Allianz Ayudhya Thailand Headquarters ออฟฟิศสมัยใหม่ที่ไม่ได้ออกแบบให้ทำงานอยู่กับที่

การนั่งทำงานอยู่ในพื้นที่เดิมๆ ของออฟฟิศก็ทำให้เรารู้สึกเบื่อหน่าย หรือหมดไฟในการทำงานไปได้ง่ายๆ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของการทำงานเลยก็ว่าได้ และแน่นอนว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เจ้าของออฟฟิศส่วนใหญ่ทั่วโลกก็คำนึงถึงเรื่องนี้เป็นเป็นสำคัญ และใช้วิธีการแก้ปัญหาด้วยการออกแบบกันอยู่เสมอ

เช่นเดียวกับทาง ALLIANZ AYUDHYA ได้มีโครงการปรับปรุงออฟฟิศสำนักงานใหญ่ให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตในการทำงานที่ดี เพื่อจะส่งต่อไปยังผลงานที่ดียิ่งขึ้นอีกด้วย และการปรับปรุงออกแบบใหม่ในครั้งนี้คงจะหนีไม่พ้นสถาปนิกผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบออฟฟิศอย่าง pbm ที่ได้เข้ามารับหน้าที่ในการออกแบบให้ภาพจำของออฟฟิศต่างไปจากเดิม

พื้นที่ชั้น 1

ประกวดแบบออฟฟิศในอนาคต

ทาง ALLIANZ AYUDHYA ต้องการที่จะปรับปรุงสำนักงานใหญ่ ที่มีอายุมานานกว่าสิบปี พวกเขาได้เห็นผลงานที่ทาง pbm เคยออกแบบออฟฟิศไว้อย่างมากมาย ซึ่งล้วนแต่เป็นออฟฟิศที่สนับสนุนแนวทางการทำงานแบบสมัยใหม่ ดั้งนั้น ทาง ALLIANZ AYUDHYA จึงได้เชิญทีมสถาปนิก pbm เข้าร่วมประกวดแบบ

“ในช่วงการประกวดแบบเราได้นำเสนอแนวความคิด สิ่งที่จำเป็นของออฟฟิศในรูปแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยผ่านการประกวด 2 รอบ และสุดท้ายทาง ALLIANZ AYUDHYA ก็ตัดสินใจเลือกเราให้เข้ามารับหน้าที่ในการออกแบบปรับปรุงออฟฟิศใหม่”

First Floor area

ALLIANZ AYUDHYA มีโจทย์ตั้งต้นให้กับทีมสถาปนิก pbm ที่ว่าเขาต้องการปรับปรุงออฟฟิศเดิมให้กลายเป็นออฟฟิศสมัยใหม่ เป็นพื้นที่ทำงานที่ให้บรรยากาศที่เหมาะสมต่อการทำงาน อีกทั้งมีการจัดใช้เทคโนโลยีที่เกื้อกูล เพื่อให้คุณภาพทั้งด้านผลงาน และสุขภาพทั้งกาย และใจของพนักงานมีคุณภาพที่ดีมากยิ่งขึ้น

“สิ่งสำคัญในการออกแบบครั้งนี้ ALLIANZ AYUDHYA คือการรวมพื้นที่ทำงานซึ่งแต่ก่อนเป็นบริษัท 3 บริษัทเข้าด้วยกัน ซึ่งพื้นที่เดิมของทั้ง 3 บริษัทนั้น มีความแตกต่าง ทั้งด้านรูปแบบ และแนวทางการทำงาน นอกเหนือจากนั้น ALLIANZ AYUDHYA อยากจะให้เชื่อมโยงความเป็นแบรนด์ของ ALLIANZ เข้าไปในงานตกแต่งด้วย นอกเหนือจากพื้นที่ Requirement การใช้งานตาม function เดิมแล้ว ทาง pbm ได้นำเสนอเพิ่มเติมสิ่งที่ตอบสนองรูปแบบของสำนักงานสมัยใหม่เข้าไปด้วย เช่น มุมการทำงานที่มีหลากหลายรูปแบบ ห้องประชุมที่มีระบบการจองห้อง และมีจำนวนห้องคุยแบบส่วนตัว และไม่เป็นทางการที่มากขึ้น เพื่อให้พนักงานมีพฤติกรรมพูดคุยกันมากขึ้น เจอกันมากขึ้น เพื่อเพิ่มบรรยากาศที่เหมาะสมแก่การทำงาน”

