Dengshikou Hutong Residence
ตรอกจิ๋วเนรมิตบ้านแจ๋ว

ชุมชนแออัดมักเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับการพัฒนาชุมชนเมืองแทบจะทั่วโลก แต่ปัญหาที่แท้จริงนั้นอาจไม่ใช่เรื่องของพื้นที่คับแคบหรือการอยู่อาศัยร่วมกันอย่างหนาแน่นเพียงอย่างเดียว ปัญหาอีกด้านก็คือเรื่องของการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นตลอดจนปัญหาเรื่องสุขอนามันเสียมากกว่า ซึ่งปัญหาส่วนนี้สามารถนำวิชาความรู้ด้านสถาปัตยกรรมตลอดจนการออกแบบเข้าไปร่วมแก้ไขเบื้องต้นได้เช่นกัน

หนึ่งในโปรเจกต์น่าสนใจที่เราอยากนำเสนอคราวนี้ก็คือ Dengshikou Hutong Residence กับไอเดียการออกแบบที่อยู่อาศัยในพื้นที่จำกัดให้เกิดประสิทธิภาพและคุณภาพชีวิตสูงสุด บ้านไร้รูปทรงในแบบที่เราคุ้นชินนี้ผุดขึ้นแทรกตัวอยู่ในพื้นที่คับแคบของบ้านอีกหลังหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในเมืองหูท่ง แถบ Dengshikou กลางกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ซึ่งย่านนี้เป็นย่านชุมชนจีนโบราณที่เต็มไปด้วยบ้านเก่าแก่เรียงรายอยู่มากมายและเป็นชุมชนที่ค่อนข้างจะแออัดเลยทีเดียว

โจทย์ที่สถาปนิกได้รับมาในคราวนี้ คือ การออกแบบที่พักอาศัยบนพื้นที่ราว 43 ตร.ม. สำหรับครอบครัวหนึ่งที่อยู่อาศัยร่วมกัน 6 คน มีสมาชิกตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ แถมพื้นที่อันน้อยนิดนี้ยังเป็นแปลงที่ดินหักศอกรูปตัว L ซึ่งเป็นพื้นที่ว่างระหว่างตัวอาคารซึ่งเป็นบ้านหลังหนึ่งกับกำแพงอิฐที่เป็นรั้วของบ้าน ส่วนโจทย์ในลำดับต่อมา คือ การสร้างอาคารแทรกพื้นที่ตรงนี้ต้องไม่สูงเกินกว่าแนวกำแพงบ้าน เพราะหากสูงเกินกว่านี้ก็จะไปบังทัศนียภาพที่มองมาจากหน้าต่างของอาคารด้านในอีกด้วยนั่นเอง

แนวกำแพงรั้วนั้นสูงราวบ้านชั้นเดียว ด้วยพื้นที่แนวราบที่จำกัด สถาปนิกจึงปรับการออกแบบใหม่ให้เน้นการใช้พื้นที่ในแนวดิ่งร่วมด้วย ตลอดจนบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดไปพร้อมกัน โดยพื้นที่ใช้สอยถูกแบ่งเป็นสองฝั่งที่ผสานกลมกลืนกัน ฝั่งที่ติดกับผนังบ้านหลังเดิมจะเน้นโครงสร้างงานที่แข็งแรงเป็นหลักซึ่งฝั่งนี้วางแปลนให้คล้ายกับการเป็นบล็อกสี่เหลี่ยมหลาย ๆ อันต่อกัน ซึ่งแต่ละบล็อกจะเป็นการใช้งานในฟังก์ชันของแต่ละห้องแตกต่างกันไป

ห้องต่าง ๆ ฝั่งนี้ประกอบไปด้วย ห้องทำงาน ห้องนั่งเล่น (ที่เป็นห้องรับแขกและห้องอาหารในตัว) ห้องนอนสำหรับผู้ใหญ่ (ที่ปรับเปลี่ยนเป็นที่นั่งอ่านหนังสือไปด้วยก็ได้) ห้องน้ำ แต่ละห้องจะไม่มีประตูกั้น (ยกเว้นห้องน้ำ) เพื่อลดความอึดอัดและช่วยให้พื้นที่โดยรวมดูโปร่งสบาย ที่สำคัญแต่ละห้องยังสามารถปรับเปลี่ยนไปใช้งานอย่างอื่นได้ง่ายด้วย เพื่อปรับการใช้ประโยชน์ให้หลากหลายมากที่สุด

ฝั่งติดกำแพงนี้จะมีการออกแบบใช้พื้นที่เป็น 2 ชั้น (2 ระดับ) ชั้นสองด้านบนจะเป็นส่วนของห้องนอนเด็กและโต๊ะอ่านหนังสือหรือใช้เรียน นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ไว้นั่งเล่นพักผ่อนหย่อนใจ รวมถึงโซนสนามเด็กเล่นให้เด็ก ๆ ได้ขยับร่างกาย อีกส่วนที่สำคัญของโซนนี้ก็คือการออกแบบชั้นวางหนังสือให้เป็นระเบียงและผนังของขั้นสองไปในตัวด้วยนั่นเอง

สำหรับโซนที่ออกแบบให้มีพื้นที่ใช้งานสองชั้นนี้ความสูงแต่ละห้อง (บล็อก) จะแตกต่างกันไปด้วยโดยคำนวณจากความสูงที่เหมาะสมสำหรับการทำกิจกรรมนั้น ๆ เป็นหลัก (อย่างเช่น โซนห้องนั่งเล่น / กินข้าว คำนวณความสูงให้เหมาะสมกับตอนที่เรานั่งกินข้าวบนโต๊ะ ไม่ใช่จากการยืนในบล็อก) และการแบ่งบล็อกต่าง ๆ เลือกที่จะใช้วัสดุที่เป็นแผ่นไม้อัดเป็นหลัก ทั้งนี้เพื่อความเบาบาง โปร่งโล่งสบาย ปรับการใช้งานได้ง่าย สร้างได้สะดวกรวดเร็ว และยังสามารถรื้อถอนได้ง่ายอีกด้วย

