Search
Close this search box.

15 คำถามกับ Studio VILAA
จุดเริ่มต้นเส้นทางเต็กแบบเรียลๆ ในวัย 30 ของบอส-ฐิติ พนาจรัส

สำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำงานได้ไม่นาน หรือแม้แต่พี่ ๆ ที่ผ่านประสบการณ์มาแล้วช่วงหนึ่ง เราเชื่อว่าทุกคนเคยประสบปัญหา การก้าวข้ามคอมฟอร์ทโซน สู่อีกสเต็ปของชีวิต หลายคนจบสถาปัตยกรรมหลัก แต่ปัจจุบันตัดสินใจไม่เอาแล้ว..อาชีพสถาปนิก หลายคนเบื่อ อยากย้ายงาน แต่ยังไม่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง หรืออาจมีอีกหลายคน ที่ยังแน่วแน่กับเส้นทางสายการออกแบบที่ไม่รู้จะเป็นอย่างไร และไปจบที่ตรงไหน

เราชวนมาคุยกับ บอส-ฐิติ พนาจรัส เจ้าของผลงานคาเฟ่มากมายอย่าง Direct.me Coffee, WETTER Coffee หรือ Casa Lapin Specialty Coffee สาขา Siam Square กับบทบาทของสถาปนิกหน้าใหม่ที่ทำทั้งงานประจำและตัดสินใจก่อตั้ง Studio VILAA ของตัวเองในวัยเพียง 30 ปี

บอส-ฐิติ พนาจรัส

บอสเป็นเต็กแบบไหน? คิดว่าตัวเอง Born to Be Architect เลยไหม?
บอส :
จริง ๆ ภาพตอนที่เราเข้ามาเรียน ตอนเรียน และตอนเรียนจบมันไม่ได้เหมือนกันขนาดนั้น ตอนปี 1 เราไม่รู้เลยว่าต้องทำอะไรบ้าง แต่พอขึ้นปี 2 ไปจนถึงปี 5 ก็พอจะเข้าใจและเห็นภาพมากขึ้น แล้วอยู่ ๆ เราก็รู้สึกว่าอยากเป็นเต็กจริง ๆ ในช่วงนั้นเลย แต่ถ้าพูดถึงตอนทำงาน มันก็จะเป็นคนละเรื่อง เหมือนตอนเด็กเรายังได้ทำอะไรที่มันเป็นการทดลอง แต่พอทำงาน มันจริงมากขึ้น มีหลายปัจจัยที่เราต้องบาลานซ์

เรารู้ตัวว่าอยากออกแบบ เพราะเราไปทำสิ่งอื่นไม่ได้ มีช่วงหนึ่งของชีวิตที่เราไปถ่ายรูป เป๋ไปเหมือนกัน ไม่รู้ว่าจะเป็นช่างภาพ หรือไปเป็นเต็กดี เครียดมาก สุดท้ายเราตัดสินใจทำทั้งสองอย่าง ผ่านไปอีก 2-3 ปี เราถึงมาตัดสินใจได้อีกครั้งหนึ่งว่า ให้ทำเป็นงานอดิเรกได้ แต่ให้ทำเป็นงานหลักทั้งคู่ มันไม่เวิร์ค เรามองว่า ในการทำอาชีพอะไรก็ตาม มันจะมีเส้นของมันอยู่ ในวันหนึ่งเราอาจต้องทำอะไรมากกว่านี้เพื่อข้ามเส้นนั้นไป ซึ่งสำหรับการเป็นช่างภาพ เรารู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถข้ามเส้นนั้นไปได้สักที แต่กลับกัน พอเป็นงานออกแบบ (คือเราไม่ได้เก่งนะ) แต่เราอยากที่จะทำมันมากกว่า เลยตัดสินใจหยุดถ่ายภาพ แล้วเอาเวลาทั้งหมดมาลงกับงานออกแบบให้มากขึ้น

(Project : Direct.me Coffee)

