คงพูดได้ว่า ภูมิสถาปัตยกรรม คือเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของเมือง พฤติกรรมของคนให้มีภาวะทั้งทางร่างกาย จิตใจให้แข็งแรง และมีความสุข ด้วยบทบาทหน้าที่ของวิชาชีพภูมิสถาปนิกที่ต้องเข้าไปพูดคุย ทำความเข้าใจกับผู้คนเป็นจำนวนไม่น้อย ก็เป็นตัวสะท้อนสังคมให้มองเห็นข้อดี และปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น จนนำไปสู่การค้นหาคำตอบในวิธีการต่างๆ
การพยายามทำให้ภูมิสถาปัตยกรรมเข้าไปอยู่กับผู้คนในวงกว้าง จึงเป็นสิ่งที่ คุณซี–กิรินทร์ ตั้งเลิศปัญญา ภูมิสถาปนิก และหัวเรือคนสำคัญของ Shma SoEn ให้ความสำคัญกับพื้นที่สาธารณะ ชุมชนเมือง ตลอดไปจนถึงงานเสวนาที่จะช่วยขับเคลื่อนสังคมด้วยการออกแบบไปพร้อมๆ กับชุมชน ทำให้สตูดิโอแห่งนี้ถูกพูดถึง และเกิดภาพจำของภูมิสถาปนิกไทยแบบใหม่ๆ
ประสบการณ์จากการออกแบบ
กว่าที่งาน Shma SoEn จะประสบความสำเร็จ และได้รับรางวัลอย่างมากมาย จุดเริ่มต้นของคุณซีที่หลังจากเรียนจบได้ทำงานเป็นภูมิสถาปนิกอยู่สักพัก ก่อนที่จะตัดสินใจบินไปศึกษาต่อด้านการออกแบบแสงไฟในงานสถาปัตยกรรม ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีทีท่าหันหลังให้กับอาชีพภูมิสถาปนิกไปแล้วในช่วงหนึ่ง
“พอเราเรียนจบก็ตัดสินใจสมัครงานที่ Shma Company Limited ซึ่งในเวลานั้นบริษัทเพิ่งเริ่มเปิดตัวมาได้ไม่นาน ด้วยพื้นฐานเราตอนนั้นไม่ค่อยถนัดเรื่องดีไซน์สักเท่าไหร่ แต่ก็ได้พี่ๆ ช่วยเพิ่มความรู้ และขัดเกลาจนเราเข้าใจมันมากขึ้น ในช่วงประมาณ 3-4 ปี แรกบริษัทเริ่มมีชื่อเสียง มีงานประเภทพื้นที่สาธารณะ งานประกวดแบบเข้ามาเยอะมากขึ้น ประจวบเหมาะพอดีเราได้ทดลองทำงานออกแบบแสงสว่างในช่วงนั้นด้วย ทำให้เราสนใจ และสนุกไปกับมัน เลยตัดสินใจไปเรียนต่อที่ HochschuleWismar ประเทศเยอรมนีอยู่ 2 ปี อยู่ร่วมกับเพื่อนๆ ที่ในปัจจุบันเป็นผู้ก่อตั้ง Cloud-floor และ IF (Integrated Field) รวมกลุ่มกันพูดคุยเรื่องพื้นที่สาธารณะกันอยู่บ่อยครั้ง เพราะที่เยอรมนีมีพื้นที่เหล่านี้ให้คนมาสันทนาการ พักผ่อน เยอะมากพอสมควร เราเลยคิดว่าถ้ากลับไทยเมื่อไหร่ อยากเริ่มทำงานด้านพัฒนาเมือง จังหวะพอดิบพอดีตอนใกล้จะเรียนจบพี่ยศ – ยศพล บุญสม หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Shma Company Limited ก็ติดต่อมาว่ากำลังจะเปิด Shma SoEn อยากให้เข้ามาช่วยกันทำงานพื้นที่สาธารณะ จนในตอนนี้เวลาก็ล่วงเลยมา 7 ปี แล้วครับ”
ชุมชน สังคม เมือง