ดึงความต้องการ และแบรนด์มาใช้ในการออกแบบ

“ในส่วนภาพลักษณ์ขององค์กร จะค่อนข้างเรียบง่าย แต่มีสไตล์ โดยเริ่มต้นทาง ALLIANZ AYUDHYA ได้งานโฆษณาที่เป็นอาร์ตเวิร์คกราฟิกทั้งหมดออกมาให้เราดู เพื่อทำความเข้าใจกับ Branding ที่เค้าวางเอาไว้ และนำมาใช้ในออกแบบภายใน เช่น โก้ของแบรนด์ที่มีลักษณะเป็นวงกลมอีเกิ้ล สีน้ำเงินและสีขาว ซึ่งทางเรา ก็ได้นำเส้น โค้ง กลม มาใช้ ทำให้บรรยากาศในการทำงานมันดูเบาสบายมากขึ้น จากภาพใหญ่จะเห็นว่ามีส่วนของเส้นตรง และเส้นโค้ง ช่วยสร้างความทันสมัยเข้าไปในพื้นที่ ด้วยการเล่นไปที่ฝ้า ผนัง โคมไฟ ห้องทำงาน และโต๊ะทำงาน นอกจากนี้ทาง ALLIANZ ได้เป็นพาร์ทเนอร์ของกีฬาโอลิมปิก  และกีฬาพาราลิมปิก ซึ่งเขาก็ถามว่า จะทำยังไงให้คนรู้ว่ามีจุดร่วมในการสนับสนุนงานนี้ โดยที่ไม่โฆษณาโจ่งแจ้งเกินไป เราเลยพัฒนาออกแบบให้เป็นกิมมิคเล็กๆ โดยตกแต่งให้เป็นนักกีฬาจุดเล็กๆ วิ่งอยู่ในพื้นที่ทำงาน ห้องประชุม และบนทางเดิน”

พื้นที่ชั้น 1
พื้นที่ชั้น 1

ไอเดียที่ใส่มาในแต่ละชั้น

ในส่วนของการออกแบบพื้นที่สถาปนิกต้องการให้มีความ modernize แต่ minimal ที่สุด เราเริ่มออกแบบในพื้นที่บริเวณชั้น 1 เป็นพื้นที่ทำธุรกรรม และจ่ายเบี้ยต่างๆ ซึ่งพื้นที่เดิมมีด้านหน้าที่แคบ และลึก ให้ดูหน้ากว้าง ไม่อึดอัด ด้วยการใช้สีขาวของแบรนด์ พร้อมวัสดุสีขาว ผิวมัน เงา ให้ตัดกับสีน้ำเงิน และเพิ่มเส้นสายให้เกิดความโฉบเฉี่ยว ขึ้นไปบนที่ฝ้า และในโถงสูงด้านบน สองข้าง เลือกใช้ลามิเนตสีขาวที่มีกลิตเตอร์

พื้นที่ชั้น 1

“การเลือกใช้ลามิเนตสีขาวที่มีกลิตเตอร์ เวลาที่เรามองขึ้นไป มันสะท้อนความวาว ให้ความรู้สึกที่ไม่เครียดเวลาลูกค้าเข้ามาเคลมประกัน เลยเลือกใช้แบบยาว และสูงเป็นพิเศษ เนื่องจากพื้นที่หน้างานตอนแรก คือฝ้าค่อนข้างต่ำ เวลาเข้าไปจะรู้สึกอึดอัด เราเลยเพื่อเพิ่มความโปร่งให้กับตัวพื้นที่ให้มีความรู้สึกผ่อนคลาย และมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น

พื้นที่ชั้น 2

ในส่วนของโทนสีชั้นสำนักงาน เนื่องจากมีพื้นที่สำนักงานถึง 9 ชั้น ทาง pbm ตั้งใจออกแบบงานตกแต่งให้แตกต่างกัน โดยถอดแนวความคิดมาจาก package ในการตลาดของ Allianz ได้ออกมา 3 ธีม ได้แก่ Earth, Ocean, and Forest

