ค้นหาความชอบสถาปัตย์ ใครว่าเริ่มได้แค่มหาวิทยาลัย
คุยกับปันปัน-วรัชญ อิงวัฒนโภคา กับโปรเจกต์ออกแบบที่เริ่มทำด้วยตัวเองในวัยเพียง 16 ปี

ด้วยระบบการศึกษาไทย บางครั้งเราก็ต้องยอมรับว่า กว่าจะได้เรียนรู้ในหลักสูตรเส้นทางสายอาชีพที่แต่ละคนเลือกก็ต้องรอผ่านรั้วมหาวิทยาลัย และที่น่าเจ็บใจกว่านั้น เรียนไประหว่างทางหลายคนกลับพบว่า นี่ไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองชอบและคาดหวังจะได้พบเจอจริง ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเด็ก ๆ ยังขาดความเข้าใจหลักสูตร การเรียนรู้ต้องพบเจอกับอะไรบ้าง? การได้ค้นหาตัวเองในระหว่างทางเหล่านั้นจึงอาจกลายเป็นเครื่องมือหนึ่งในการป้องกันความผิดหวัง

Dsign Something ชวนมาพูดคุยกับน้องปันปัน-วรัชญ อิงวัฒนโภคา หนึ่งในเด็กรุ่นใหม่วัย 16 ปีที่ได้มีโอกาสค้นหาตัวเองในสายอาชีพสถาปนิกในฝัน ผ่านการทำโปรเจกต์ออกแบบครั้งใหญ่ ‘Grade 10 Personal Project Mini Exhibition’ ที่เริ่มต้นตั้งแต่การสร้างโจทย์ ลงมือออกแบบ เขียนแบบด้วย AutoCad และตัดโมเดลด้วยตัวเอง

Dsign Something : จุดเริ่มต้นของโปรเจกต์มันคืออะไร ทำไมเราถึงเลือกทำ?
ปันปัน : ผมเรียนที่โรงเรียน Concordian International School ซึ่งจะเป็นหลักสูตร IB (International Baccalaureate)หลักสูตรนี้ตอนประมาณ Grade 10 (ม.4) เขาจะให้ทำโปรเจกต์ใหญ่ขึ้นมา ซึ่งเป็นอะไรก็ได้เลยที่เราสนใจ และมันจะไม่ใช่วิชาใดวิชาหนึ่ง เราสามารถเลือกได้ตามความถนัด แล้วก็เอามาเขียนเป็น Paper ส่ง ซึ่งผมก็มองว่า ถ้าเราเลือกทำอะไรที่มันสอดคล้องกับวิชาชีพหรือสิ่งที่เราสนใจอยู่แล้ว มันก็อาจจะทำให้ง่ายขึ้น แล้วตัวเราเองก็ได้ศึกษาในเรื่องที่สนใจอยู่เพิ่มมากขึ้นด้วย

Dsign Something : แสดงว่ารู้ตัวชัดเลย ว่าอยากจะเป็นสถาปนิกแน่ๆ ? รู้ตัวตอนไหน ?
ปันปัน : ปันมีคุณพ่อเป็นสถาปนิก ก็เห็นคุณพ่อทำงานออกแบบมาตั้งแต่เด็ก และที่บ้านเอง ก็ทำพวกกราฟฟิก และมีงานออกแบบพวกเฟอร์นิเจอร์ งานไม้ ผมอยู่กับอะไรพวกนี้มาตั้งแต่เด็ก ๆ เลย เราก็คิดว่าทำได้ดีประมาณหนึ่งและเราเองก็สนใจ ซึ่ง คุณพ่อก็ช่วยซัพพอร์ทเรื่องนี้มาก ๆ พยายามใช้ประสบการณ์ที่เขามี มาสอนและแนะนำในสิ่งที่เราไม่รู้ อย่างตอนที่ทำโปรเจกต์ เขาก็จะคอยมาดูว่า ถึงไหนแล้ว เป็นยังไงบ้าง ตรงนี้ควรเพิ่มอันนี้นะ หรือตรงนี้เยอะเกินไป

