แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ปรับมุมมองการออกแบบที่แปลกใหม่
ผ่านงานสถาปนิก’65 พึ่งพา – อาศัย : CO – WITH CREATORS

กระบวนการออกแบบในยุคปัจจุบันนี้ ไม่ใช่แค่การออกแบบโดยยึดเอามุมมองความคิดเพียงด้านเดียวเป็นหลักอีกต่อไป แต่เป็นการพึ่งพาอาศัยชุดความคิดและมุมมองใหม่ ๆ รอบ ๆ ตัว มาปรับใช้ให้การออกแบบสร้างสรรค์ได้มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะเกิดการแลกเปลี่ยนและหยิบยืมแนวคิดจากมุมมองใหม่ ๆ มาใช้แล้ว ยังเป็นการรักษาและส่งต่อชุดความคิดสร้างสรรค์เหล่านั้นให้สามารถนำไปต่อยอดในอนาคตได้ด้วย

ด้วยเหตุนี้งานสถาปนิก’65 สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้ร่วมกับ บริษัท ทีทีเอฟ อินเตอร์เนชันแนล จำกัด จัดงานภายใต้แนวคิด “พึ่งพา – อาศัย : CO – WITH CREATORS” ที่เปิดพื้นที่และโอกาสให้กับผู้คนในทุกสาขาอาชีพทั้งที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบหรือไม่ก็ตาม ได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และร่วมกันขบคิดเพื่อจุดประกายความคิด รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจระหว่างผู้คนและงานออกแบบได้มากขึ้น และยังแสดงให้เห็นว่าองค์ความรู้ในหลากหลายศาสตร์สามารถเอื้อประโยชน์ให้กระบวนการออกแบบตอบโจทย์ต่อการใช้งานได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

CO – with COVID Pavilion การอยู่ร่วมกันบนเส้นขนานของมนุษย์และสิ่งมีชีวิต

นิทรรศการที่จำลองความสัมพันธ์ของการใช้ชีวิต การอยู่ร่วมกันและการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างคนและสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ ผ่านการออกแบบของคุณสาริน นิลสนธิ จาก D KWA Design Studio และ ผศ.เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ จาก Patani Artspace ที่ได้ออกแบบโครงสร้างและหยิบยกเอาผ้ามาเป็นวัสดุหลักในการกำหนดขอบเขตนิทรรศการและแบ่งพื้นที่ภายใน ร่วมกับการใช้เอฟเฟกต์จากการสะท้อนแสงของท่อนำแสง (Lighting tube) ซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนของเชื้อไวรัสที่ปรากฏอยู่รอบ ๆ ตัวเรา พร้อมนำเสนอประเด็นการอยู่อาศัยและใช้ชีวิตในสถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบัน ที่ต้องยอมรับ ปรับตัวและอยู่ร่วมกันให้ได้อย่างเข้าใจ

CO – Breathing House มุมมองการออกแบบจากการทดลองที่แตกต่าง

พื้นที่แห่งการแสดงแนวคิดและเชื่อมโยงตัวตนเข้าด้วยกันระหว่างคุณคำรน สุทธิ จาก Eco Architect ที่มักจะขบคิดเพื่อหาไอเดียใหม่ ๆ ผ่านการทดลองวัสดุพื้นถิ่นรอบ ๆ ตัว ให้ก่อเกิดเป็นนวัตกรรมที่ช่วยให้สถาปัตยกรรมสามารถหายใจและอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน และคุณจีรศักดิ์ พานเพียรศิลป์ หรือ Joez19 ช่างภาพที่ถ่ายทอดและบอกเล่าเรื่องราวของธรรมชาติ วิถีชีวิตและความทรงจำผ่านภาพถ่ายได้อย่างกลมกลืน สู่การออกแบบ CO – Breathing House Pavilion พาวิลเลียนที่นำเสนอการออกแบบเปลือกอาคาร (Façade) และผนังกั้นภายในห้อง จากวัสดุพื้นถิ่นที่ผ่านการทดลองใช้งานในหลากหลายวิธีร่วมกับการออกแบบที่ดึงเอาประสาทสัมผัสของผู้ชมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงาน ไม่ว่าจะเป็นการมองเห็นด้วยตา การได้ยินเสียงหรือการสัมผัส

Professional Collaboration เกลียวคลื่นแห่งการตระหนักรู้ในความรู้สึก

Professional Collaboration คือพาวิลเลียนที่ออกแบบโดยคุณปกรณ์และคุณวิภาดา อยู่ดี จาก INLY Studio ผ่านการดึงเอาตัวตนและเอกลักษณ์ของ INLY Studio มาผนวกให้สอดคล้องและแสดงถึงมุมมองวิธีคิดของ ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย ผู้ก่อตั้งธุรกิจเพื่อสังคม ‘ทะเลจร’ อย่างโดดเด่น จนเกิดเป็นพาวิลเลียนเกลียวคลื่นขนาดใหญ่ที่ถูกปกคลุมด้วยวัสดุจากการรีไซเคิลขยะของ ‘ทะเลจร’ นอกจากนี้ความพิเศษยังอยู่ที่รูปทรงคล้ายประติมากรรมที่สามารถรับรู้และมองเห็นได้รอบ 360 องศา ซึ่งในทุก ๆ จุดและตำแหน่งที่แตกต่างกันนั้นช่วยให้ผู้ชมได้ฉุกคิดในประเด็นคำถามที่หลากหลาย ส่งผลให้ผู้ชมได้เปิดและสัมผัสประสบการณ์ที่แตกต่างกันในแต่ละจุดของพาวิลเลียน

รังมดแดง (Rang Mod Deang) สัญลักษณ์ของการพึ่งพาอาศัย

ASA Member เป็นผลงานร่วมกันระหว่างคุณธรรศ วัฒนาเมธี, คุณอัชฌา สมพงษ์ จาก ชานเฌอ สถาปนิกและการออกแบบ (Chan Cher Architects and Design) และคุณศุภชัย แกล้วทนงค์ จาก นักคิด ดีไซน์ สตูดิโอ (Nakkhid Design Studio) ได้มองเห็นถึงความพิเศษและคล้ายคลึงกันระหว่างความสัมพันธ์ของรังมดและมดงานกับความสัมพันธ์ของวงการออกแบบและ ASA Member ที่ต้องคอยดูแล ฟูมฟักการออกแบบให้สร้างสรรค์และเกิดขึ้นได้จริง ไม่ต่างจากมดที่คอยดูแลไข่ให้ปลอดภัยและเจริญเติบโต จึงเกิดเป็นไอเดียพาวิลเลียนรูปทรงคล้ายรังมดแดงสำหรับจัดแสดงโมเดลการออกแบบ 100 ชิ้น จากสำนักงานสถาปนิก 100 แห่ง ที่ออกแบบฟอร์มโครงสร้างจากเหล็กเพื่อให้ได้รูปทรงที่คล้ายกับรังมดแดงและเสริมด้วยองค์ประกอบจากซี่ลูกกรงและไม้กระถิน เอกลักษณ์จากจังหวัดสกลนครให้พาวิลเลียนมีความเป็นธรรมชาติและใกล้เคียงกับความเป็นรังมดแดงมากขึ้น

Street Wonder นิทรรศการแสดงผลงานนิสิตสถาปัตยกรรม

พื้นที่พาวิลเลียนที่นำเสนอผลงาน มุมมองการออกแบบทางสถาปัตยกรรมและปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของนักศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์ โดย ดร.ณรงค์วิทย์ อารีมิตร จาก A49 KHON KAEN และคุณสร้างสรรค์ ณ สุนทร จาก MOK KAM POR ได้ร่วมกันออกแบบพื้นที่ให้นักศึกษาซึ่งถือเป็นเมล็ดพันธุ์รุ่นต่อไปได้แสดงตัวตนและศักยภาพทางด้านความคิดและการออกแบบได้อย่างเต็มที่ ผ่านความสนุกสนาน เข้าถึงง่ายและเป็นกันเอง

The Hijab นิทรรศการแสดงผลงานการประกวดแบบจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ

ASA Experimental Design เป็นพื้นที่พาวิลเลียนที่ได้รับการออกแบบจากคุณสาโรช พระวงค์และคุณเอ็มโซเฟียน เบญจเมธา จาก เบญจเมธา เซรามิก (Benjametha Ceramic) ออกแบบโดยใช้ผ้าสีดำมาห่อหุ้มโครงสร้างทั้งหมดไว้ เพื่อให้ภายในพาวิลเลียนมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อในการจัดแสดงผลงานการประกวดแบบทั้งในระดับนักศึกษาและวิชาชีพ อีกนัยหนึ่งคือการแสดงออกถึง ‘ฮิญาบ’ สัญลักษณ์ของความรู้สึก วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของภาคใต้

Wall of Wisdom กำแพงแห่งปัญญา
นิทรรศการรางวัลการออกแบบสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2565

พื้นที่พาวิลเลียนสำหรับจัดแสดงผลงานรางวัลการออกแบบสถาปัตยกรรมดีเด่นและรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2565 โดยคุณกานต์ คำแหง, คุณธนชาติ สุขสวาสดิ์ จาก Pommballstudio และคุณกาญจนา ชนาเทพาพร จาก BWILD ISAN ได้ออกแบบให้พาวิลเลียนมีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรม-ประติมากรรม ที่ถอดแบบแนวคิดและแรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติ ให้ชิ้นส่วนของพาวิลเลียนมีรูปทรง ลักษณะและจังหวะคล้ายคลึงกับการลำเลียงอาหารของใบไม้ในธรรมชาติ เปรียบเหมือนการส่งต่อองค์ความรู้จากผลงานที่ได้รางวัลสู่ผู้รับชม

Farmer and Builder – ชาวนาและช่างก่อสร้าง

พาวิลเลียนผ่านการออกแบบของคุณซัลมาน มูเก็ม จากสถาปนิกมุสลิมเพื่อชุมชน และคุณรติกร ตงศิริ ผู้สร้างสรรค์แบรนด์ ป่านาคำหอม (Pa Na Come Home) และสมาชิกกลุ่มชาวนาไทอีสาน ที่นำเสนอเรื่องราวความสัมพันธ์ของวัฒนธรรม ภูมิปัญญาและวิถีชีวิตของบรรพบุรุษที่ถูกส่งต่อมาเป็นองค์ความรู้อันล้ำค่าให้กับกลุ่มชาวนาไทอีสานรุ่นใหม่ ที่ได้นำทั้งความรู้ วัฒนธรรมและเมล็ดพันธุ์ข้าวมาสานต่อ รวมถึงต่อยอดจนกลายเป็นการทำนาประณีตแบบอินทรีย์เกิดขึ้น นอกจากเป็นอารอนุรักษ์และหวงแหนองค์ความรู้ไว้แล้ว ยังเป็นการพัฒนาและต่อชีวิตให้กับวัฒนธรรมภูมิปัญญาของท้องถิ่นต่อไปด้วย

หมอบ้านอาษา พื้นที่ปรึกษาปัญหาบ้านและการก่อสร้าง

พื้นที่สำหรับการปรึกษา รับฟัง รวมถึงแนะนำทางออกให้กับทุกปัญหาเรื่องบ้านและการก่อสร้างโดยมีสถาปนิกจิตอาสาคอยให้คำแนะนำและตอบคำถาม พาวิลเลียนนี้จึงเปรียบเสมือนคลินิกรักษาบ้าน ที่มีคุณหมอบ้านจิตอาสารอรับฟังและรักษาอยู่ภายใน คุณจักรพันธุ์ บุษสาย คุณวาสิฎฐี ลาธุลี จาก สุนทรีย์ พลัส (S OO N T A R E E +) และคุณวีรดา ศิริพงษ์ จาก ’carpenter ได้ออกแบบให้พาวิลเลียนเป็นรูปแบบประติมากรรมแบบง่ายให้มีความกึ่งทึบกึ่งโปร่ง ผ่านการเลือกใช้วัสดุรีไซเคิลต่าง ๆ ที่หาได้ง่ายในท้องตลาด ทั้งแผ่นไม้อัดจากเศษไม้และขี้เลื้อย OSB ผ้าแบรนด์ Moreloop ที่เหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมสิ่งทอและแผ่นโพลีคาร์บอเนตใส ให้พาวิลเลียนมีความทันสมัย สะดุดตา แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างความคุ้นเคยและเข้าถึงง่ายให้กับผู้ใช้งาน