พื้นที่ชั้น 8

“การเดินไปที่อื่นๆ ทำให้พนักงานไม่เบื่อกับการทำงาน และยังสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรได้ด้วย เนื่องจากว่าพื้นที่มีหลายชั้น จึงตีความสีเหล่านี้ออกมาเป็น 3 ธีม อย่างสีน้ำตาลที่มีความหนักแน่นจะเป็นส่วนของชั้นทำงานที่เป็นส่วนของ personal/customer ซึ่งต้องมีความหนักแน่นเหมือนกับแผ่นดิน ชั้นทำงานสีน้ำเงิน เป็นส่วนของผู้บริหาร หมายถึง ความเงียบสงบ มั่นคง ยิ่งใหญ่ เหมือนทะเล และสีเขียวในชั้นทำงานที่เป็นส่วนของพนักงานที่ออกแบบให้มีความผ่อนคลาย มีพื้นที่สีเขียวเหมือนอยู่ในธรรมชาติ โดยสีทั้งหมดนี้ได้ไอเดียมาจากโฆษณาของ ALLIANZ ซึ่งก็จะสอดคล้องกับสามเรื่องนี้พอดี”

พื้นที่ชั้น 7
พื้นที่ชั้น 7

และไฮไลท์สำคัญจะอยู่ในบริเวณชั้นที่ 7 เป็นพื้นที่รับรองแขกทั้งภายใน และภายนอก ด้วยพื้นที่นี้รองรับผู้คนเข้ามาใช้งานเป็นจำนวนมาก บริเวณทางเข้า เป็นพื้นที่ค่อนข้างแคบ สถาปนิกจึงใช้สแตนเลสมิลเลอร์ เพื่อสะท้อนพื้นที่ให้ดูมีมิติที่ใหญ่ขึ้น และดึงดูดผู้คนให้มีความสนใจ และสร้างบรรยากาศความล้ำสมัย ให้กับผู้มาเยือน

“พอเป็นโถงต้อนรับเราเลือกใช้โทนสีของแบรนด์ ก็คือสีขาว สีน้ำเงิน รวมไปถึงรูปฟอร์ม ผ่านการใช้วงกลม และเส้นโค้งให้มีความอ่อนช้อย ลดความเกร็งของพื้นที่ ออกแบบให้บรรยากาศก็ค่อนข้างสบายตา น่าใช้งานมากยิ่งขึ้น ถัดมาจะเป็นพื้นที่โคแล็บ เป็นพื้นที่ที่พนักงานสามารถเข้าไปใช้งานได้ โดยจะมีก็จะมีคาเฟ่ที่อยู่ติดกัน เราสามารถเปิดพื้นที่ทั้ง 2 รวมเข้าด้วยกันให้เป็นโถงขนาดใหญ่ ด้วยการเปิดบานกระจกของคาเฟ่ นอกจากนี้ยังมีเวทีเป็นหัวใจสำคัญทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง ที่ออกแบบให้ฝ้าของอาคารทั้งหมดดูโล่ง โปร่งสบาย และใช้ความเป็นวงกลมวนขึ้นไปบนฝ้าเพื่อสร้างไดนามิคจนเป็นจุดเด่น และเป็นพื้นที่รวมตัวกันได้ ออฟฟิศสมัยใหม่ต้องมีส่วนที่ให้คนมาเจอกัน แลกเปลี่ยนความคิด ทำงานกันได้ นอกจากนี้ ยังทำให้ทำห้องประชุมภายนอกไว้เพื่อไม่ให้คนภายนอกเข้าถึงได้ทุกชั้น การออกแบบชั้น 7 นี้เราบริหารงบประมาณให้ลงมาสู่ชั้นนี้เยอะกว่าชั้นอื่น เพื่อให้มีภาพลักษณ์ที่ดูทันสมัย ในขณะที่ชั้นอื่นเราอาจจะลดทอนความหรูหราลงแต่ให้อยู่ให้สบายมากขึ้น”

แผนกที่ไม่สามารถโยกย้ายการทำงานได้

เนื่องจากรูปแบบการทำงานของสำนักงานแห่งนี้ การโยกย้าย เปลี่ยนที่นั่งการทำงานเป็นข้อจำกัดซึ่งไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ณ วันนี้ ทางสถาปนิกจึงเลือกออกแบบโต๊ะประจำ โดยใช้ฟอร์มที่ทำให้เกิดไดนามิค ด้วยการใช้เส้นโค้งจนไปถึงตัวฝ้า และใช้โคมไฟที่มีเส้นวงกลมเข้ามาช่วย เพื่อให้เกิดความรู้สึกของการลื่นไหล