อีกโซนที่ติดฝั่งกำแพงริมรั้วนั่นปล่อยเป็นพื้นที่โล่งเพดานสูงเพื่อช่วยให้บ้านดูโปร่งขึ้นและลดความอึดอัดลงได้เป็นอย่างดี รวมถึงช่วยให้การถ่ายเทอากาศดีขึ้นอีกด้วย นอกจากจะใช้เป็นทางเดิมเชื่อมต่อกันกับพื้นที่ใช้สอยอื่น ๆ แล้ว ก็ยังช่วยให้ผู้อยู่อาศัยได้มีพื้นที่ยืดเหยียดร่างกายให้ผ่อนคลายได้ในคราวเดียวกัน รวมถึงเป็นพื้นที่เอนกประสงค์ในการปรับเปลี่ยนทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อีกด้วย ซึ่งแนวคิดการผสานสองโซนให้เป็นหนึ่งเดียวนี้ทางสถาปนิกนำแรงบันดาลใจจาก “ซื่อเหอย่วน (四合院 / sìhéyuàn)” บ้านจีนแบบโบราณที่มีพื้นที่ใช้สอยผสานลานเอนกประสงค์ตรงกลาง และบ้านจีนโบราณลักษณะนี้นั้นก็อยู่รายล้อมในชุมชนนี้ด้วย โดยนำเอาภูมิปัญญาดั้งเดิมมาประยุกต์ใช้กับการออกแบบในยุคปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพทีเดียว

เพื่อเป็นการบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พื้นที่ทางเดินส่วนนี้ก็ยังแทรกส่วนใช้งานต่าง ๆ ผสานกับการตกแต่งที่สวยงามไว้ด้วย ตั้งแต่ผนังห้องที่สามารถเปิดออกมาเพื่อปรับเป็นโต๊ะเครื่องแป้งได้ หรือแม้แต่โซนอ่างล้างหน้าแปรงฟันที่ซ่อนฝังไว้ในกำแพง ตลอดจนโซนเก้าอี้ไม้นั่งเล่นกับต้นไม้ที่ปลูกไว้เพื่อความสดชื่นในบ้าน

เนื่องจากเป็นพื้นที่แคบและมีพื้นที่จำกัด ทางสถาปนิกเพิ่มรายละเอียดการออกแบบต่าง ๆ เข้าไปที่ช่วยทำให้บ้านหลังนี้ไม่ดูอึดอัดและอยู่สบายยิ่งขึ้น ตั้งแต่การเลือกใช้สีทาบ้านและเฟอร์นิเจอร์อื่น ๆ ในโทนสีขาวเป็นหลัก เพื่อให้ดูโปร่งตาและกว้างขึ้น การใช้วัสดุโทนสีน้ำตาลธรรมชาติที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายได้ดี รวมถึงโซนหักศอกที่ฉาบกำแพงด้านในให้เป็นแนวโค้งเพื่อตัดมุม ทำให้พื้นที่เชื่อมต่อกันอย่างสมูทและห้องดูยาวกลมกลืนกันอย่างเป็นธรรมชาติ

อีกรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ดีไม่น้อย ก็คือ การเน้นรับแสงธรรมชาติเข้ามาในตัวอาคาร ตั้งแต่การสร้างช่องรับแสงธรรมชาติตลอดจนเลือกใช้กระเบื้องมุงหลังคาแบบโปร่งแสง (และโปร่งใสในบางจุด) ที่ปล่อยให้แสงธรรมชาติส่องลงมาอย่างนุ่มนวล ช่วยให้ดูผ่อนคลาย และลดการใช้ไฟในยามกลางวันได้อย่างมีประสิทธิภาพทีเดียว

นอกจากนี้ประตูและผนังอาคารด้านหน้าบ้านยังเลือกใช้กระจกใสแทน ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มปริมาณแสงเข้ามาในบ้านได้ดีขึ้นแล้ว ประตูกระจกยังทำให้มุมมองบ้านกว้างขึ้นไม่อึดอัดอีกด้วย และไม่ปิดตัวบ้านให้ดูทึบ รวมถึงเชื่อมต่อกับโซนนั่งเล่นด้านนอกที่ทำให้บ้านเล็ก ๆ หลังนี้ดูมีพื้นที่ใช้สอยมากกว่าที่คิด

การออกแบบที่ดีก็คือการออกแบบที่ช่วยแก้ปัญหาตลอดจนทำให้ข้อจำกัดต่าง ๆ กลายเป็นข้อดีที่มีประโยชน์แทน และการออกแบบที่มีประสิทธิภาพก็สามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ด้วยเช่นกัน พื้นที่เพียงเล็กน้อยหากจัดสรรและบริหารจัดการใช้ให้ถูกต้องก็สามารถกลายมาเป็นสวรรค์เล็ก ๆ บนดินได้เช่นกัน ดังนั้นการใส่ใจคุณภาพชีวิตอาจเป็นการแก้ปัญหาเบื้องต้นที่ดีที่สุดในตอนนี้ก็เป็นได้

ที่มาภาพและข้อมูล
Blue Architecture : http://www.b-l-u-e.net/

Writer
Tada Ratchagit

Tada Ratchagit

นักเขียนที่หลงรักการถ่ายภาพ หลงเสน่ห์การเดินทาง หลงใหลงานดีไซน์ไปจนถึงสถาปัตยกรรมทุกยุค ตลอดจนสนใจเรื่องราวของสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตยั่งยืน