การก่อตั้ง Shma SoEn เกิดขึ้นจากแนวความคิดที่มุ้งเน้นพัฒนาพื้นที่สาธารณะ ตลอดไปจนถึงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมระดับเมือง ชุมชน ทำกระบวนการมีส่วนร่วม นิทรรศการ ภาพยนตร์ เวิร์คช็อป การวิจัย และประเมินบริบทของสังคม ให้กับทั้งภาครัฐ และเอกชน เพื่อรับแนวทางการออกแบบเฉพาะที่เหมาะสมกับแต่ละโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ
“เราคิดว่าเรื่องราวเหล่านี้ค่อนข้างเป็นสิ่งใหม่ในช่วงนั้น หากเราเปิดก่อนต้องได้เปรียบ (หัวเราะ) โดยส่วนใหญ่งานออกแบบจะเป็นพื้นที่สาธารณะในระดับเมือง ชุมชน ค้นหาข้อมูลในเชิงลึกนำมาวิเคราะห์ และเข้าไปพูดคุยด้วยการทำกระบวนการมีส่วนร่วม หรือพื้นที่สาธารณะ Commercial ของเอกชน เราก็รับทำเพื่อให้ได้ทางเลือกการออกแบบใหม่ๆ เป็นการทดลองไอเดีย พอเรากลับมาทำพื้นที่สาธารณะของรัฐมันก็ดูไม่จำเจ อย่างเราเจอวัสดุที่ทนทาน ราคาถูก และดูสวยงามตอนออกแบบภูมิทัศน์ให้กับ Community Mall แห่งหนึ่ง เราก็นำวัสดุพวกนี้มาใช้กับงานพื้นที่สาธารณะของรัฐ ซึ่งก็ทำให้เมื่อสร้างเสร็จไม่ต้องดูแลมาก ลดค่าใช้จ่าย และก็ช่วยให้งานดูดีขึ้นอีกด้วย”
จากกระบวนการสู่งานออกแบบ
หลังจากที่คุณซีกลับมาประเทศไทยได้ไม่กี่วัน Shma SoEn ก็ได้เริ่มทำงานออกแบบสวนสาธารณะให้กับชุมชนเคหะคลองจั่น อย่างลานกีฬาพัฒน์ 1 ริเริ่มโดยสำนักราชเลขาธิการ และสสส. ร่วมมือสถาบันอาศรมศิลป์เข้ามาสร้างกระบวนการอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชน ให้ชาวชุมชนแฟลตมีพื้นที่นันทนาการ ทำกิจกรรม และเป็นพื้นที่ประชุม รวมตัวกันให้บรรยากาศชุมชนริมคลองดูคึกคัก มีกิจกรรมในพื้นที่อันร่มรื่น
“ทางสำนักราชเลขาธิการได้พบพื้นที่ชุมชนแห่งนี้ และได้ประสานงานกับการเคหะเข้ามาดูแลในการทำสวนสาธารณะ พอทำเสร็จก็จะส่งมอบให้กทม.ดูแล ซึ่งในโปรเจกต์นี้ทางกทม.ได้ออกแบบไว้ประมาณหนึ่ง และได้ดำเนินการก่อสร้างไปสักพัก งานนี้มันค่อนข้างฉุกละหุกมาก เราต้องนำแบบเก่ามาต่อยอดปัดฝุ่น แล้วขอให้พี่ๆ ผู้รับเหมาหยุดการก่อสร้างเพื่อทำแบบใหม่ให้เสร็จก่อน หลังจากนั้นทางสถาบันอาศรมศิลป์ก็จะเริ่มทำกระบวนการอย่างมีส่วนร่วม”
“ในช่วงแรกชุมชนเองก็ยังไม่ค่อยเชื่อวิธีการนี้สักเท่าไหร่ พอทำแบบนี้ซ้ำๆ นานวันเข้า ก็เริ่มเชื่อขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่เรารับฟังความคิดเห็นของคนในชุมชน จนพวกเขามองเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น คุณลุงท่านหนึ่ง อยากได้สนามเปตอง สนามเด็กเล่น เราก็นำแบบไปพัฒนากลับมานำเสนอใหม่ ใช้กรณีศึกษานโยบายพื้นที่สาธารณะจากสมัชชาสุขภาพที่เคยทำไว้มาเป็นตัวอย่างให้เห็น จนชุมชนรู้สึกสนุก และคาดหวังว่าเกิดขึ้นได้จริงๆ”
