From Architectural Approach to Design Practice
นิทรรศการออกแบบความเป็นไปได้ใหม่ๆ ผ่านความคิดทางสถาปัตยกรรม

เป็นที่รู้ดีกันว่า TCDC หรือ ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ พยายามขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้ออกมาสู่สาธารณะชนให้สามารถเข้าถึงและรู้จักกันได้อย่างกว้างขวาง และเมื่อเร็วๆ นี้ ทาง TCDC ก็ได้เปิดงาน OPEN HOUSE ให้ศิลปิน หรือนักออกแบบได้เข้ามาจับจองพื้นที่โชว์ผลงานที่มีความสดในแง่ไอเดีย และไม่เคยมีที่ไหนทำมาก่อน

และหนึ่งในนิทรรศการนั้นก็คือ การแสดงผลงานของ witi9.studio และ Phana Design ที่ทั้งสองมีพื้นฐานมาจากการเรียนสถาปัตยกรรม แต่พวกเขาก็พยายามนำเสนอสิ่งที่แตกต่าง และมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่การออกแบบ เครื่องประดับ ประติมากรรม สถาปัตยกรรมเชิงทดลอง และสถาปัตยกรรมสร้างขึ้นจริง เพื่อเชื่อมโยงศาสตร์ต่างๆ รอบตัว ไม่ให้เกิดข้อจำกัดทางความคิดสร้างสรรค์ งานนี้จัดขึ้นตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 5 มิถุนายน 2565 (ปิดวันจันทร์) ที่บริเวณชั้น 1 TCDC กรุงเทพฯ

ไม่จำกัดแค่สถาปัตยกรรม

ด้วยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดงาน to see : to draw 2 ซึ่งเป็นผลงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 หนามเตย (ซ้าย) ที่เป็นทั้งศิษย์เก่า และอาจารย์ให้กับนักศึกษาชั้นปีนี้อยู่แล้ว จึงได้เล็งเห็นว่าถ้านำเอาผลงานจาก witi9.studio ที่เป็นสตูดิโอสถาปนิกของเขานำมาจัดแสดงโชว์ด้วยก็คงจะดีไม่ใช่น้อย เท่านั้นยังไม่พอเขายังได้ชักชวนเพื่อนสมัยเรียนสถาปัตย์อย่าง โอ๋ (ขวา) Phana Design เจ้าของแบรนด์จิวเวลรี่ เข้ามาร่วมโชว์ผลงานออกแบบ และได้ตั้งชื่อนิทรรศการนี้ว่า From Architectural Approach to Design Practice

ความคิดทางสถาปัตยกรรมที่ไม่มีข้อจำกัด

สำหรับ witi9.studio ได้จัดแสดงงานประเภทสถาปัตยกรรมที่ หนามเตย ได้ออกแบบไว้ โดยเริ่มตั้งแต่วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทในประเทศอังกฤษ ที่เขาได้ศึกษาถึง เรื่องสเปซ การอยู่อาศัยของกลุ่มคนเฉพาะ และเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการสร้างสเปซในอาคาร สำหรับสถาปัตยกรรมชิ้นนี้ได้โปรแกรมมาจากผู้ที่อยู่อาศัยแบบ Polyamory หรือ ความสัมพันธ์ที่มีมากกว่าสองคนขึ้นไป ซึ่งเป็นการอยู่อาศัยแบบครอบครัวขนาดใหญ่ แต่ไม่ใช่ครอบครัวแบบทั่วไป ในขณะเดียวกัน หนามเตย ยังได้สนใจในเรื่องของ Single Surface อีกด้วย เมื่อได้ศึกษาหาข้อมูลทั้งหมดแล้ว เขาจึงได้สร้างสรรค์สถาปัตยกรรมสำหรับ 50 ครอบครัว ในพื้นที่ 200 ตารางเมตร ด้วยการทดลองออกแบบอาคารให้มีระดับความลาดชัน และนำรูปทรงวงกลมหลายๆ วงมาใช้ในการออกแบบ เพื่อตอบคำถามว่าครอบครัวสมัยใหม่นี้ก็สามารถอยู่ในพื้นที่นี้ได้อย่างสะดวกสบาย ซึ่งเป็นโปรเจกต์ที่เน้นไอเดียการทดลองมากกว่า