ก่อสร้างในขณะที่พนักงานยังทำงานอยู่

ในระหว่างที่ทำการก่อสร้างพนักงานของ ALLIANZ AYUDHYA ก็ยังคงทำงานไปด้วย ซึ่งทางสถาปนิกได้เข้าไปจัดการและวางแผนในเรื่องของพื้นที่ ในการโยกย้ายพนักงานที่มีจำนวนค่อนข้างเยอะ และเริ่มก่อสร้างไปทีละ 2 ชั้น  และกำหนดระยะเวลาในการก่อสร้างให้ไม่เกิดความล่าช้า

“เราจึงใช้เวลา 1 ปี ในการไล่ทำทีละ 2 ชั้น และทำในส่วนของพื้นทีทำงานชั่วคราวให้กับพนักงาน ทางผู้บริหารก็เชื่อมือเรามากๆ งานนี้เราทำตั้งแต่เริ่มออกแบบ คิดโปรแกรมโครงการ ช่วยบริหารการจัดซื้อ หาพื้นที่ทำงานในช่วงก่อสร้าง และสุดท้ายก็ทำบริหารการก่อสร้าง และการก่อสร้างด้วย ซึ่งเป็นแบบออลอินวันเซอร์วิส ซึ่งเป็นมุมที่กว้างกว่าแค่การดีไซน์อย่างเดียว”

ข้อจำกัดในการก่อสร้าง

“ตอนแรกทางโครงการจะมีการเจาะพื้นด้วย ในชั้น 6 ชั้น 7 และชั้น 8 แต่ด้วยตึกที่ก่อสร้างเมื่อ 30 ปีที่แล้ว หลังจากขออนุญาตกับ กทม เรียบร้อยแล้วเราก็เร่งดำเนินการติดตั้งคานใหม่ แต่พอจะเริ่มทำการตัดพื้น ก็เกิดความไม่แน่ใจ ว่าพื้น Post Tension เดิมนี้เป็นแบบ Bonded System หรือ UnBonded System เพราะอาคารนี้ สร้างมาในสมัยที่เชื่อมต่อระหว่างระบบพื้นทั้งสองระบบนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีใครตอบได้ เพราะในแบบไม่ได้ทำการระบุบชัดเจน เราเลยต้องไปปรึกษาทางผู้เชี่ยวชาญจากทางซีแพค เขาก็บอกกับเราว่าด้วยกลุ่มเหล็กสลิงแบบนี้ น่าจะเป็นแบบ UnBonded System ทุกคนตกใจเพราะว่าถ้าเจาะพื้นลงไป หากผิดพลาดมีโอกาสที่ตึกจะได้รับความเสียหาย ก็มีการตรวจสอบอยู่หลายรอบ จนสุดท้ายก็เลือกที่จะไม่เจาะต่อเพราะมีความอันตราย จากนั้นก็รื้อคานที่ติดตั้งไป และปรับแบบ เพื่อนำเสนอกับทาง ALLIANZ AYUDHYA ใหม่”

สร้างประสบการณ์การทำงานรูปแบบใหม่ให้กับพนักงาน

“การออกแบบในครั้งนี้ทำให้เกิดประสบการณ์ใหม่ๆ และความโมเดิร์นไนซ์ ให้กับพนักงานเป็นอย่างมาก เพราะพื้นที่ใหม่ๆ ในการทำงานเหล่านี้ สามารถสร้างมุมมองการทำงานใหม่ๆ ได้ เช่น มุมของคาเฟ่ที่เปลี่ยนพฤติกรรมการของพนักงาน เมื่อพวกเขาเข้ามาใช้งานในพื้นที่นี้ก็สามารถดื่มกาแฟ พูดคุย ทำงานไปพร้อมๆ กัน นอกจากนี้เรายังมีการรองรับงานระบบต่างๆ ไว้ให้เพียบพร้อมสำหรับทำงานในทุกๆ มุม พวกเขาเลยเข้าไปใช้งานในพื้นที่ต่างๆ กันเยอะมากเพราะมันครอบคลุมการใช้งานได้เป็นอย่างดี และการทำงานในรูปแบบใหม่นี้ยังสามารถดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานได้อีกด้วย”

Client:      Allianz Ayudhya
Location: Ploenchit Tower
Area:        10,000 sq.m.
Year:        2021
Scope of Work:
-Interior Design
– Lighting Design
– Environmental Graphic Design
– Interior Fit-out
– MEP works by SKN Power Engineering and Union Product
Photographer Credit: W Workspace

Writer
Watsapon Vijitsarn

Watsapon Vijitsarn