ตอนเรียน คาแร็กเตอร์เราเป็นแบบไหน?
บอส : ตอนเรียน คืออาจจะพูดได้ว่า เราเป็นเด็กที่อาจารย์ไม่ได้รักมาก เคยมีคนว่าเราครั้งหนึ่ง เขาพูดว่า ‘เราเป็นเต็กที่ดีไม่ได้หรอก’ อาจจะเป็นเพราะเราดื้อ คือเราไม่ได้โฟกัสที่เกรด แต่เราโฟกัสที่ความคิดตัวเอง อาจารย์คอมเมนท์มาเราก็เลือกที่จะฟังบ้าง ไม่ฟังบ้าง และตอนเรียน เราจะมีปัญหาตรงที่ว่า เราไม่ค่อยตัดจบ เพราะคิดเยอะเกิน คิดอยู่นั่นแหละ

แล้วจุดไหนที่ทำให้รู้ว่าตัวเองอยากเป็นเต็กแน่ๆ?
บอส :
เราเห็นของสวย ๆ งาม ๆ แล้วเราอยากทำมัน อยากให้คุณค่ากับมัน เราอยากทำให้มันแตกต่าง ไม่อยากให้มันเป็นอะไรที่เหมือนเดิม หรือธรรมดาทั่วไป เหมือนเราพยายามมองหาวิธีที่มันไม่ปกติ จะมีวิธีไหนไหมที่จะให้ความเป็นไปได้ที่มากกว่า แต่พอเป็นเต็กก็ต้องใส่ใจฟังก์ชันด้วย เพราะเราไม่ใช่อาร์ทติสที่สร้างงานศิลปะขึ้นมาแล้วให้คนมาเสพย์ มันจะมีเรื่องอื่นเข้ามา ตั้งแต่ความต้องการของเจ้าของโครงการ งบประมาณ หรือเรื่องที่ต้องจัดการกับมัน ซึ่งเรามองว่านี่แหละคือความสนุก

(Project : Dream Café Interior)

เล่าเรื่องตอนเรียนจบให้ฟังหน่อย ไปทำงานอะไร และได้อะไรจากตรงนั้น?
บอส :
ตอนเรียนจบ เราไปทำงานกับรุ่นพี่ ซึ่งได้ทำหลายอย่างมาก ทำให้เรารู้ว่า ตอนเรียนที่มหาลัย มันคือไม่กี่% ของความจริงที่เราต้องเจอ อาจารย์เขาให้โจทย์มาแล้ว แต่การทำงานจริง เราต้องเริ่มตั้งแต่รับบรีฟ ตีโจทย์ สร้างโปรแกรม ทำไดอะแกรม ดีไซน์ ทำแบบ ประเมินราคา คุยกับผู้รับเหมา ซึ่งตอนที่ลูปนี้เกิดขึ้นครั้งแรก วุ่นวายมากเลยเพราะเราไม่เคยเห็นมาก่อน แต่พอทำไปเรื่อย ๆ มันจะซ้ำ และเราก็จะเริ่มรู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป พอถึงจุดหนึ่งเราก็อยากท้าทายตัวเอง เลยตัดสินใจย้ายไปทำงานอีกที่หนึ่ง ซึ่งเราเองก็อยากทำคอมเมอเชียลในสเกลที่เน้นงาน Hospitality มากขึ้น

ทุกอย่างเริ่มใหม่หมด เพราะปกติทำบ้านกับเจ้าของบ้าน มันจะมีตัวตนของเขาอยู่มากประมาณหนึ่งแล้วอาจจะผสมกับดีไซน์เนอร์นิดหน่อย แต่พอมาทำโปรเจ็กต์คอมเมอเชียล เราจะสามารถใส่ไอเดียลงไปได้เยอะกว่า ฟังก์ชันอาจจะเป็นรอง ยอมได้บ้างเพื่อความสวยงามและ Aesthetics แต่ก็มีปัญหาคนละแบบนะ เช่น เวลาในการทำงานมันนานกว่ามาก บางโปรเจกต์ทำอยู่ ก็มี Hold ไว้ก่อนบ้าง หรือช้าบ้าง ทำให้กว่าจะมีงานเสร็จที่สร้างออกมามันนานมาก

(Project : Dream Café Exterior)