Dsign Something : ชอบทางดีไซน์อยู่แล้ว?
ปันปัน : โชคดีอย่างหนึ่ง คือ พอผมเรียนหลักสูตร IB มันจะมีวิชาที่โรงเรียนไทยไม่ค่อยมี นั่นคือ วิชา Design ที่สอนเกี่ยวกับดีไซน์ตรง ๆ เลย เช่น วิธีการเลือกใช้แมททีเรียล และที่เน้นหลัก ๆ คือสอนกระบวนการดีไซน์ (Design Cycle) ไปเลย ทุกโปรเจกต์ที่ทำในโรงเรียนจะทำตาม Cycle นี้ ซึ่งเป็นระบบวิธีคิดที่มีการ Research มีการคิดไอเดีย การเอาไอเดียมาเปรียบเทียบกันว่า อันไหนคือไอเดียที่เหมาะสมที่สุด แล้วก็นำไอเดียนั้นไปพัฒนาต่อ ซึ่งผมเคยทำแต่งานสเกลเล็ก ๆ อย่างเช่น การทำเก้าอี้ไม้ หรือดีไซน์โลโก้ ทีนี้เราก็เอาวิธีการดีไซน์แบบนั้นที่โรงเรียนสอนมาปรับใช้กับงานโปรเจกต์สเกลใหญ่ขึ้น ลองทำในรูปแบบงานสถาปัตยกรรม หรือเป็นบ้านดูบ้าง

Dsign Something : ดีไซน์เป็นวิชาบังคับของโรงเรียน?
ปันปัน :
ที่โรงเรียน เขานับวิชาดีไซน์เป็นหนึ่งในวิทยาศาสตร์ ช่วงม.3 จะเป็นวิชาบังคับที่ทุกคนต้องเรียน มีงานไม้ งานประกอบหุ่น พอมาถึง ม.4 ทุกคนต้องเลือกหนึ่งในวิชา เช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ หรือดีไซน์ ผมก็เลือกเรียนดีไซน์ซึ่งเราน่าจะถนัดที่สุด และ มันก็จะได้เรียนลงลึกมากขึ้น

Dsign Something : แล้วสำหรับโปรเจกต์ เราเริ่มต้นทำยังไงบ้าง?
ปันปัน : นี่ถือเป็นโปรเจกต์แรกเลยที่ผมทำในสเกลใหญ่ขนาดนี้ ผมก็ไม่แน่ใจว่าต้องเริ่มตรงไหน แต่เรารู้สกิลแต่ละอย่าง เขียนแบบ ขึ้น 3D เราทำได้หมด ตอนแรก ๆ ก็เลยปรึกษาคุณพ่อว่าถ้าเราจะทำโปรเจกต์ออกแบบสักโปรเจกต์หนึ่ง มันต้องทำ Topic หรือมี Concept อย่างไรบ้าง คุณพ่อก็ยกตัวอย่างบ้านประหยัดพลังงานหรือบ้านที่ลดการใช้ไฟฟ้า เราก็มองว่ามันดูชัดเจนและน่าสนใจดี จากนั้นก็ไปหาข้อมูลประกอบเรื่อย ๆ พอเราเริ่มมันก็เป็นสเต็ปไปเรื่อย ๆ พอหาข้อมูลมา เราก็เริ่มดีไซน์ ก็มีคุณพ่อเป็นคนช่วยตรวจแบบให้ แล้วก็รับ Feedback ปรับแก้กันไปเรื่อย ๆ ตรงนี้ดีหรือไม่ดี ถ้าทำแบบนี้ ลมจะไม่เข้าบ้านนะ มันจะร้อน

Dsign Something : แล้วทำไมเราถึงมีสกิลการเขียนแบบ ขึ้น 2d 3d ได้?
ปันปัน :
ผมชอบใช้โปรแกรม Photoshop วาดรูปมาตั้งแต่เด็ก ๆ พอทำไปเรื่อย ๆ เราก็อยากเรียนใช้โปรแกรม Illustrator ก็ค่อย ๆ ขยับฝึกทำไป รู้สึกว่ามันก็สนุกดี มันน่าทำ ทีนี้ก็ไปหลายอย่างเลยครับ (หัวเราะ) ไปลองใช้ AutoCad จนเป็น เพราะจริง ๆ มันก็คล้าย ๆ กับ Illustrator พอทำ AutoCad  ได้ เราก็อยากลองขยับไปที่การทำ 3D เรนเดอร์เลย เพราะ AutoCad มันก็แค่ 2มิติ แล้วเราก็ไม่อยากให้มันหยุดตรงนั้น เลยไปเรียน 3D แล้วก็ค่อย ๆ หัดจากตรงนั้น

Dsign Something : พอได้ลองทำโปรเจกต์นี้ การลองทำ ลองคิด หรือลองนำเสนอทั้งหมดในระบบความคิดแบบดีไซน์ มันดีอย่างไร?
ปันปัน :
ผมว่ามันช่วยในเรื่องกระบวนการคิดที่จะเอามาดีไซน์จริง ๆ หรือแม้แต่เรื่องอื่น ๆ ในชีวิตประจำวันผมก็มองว่ามันมีประโยชน์ มันคือการที่เราเอาความคิดแบบ Design Thinking มาใช้กับทุกอย่าง หรือเพื่อผลิตโปรดักต์อะไรขึ้นมา ซึ่งมันก็คือการสอนให้เราแก้ปัญหารูปแบบหนึ่ง

ภาพผลงาน

ส่วนคำถามสุดท้าย เราโยนไปว่า ‘น้องปันเห็นภาพตัวเองเป็นสถาปนิกแบบไหน?’ ซึ่งน้องเองก็ยังไม่มีภาพและไม่สามารถบอกได้ชัดเจน เพียงแต่ค่อนข้างแน่ใจในระดับหนึ่งว่าตนเองอยากจะเป็นนักออกแบบเหมือนคุณพ่อ ซึ่งสกิลทั้งหมด และระบบความคิดที่ได้เรียนรู้ทั้งหลักสูตรในห้องเรียน และการค้นคว้านอกห้องเรียนก็ทำให้อย่างน้อย น้องปันสามารถเห็นภาพการเรียนในวิชาชีพที่ตนเองใฝ่ฝันได้ชัดเจนมากขึ้น

ซึ่งแน่นอนว่าวิธีที่จะค้นหาตัวเอง หรือทำความเข้าใจกับคณะ หรือวิชาชีพนี้ให้มากขึ้นก็มีหลากหลายรูปแบบแตกต่างกันออกไป ทั้งการมองหากิจกรรม Work Shop ที่เป็นประโยชน์ การเข้าค่ายเพิ่มทักษะทั้งการวาดภาพ การออกแบบ อีกทั้งยังได้ประสบการณ์จากรุ่นพี่ หรืออาจหาความรู้เพิ่มเติมจากงาน Open House คณะ หรือมหาวิทยาลัยที่เราชื่นชอบเพื่อให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมต่าง ๆ ที่เป็นประสบการณ์เฉพาะตัว

หรือแม้แต่การฝึกฝนสกิลที่จำเป็นต้องใช้ในการเรียน อย่างเช่น การคิด วิเคราะห์ หาเหตุและผล การนำเสนอทั้งในรูปแบบของการวาดรูป การใช้ทักษะโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือการเสพย์ข้อมูลหรือภาพเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมเยอะ ๆ ก็อาจเป็นเครื่องมือ หรือตัวช่วยหนึ่งที่ทำให้เราสามารถเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่โลกของการเรียนออกแบบได้ดีมากขึ้นเช่นกัน  

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้