ถัดมาจะเป็นการประกวดแบบอาคารเมทัลชีท ที่เกิดจากการตั้งคำถามว่าเมทัลชีทสามารถทำอะไรได้บ้าง? สถาปนิกจึงเสนอการทำโดมด้วยเมทัลชีทที่มีรูปฟอร์มโค้งจากวงกลมหลายชิ้นเข้ามาเป็นส่วนประกอบ ซึ่งรูปแบบของผังเป็นการนำเสนอที่ผสมผสานแนวความคิดเข้าไปด้วยกัน จึงทำให้โดมหลังนี้มีความหวือหวาดูแตกต่างจากอาคารเมทัลชีทหลังอื่นๆ

และอีกสองชิ้นงานคือ โมเดล Shade of Wind Folly Bamboo Tower ที่จัดแสดงผลงานจริงไปแล้วเมื่องาน Klong Padung Pop-Park และบ้านพักอาศัยสองชั้นที่กำลังก่อสร้างอยู่

“วิธีการคิดของสถาปนิกไม่จำเป็นต้อง ออกแบบอาคารเพียงเท่านั้น แต่สามารถต่อยอดไปที่การนำเสนอไอเดียให้กับผลงานศิลปะอื่นๆ ได้ อย่าง Installation Art เราก็นำพื้นฐานมาจากสถาปัตยกรรม เช่น การออกแบบโครงสร้าง หรือการสร้างสเปซแบบใหม่ๆ  ซึ่งจะทำให้เราไม่จำกัดกรอบความคิดแบบเดิม ๆ” 

ผันตัวจากสถาปนิกมาเป็นจิวเวลรี่ดีไซน์เนอร์

หลังจากที่โอ๋ ได้ผันตัวจากสถาปนิกไปสักพักหนึ่ง ก็ได้เปิดตัวแบรนด์จิวเวลรี่อย่าง Phana Design ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ทำงานแฮนด์เมดมาโดยตลอด โดยใช้วัสดุจากดิน (คล้ายโพลิเมอร์ เคลย์) เป็นดินที่ทางดีไซน์เนอร์ออกแบบ และผลิตขึ้นมาเอง คุณสมบัติของวัสดุนี้คือมีน้ำหนักเบา เมื่อตกแล้วไม่เกิดการแตกร้าว หากพ่นเคลือบทับลงไปจะมีความคล้ายคลึงกับพลาสติก โดยวัสดุตัวนี้จะนำมาใช้สำหรับการออกแบบจิวเวลรี่เช่น ต่างหู กำไรข้อมือ และแหวน

หลังจากที่ทำงานจิวเวลรี่มาสักพัก ดีไซน์เนอร์ก็มีความคิดอยากให้ชิ้นงานมีขนาดใหญ่มากยิ่งขึ้น จึงได้เข้าร่วมการประกวดโครงการไทยดีไซน์เนอร์ ซึ่งมีโจทย์ให้ใช้ผ้าไหมเข้าไปในชิ้นงานด้วย ดีไซน์เนอร์จึงนำผ้าไหม และดินที่คิดค้นขึ้นนำมาผสมผสานกันและใช้ไอเดียการต่อจิ๊กซอว์ ที่สามารถนำจิวเวลรี่ต่างชนิดมาประกอบเข้ากันได้ โดยผลงานชิ้นนี้ได้ออกแบบให้เป็นกระเป๋าที่มีสร้อยประกอบเข้าด้วยกัน และสร้อยตัวนี้ก็สามารถถอดออกมาสวมใส่ได้อีกด้วย

“ในปัจจุบันนี้คนให้ค่ากับจิวเวลรี่ที่เป็นเพชร เพราะมีมูลค่า แต่เราคิดว่าไอเดียนั้นก็มีมูลค่าเช่นกัน ซึ่งดินที่เราออกแบบขึ้นใหม่นี้ก็มีกระบวนการการผลิต และคิดค้นซึ่งไม่ต่างไปจากเพชรเลย”

Writer
Watsapon Vijitsarn

Watsapon Vijitsarn