แล้วเรารับงานนอก ที่เป็นงานออกแบบของตัวเองควบคู่ไปด้วย?
บอส :
ใช่ครับ งานแรก เพื่อนโทรบอกว่าอยากจะทำร้านกาแฟ เราไม่มีพอร์ทไม่มีไรเลย แต่อยากทำเพราะไม่เคยทำ ยากมาก เพราะเราเคยแต่ทำกับคนอื่นมาตลอด มีเจ้านายคอยบอกว่าทำแบบนั้นแบบนี้ดีกว่า คอยไกด์หรือสเก็ตช์ให้ แต่พอต้องทำเอง ไม่มีคนตรวจ เราก็ฟุ้งซ่านไปเรื่อยเลย เราคิดว่า เราพอจะรู้กระบวนการทำจากสิ่งที่เรียนรู้มาจากการทำงานที่แรก แต่พอมาทำเองจริง ๆ กลายเป็นว่า เริ่มใหม่อีกครั้ง เพราะรูปแบบงานมันก็เปลี่ยนไป มันคืออะไรพวกนั้นที่เราต้องเรียนรู้ใหม่ เรื่องการจัดการเอกสาร การดีไซน์ การส่ง Presentation ครั้งแรกเราเขียนแบบเอง ตอนนั้นทำงานนอกสองโปรเจกต์ควบคู่ไปกับการทำงานประจำ เหนื่อยมาก ตอนนั้นสองงานว่าเหนื่อยแล้ว ปีที่แล้วเรารับมาสิบงานพร้อมกัน คือ (โคตร)เหนื่อยเลย (หัวเราะ)

(Project : Casa Lapin Specialty Coffee Siam Square)

ทำงานประจำกับรับงานนอก ยาก ง่าย ต่างกันที่ตรงไหนบ้าง?
บอส :
ผมว่ามันต่างกันเยอะเหมือนกัน เราต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างเลย เหมือนทำทีสิส คือเราต้องคิดโปรแกรมนี้ด้วยตั้งแต่แรก เพราะว่าจริง ๆ ถึงจะมีความต้องการของลูกค้า แต่บางอย่างมันก็ต้องถูกคิดตามดีไซน์ของมันอีกที ซึ่งอันนี้เราว่าขึ้นอยู่กับสถาปนิกว่าจะเห็นมันเป็นประมาณไหน พอมาเริ่มเองมันก็ยากนะ ตั้งแต่ขั้นตอนแรก ๆ เรื่องเอกสารเนี่ยไม่รู้เรื่องเลย ยากมาก ก็ต้องหาวิธีจนทำให้ได้

ส่วนถ้าเป็นเรื่องออกแบบ ครั้งแรกตอนเห็นไซต์ มันก็โหลงเหลงเหมือนกันนะ วิเคราะไซต์ วิเคราะห์ผู้ใช้งานต่าง ๆ มันเป็นแค่ข้อมูล แต่พอเราจะจับจุดมาต่อกันให้มันเกิดขึ้นมาเป็นงาน มันเริ่มไม่ค่อยถูก แต่ทำงานไปสักพักหนึ่ง เราว่ามันจะเริ่มมองออก มันจะลากจุดต่อกันในหัวเอง การทำงานบ่อย ๆ มันทำให้วิธีการลากจุดต่อจุดนี้ (มันอาจจะไม่ได้ง่ายขึ้นหรอก) แต่มันสมูทขึ้น

(Project : Sanga House)

ปัญหาที่ไม่มีใครสอน แต่ทำเองถึงรู้?
บอส :
เราลองผิดลองถูกประมาณนึง  งานแรก ๆ ด้นสดเลยว่ามันควรจะเป็นแบบไหน เช่น เรื่องเงินคุยทีหลัง คุยเรื่องงานก่อน แต่เป็นโชคดีนะที่งานประจำทั้งที่แรกและที่ที่สอง เจ้านายจะพาไปคุยกับลูกค้าด้วย ทำให้เราพอเห็นวิธีการบ้าง เขาพูดยังไง เราก็ฟังก็ดู จนมาถึงตอนนี้เรารู้เลยว่าขั้นตอนพวกนี้มันสำคัญ