“งานนี้ข้อจำกัดค่อนข้างเยอะตรงที่เราไม่ได้เป็นคนเริ่มต้นมาก่อน และมีการก่อสร้างจากแบบเก่าลงไปแล้ว การออกแบบจึงต้องพยายามทำให้พื้นที่ที่ถูกแบ่งด้วยโครงสร้าง ปรับกลุ่มก้อนให้แต่ละสเปซใช้งานได้มากยิ่งขึ้น และเกิดกิจกรรมเฉพาะกลุ่มในแต่ละพื้นที่ ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นสวนหน้าคอนโด ดูเข้าใจได้ง่ายแบบบ้านๆ จึงใช้คำว่า “ชาน” มาเป็นไอเดียเน้นไปที่ลักษณะแบบบ้านสวน พืชผักสมุนไพร อย่างการปลูกอัญชันไว้ริมรั้ว ซึ่งคนในชุมชนก็สามารถมาตัดไปใช้ได้ หรือคนในแต่ละแฟลตเข้ามาใช้พื้นที่ร่วมกัน และเกิดความหวงแหนพื้นที่ อยากที่จะช่วยการดูแลรักษา สนุกไปกับการทำกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในแต่ละเดือน อย่างกิจกรรมยอดฮิตเลยคือการเต้นผ้าขาวม้าของผู้สูงอายุ ซึ่งกิจกรรมได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ที่ชุมชนดำเนินการเอง เรียกได้ว่างานชิ้นนี้ค่อนข้างประสบความสำเร็จ สามารถบอกต่อผู้คนได้อย่างไม่เคอะเขิน”
พื้นที่เล็กๆ สร้างความสุข
เมื่อไม่นานมานี้ทาง Shma SoEn ได้ร่วมกับ We Park ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางที่จะช่วยให้คนที่อยากบริจาค หรือให้ยืมที่ดินในการสร้างพื้นที่สาธารณะ และเป็นหน่วยงานประสานงานให้กับทุกๆ ภาคส่วนเข้ามาร่วมมือกัน จนบรรลุเป้าหมายเกิดเป็นสวนสาธารณะวัดหัวลําโพงรุกนิเวศน์ สวนขนาดเล็กใจกลางเมือง ที่ได้รับบริจาคที่ดินจากประชาชน จนทำให้ชุมชนแห่งนี้มีพื้นที่พักผ่อน ทำกิจกรรม ผ่านการขับเคลื่อนจากหน่วยงานต่างๆ นักออกแบบ และผู้คนคนในชุมชนไปพร้อมๆ กัน
“พอเราทำกระบวนการมีส่วนร่วมกับสถาบันอาศรมศิลป์มาแล้ว สะสมประสบกาณ์จากตรงนั้น และนำมาพัฒนาต่อยอดมาเรื่อย ๆ จนมาถึงโปรเจกต์นี้ ก็ได้เข้าไปพูดคุยถึงความต้องการ ปัญหาต่างๆ จนได้จุดประสงค์ของชุมชนอย่างชัดเจน คือ โรงเรียนไม่มีพื้นที่วิ่งเล่น หรือ ทำกิจกรรมหลังเลิกเรียน ต้องข้ามไปยังจามจุรีสแควร์ หรือ สามย่านมิตรทาวน์ เราเลยออกแบบพื้นที่ที่ได้รับบริจาคมาให้กลายเป็นสวนสาธารณะแก่พวกเขา ทำพื้นที่ให้เด็กๆ ได้เข้ามาเต้นโคฟเวอร์ เล่นสนามเด็กเล่น หรือทำการบ้าน รวมถึงเป็นพื้นที่พักผ่อน และออกกำลังกายของชุมชน โดยพื้นที่ไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่ แต่ต้องมีสเปซที่ดี ร่มรื่น ไม่ต้องหวือหวา แต่ใส่ดีไซน์เข้าไปแบบพอดิบพอดีกลมกลืนไปกับบริบท ซึ่งพอทำงานขนาดกระทัดลัดแบบนี้มาตลอดจนเราเริ่มสนุกกับงานประเภทนี้ รู้สึกชำนาญมากขึ้น อยากออกแบบสวนแบบนี้อีกร้อยสวนพันสวนเลย”
การวิเคราะห์จากสิ่งที่มีนำพาไปสู่อนาคต
ไม่ว่าจะเป็นการทำงานกับภาครัฐหรือเอกชน ต่างก็ต้องใช้การพูดคุย วางแผน วิเคราะห์ให้มองเห็นถึงข้อดี ข้อเสีย พูดคุยด้านงบประมาณ การดูแลรักษา และจัดการวางระบบที่ดี ให้สามารถเกิดการพัฒนาต่อยอด และเกิดงานออกแบบที่สร้างประโยชน์ให้กับทุกๆ คนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ในแต่ละพื้นที่ ชุมชนเมืองต้องมีเป้าให้ชัดเจนก่อน ซึ่งการพูดคุยกันจะช่วยในส่วนของตรงนี้ มองเห็นทรัพยากรที่เรามีเพื่อที่จะใช้ข้อมูลเหล่านี้พัฒนาต่อไปได้ เมืองทุกเมืองต้องวิเคราะห์ตัวเองว่าแบบไหนถึงจะเหมาะสมกับเรา ทุกๆ ขั้นตอนต้องมีการวางแผน จนไปสู่การออกแบบ และหาผู้ร่วมผลักดันอย่าง หน่วยงานนอกภาครัฐ ต่างๆ เช่น มหาลัย องค์กรอิสระหรือผู้ที่สนใจ และที่สำคัญหน่วยงานรัฐเองต้องมองเห็นวิสัยทัศน์ในเรื่องนี้ด้วย”
“ซึ่งทั้งหมดอาจจะต้องเริ่มจากปัจจัยพื้นฐานการดำรงชีวิตก่อนให้ชุมชนเรื่องปากท้องจนมาถึงเรื่องสุขภาวะ มีอากาศที่ดี มีสวนสาธารณะที่ดี ได้มาออกกำลังกายกัน คนไทยชอบเตะฟุตบอลมาก แต่ไม่มีพื้นที่รองรับมันก็ทำไมได้ก็ต้องไปเช่าสนามเตะกัน แล้วคนหาเช้ากินค่ำจะหาเงินที่ไหนมาใช้จ่าย และการพัฒนาทางสัญจร คุณภาพทางเท้า แต่ทางจักรยานสำหรับเรายังไม่ค่อยเห็นด้วย คือเมืองนอกมันทำได้ง่ายเพราะทางสัญจร และรถยนต์ ไม่ได้เยอะแบบบ้านเราขนาดนี้ แต่ถ้าจะทำก็ต้องทำการทดลองปิดถนนสักโซนหนึ่ง ให้เหลือช่องรถยนต์แค่ 2 ช่อง อีก 2 ช่องทำสำหรับจักรยาน แล้วเชื่อมพื้นที่จากโหนดสู่โหนด ดูว่ามันเป็นไปได้หรือไม่ ถ้ามีปัญหาจะแก้ไขด้วยวิธีการอย่างไร มันต้องอาศัยการวิเคราะห์ และดูบริบทโดยรอบด้วย”
ปัจจุบัน และอนาคตของ Shma SoEn
“เมื่อเร็วๆ นี้เราได้จัดทำสื่อสร้างสรรค์กับพื้นที่สาธารณะที่สกลนครอย่างานสกลจังซั่น ที่จัดทำเวทีเสวนา เป็นการขับเคลื่อนเล็กๆ เหมือนเข้าไปทำความรู้จักกับคนในพื้นที่ พูดคุยถึงศักยภาพ และปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ หรือเรื่องพื้นที่ป่าสาธารณะที่เชียงใหม่ ซึ่งดอยสุเทพเป็นป่าเดียวที่มีศักยภาพในการทำ เพราะใกล้กับตัวเมืองมากที่สุด ก็จัดเดินป่าร่วมกับพี่ตี๋ JaiBaan Studio คือเราอยากให้ทุกๆ คนเข้ามาสัมผัส วิธีการเดินป่าชื่นชมกับธรรมชาติ ให้รู้สึกว่าทุกๆ ชีวิตในป่ามีสิทธิ์ที่จะดำรงชีวิตอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ ถ้าผลตอบรับดีก็จะเดินหน้าทำต่อไป และอีกหนึ่งงานที่กำลังเดินเนินการอยู่คือ เรื่องการตัดต้นไม้ที่ชายหาดพัทยา เราได้เข้าไปพูดคุยหาทางออกร่วมกับ BIG Trees คืออยากให้มันเป็นไปอย่างเหมาะสม และเกิดผลประโยชน์กับทุกๆ คนได้อย่างแท้จริง”
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!