ASA SHOP PLAYBRARY เล่น เรียน รู้ ผ่านพื้นที่ที่แตกต่าง

ส่วนสำหรับขายหนังสือ สื่อสิ่งพิมพ์และผลิตภัณฑ์จากสมาคมสถาปนิกสยามฯ ผ่านการออกแบบและจัดสรรการใช้งานออกเป็น 3 ส่วน ทำให้พื้นที่ภายในสามารถตอบสนองความต้องการใช้งานของคนทุกกลุ่มได้อย่างครอบคลุม ซึ่งคุณชารีฟ ลอนา จากสตูดิโอออกแบบ ‘Studio Act of Kindness’ และคุณสเริงรงค์ วงษ์สวรรค์ จากแบรนด์ Rubber Killer ได้หยิบเอาโครงสร้างผนังเบาชั่วคราว C-Line มาออกแบบและใช้ร่วมกับผ้าใบหุ้ม วัสดุปูพื้น Checker Plate แผ่นกันลื่นและแผ่นกระเบื้องยาง เปลี่ยนให้พื้นที่ธรรมดา ๆ ให้รองรับการใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นขั้นบันไดสีน้ำเงินสะดุดตา หรือส่วนของอัฒจันทร์สำหรับนั่ง ผู้ใช้จึงสนุกกับการใช้งานได้มากขึ้น

ASA Club Touchless ‘รส (ลด) สัมผัส’

พื้นที่พบปะและพักคอย อีกทั้งยังเป็นเหมือนพื้นที่ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวต่าง ๆ ที่น่าสนใจในระหว่างการพักผ่อนทานอาหารว่างของชาว ASA ผ่านแนวคิดการออกแบบของคุณปรัชญา สุขแก้ว สถาปนิกจาก Nuzen และคุณสุเมธ ยอดแก้ว จาก Minimal Records ที่นำเอาความน้อยแต่มากไปด้วยประโยชน์ของกระดาษมาปรับใช้ ขึ้นรูปให้เกิดพื้นที่ ASA Club สำหรับชาว ASA ส่วนนี้ขึ้นมา

Main Stage Spiral ขวัญ (เอย ขวัญ มา)

พื้นที่อเนกประสงค์หรือลานกิจกรรมหลักของงานที่ออกแบบโดยคุณภูริทัต ชลประทิน จาก ธรรมดา อาร์คิเทค (Thammada Architect) และ คุณปณชัย ชัยจิรรัตน์ คุณปุญญิศา ศิลปรัศมี จากนัวโรว์ อาร์ตสเปซ (Noir Row Art Space) ได้นำเอาลวดลายเส้นสายของก้นหอยหรือ ‘ขวัญ’ ที่มีความเกี่ยวข้องกับร่างกายคนเรามาพัฒนาต่อยอด โดยการนำเอาเส้นฝ้ายมาขึ้นรูปและเรียงกันเป็นเส้น ๆ ตามโครงสร้างจนเกิดเป็นผนังบาง ๆ รอบพื้นที่ รวมทั้งเกิดเงา สีสันและน้ำหนักตกกระทบลงบนพื้น ช่วยให้ลานกิจกรรมนี้มีความสวยงามและโดดเด่นอย่างลงตัวจากการเล่นแสงและสีสันของวัสดุ

สามารถเข้าชมนิทรรศการและร่วมกิจกรรมอื่นภายในงาน ได้ที่ “งานสถาปนิก’65 พึ่งพา – อาศัย : CO WITH CREATORS” ระหว่างวันที่ 26 เมษายน – 1 พฤษภาคม 2565 ณ อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพคอารีนา เมืองทองธานี สำหรับผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าชมงานล่วงหน้าได้ที่ https://bit.ly/36s6t2A หรือดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.ArchitectExpo.com 

Writer
Thitipon Siriwattanapong

Thitipon Siriwattanapong

เป็ดจากรั้วสถาปัตย์ ที่สนใจในเรื่องราวต่างๆรอบตัว พยายามเรียนรู้ให้มากและฝึกฝนให้ชำนาญ เพื่อเป็นยอดเป็ดปักกิ่ง