อย่างตอนเรียน เขาไม่สอนว่าวิธีการทำงานที่เกิดขึ้นจริงมันมีอะไรบ้าง มีกี่กระบวนการ เรามองว่ามันสอนกันได้นะ เปิดวิชานอกก็ยังได้ สำหรับคนที่อยากจะเป็นผู้ประกอบการ หรือแม้แต่เป็น Junior Architect ขั้นตอนที่เกิดขึ้นจากการทำงานมันจะมีอะไรบ้าง ต้องไปคุยกับลูกค้า คุยเรื่องนี้ก่อนหรือควรจะมีชุดความรู้ในเรื่องอะไรบ้าง ถ้ารู้เรื่องพวกนี้ก่อนก็ดี แต่มันก็อยู่ที่คนเรียนด้วยนะที่มองว่ามันสำคัญ เพราะบางทีตอนเรียนเราก็ไม่รู้ตัวหรอกว่าความรู้พวกนี้เราอาจจะต้องใช้ในอนาคต

(Project : Taktai)

แล้วส่วนมากแล้วงานนอกมาจากไหน ?
บอส :
งานนอกมาจากเพื่อน จากคนรู้จัก ซึ่งเราว่าถ้าไม่มีคนรู้จัก งานนอกจะมาได้ยากมากเลย เพราะฉะนั้นคอนเนคชั่นค่อนข้างสำคัญ ซึ่งถึงคนจะติดต่อเข้ามาเยอะ มันก็ไม่ใช่ว่าเราจะได้งานทั้งหมด มีหลายงานมากเหมือนกันที่ออกแบบไปแล้วไม่ได้สร้าง เพราะโควิด-19 อย่าง WETTER.Coffee เราออกแบบตั้งแต่ปี 2018 ก็เพิ่งสร้างเสร็จได้ไม่นานมาก หรือออกแบบไปแล้วโดนชิ่งค่าแบบก็มี เศร้ามาก จะมีช่วงปีที่แล้วที่เริ่มเปิดเพจก็จะมีคนนอกเข้ามาบ้าง

ทำงานเยอะขนาดนี้ แบ่งเวลายังไง
?
บอส :
เราทำงานตลอดเวลาเลย ซึ่งมันไม่ค่อยดีนะ อย่างช่วงปีที่แล้วที่งานเข้ามาเยอะ ๆ เราก็อยากทำหมดเลย แต่มันไม่ไหว ต้องถามลูกค้าว่ารอได้ไหม ฟังดูเหมือนเรารุ่งเรืองใช่ไหม (หัวเราะ) แต่ความจริงมันไม่ได้ขนาดนั้นหรอก เพราะมันก็มีหลายงานที่ยังไม่ได้สร้าง

จังหวะที่ตัดสินใจเปิดเพจ และตั้ง Studio VILAA คิดอะไรอยู่?
บอส :
เรารับงานนอกจากคนใกล้ตัว คนรู้จักมา 2 ปีกว่า เราอยากให้คนมีไม่รู้จักเข้ามาบ้าง และยังไงก็คิดว่าจะทำอยู่แล้ว เราเลยตัดสินใจทำเลย เราว่า ถ้าทำได้ก็ทำไปเลยเพราะโอกาสมันไม่ได้มีตลอด แต่ถ้าเรียนจบแล้วไปทำเองเลย เราก็ยังไม่รู้ว่าจะเอาความรู้จากไหน เราเลยต้องมาเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการทำงานประจำก่อน ตอนเรียนจบมาแปปนึงเรามีโอกาสได้ทำงานโปรเจกต์หนึ่ง รู้ว่าตัวเองดีไซน์ได้ แต่พอมาทำเข้าจริงคือคิดไม่ออก เขียนไม่ได้ มันแข็งไปหมด งานแรก ๆ เลยมีปัญหากับการทำงานร่วมกับลูกค้าบ้าง เราเข็ดเลย พอมีงานใหม่เข้ามา เราก็กลัวว่าจะเป็นเหมือนเดิมอีก แต่สุดท้ายอะไรเหล่านี้ก็คือบทเรียน ต้องทำ ต้องพูด ต้องเขียนยังไง หรือวิธีที่ต้องพูดให้งานจบต้องทำยังไง เราค่อย ๆ เรียนรู้จากผิดถูกมาเรื่อย  ๆ  

