่แตกต่างกันออกไป เพื่อให้ได้สัมผัสและประสบการณ์ความรู้สึกเฉพาะตัว ที่แตกต่างไปในแต่ละจุดของพาวิลเลียน

04 Thematic Pavilion
Designer x Supplier

อีกหนึ่งนิทรรศการที่เรามองว่าน่าสนใจมาก ๆ คือ Thematic Pavilion ซึ่งเป็นครั้งแรกของงานสถาปนิกที่นำเสนอแนวคิดการออกแบบระหว่างซัพพลายเออร์วัสดุก่อสร้าง และนักออกแบบรุ่นใหม่ผ่านโจทย์การสร้างสรรค์ด้วยผลิตภัณฑ์ของผู้แสดงสินค้า ทำให้เราได้เห็นแนวคิดการหยิบวัสดุที่หน้าตาคุ้นเคยมาดัดแปลงในการออกแบบผ่านภาษาและรูปลักษณ์ใหม่ ๆ โดยมีทั้งหมด 4 ผลงาน 4 คู่ ให้เราได้เยี่ยมชมแนวคิดกันแบบจุใจ ประกอบไปด้วย EDL x SHER MAKER, TOA x ARiA Design Architects, WDC x ACa Architects, และ VG x PHTAA Living Design

05 Innovative Materials
อัพเดทวัสดุและนวัตกรรมใหม่ๆ ในวงการ

ประเด็นหลัก ๆ ส่วนหนึ่งที่ทำให้งานสถาปนิกมีความน่าสนใจในทุกปี คือ การที่เป็นศูนย์รวมนวัตกรรม แบรนด์วัสดุ หรือเทคโนโลยีในการก่อสร้างใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนไปในทุกปี ยิ่งในปีที่ผ่านมามีการหยุดชะงักจากสถานการณ์ Covid-19 ทำให้ในปีนี้ ส่วนจัดแสดงบูธต่าง ๆ จัดเต็มพร้อมมาอัพเดทเรื่องราวใหม่ ๆ ในแวดวงการออกแบบเพื่อให้สถาปนิกและเหล่าดีไซน์เนอร์เห็นถึงความเป็นไปได้ของวัสดุที่เปลี่ยนไป ก่อนจะนำไปรังสรรค์เป็นผลงานที่ทั้งสร้างสรรค์และยั่งยืนต่อไปในอนาคต

06 ASA Seminar
Cross Function, Cross Culture

นอกจากการเยี่ยมชมผลงานต่าง ๆ แล้ว บนเวทีสัมมนาภายในงานสถาปนิก’65 ปีนี้ ยังได้รับเกียรติจาก Speaker ที่จะมาถ่ายทอด ต่อยอดไอเดียสร้างสรรค์ และแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดการจับคู่ระหว่าง 12 สถาปนิก และ 12 นักสร้างสรรค์ผ่านกระบวนการคิด วิธีการทำงานแบบข้ามสายวิชาชีพ (Cross Function) ตลอด 6 วันของการจัดงาน รับรองว่าอัดแน่นไปด้วยความรู้ ไอเดีย และประสบการณ์ใหม่ซึ่งกันและกันอย่างแน่นอน นอกจากนั้นส่วนหนึ่งของงานสัมมนายังอยู่ในรูปแบบ Hybrid Forum ที่สามารถเข้าร่วมฟังสัมมนาทั้งแบบ On-site และแบบ On-line ได้ในทุก ๆ พื้นที่ของประเทศ

07 Leisure Pavilion
พื้นที่กิจกรรมและบริการ

สำหรับพื้นที่กิจกรรมและบริการก็มีรองรับอีกมากมายไม่ว่าจะเป็น ‘หมอบ้านอาษา’ บริการให้คำปรึกษาในเรื่องการออกแบบและก่อสร้างโดยกลุ่มสถาปนิกหมอบ้านอาษา, ‘ASA Shop’ พื้นที่จำหน่ายหนังสือและของที่ระลึกสมาคมฯ หรือหนังสือวิชาการจากสถาบันการศึกษา และยังมีสินค้าจากกลุ่มครีเอเตอร์ที่น่าสนใจอย่างงานไม้ โคมไฟ, ‘ASA Club’ พื้นที่ Meeting Point และจุดพักผ่อน และ ‘ลานกิจกรรมกลาง’ พื้นที่จัดกิจกรรมต่างๆ เช่นงานเสวนา ดนตรี ทดลองสาธิต หรือ Workshop ให้ได้เดินชมงานกันอย่างเต็มที่จุใจในบรรยากาศที่ครบ จบภายในที่เดียว

พบกับงานสถาปนิก’65 CO-WITH CREATORS: พึ่งพา-อาศัย ได้ในวันที่ 26 เมษายน – 1 พฤษภาคม 2565 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี หรือติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.asaexpo.org/

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้