การปฏิรูประบบรางในเมืองใหญ่ยุคปัจจุบันนั้นไม่ใช่แค่การคำนึงถึงแต่เทคโนโลยี ขบวนรถไฟ หรือโฟกัสอยู่แค่ย่านการค้าเท่านั้น แต่การพัฒนาระบบขนส่งให้เกิดประโยชน์รอบด้านนี้ควรต้องใส่ใจชุมชน ประวัติศาสตร์ สุขภาวะ ตลอดจนวิสัยทัศน์ด้านการออกแบบไปพร้อม ๆ กันด้วย หนึ่งในโปรเจกต์ปฏิรูประบบรางท่ามกลางเมืองใหญ่ที่น่าสนใจอีกอันนั้น ก็คือโครงการ Taichung Green Corridor ที่เมืองไทจง (Taichung) ในไต้หวัน ซึ่งโครงการนี้ก็เพิ่งจะเปิดตัวไปไม่นานและได้รับการย่องย่องไปทั่วโลกถึงการปฏิรูประบบรางและฟื้นฟูพื้นที่ได้อย่างน่าสนใจทีเดียว
เดิมทีเส้นทางรถไฟสายหลักของเมืองอย่าง Taichung Line ที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1908 ได้มีการปฏิรูประบบรางช่วงวิ่งผ่านตัวเมืองเสียใหม่ โดยทำการยกระดับรางขึ้นลอยฟ้าในเขตเมืองจนแล้วเสร็จในปี ค.ศ.2016 จากนั้นก็ทำการพัฒนาโครงการ Taichung Green Corridor ระยะทางกว่า 1.7 กม. ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเมืองในหลากหลายมิติ และเป็นโครงการต้นแบบในการพัฒนาพื้นที่ใต้ทางรถไฟต่อไปด้วย
Taichung Green Corridor ถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่สาธารณะหลากประโยชน์ภายใต้คอนเซปต์ Continuous Public Park ที่เริ่มตั้งแต่ฟังก์ชันพื้นฐานในการเป็นสวนสาธารณะเปิดแบบแนวยาวที่เลียบเคียงไปตามแนวเส้นทางรถไฟเดิมซึ่งอยู่ภายใต้เส้นทางรถไฟยกระดับด้วยนั่นเอง พื้นที่สีเขียวนี้มีการปรับภูมิทัศน์อย่างสวยงาม เต็มไปด้วยต้นไม้และดอกไม้หลากพันธุ์ ผสานกับสวนสาธารณะเลียบริมคลองและทะเลสาบขนาดเล็กที่มีอยู่ในชุมชนอยู่แล้ว สวนนี้เน้นความหลากหลายทางชีวภาพผสานการจัดสวนที่สวยงามและถูกหลักนิเวศ นอกจากจะเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจของคนแล้วก็ยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ท้องถิ่นไปพร้อมกันได้ด้วย
อีกหนึ่งฟังก์ชันที่น่าสนใจ ก็คือการผสานเส้นทางสัญจรและเส้นทางพักผ่อนหย่อนใจเข้าด้วยกัน โดยภายในโครงการมีการออกแบบถนนไว้สำหรับเดินเท้าเพื่อให้คนเมืองได้สัญจรท่ามกลางธรรมชาติไปพร้อมกันด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีเส้นทางสำหรบปั่นจักรยานเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ยานพาหนะในการเดินทาง (ซึ่งเป็นธรรมชาติของคนไต้หวันอยู่แล้ว) รวมถึงเป็นเส้นทางปั่นออกกำลังกายไปพร้อมกัน
ระหว่างทางมีการออกแบบสถานที่พักผ่อนหย่อนใจตามจุดต่าง ๆ จุดจอดจักรยาน ลานกิจกรรมสาธารณะ ลานประติมากรรม จุดชมวิว สนามเด็กเล่น ไปจนถึงสวนสมุนไพร ที่แทรกลงไปตลอดแนวได้อย่างกลมกลืนด้วย แต่ทีเด็ดที่เป็นหัวใจสำคัญของการออกแบบภูมิทัศน์ครั้งนี้ก็คือการตัดสินใจคงรางรถไฟสายเก่าไว้ ตลอดจนสิ่งก่อสร้างสำคัญอย่างโครงสร้างสะพานเก่า เพื่อไว้เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ผ่านวัสดุของจริงที่ถูกใช้งานจริงในอดีตด้วยนั่นเอง
บริเวณรางรถไฟในแต่ละจุดก็จะออกแบบต่างกันไป บ้างปูพื้นผสานกับทางเดินแต่ยังคงโชว์รางรถไฟให้เห็นไปพร้อมกัน บางจุดอย่างบริเวณสะพานก็ผสานการออกแบบที่นั่งพักผ่อนหย่อนใจไปพร้อมกันด้วย รวมถึงมีการจัดป้ายประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ของสายรถไฟนี้ไปพร้อมกัน
จุดเด่นของ Taichung Green Corridor อาจไม่ได้อยู่ที่รูปแบบการออกแบบสถาปัตยกรรมตลอดจนภูมิทัศน์สีเขียวที่หรูหรา หวือหวา ดีไซน์ล้ำ หรือใหญ่โตเว่อร์วังอลังการ แต่สิ่งที่ทำให้ทุกคนสนใจรวมถึงประชากรในพื้นที่ชื่นชมก็คือการออกแบบโดยคำนึงถึงมิติของประโยชน์ใช้สอยต่าง ๆ อย่างคุ้มค่า การออกแบบให้สอดคล้องกับวิถียั่งยืน (Sustainable Lifestyle) ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของชาติ การออกแบบให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพสำหรับพื้นที่สีเขียวในเมือง การออกแบบพื้นที่สาธารณะให้เกิดประโยชน์หลากมิติที่แท้จริง รวมถึงการออกแบบที่ให้ความสำคัญกับรากเหง้า ประวัติศาสตร์ และด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นไปพร้อมกัน … และเป็นทิศทางการพัฒนาเมืองที่มีวิสัยทัศน์ซึ่งจะทำให้ทุกคนมีความสุขในวิถีเมืองใหญ่อย่างแท้จริง
Information
Mecanoo : https://www.mecanoo.nl/Projects/project/220/Taichung-Green-Corridor?d=0&t=0https://www.designboom.com/architecture/mecanoo-taichung-railway-line-1-7km-long-green-corridor-01-18-2022/
Photo Credit
Mecanoo : https://www.mecanoo.nl/Projects/project/220/Taichung-Green-Corridor?d=0&t=0https://www.designboom.com/architecture/mecanoo-taichung-railway-line-1-7km-long-green-corridor-01-18-2022/
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!