บางอย่างมันไม่เหมือนที่คิด ตอนเรียน เราเห็นบางงาน เรายังเคยคิดง่าย  ๆ ว่าทำไมถึงออกแบบมาเป็นแบบนี้นะ แต่พอมาทำเอง เรารู้สึกว่ามันคือการบาลานซ์งานหลายฝ่าย บางทีปัญหามันเกิดจากหลายปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ ทั้งงบประมาณ ผู้รับเหมา หรือแม้แต่ตัวเราเองเขียนแบบผิด เราก็เรียนรู้ไปในดีเทลเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านั้น

ตอนเห็นงานที่เราออกแบบสร้างเสร็จ รู้สึกยังไง?
บอส : ดีใจมาก เหมือนมีคนมาต่อโมเดลให้ เวลาที่เห็นงานสร้างเสร็จมันเป็นความรู้สึกที่อยากให้เราทำงานต่อ รู้สึกดีมากเวลาเห็นคนเข้ามาใช้งานในสเปซที่เราทำ มัน Fulfill อะไรสักอย่างในตัวเรา

มีช่วงไหนไหม ที่รู้สึกว่าไม่อยากเป็นเต็กแล้ว?
บอส :  ช่วงที่รู้สึกว่าจน พูดได้ไหมเนี่ย….(หัวเราะ)

(Project : WETTER Coffee)

ถ้าอยากจะเปิดสตูดิโอของตัวเอง คิดว่าต้องใช้อะไรบ้าง ?
บอส :
ใช้ความกล้าประมาณหนึ่งเลยนะ กล้าที่จะออกจากคอมฟอร์ทโซน กล้าที่จะเริ่ม กล้าที่ใช้ความรู้ของตัวเองมาลุยเดี่ยวและเริ่มในทางที่เราเป็นคนจัดการเองทั้งหมด

ฝากอะไรทิ้งท้ายไหม?
บอส :   มันมีอยู่อย่างนึงที่เราคิดตั้งแต่เรียน ตั้งแต่เด็ก มันคล้าย ๆ คำที่ว่า ‘เราไม่อยากโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ตัวเองไม่ชอบ’ ถ้าเราเคยโดยทำอะไรมาแล้วเรารู้สึกว่ามันไม่ดี เราจะพยายามไม่ทำแบบนั้น อันนี้คือเป็นกับทุกเรื่องเลย แม้กระทั่งเรื่องงาน เรายังเป็นคนที่อยากเป็น สมมติถ้าในอนาคตอีกสิบปีมองย้อนมา ก็ไม่อยากให้เราในอนาคตต้องมานั่งผิดหวังในตัวเอง

อย่างเช่น ตอนเริ่มทำงานแรก ๆ  เคยมีคนมาจ้างเราทำงาน แล้วเขาก็ไม่จ่ายเงิน สำหรับเขาปัญหามันเหมือนจะเล็กน้อย แต่สำหรับเรามันแย่เลย มันก็เลยทำให้เราเอามาคิดว่า เราจะไม่เป็นแบบนั้น ทุกวันนี้เลยพยายามเคลียร์เรื่องนี้ไปให้เร็วที่สุด หรือตอนเด็ก ๆ เราไม่ได้เรียนรู้งานตรงไหน ตอนนี้ที่มีโอกาส มีทีม เราก็พยายามสอนน้อง ๆ ให้ได้มากที่สุด เพราะเรารู้ว่าบางอย่างการที่มีคนไกด์ตั้งแต่เริ่มมันดีกว่า เราไม่ได้อยากให้เขาทำ ๆ ไปอย่างเดียว อยากให้เขาได้เรียนรู้ด้วย เราจะคอยบอกตลอด ว่าอันนี้ทำไปเพราะอะไร ทำไปได้อะไร แบบนั้นมันน่าจะทำให้การทำงานออกแบบมันมีความหมายมากกว่า

ขอขอบคุณ
Location : Direct.me Coffee

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading